xs
xsm
sm
md
lg

จดหมายเปิดผนึกจากพี่น้องในสหรัฐอเมริกา ถึง พี่น้องพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ประเทศไทย

เผยแพร่:   โดย: บรรจบ เจริญชลวานิช

เมื่อวานนี้เราเฝ้าติดตามการประชุมสภาพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จนเวลาประมาณ ๕.๐๐ น. ในกรุงวอชิงตัน หรือโดยประมาณ ๑๖.๐๐ น. ที่มหาวิทยาลัยรังสิต

ก่อนอื่นเราต้องแสดงความยินดีกับประเทศไทย ต่อสัญญาณที่ได้รับจากพี่น้องพันธมิตรฯ ซึ่งเปรียบเสมือนแสงสว่าง เล็ดร่องนิ้ว ฝ่าผ่านความมืดมิด ในกำมือมารที่กอบกุมประเทศไทยมานานกว่า ๗๗ ปี รัฐสภาไทยอ่อนแอ เต็มไปด้วยอสัตบุรุษจากพรรคการเมืองต่างๆ เข้ามาบิดเบือนเจตนารมณ์แห่งกฎหมาย แสวงอำนาจ สะสมประโยชน์ เพื่อพรรคพวกและวงศ์ตระกูล มาโดยตลอด นักการเมืองที่มีปณิธานเพื่อชาติ เพื่อประชาชน มีไม่เพียงพอในรัฐสภา ทำให้เกิดการฉ้อฉลกลไกของรัฐ ทั้งในหมู่นักการเมือง ข้าราชการประจำ ทหาร ตำรวจ พ่อค้า คหบดี ต่างๆ

ปัจจุบัน ปัญหาทวีความรุนแรง จนถึงขั้นรุกรานกระบวนการยุติธรรม ดังเห็นได้จากการปฏิเสธอำนาจ และการพยายามทำลายความน่าเชื่อถือของศาลสถิตยุติธรรม จากผู้ต้องหาและอาชญากร การโจมตี จาบจ้วงอย่างรุนแรง ต่อสถาบันหลักของชาติ อันเป็นที่เคารพเลื่อมใสของประชาชนส่วนใหญ่ และได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญการปกครองประเทศอย่างสมบูรณ์

โดยไม่ต้องกล่าวถึงรายละเอียด ... นักการเมืองเหล่านี้กำลังทำลายโครงสร้าง ระบอบการปกครองประเทศ อย่างต่อเนื่อง ด้วยการปฏิเสธ เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ...

การชุมนุมของพี่น้องที่กำลังเกิดขึ้น เป็นปรากฏการณ์สำคัญแสดงถึงความเติบโตทางการเมือง และสร้างความประหวั่น ในหมู่นักการเมืองเก่าในรัฐสภาเป็นอย่างยิ่ง ในกรณีการตัดสินใจตั้งพรรคการเมือง ขณะที่เสียงส่วนใหญ่สนับสนุนให้ตั้งพรรค แต่เราคงเพิกเฉยต่อความกังวลของพี่น้องบางกลุ่มบางคณะมิได้ เราจึงขอแสดงความเคารพต่อเสียงสะท้อนถึงความกังวลและลังเล ดังสรุปได้ ๔ ประเด็น

๑. การตั้งพรรคจะนำไปสู่ความเสื่อมศรัทธาอันเกิดจากการละทิ้งคุณธรรมและอุดมการณ์
๒. การตั้งพรรคจะนำไปสู่ความอ่อนแอของพรรคการเมืองแนวร่วม เช่นพรรคประชาธิปัตย์
๓. ยังมีความต้องการรักษาอุดมการณ์ในการทำงานเพื่อชาติโดยไม่หวังประโยชน์ตอบแทน
๔. การตั้งพรรค จะนำความอ่อนแอและสิ้นสุดของการเมืองภาคประชาชน

ประเด็นที่ ๑ - เราเห็นว่า การละทิ้งคุณธรรมและอุดมการณ์ของนักการเมืองนั้น สาเหตุหนึ่งเกิดจากการทำลายตัวเองของประชาชนส่วนหนึ่ง... ความไม่เคารพในศักดิ์และสิทธิ์ของตน การยอมแลกคะแนนเสียงกับเม็ดเงิน คนเหล่านั้นได้ขายจิตวิญญาณ ลดตัวลงเป็นทาสของ ส.ส. เจ้าของเม็ดเงินโดยสิ้นเชิง ... เราเชื่อว่าปัญหานี้จะไม่เกิดขึ้นกับกลุ่มพันธมิตรฯ จากการบ่มเพาะ ๑๙๓ วัน พวกท่านจะไม่ขายจิตวิญญาณอย่างแน่นอนและคะแนนเสียงของพวกท่านจะมีความศักดิ์สิทธิ์ เพียงพอที่จะควบคุมคุณธรรมและอุดมการณ์ของนักการเมืองในพรรคที่กำลังจะตั้งขึ้น

ประเด็นที่ ๒ - นายเสนาะ นายสุเทพ สองชื่อนี้ คงยืนยันได้ว่า พรรคประชาธิปัตย์และนักการเมืองที่เคยร่วมกับกลุ่มพันธมิตรฯนั้น เป็นเพียงแนวร่วมเฉพาะกิจ แม้ว่าพรรคประชาธิปัตย์และกลุ่มพันธมิตรฯ จะมีอุดมการณ์ที่ละม้ายกันมากกว่าพรรคการเมืองอื่น แต่ความกล้าหาญในการตัดสินใจนั้นแตกต่างกันมาก พรรคประชาธิปัตย์ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าหลักการตลอดมา ในหลายกรณีการรักษาหลักการ กลายเป็นความไม่เด็ดขาดและทำร้ายประเทศชาติอย่างรุนแรง กลุ่มพันธมิตรฯ จึงจำเป็นต้องสร้างพันธมิตรถาวรในรัฐสภา เพื่อนำความกล้า ความเด็ดเดี่ยว เข้าผนวก เปลี่ยนแปลงให้เกิดการเมืองใหม่ ...

ประเด็นที่ ๓ - การทำงานเพื่อชาติ โดยไม่หวังประโยชน์ การรักษาอุดมการณ์นี้ เป็นความคิดที่บริสุทธิ์น่ายกย่องเป็นอย่างยิ่ง หากว่าประเด็นนี้น่าจะแรงผลักดันพวกท่านให้เข้าสู่การเมืองในระบบรัฐสภามากกว่า ที่จะดึงออกจากระบบพรรคการเมือง มิใช่หรือ ... บุคลากรที่มีจิตสำนึกเช่นท่าน มิใช่หรือ ที่รัฐสภาไทยกำลังต้องการเป็นอย่างยิ่ง ... เราประจักษ์ในอุดมการณ์ของพวกท่านตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ และปรากฏการณ์ ๑๙๓ พวกท่านสอบผ่านแล้ว ก้าวต่อไปที่พวกท่านต้องทำ คือการตั้งพรรคการเมืองและนำอุดมการณ์เหล่านั้นไปเพาะเชื้อการเมืองใหม่ให้เบ่งบานในรัฐสภา

ประเด็นที่ ๔ - ความกังวลต่อความสิ้นสุดลงของการเมืองภาคประชาชน พี่น้องพันธมิตร ความผูกพันโดยสายเลือดที่เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์ ๑๙๓ วัน ท่านจะรู้หรือไม่ก็ตาม เลือดประชาธิปไตยได้ผสมผสานในตัวท่านอย่างกลมกลืนไปแล้ว เราเชื่อว่า การเมืองภาคประชาชนจะไม่หายไป เมื่อสถานการณ์บ่มเพาะให้ระบอบทักษิณ เกิดขึ้นอีก พวกท่านก็พร้อมจะออกมาไล่พวกมันให้ออกไปอีกอย่างแน่นอน นอกจากนั้น ทั้งโดยนิตินัยและพฤตินัย ประเทศประชาธิปไตยแม่บทหลายประเทศ ไม่มีข้อกำหนดบทห้าม สมาชิกพรรคในการทำงานการเมืองภาคประชาชน ตรงข้ามการเคลื่อนไหวในภาคประชาชนกลับเกิดขึ้นในประเทศเหล่านั้นอย่างต่อเนื่องและเป็นปัจจัยให้การเมืองของประเทศนั้นๆ เข้มแข็งยิ่งขึ้น ดังตัวอย่างข้างล่างนี้

นับครั้งไม่ถ้วนที่มีการอ้างถึงการปกครองประชาธิปไตยในสหรัฐอเมริกา โดยที่ผู้กล่าวอ้างแสดงความชื่นชม การเมืองของประเทศสหรัฐฯ ถึงกับยกให้เป็นแม่แบบระบอบประชาธิปไตย ที่ให้โอกาส การดำรงชีวิต อิสรเสรี และการแสวงหาความสุขได้อย่างเท่าเทียมกัน จนมีนัยว่าน่าจะนำมาใช้ในประเทศไทย การพูดเช่นนั้น ดูจะตื้นเขินอย่างจงใจ เนื่องจากโครงสร้างทางสังคม และการวางรากฐานทางการเมืองของสหรัฐฯ มีความแตกต่างจากสังคมไทยโดยสิ้นเชิง หากนำหลักการปกครองแบบสหรัฐ “สาธารณรัฐ” มาใช้ สิ่งที่จะตามมาคือ ประเทศไทยจะได้ผู้นำประเทศ ประเภททรราช รวบอำนาจในชั่วลัดนิ้วมือ ...

ประชาธิปไตยในสหรัฐฯ เกิดและพัฒนาตามสภาวะของสังคม มาประมาณ ๒๒๒ ปี ผู้วางโครงสร้างการปกครองประเทศ มีวิสัยทัศน์อันยาวไกล เลือกที่จะป้องกันประเทศ จาก ธรรมชาติความชั่วร้ายในตัวคน มากกว่า การป้องกันตัวบุคคล หลักปรัชญาในเรื่องมนุษย์ทุกคนมีความเท่าเทียมกันถูกนำมาเปรียบเทียบทั้งในด้านดีและความชั่ว ผู้วางโครงสร้างการปกครอง มีความเชื่อในเรื่องกิเลสและตัณหาเช่นเดียวกับหลักพุทธ เขาเชื่อว่าอำนาจเป็นบ่อเกิดแห่งการทุจริต และจะนำไปสู่ความการใช้อำนาจอย่างผิดๆ จึงออกแบบโครงสร้างรัฐบาลในลักษณะที่ป้องกันการเป็นทรราชให้มากที่สุด โดยให้มีการกระจายและคานอำนาจทั้งในแนวราบและแนวดิ่ง

ในแนวราบ การคานอำนาจระหว่างฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ได้ถูกวางให้สามารถขยับขยายได้อย่างเหมาะสมตามสถานการณ์ ผนวกกับการคานอำนาจในแนวดิ่ง ระหว่างประชาชน รัฐบาลท้องถิ่น และรัฐบาลกลาง ทำให้การตรวจสอบ ถ่วงดุลผู้ใช้อำนาจทั้งสามฝ่าย เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพในระดับที่น่าพอใจ

รัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ไม่ต่างจากรัฐธรรมนูญของไทย มีความบกพร่องมาโดยกำเนิด แต่อเมริกันชนมีความเคารพและเจตนาแน่วแน่ในการปกป้องรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญสหรัฐฯ จึงได้รับการแก้ไขตลอดมา

ท่านคงทราบดีว่า มาตราหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญที่ถูกร่างจากหลักการที่ว่า มนุษย์ทุกคนถูกสร้างมาอย่างเท่าเทียมกัน “ความเท่าเทียม” นั้นกลับมิได้รวมคนผิวสี เพราะพวกเขาเหล่านั้นถูกกำหนดให้มีคุณค่าทางสังคมเพียง สามในสี่ส่วน ของคนผิวขาวเท่านั้น

ท่านคงทราบดีว่า โดยนิตินัย คนผิวสีไม่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง จนกระทั่งสงครามกลางเมืองสงบลง เป็นเวลา ๗๘ ปีหลังรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันอุบัติขึ้นในสหรัฐฯ

ท่านคงทราบดีว่า โดยนิตินัย สตรีชาวอเมริกัน ไม่มีสิทธิลงคะแนนเสียง จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งจบลง เป็นเวลากว่า ๑๓๐ ปีหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

ในขณะที่นักการเมืองไทย กำลังดิ้นทุรนทุรายขอแก้กฎหมายเพื่อยกเลิกความผิดมหันต์ที่กระทำกัน หลังจากรัฐธรรมนูญถูกใช้มายังไม่ครบ ๒ ปี ประเทศสหรัฐฯ เพื่อป้องกันประโยชน์ทับซ้อนใช้เวลากว่า ๒ ศตวรรษ จึงยอมรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่อาจเอื้อประโยชน์แม้เป็นเพียงน้อย เช่นการขึ้นเงินเดือนสมาชิกสภาฯ

นี่คือบางตัวอย่าง จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ๒๗ ครั้งในสหรัฐฯ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเหล่านี้ไม่อาจเกิดขึ้นเลย หากไม่มีส่วนร่วม จากการเมืองภาคประชาชนของชาวสหรัฐฯ และการผลักดันจากนักการเมืองในรัฐสภา ระบบการเมืองของสหรัฐฯ จึงเป็นหลักฐานชัดเจนว่า การมีพรรคการเมืองที่ดีไม่ทำให้การเมืองภาคประชาชนอ่อนแอลง ในทางตรงข้ามการเมืองคู่ขนานที่ตั้งอยู่บนผลประโยชน์ของชาติ จะพัฒนาระบอบการเมืองให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น

สุดท้ายนี้ เราชาวไทยในสหรัฐฯ ขอสนับสนุน การนำคุณธรรม จริยธรรมสู่การเมือง และการสร้างการเมืองใหม่ ภายใต้การนำของพันธมิตรฯไทย ทั้งในและนอกรัฐสภา ขอให้ พี่น้องพันธมิตรฯไทยยึดมั่นในคุณธรรมและอุดมการณ์ อย่าให้เสียงที่เงียบจากการล้มลงของชีวิต อย่าให้เลือดเนื้อและอวัยวะของพี่น้องพันธมิตรฯ และอย่าให้เลือดทุกหยดของคุณสนธิ ลิ้มทองกุลสูญเปล่า ร่วมกันนำคนดีเข้าสู่อำนาจบริหารประเทศให้จงได้ ...

ด้วยจิตคารวะ
บรรจบ เจริญชลวานิช
ผู้ประสานงานพันธมิตรฯ วอชิงตัน ดี.ซี.
๒๕.๕.๕๒

กำลังโหลดความคิดเห็น