xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” จี้ “พวกการเมืองเก่า” ทำไมโดน ปชช.ตีตราหน้าขี้โกง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“มาร์ค” จี้ “พวกการเมืองเก่า” ทำไมถูก ปชช.ตีหน้าตราขี้โกง เหตุรัฐตอบสนองความต้องการไม่ได้ ทำให้เสื่อมศรัทธา แขวะนโยบาย “นช.แม้ว” ดีแต่ใช้ความรุนแรง ทั้งฆ่าตัดตอน-เพิ่มอุณหภูมิไฟใต้ เตือนม็อบแดงถ่อยอย่าใช้วิธีข่มขู่มาต่อรอง ย้ำในประชาธิปไตยไม่มี จวกลิ่วล้อแม้วเลิกใช้อำนาจสกัดกั้นลงพื้นที่หาเสียงเหนือ-อีสาน

วันนี้ (2 ก.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เดินทางไปยังหอประชุมพ่อขุนรามคำแหงมหาราช มหาวิทยาลัยรามคำแหง เพื่อเป็นประธานในพิธีเปิดสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยรามคำแหง และเป็นองค์ปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “การเมืองไทย ไปทางไหนดี?" โดยในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่นร่วมกับนายคิม แสงทองสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง เนื่องจากนายอภิสิทธิ์เป็นศิษย์เก่าคณะนิติศาสตร์ ในปี 2526 ทั้งนี้ งานดังกล่าว นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาฯ มาร่วมงานด้วย

สำหรับเนื้อหาของการปาฐกถาพิเศษของนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ มีใจความว่า ตนเคยเข้าศึกษาที่ม.รามคำแหง ในช่วงปี 2526 โดยมีรหัสศึกษา 26103922 ซึ่งในระหว่างที่ศึกษาที่นี่ก็ศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรีที่ประเทศอังกฤษด้วย แต่เนื่องจากเป็นช่วงปิดเทอมจึงใช้เวลามาเรียนที่นี่ควบคู่ไปด้วย ซึ่งใช้เวลาทั้งหมด 4-5 ปี ก็สำเร็จการศึกษา ต่อจากนั้นได้มีโอกาสนำความรู้ที่ได้รับกลับมาสอนวิชาเศรษฐศาสตร์ ทั้งนี้ ต้องยอมรับการศึกษาที่ ม.รามคำแหง ต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง ตนจึงมุ่งมั่นอยากสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่ประชาชนทุกคนที่มุ่งใฝ่หาความรู้

นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า ตนสนใจการเมืองจากการเริ่มฟังการอภิปรายในสภาที่ถ่ายทอดผ่านทางวิทยุตั้งแต่ ปี 2518-2519 โดยรู้ทันทีว่าหากใครมาทำงานการเมืองแล้วขาดความรู้ทางกฎหมายนับเป็นยากที่จะทำงานได้ แม้ ส.ส.จะจบการศึกษาด้านใดก็ตาม หากมีความรู้ด้านกฎหมายก็จะทำให้ทำหน้าที่ ส.ส.ได้มีประสิทธิภาพและดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ ในพรรคประชาธิปัตย์ ได้มีการปฐมนิเทศ ส.ส. คือ ให้ไปศึกษารัฐธรรมนูญ รวมทั้งข้อบังคับการประชุมของสภา เพื่อให้มีความเข้าใจภาครวมการเมืองและวิธีทำงานในรัฐสภา

นายอภิสิทธิ์กล่าวอีกว่า ตามหัวข้อข้างต้น ทำให้เกิดความสับสนและความผิดหวังที่ประชาชนมีกับการเมือง โดยหากการเมืองมีระบบที่ดี สามารถตอบสนองสิ่งต่างๆได้ เชื่อว่าไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ต้องตั้งหัวข้อแบบนี้ ซึ่งตนก็เข้าใจ เพราะตนเป็น ส.ส.มายาวนานถึง 17-18 ปี ประชาชนน้อยคนนักที่จะมองนักการเมืองไปในทางที่ดี เนื่องจากขึ้นชื่อว่านักการเมืองแล้วมีแต่เรื่องไม่ค่อยดี มักชอบหาผลประโยชน์และใช้อำนาจโดยไม่แก้ปัญหาให้ประชาชน นักการเมืองจึงตกเป็นจำเลยมาโดยตลอด

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า จากผลการสำรวจ มี 2-3 อาชีพที่ประชาชนไม่ไว้วางใจ ซึ่งนักการเมืองมักติดอันดับต้นๆ ซึ่งมันถือเป็นความเจ็บปวดของนักการเมืองอาชีพ และนักการเมืองประชาธิปไตย ดังนั้น ต้องย้อนดูว่าปัญหาเกิดมาจากอะไร ตนอยากเห็นการเมืองไปสู่การเมืองอุดมคติ คือ แก้ปัญหาให้ประชาชนได้ อยู่ในวิถีประชาธิปไตย เป็นการเมืองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน และแก้ไขปัญหาของประเทศได้ รวมทั้งมีความโปร่งใส เคารพสิทธิ มีความเสมอภาค อยู่ในกระบวนการ หลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย และต้องมีส่วนร่วมโดยประชาชน การเมืองแบบนี้เกิดขึ้นได้หรือไม่ ตนมั่นใจว่าเกิดขึ้นได้ เพราะตนมองไม่เห็นสังคมไทยจะด้อยกว่าสังคมประชาธิปไตยชาติอื่นตรงจุดใด ตนจึงเชื่อมั่นว่าคนของเราตื่นตัวและใฝ่ฝันไม่ต่างกับสังคมอื่นๆ ที่ต้องการมีส่วนร่วมกำหนดอนาคตและชี้ชะตาของบ้านเมือง ซึ่งเชื่อว่า คนไทยรักสังคมไทยและไม่แตกต่างกับสังคมอื่นๆ

“ปัญหาอยู่เพียงว่า อะไรคืออุปสรรคไม่ให้เราเดินไปถึงการเมืองในอุดมคติได้ ผมคิดว่าเราผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลายครั้ง หลายเหตุการณ์ตั้งแต่ 14 ตุลา 16 ตุลา และพฤษภาทมิฬ นั่นเป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แม้ในบางช่วงตอนอาจมีเหตุอื่นที่ทำให้ประชาธิปไตยถดถอย แต่ผลพวงของการต่อสู้ มันทำให้ค่านิยมประชาธิปไตยหยั่งรากลึกมากขึ้นในสังคม” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดในปัจจุบัน คือ เราต้องยึดมั่นเส้นทางประชาธิปไตย ต้องหาหนทางว่าต้องทำอย่างไรถึงจะก้าวไปอีกขั้น ความหมาย คือ ประชาชนมีอำนาจตัดสินใจ สภามาจาการเลือกตั้งของประชาชนและเลือกผู้บริหารสูงสุด รัฐบาลมีหน้าที่รับผิดชอบต่อสภาและประชาชน ทิศทางนี้จะเดินต่อไปและเข้มแข็งมากขึ้น ส่วนพรรคการเมืองจะมีบทบาทในการรวบรวมนักการเมืองที่มีความคิดใกล้เคียงกันมาอยู่ร่วมกัน โดยนโยบายระดับชาติของพรรคการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกตั้ง มันถือเป็นการเติบโตของประชาธิปไตยแบบต่อเนื่อง หากการเมืองที่ไม่ดี ปัญหาที่ตามมา คือ ได้ในสิ่งที่ต้องการแต่ทุกอย่างเติบโตและต้องเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอนและการถดถอยทางการเมือง คือการใช้อำนาจของผู้ที่มาจากการเลือกตั้ง และไม่เป็นประชาธิปไตย การรัฐประหารนั้นต้องยอมรับหากเกิดขึ้นในประเทศแต่ละครั้ง ส่วนใหญ่ไม่มีความรุนแรง เพราะประชาชนเพิกเฉย ตนไม่คิดว่าประชาชนฝักใฝ่รัฐประหาร แต่การเพิกเฉยเพราะบ้านเมืองเดินเข้าสู่ทางตัน ไม่มีทางออก ตนไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร แต่นักการเมืองต้องทบทวนด้วยว่ามีเงื่อนไขใดที่นำไปสู่การรัฐประหาร

ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า หากอ่านประกาศคณะปฏิวัติฉบับแรกจนถึงฉบับนี้ มักใช้คำว่า ทุจริต ใช้อำนาจเกินขอบเขตในระบบราชการ หรือมีการกระทำกระทบสถาบันหลักของชาติ เป็นปัญหาความมั่นคง ตรงนี้ต้องมาทบทวน สำหรับทิศทางการเมืองตอนนี้ ต้องแก้ปัญหาที่เป็นจุดอ่อนของการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง การใช้อำนาจในทางทุจริตเริ่มแต่เบียดบังงบประมาณที่ซับซ้อนขึ้น การจัดซื้อจัดจ้าง และเสนอราคา จนถึงขั้นทุจริตเชิงนโนยบาย เรื่องนี้ต้องแก้ไขให้ได้

นายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า ผลสำรวจที่ผ่านมา บ่งชี้ว่าสังคมเชื่อการทุจริตเป็นเรื่องปกติ และยอมรับได้ ซึ่งตนยืนยันว่าตราบใดที่ยังมีค่านิยมเหล่านี้อยู่ การเมืองจะอยู่ในภาวะอันตรายและเสี่ยง ตนไม่คิดว่าสังคมจะยอมรับให้คนใช้อำนาจของประชาชนเพื่อประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง เราต้องช่วยกันพยายามสกัดกั้นการทุจริต โดยมีองค์กรตรวจสอบเรื่องนี้ แต่ความล้มเหลวของรัฐบาลที่มาจาการเลือกตั้งไม่ได้หยุดแค่การใช้อำนาจเกินขอบเขต แต่กลับแทรกแซงองค์กรอิสระและกลไกต่างๆของสังคม ระบบการคานอำนาจใช้ไม่ได้ จึงเกิดปัญหาความขัดแย้งออกสู่ถนนและนำไปสู่ความโกลาหลทางการเมืองจนเกิดการรัฐประหารที่ต้องแก้ไข

“หากอยากให้การเมืองเดินไปสู่ทิศทางที่ดี ต้องเเก้ปัญหานี้ให้ได้ ระบบคานอำนาจต้องอยู่ มีภูมิคุ้มกันและทำงานได้ เสียงส่วนใหญ่ในการเลือกตั้ง คือ การกำหนดทิศทางนโนบาย แต่จะนำมาชี้ว่า สิ่งนั้นถูกกฎหมายหรือไม่นั้น ไม่ได้ ไม่มีสังคมประชาธิปไตยไหนที่ใชัเสียงข้างมากมาเป็นใบอนุญาตให้ทำผิดกฎหมาย ต้องใช้อำนาจในขอบเขตที่รัฐธรรมนูญกำหนด” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวยืนยันว่า ยังจำเป็นที่ต้องมีการเลือกตั้ง เพื่อเป็นการคานอำนาจไม่ให้มีการใช้เกินขอบเขต แต่ต้องไม่หลงว่า อย่าคิดว่าการสรรหาและแต่งตั้งไม่มีซื้อเสียงและซื้อตำแหน่ง เพราะมันง่ายกว่าการซื้อประชาชนจำนวนมาก การซื้อเสียงถึงแม้จะเป็นปัญหาที่หนักหน่วง แต่เชื่อว่าประชาชนเรียนรู้และฉลาดมากขึ้น ดีไม่ดีนักการเมิองต่างหากที่ตามประชาชนไม่ทัน

“การเมืองที่ต้องทำต่อ คือ ยืนยันระบบเลือกตั้งและเสียงข้างมาก รวมทั้งปกป้องระบบการคานอำนาจ ต้องมีอยู่ มาตราใดในรัฐธรนนมนูญที่ไม่สอดคล้องกับหลักการนี้ต้องแก้ไข แต่ต้องแก้ไขเชิงระบบพร้อมกันด้วย วัฒนธรรมการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญที่จะชี้ทิศทางการเมืองไทย คือ เคารพหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย การเคารพเสียงข้างมากที่มีเหตุผล การใช้สิทธิเสรีภาพนั้นกำลังมีปัญหา คือ ด้านหนึ่งคิดว่าการละเมิดสิทธิเสรีภาพนั้นไม่เป็นไร ขอเพียงบรรลุเป้าหมาย การฆ่าตัดตอนการใช้ความรุนแรงกับยาเสพติดและภาคใต้นั้นพิสูจน์แล้วว่าวิธีเหนือกฎหมายที่หวังผลรวดเร็วนั้น สุดท้ายมันทำไม่ได้ ซ้ำร้ายบางเรื่องเริ่มต้นวงจรความรุนแรงที่แก้ไขได้ยากขึ้น” นายกรัฐมนตรี กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายอภิสิทธิ์กล่าวถึงการใช้สิทธิเสรีภาพว่า เรื่องนี้ปัจจุบันมีการตื่นตัวกันเยอะพอสมควร ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะภาคประชาชนต้องเติบโตในเรื่องนี้ แต่ต้องตั้งคำถามว่าขอบเขตการใช้สิทธิการประท้วงนโยบายและผู้มีอำนาจเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตยหรือไม่ การข่มขู่ ใช้ความรุนแรง ปิดถนน ใช้อำนาจมาต่อรอง มันไม่ใช่ประชาธิปไตย ใครที่มีปัญหาสามารถร้องเรียนและแสดงออกได้ แต่อย่าปิดถนนและสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน โดยขอยืนยันว่ารัฐบาลมีจิตสำนึกในด้านประชาธิปไตยอย่างเต็มรูปแบบ แต่ทั้งนี้ การเจรจาต้องไม่ใช่การข่มขู่แบบไม่มีประชาธิปไตย เพราะการคัดค้านรัฐบาลนั้นกระทำได้ แต่ต้องหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง รัฐบาลจึงจำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

สำหรับปัญหาการเกิดความแตกแยกในสังคม นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เรื่องนี้ตนได้ตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ขึ้นมาหาข้อสรุปเเละวันที่ 16 ก.ค.นี้ จะรายงานผลให้ตนรับทราบ และตนก็โดนสื่อมวลชนสอบถามว่าจะเดินทางไปภาคเหนือและภาคอีสานได้หรือไม่ ตนตอบว่าไปได้ที่กล้าพูดแบบนั้น เพราะว่าคนส่วนใหญ่ไม่มีปัญหา มีเพียงคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้นที่คอยขัดขวางไม่ให้ไปในพื้นที่ ซึ่งตนไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ ก่อนหน้านี้รัฐบาลสมัยนั้นก็กระทำแบบนี้ ไม่ต้องการให้ลงพื้นที่ ถ้าเป็นนักประชาธิปไตยต้องไม่ทำแบบนี้ ต้องเปิดโอกาสให้เข้าหาประชาชนได้ หากมั่นใจว่าประชาชนสนับสนุนพรรคตัวเองก็ควรเปิดโอกาสให้พรรคตรงข้ามไปพบประชาชนบ้าง การทำเช่นนั้นมันขัดต่อหลักการประชาธิปไตย และมันมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ

“ขอยืนยันว่าวันนี้ทิศทางการเมืองไทยจะไปทางไหนดีนั้นไม่ต้องถาม แต่การเป็นนักประชาธิปไตยต้องยึดหลักสิทธิเสรีภาพ ยอมรับการแสดงความเห็นที่หลากหลายผ่านกระบวนการรัฐธรรมนูญและรัฐสภา ฉะนั้นไม่ต้องถามเรื่องนี้เลย แต่ตนจะขับเคลื่อนประเทศให้รอดพ้นจากวิกฤตไปให้ได้ ตนตั้งเป้าว่าประเทศต้องออกจากวิกฤตการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมด้วยความเข้มแข็ง และเป็นที่ยอมรับของประชาคมโลก” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

ขณะที่ ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศภายในมหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งถูกใช้เป็นสถานที่จัดงานในครั้งนี้ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบหลายร้อยนายได้กระจายกำลังคอยรักษาความปลอดภัยกันเต็มพื้นที่เพื่อป้องกันเหตุร้ายที่อาจเกิดขึ้น ทั้งนี้ ก่อนหน้าที่นายกรัฐมนตรีจะเดินทางมาถึงได้ไปวัดนวลจันทร์ เพื่อเป็นประธานในพิธีฌาปนกิจศพ นางสมบุญ แสงจันทร์ มารดาของนายอัครเดช แสงจันทร์ อดีต ส.ข.บึงกุ่ม พรรคประชาธิปัตย์ และได้ไปเคารพศพ นายสุภา ศรีสวัสดิ์ หรือนายดี๋ ดอกมะดัน อดีต ส.ก.ดินแดง พรรคประชาชาธิปัตย์ด้วย



กำลังโหลดความคิดเห็น