xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : เปิดใจ “พันธมิตรฯ” หลังถูกยัดข้อหา “ก่อการร้าย”!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พันธมิตรฯ ชุมนุมที่สนามบินสุวรรณภูมิโดยสงบ กลับโดนตำรวจตั้งข้อหาก่อการร้าย
อมรรัตน์ ล้อถิรธร.......รายงาน

แม้จะไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายที่ตำรวจตั้งข้อหา 25 แกนนำและแนวร่วมพันธมิตรฯ ว่าเป็น “ผู้ก่อการร้าย” กรณีชุมนุมที่สนามบินสุวรรณภูมิ เพราะตำรวจไทยทำได้ทุกอย่าง โดยเฉพาะ “รัฐตำรวจ” ในระบอบทักษิณ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่า แม้เปลี่ยนยุค-เปลี่ยนรัฐบาลแล้ว ตำรวจเหล่านี้ก็ยังแผลงฤทธิ์ได้อย่างเต็มที่ การปั้นข้อหาก่อการร้ายง่ายๆ แบบนี้ ไม่เพียงสะท้อนว่า น่าจะถึงเวลาสังคายนาการใช้อำนาจของตำรวจกันเสียที แต่อานิสงส์จากการสู้คดีของพันธมิตรฯ ครั้งนี้ จะเกิดประโยชน์กับประเทศและประชาชนโดยรวมด้วย เพราะเป็นการต่อสู้เพื่อสร้าง “ความยุติธรรมทุกระดับ”

คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ

หลังจากพยายามเล่นงานแกนนำและแนวร่วมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยด้วยข้อหาที่รุนแรงอย่าง “กบฏ” มาครั้งหนึ่งแล้ว แต่ไม่สำเร็จ เพราะศาลเห็นว่าเป็นข้อหาที่เลื่อนลอย จึงเพิกถอนหมายจับข้อหาดังกล่าว มาคราวนี้ ตำรวจที่ถูกมองว่าอยู่ในระบอบทักษิณก็สบช่องตั้งข้อหาหนักพันธมิตรฯ อีกครั้งจากกรณีชุมนุมที่สนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง ลำพังชุมนุมที่ดอนเมืองนั้น คงไม่กระไร เพราะแม้จะมีหลายข้อหา แต่ก็เป็นข้อหาทั่วๆ ไปที่ตำรวจพยายามเล่นงานพันธมิตรฯ มาตลอดอยู่แล้ว เช่น มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง แต่การชุมนุมที่สุวรรณภูมิ ตำรวจกลับเล่นแรงถึงขั้นตั้งข้อหาว่า พันธมิตรฯ เป็น “ผู้ก่อการร้าย” ซึ่งมีโทษสูงสุดประหารชีวิต

เป็นที่น่าสังเกตว่า ทั้งข้อหากบฏ มาจนกระทั่งข้อหาก่อการร้าย ล้วนสอดรับกับแรงยุของแกนนำ นปช.และคนเสื้อแดง ที่พยายามชี้นำและแจ้งความให้ตำรวจตั้งข้อหาดังกล่าว ซึ่งตำรวจไม่เพียงรับลูก แต่ยังตั้งข้อหาในลักษณะเหวี่ยงแห เพราะไม่เพียงเล่นงานแกนนำพันธมิตรฯ แต่ยังลากวิทยากรที่ขึ้นเวทีปราศรัยของพันธมิตรฯ เช่น นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ให้เข้ามาเป็นผู้ก่อการร้ายด้วย ขณะที่วิทยากรอีกหลายคนกลับไม่โดน และที่ยิ่งน่าแปลกก็คือ บางคนที่ถูกตั้งข้อหาก่อการร้าย เป็นผู้ที่แทบไม่ได้มีบทบาทอะไรในการชุมนุมที่สนามบินทั้งสองแห่งเลย กลับถูกตำรวจยัดเยียดข้อหาให้ด้วย

สำหรับแกนนำและแนวร่วมพันธมิตรฯ 25 คนที่ถูกตั้งข้อหาก่อการร้าย ประกอบด้วย 1.พล.ต.จำลอง ศรีเมือง 2.นายสนธิ ลิ้มทองกุล 3.นายสุริยะใส กตะศิลา 4.นายสำราญ รอดเพชร 5.นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ 6.นายอมร อมรรัตนานนท์ 7.นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ 8. นายศิริชัย ไม้งาม 9.นางมาลีรัตน์ แก้วก่า 10.นายเทิดภูมิ ใจดี 11.นายพิภพ ธงไชย 12.พล.อ.ปฐมพงษ์ เกสรศุกร์ 13.น.ส.อัญชะลี ไพรีรัก 14.นายพิชิต ไชยมงคล 15.นายประพันธ์ คูณมี 16.นายบรรจง นะแส 17.นายกษิต ภิรมย์ 18.นายศรัณยู วงศ์กระจ่าง 19.นายวีระ สมความคิด 20.นายสมศักดิ์ โกศัยสุข 21.น.ส.สโรชา พรอุดมศักดิ์ 22.ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ 23.นายชนะ ผาสุกสกุล 24.พ.ต.ท.สันธนะ ประยูรรัตน์ 25.นายสุรวิชช์ วีรวรรณ

ส่วนตำรวจที่ทำคดีนี้ ได้แก่ พล.ต.ท.ฉลอง สนใจ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิ, พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ดูแลคดีในช่วงแรก หลังถูกร้องเรียน ได้มีการเปลี่ยนตัวให้ พล.ต.ท.วุฒิ พัวเวส ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้ามาดูแลคดีแทน แต่ต่อมา 12 พ.ค.มีข่าวว่า พล.ต.ท.วุฒิ ขอลาออกจากหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีพันธมิตรฯ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร.จึงมีคำสั่งตั้ง พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ รอง ผบ.ตร.ให้เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนแทน ซึ่ง พล.ต.อ.ธานี เคยให้สัมภาษณ์ในช่วงแรกๆ ว่า คดีพันธมิตรฯ ไม่มีข้อหาก่อการร้ายแต่อย่างใด แต่ในที่สุด เมื่อมีการออกหมายเรียกแกนนำและแนวร่วมพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา กลับมีข้อหาก่อการร้ายด้วย และที่น่าสงสัยก็คือ ผู้ที่เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีนี้ยังคงเป็น พล.ต.ท.วุฒิ พัวเวส เหมือนเดิม!?!

ก่อนที่แกนนำและแนวร่วมพันธมิตรฯ จะเข้ารายงานตัวต่อพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกในวันที่ 16 ก.ค.นี้ ที่สโมสรตำรวจ (เวลา 09.30 น.) ลองมาเปิดใจพันธมิตรฯ บางคนว่ารู้สึกอย่างไรที่ถูกตำรวจตั้งข้อหาก่อการร้ายจากการชุมนุมที่สนามบินสุวรรณภูมิ และคิดว่าการตั้งข้อหานี้มีเบื้องหน้าเบื้องหลังอะไรหรือไม่?

นายพิภพ ธงไชย 1 ในแกนนำพันธมิตรฯ บอกกับวิทยุ ASTV ผู้จัดการว่า ข้อหาก่อการร้ายเป็นข้อหาที่เกินเหตุและเกินจริง ซึ่งเป็นเรื่องถนัดของตำรวจไทยอยู่แล้ว จึงน่าจะถึงเวลาต้องปฏิรูปอำนาจของตำรวจกันเสียที

“เป็นการตั้งข้อกล่าวหาเกินเหตุ เกินความจริงจากพฤติกรรมที่เราไปชุมนุมที่หน้าสนามบิน ซึ่งตำรวจไทยก็ถนัดในการตั้งข้อกล่าวหาเกินจริงมาในประวัติศาสตร์ของตำรวจ ไม่ว่าเป็นคดีระดับประเทศหรือคดีระดับชาวบ้าน เพราะการตั้งข้อกล่าวหาเกินจริงมันจะนำไปสู่การประกันตัว ถ้าในระดับชาวบ้านก็เรียกว่านำไปสู่การเรียกเงินใต้โต๊ะ ซึ่งผมคิดว่าน่าจะต้องมีการปฏิรูปอำนาจของตำรวจในส่วนนี้ใหม่ ว่าไม่น่าที่จะให้มีอำนาจในการตั้งข้อกล่าวหาโดยไม่ผ่านอัยการหรือศาล เพราะตำรวจไทยไม่ได้มีภาพของการเป็นผู้ดำรงความยุติธรรม หรือมีความแม่นยำในกระบวนการสอบสวนว่ามีความเป็นธรรมเป็นพื้นฐาน มักจะใช้อำนาจเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และยิ่งให้ตำรวจใช้วิจารณญาณได้เฉพาะตัวเนี่ย ก็ทำให้ตำรวจใช้อำนาจเกินขอบเขตกฎหมายกำหนด และที่สำคัญมากคือตำรวจไทยไม่ได้เป็นอิสระจากการเมือง มักจะถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองหรือตำรวจก็เล่นการเมืองเอง ในการใช้อำนาจที่ตัวเองมีอยู่เป็นเครื่องมือในการทำงานทางการเมืองของตัวเอง”

นายพิภพยังให้นิยามของคำว่า “ผู้ก่อการร้าย” ด้วย พร้อมยืนยันว่า พฤติกรรมและการชุมนุมของพันธมิตรฯ ไม่ใช่ลักษณะของผู้ก่อการร้ายแต่อย่างใด

“พฤติกรรมที่ถูกกล่าวหาว่าผู้ก่อการร้ายก็จะต้องมีอาวุธ และมีการจับตัวประกัน เสร็จแล้วก็มีการต่อรองทางการเมือง นี่ดูจากลักษณะผู้ก่อการร้าย และอาจจะใช้ความรุนแรง เมื่อไม่ได้ตามที่ตัวเองเสนอ และต้องมีการก่อวินาศกรรมด้วย อันนี้องค์ประกอบแบบประชาชนธรรมดานะ พันธมิตรฯ ที่ไปที่นั่นเนี่ย เราไปเพื่อต่อสู้กับความไม่ถูกต้องทางการเมืองของรัฐบาลในสมัยนั้นก็คือ รัฐบาลคุณสมชาย และในทางการเมืองแล้วเนี่ย เมื่อรัฐบาลคุณสมชายไม่สามารถบริหารประเทศได้เพราะประชาชนชุมนุมเดินขบวนแบบสงบและสันติตามสิทธิตาม รธน.เนี่ย ก็ต้องลาออก นี่คือกติกาของทั่วโลกเลย เพราะฉะนั้น การที่พันธมิตรฯ เข้าไปอยู่ในทำเนียบรัฐบาล รัฐบาลต้องลาออกอยู่แล้ว เพราะแสดงว่ามีประชาชนจำนวนมากไม่เห็นชอบกับรัฐบาล และทำให้รัฐบาลไม่สามารถทำงานได้ ในกรณีที่ประชาชนไปชุมนุมที่หน้าสนามบินก็เช่นเดียวกัน ถ้าเป็นรัฐบาลที่หวังดีต่อประเทศชาติจริงๆ มีทางเลือก 2 ทาง 1.ลาออก 2.เตรียมสนามบิน ไม่ให้เครื่องบินขึ้น-ลง และรับผิดชอบผู้โดยสารทั้งหมด และสายการบินทั้งหมด และต้องดูแลให้มีการบินขึ้น-ลงได้เป็นปกติ”

“ซึ่งพันธมิตรฯ ที่ไปอยู่หน้าสนามบินไม่ได้ไปเกี่ยวข้องกับเรื่องการขึ้น-ลงของสนามบินโดยปกติ เรายังไปช่วยจัดการในกรณีผู้นับถือศาสนาอิสลามจะไปเมกกะห์ ให้สามารถออกจากสนามบินและสามารถบินไปทันทำพิธีฮัจญ์ที่ซาอุดีอาระเบียได้ด้วย นี่ก็มีหลักฐานพยานชัดเจน มีลายมือเขียนถึงคุณศิริชัย ไม้งาม ขอบคุณที่พันธมิตรฯ ได้บริหารจัดการให้เขาสามารถไปเมกกะได้ ตัวผมเองก็เป็นคนไปเจรจาและไปหาทางที่จะให้เครื่องบินเข้ามาลงในประเทศไทยให้ได้ แต่ปรากฏว่าสนามบินสุวรรณภูมินั้นได้ถูกผู้บริหารสนามบินสั่งปิดสนามบิน ทำให้พนักงานวิทยุการบินกลับบ้านหมด ไม่มีการสแตนด์บายเพื่อที่จะรองรับการขึ้น-ลงสนามบินเลย และไม่มีการเตรียมการที่จะให้สนามบินอื่นๆ ซึ่งเรามีสนามบินนานาชาติอยู่หลายสนามบินได้ทำงานเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นเห็นชัดเจนว่าการที่เครื่องบินไม่สามารถขึ้นลงได้เนี่ย เป็นเพราะรัฐบาลและผู้บริหารสนามบินเป็นคนกำหนด และไม่แก้ไขสถานการณ์ 3.ปรากฏชัดเจนว่า รัฐบาลสั่งให้ตำรวจปล่อยให้พันธมิตรฯ เดินเข้าไปที่หน้าสนามบินเอง อันนี้ก็มีหลักฐานชัดเจนในกรณีสนามบินสุวรรณภูมิ”


นายพิภพยังชี้ด้วยว่า การถูกตั้งข้อกล่าวหาเกินจริงจะส่งผลดีต่อการต่อสู้ของพันธมิตรฯ ทำให้คดีหลุดจากศาลได้ ส่วนจะหลุดตั้งแต่ชั้นอัยการหรือไม่ ขึ้นอยู่ว่าอัยการพิจารณากฎหมายอย่างยุติธรรมและตรงไปตรงมาหรือไม่ และว่า การต่อสู้ของพันธมิตรฯ ในคดีนี้ นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ถูกกล่าวหาในคดีแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทุกคนด้วย เพราะสิ่งที่พันธมิตรฯ กำลังต่อสู้ก็คือ “การสร้างความยุติธรรมทุกระดับ” ทั้งระดับตำรวจ-อัยการ-ศาล ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชน ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ความยุติธรรมเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ประเทศสงบและสันติได้

ด้านนางมาลีรัตน์ แก้วก่า แกนนำพันธมิตรฯ รุ่น 2 พูดถึงกรณีที่ตกเป็น 1 ใน 25 พันธมิตรฯ ที่ถูกตำรวจตั้งข้อหาก่อการร้ายว่า นอกจากจะเป็นข้อหาที่ไม่ได้ยืนอยู่บนความจริงแล้ว ยังสะท้อนถึงความไม่มีมาตรฐานของตำรวจด้วย เพราะขณะที่ตั้งข้อหาพันธมิตรฯ เกินจริง กลับตั้งข้อหากลุ่มเสื้อแดงที่ล้มการประชุมอาเซียนที่พัทยาและก่อความวุ่นวายใน กทม.เบากว่าความเป็นจริง นางมาลีรัตน์ยังเชื่อด้วยว่า ความพยายามเล่นงานพันธมิตรฯ ด้วยข้อหาที่หนักเช่นนี้ เป็นฝีมือของรัฐตำรวจในระบอบทักษิณที่ยังแผลงฤทธิ์ได้อย่างเต็มที่

“โดยส่วนตัวคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องของรัฐตำรวจที่ระบอบทักษิณดูแลอยู่ ยังแผลงฤทธิ์ได้อย่างเต็มที่ อันนี้ไม่ต้องไปคิดอย่างอื่น ปิดประตูตายอย่างอื่น ส่วนจะมีใครในรัฐบาลนี้ที่สอดรับหรือขยิบตาซ้ายตาขวาหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แล้วอย่ามาอ้างนะว่า เนี่ยแสดงว่ารัฐบาลนี้ไม่ได้แทรกแซงการทำงานของตำรวจ ไม่ใช่ คือลองสาวกันไปว่าเป็นยังไง ใครดูแล 1.ใครเปลี่ยนตัว พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ (จากการดูแลคดีพันธมิตรฯ) ใช่มั้ย ก็ต้อง ผบ.ตร.(พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ)เท่านั้น แล้ว ผบ.ตร.เป็นใคร ก็เป็นน้องรัฐมนตรีกลาโหม (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) รัฐมนตรีกลาโหมใครตั้งล่ะ มาจากสายสัมพันธ์อันไหน มันหนีไม่ออกจากระบอบเก่าน่ะ เพียงแต่ว่าเขากล้าแผลงฤทธิ์เท่านั้นเอง”

“(ถาม-เราคิดว่า ตำรวจเลือกปฏิบัติมั้ย ขณะที่พันธมิตรฯ ถูกข้อหาแรงขนาดนี้ แต่การกระทำของคนเสื้อแดงไม่ว่าจะเป็นการล้มการประชุมอาเซียน หรือการก่อความวุ่นวายใน กทม.กลับโดนข้อหาไม่แรง?) จริงๆ ไม่อยากจะเทียบกับพวก นปช. แต่เทียบเฉพาะกับคดี 7 ต.ค. เราจะเห็นชัดเจน คุณตี๋ ชิงชัย ที่เป็นศิลปิน ขนาดเขาบาดเจ็บสาหัสจนไม่รู้สติ ในขณะที่เขายังมีสติอยู่ เขายังชูมือชูนิ้ว แต่พอเขาหมดสติไป ตอนนั้นก็คือตอนที่ตำรวจเข้ามาดูแลแล้วเนี่ย ทำไมออกมาให้สัมภาษณ์ได้ว่าเขาถือระเบิดอยู่ในมือ นี่เป็นการใส่ความที่แบบ คุณอยู่ระดับไหนน่ะ คุณจะอ้างว่าไม่รู้ไม่อะไร ไม่ได้ทั้งนั้น เพราะคุณแถลงในนามของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีหลักฐานอยู่ในมือ หมอทั้งโรงพยาบาล พวกขนคนเจ็บก็บอกว่าเป็นกุญแจ ยังสร้างภาพ ลบภาพ แต่งภาพเป็นระเบิด เพราะฉะนั้นการใส่ความว่าเป็นระเบิดแบบนี้เนี่ย มันทำได้ทั้งนั้น”

“ย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า คำว่ารัฐตำรวจเนี่ย ทำไมมันถึงน่ากลัว มันน่ากลัวเพราะมันเป็นจุดต้นทางของกระบวนการยุติธรรม เพราะฉะนั้นมันถึงคราวหรือยังที่ต้องมาคิดกันจริงๆ จังๆ ต้องปฏิรูประบบตำรวจไทยใหม่ ให้ทำแต่คดีเล็กๆ อะไรไปอย่างนี้ การสอบสวนจะต้องไปว่าไปในลักษณะของวิชาชีพ ทีนี้กรณี 7 ต.ค.มันก็เห็นชัดว่า คดีมันไปแบบนั้น มันยังไม่ทำอะไร ไม่เห็นหมายเรียก ผบ.ตร.ออกไปใช่มั้ย เอาแค่ตัวนี้ ตัว 7 ต.ค.เองก็ชัด มาถึงกรณีของ เม.ย. เม.ย.วุ่นวายเนี่ย กรณี(กลุ่มเสื้อแดง)ทำลายการประชุมอาเซียน ถามว่า คุกคามผู้นำต่างประเทศมั้ย แม้จะไม่ใช่สนามบิน แต่เป็นการประชุมของผู้นำระหว่างประเทศ ผู้นำอยู่กันเต็มเลยน่ะ คุณไปคุกคามถึงขนาดกระโดดเข้าไปพังกระจกโรงแรม ขนาดนั้นเนี่ย ค่าเสียหายนี่ มองเผินๆ มันเหมือนกับกรณีไปชุมนุมหน้าสนามบินมันรุนแรงกว่า เพราะออกไปทั่วโลก แต่ตรงนั้นมันคุกคามแม้กระทั่งชีวิตของผู้นำประเทศนะ มันเทียบกันไม่ได้”


ขณะที่นายบรรจง นะแส ผู้ประสานงานพันธมิตรฯ ภาคใต้ และเลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ ซึ่งเป็น 1 ใน 25 พันธมิตรฯ ที่ถูกตำรวจตั้งข้อหาก่อการร้ายเช่นกัน ก็ชี้ว่า ข้อหาดังกล่าวรุนแรงเกินจริง และว่า เจตนาของพันธมิตรฯ ไม่ได้บุกไปเพื่อจะยึดสนามบินหรือทำร้ายประเทศ แต่ไปชุมนุมเรียกร้องโดยสงบ สันติ และอหิงสา แถมยังมีปัจจัยผลักให้พันธมิตรฯ ต้องย้ายที่ชุมนุมด้วย

“ผมคิดว่าเจตนารมณ์ของพันธมิตรฯ เนี่ย ไม่ใช่เจตนารมณ์ที่จะเป็นผู้ก่อการร้าย ไม่ใช่ทำร้ายบ้านเมือง คนที่ไปร่วมชุมนุมพยายามจะสร้างวัฒนธรรมการชุมนุมที่สงบ สันติ และอหิงสา เพียงแต่ว่าปัจจัยที่นำไปสู่การเคลื่อนไปสู่ดอนเมืองหรือสุวรรณภูมิเนี่ย มันมีปัจจัยผลัก โดนยิงในทำเนียบฯ โดนทำร้ายทั้งเสียชีวิตทั้งอะไร ในแง่ของการชุมนุมมันไม่ควรมีสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้น ทีนี้มันก็เป็นการต่อเนื่องของการชุมนุมเพื่อให้บรรลุผล ใช่มั้ย แต่มันไม่มีสิทธิที่จะเข้าข่ายผู้ก่อการร้ายตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และเจตนารมณ์ของผู้ชุมนุม ผมไม่เชื่อนะ เพราะเราก็อยู่กับผู้ชุมนุมเป็นพันเป็นหมื่น เราก็ไม่เห็นว่าใครจะไปทำร้ายอะไรทรัพย์สินราชการ ในห้องน้ำก็ช่วยกันกวาดกันถู ต้นไม้ก็ช่วยกันดูแล ไม่มีอะไรเสียหาย”

“ประเด็นทางการเมืองเป็นเรื่องที่ต้องวิเคราะห์ว่า นอกจากเรื่องที่พยายามผลักให้แรง และจะได้เจ๊าๆ กันไปเนี่ย ตรงนี้ผมไม่เห็นด้วย ประเด็นถัดไปก็เรื่องที่มีการพูดกันว่า เป็นไปได้มั้ยว่างานนี้มีการจัดการกับท่านกษิต อาจจะขวางนักการเมือง ไม่ว่าในประชาธิปัตย์เอง หรือแม้แต่คนที่อยู่กับท่านอดีตนายกฯ ทักษิณเอง ในเรื่องของผลประโยชน์ในอ่าวไทย เพราะมันมีประเด็นนี้แหลมขึ้นมา ซึ่งผมคิดว่ามีเหตุมีผลอยู่ ท่านกษิตเนี่ย ถ้าดูตามบุคลิกของท่านหรือจุดยืนของท่านต่อเรื่องนี้ ท่านไม่ยอม เพราะฉะนั้นถ้าประชาธิปัตย์เอนเอียงมองว่า เพื่อให้สมประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์เอง ที่จะได้ดำเนินโครงการที่อาจจะเป็นผลประโยชน์ของพวกเนี่ย ประเด็นนี้ก็เป็นไปได้ แต่ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่สังคมไทยควรจะจับตามอง”


นายบรรจงยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า พฤติกรรมของคนเสื้อแดงที่ล้มการประชุมอาเซียนที่พัทยาและก่อความวุ่นวายใน กทม.น่าจะเข้าข่ายก่อการร้ายมากกว่าพันธมิตรฯ เสียอีก แต่ตำรวจกลับไม่ตั้งข้อหาดังกล่าว ขณะที่คดีที่พันธมิตรฯ ถูกกระทำ ไม่ว่าจะเป็นกรณีถูกตำรวจยิงด้วยระเบิดแก๊สน้ำตาเมื่อ 7 ต.ค. หรือกรณีที่ถูกคนร้ายยิงระเบิดเข้าใส่ระหว่างการชุมนุมในทำเนียบฯ กลับไม่มีความคืบหน้าของคดี จึงอยากตั้งคำถามว่า กลไกของรัฐ โดยเฉพาะตำรวจยังอยู่ในเงื้อมมือของอำนาจเก่าระบอบทักษิณใช่หรือไม่

ด้าน พ.ต.ท.สันธนะ ประยูรรัตน์ อดีตรองผู้กำกับการ กองบัญชาการตำรวจสันติบาล ซึ่งเป็น 1 ใน 25 พันธมิตรฯ ที่ถูกตำรวจตั้งข้อหาก่อการร้ายเช่นกัน เผยกับวิทยุ ASTV ผู้จัดการ โดยยืนยันว่า การชุมนุมของพันธมิตรที่สนามบิน ไม่เข้าข่ายก่อการร้ายแต่อย่างใด

“ผมรับราชการเป็นตำรวจมา 20 กว่าปี ถามว่าการก่อการร้ายเนี่ย ผมเองก็เคยเข้าอบรมหลักสูตรต่อต้านการก่อการร้ายที่อเมริกา ที่วิทยาลัยตำรวจเอฟบีไอที่อเมริกา ผมเข้าใจดี ถ้ามันเป็นลักษณะการก่อการร้าย ถามว่า ผมจะร่วมมั้ย ถ้าเป็นเรื่องคดีปล้น จี้ ฆ่า อาชญากรรมทั่วไปก็ว่าไปอย่าง อันนี้เขาต้องพึงเข้าใจด้วยว่า การดำเนินคดี ในส่วนคดีอาญากับคดีอาญาซึ่งเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ทางการเมืองเนี่ย มันต้องแยกข้อเท็จจริงออกจากคดีอาญาทั่วไปนะ เป็นเรื่องที่มองแล้วก็น่าสลดใจนะกับองค์กรน่ะ ผมก็พ้นออกมาแล้ว ภูมิปัญญาของผู้ที่รับผิดชอบเขามีได้เท่านี้ แล้วมันจะดีขึ้นได้ยังไงกับการที่จะให้สังคมเขายอมรับกับการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ (ถาม-มีความมั่นใจแค่ไหนว่า พันธมิตรฯ จะรอดจากคดีนี้ได้ไม่ว่าจะในชั้นอัยการหรือศาล?) ถามว่าเหตุผลทางเจ้าหน้าที่เนี่ย ทางพนักงานสอบสวนเขาก็ ผมเชื่อว่า เขาก็ทราบว่าสุดท้าย ถึงที่สุดแล้วเนี่ยก็คงจะไม่ได้มีการลงโทษถึงขั้นนี้ตรงนี้ แต่ด้วยเหตุผลก็คือมันเป็นเรื่องทางการเมืองมากกว่าการที่จะกล่าวหาว่าเป็นเรื่องความผิดทางอาญา เป็นการแจ้งข้อหา เป็นการทำรอ ผมพูดว่าทำรอไว้นะ ทำรอไว้ให้กับการเมือง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลง แล้วก็พร้อมที่จะทำลายทำร้ายกลุ่มพันธมิตรฯ”

“(ถาม-มองยังไง กรณีที่พันธมิตรฯ เคยโดนข้อหากบฏ แล้วศาลก็เพิกถอนหมายจับ มาตอนนี้โดนข้อหาก่อการร้ายอีก?) คือมีแนวทางที่เขาจะกระทำต่อกลุ่มพันธมิตรฯ อยู่แล้วในเรื่องข้อหากบฏ ซึ่งเขาก็เห็นผลแล้วว่า คงจะดำเนินการไม่ได้ แต่เผอิญในวัน ว.เวลา น.ที่เกิดเหตุที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีกฎหมายพิเศษให้เขาอยู่ ที่เขาจะหยิบขึ้นมาอ้าง แล้วใช้เป็นดุลพินิจในการพิจารณามีความเห็นได้ อย่าลืมว่าข้อหาเหล่านี้เกิดขึ้นจากดุลพินิจของพนักงานสอบสวน เพราะฉะนั้นคำว่าดุลพินิจเนี่ย แน่นอนมันมีความเที่ยงตรงชอบธรรมมั้ย เพราะมันเป็นเรื่องบุคคล ถามว่าเป็นคณะ ก็ใช่ การที่คุณตั้งคณะพนักงานสอบสวนขึ้นมา คำว่า คณะ ก็เพื่อให้ดูเป็นองค์ประกอบ ให้ดูว่าเป็นปฏิบัติงาน ไม่ใช่โดยผู้หนึ่งผู้ใด แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว คนนั่งหัวโต๊ะ หรือคนนั่งหัวโต๊ะแล้วรับนโยบายมาจากคนที่อยู่ข้างนอก ก็เพียงพยักหน้า หลิ่วตาซ้าย-ขวา มันก็ไปตามแนวทางนั้น เรารู้อยู่ เพราะเราก็เคยร่วมปฏิบัติมา เราก็ทราบอยู่”


พ.ต.ท.สันธนะ เชื่อด้วยว่า ตนเป็นเป้าหมายหนึ่งที่ตำรวจต้องการเล่นงานข้อหาหนักก่อการร้าย เพราะเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน ตนเคยออกมาแฉเกี่ยวกับบ่อนการพนันใน กทม.ว่ามีกี่แห่ง ใครเป็นเจ้าของ ทำให้ตำรวจที่เสียผลประโยชน์ไม่พอใจ และมากลั่นแกล้งตนในคดีที่ร่วมชุมนุมกับพันธมิตรฯ ดังนั้น ในวันที่จะเข้ารายงานตัวตามหมายเรียกข้อหาก่อการร้าย 16 ก.ค.นี้ ตนจะดูว่าคณะกรรมการในคดีนี้มีใครบ้าง ก่อนจะใช้สิทธิฟ้องต่อศาลให้ดำเนินคดีฐานกลั่นแกล้งตนให้ได้รับโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 200 ซึ่งอัตราโทษก็ไม่แพ้ข้อหาก่อการร้ายที่ตำรวจตั้งให้ตนเช่นกัน โดยโทษสูงสุดจำคุกตลอดชีวิต ดังนั้น ถือว่างานนี้ แลกกัน...ไม่เป็นไร!!
กลุ่มเสื้อแดงบุกล้มการประชุมอาเซียนที่ รร.รอยัล คลิฟฯ พัทยา จนสร้างความหวาดผวาให้กับผู้นำต่างประเทศ กลับไม่ถูกตำรวจตั้งข้อหาก่อการร้าย
กลุ่มเสื้อแดงใช้อาวุธพังประตู รร.รอยัล คลิฟฯ
กลุ่มเสื้อแดงก่อจลาจลใน กทม.พร้อมเผารถเมล์เป็นว่าเล่น แต่ไม่ถูกข้อหาก่อการร้าย
กลุ่มเสื้อแดง ยึดรถก๊าซไปจอดใกล้แหล่งชุมชนหลายจุด พร้อมเปิดวาล์วขู่จุดไฟให้ระเบิด ก็ไม่โดนข้อหาก่อการร้าย
แกนนำและแนวร่วมพันธมิตรฯ ประชุมกับทีมทนายความ โดยมีมติจะฟ้องเจ้าหน้าที่ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการตั้งข้อกล่าวหา เพราะข้อกล่าวหาทั้งหมดของตำรวจล้วนเป็นเท็จ(9 ก.ค.)
นิติธร ล้ำเหลือ ทนายความนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ยื่นหนังสือให้ ผบ.ตร.ทบทวนและยกเลิกข้อหาก่อการร้าย เพราะผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้มีพฤติการณ์ก่อการร้ายแต่อย่างใด(14ก.ค.)
กำลังโหลดความคิดเห็น