"ทนายพันธมิตรฯ" จี้รัฐ อย่าใช้อำนาจมิชอบรังแก ยัดข้อหา "ก่อการร้าย" ย้ำชุมนุมภายใต้กรอบกม. ไม่ได้มั่วสุมหรือก่อความวุ่นวายแต่อย่างใด ด้าน "ยะใส" เผย ตร.เสียงแตกตั้งแต่ตอนถกตั้งข้อหาพันธมิตรฯ ระบุเรื่องนี้มีเงื่อนงำ วงในกระซิบมาว่าเดิมทีไม่ตั้งข้อหา "กษิต" แต่ไหงโดนเอี่ยวด้วย ชี้หาก รมว.ต่างประเทศ หลุดพ้นจากเก้าอี้ เท่ากับเป็นความพ่ายแพ้รัฐ
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง รายการคนในข่าว
รายการ “คนในข่าว” ทางเอเอสทีวี-ทีวีของประชาชน ช่วงเวลา 20.30-22.00 น. วันอังคารที่ 7 ก.ค. มีนายเติมศักดิ์ จารุปราน เป็นผู้ดำเนินรายการ ได้รับเกียรติจาก นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) และนายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความพันธมิตรฯ มาร่วมวิเคราะห์ถึงประเด็นร้อนอย่างการตั้งข้อกล่าวหาพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ว่าเป็นผู้การก่อร้าย
โดยนายนิติธร กล่าวว่า กรณีการตั้งข้อหากับพันธมิตรฯ และนายกษิต ว่าเป็นผู้ก่อการร้าย ต้องพิจารณาว่าสมควรยอมรับข้อกล่าวหรือไม่ โดยสามารถดำเนินการได้หลายวิธี หากเห็นว่าไม่เป็นธรรม จะไม่ไปตามหมายเรียกของเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้ หรือจะใช้วิธีเดินหน้าต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม โดยเข้าไปให้ข้อมูลและหลักฐานเพิ่มเติม เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อได้รับหลักฐานหรือพยานเพิ่มเติมอันเป็นประโยชน์ต่อรูปคดี ก็อาจมีการทบทวนข้อกล่าวหาก็เป็นได้ ทั้งนี้ ตนเห็นว่า หากข้อกล่าวหาไม่มีความเป็นธรรม ก็สามารถต่อสู้ทางข้อกฏหมายได้ ซึ่งรัฐบาลจะต้องไม่เพิกเฉยต่อการใช้อำนาจหน้าที่ที่ไม่เหมาะสมของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะที่เป็นประธาน กตร. ก็ควรเข้าไปดำเนินการเรื่องนี้อย่างเต็มที่ ต้องจัดการทุกอย่างให้มีความโปร่งใส ไม่ควรปล่อยให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจอย่างไม่ถูกต้อง
นายนิติธร กล่าวต่อว่า ข้อกล่าวหาก่อการร้ายต้องพิจารณาจากสภาพข้อเท็จจริงและเจตนาของผู้กระทำ โดยพันธมิตรฯ ดำเนินการทุกอย่างภายใต้กรอบกฏหมายและชุมนุมตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งหากจะบอกว่าเป็นการก่อการร้ายก็อยากให้ดูการกระทำว่าเป็นอย่างไร พันธมิตรฯ มีการตั้งเวทีปราศรัยชัดเจนและเปิดเผย ไม่ได้หลบๆซ่อนๆ แต่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจกับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและไม่ได้สื่อสารให้ประชาชนทราบถึงสถานการณ์ที่เป็นอยู่ รวมทั้งยังเป็นฝ่ายให้เปิดใช้สนามบินตามปกติ ส่วนกรณีที่มีบุคคลกล่าวหาว่าพันธมิตรฯ มีการพกพาอาวุธ ตนอยากชี้แจงว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นฝ่ายจับกุมบุคคลที่อยู่นอกสถานที่ชุมนุม แล้วเอามากล่าวหาว่าเป็นพันธมิตรฯ
"ต้องกลับไปดูกฏหมาย ดูว่ามีความสมเหตุสมผลหรือไม่ ต้องไปดูว่ามีที่มาที่ไป ไม่เช่นนั้นประชาชนจะไม่ยอมรับ และต้องดำเนินการทุกอย่างให้สมเหตุสมผลทั้งในด้านกฏหมายและข้อกล่าวหา" นายนิติธรกล่าว
ส่วนกรณีการมั่วสุมและก่อความวุ่นวายในระหว่างการชุมนุม นายนิติธร กล่าวว่า ต้องพิจารณาเจตนาของผู้กระทำ โดยในมาตรา 215 ของรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ต้องมีเจตนาก่อให้เกิดความวุ่นวาย และต้องพิจารณาหลายปัจจัยว่าเข้าข่ายก่อการร้ายหรือไม่ สำหรับกรณีการชุมนุมของพันธมิตรฯ ต้องดูว่าเริ่มต้นอย่างไร และจบลงอย่างไร เจ้าหน้าที่รัฐไม่ควรมีอคติต่อการใช้สิทธิของประชาชน ในเมื่อไม่อาจกระทำตามข้อเรียกร้องของประชาชนได้ ก็อย่ามาสร้างเกราะทางกฏหมายให้แก่ตนเอง ไม่ว่าจะเป็นพันธมิตรฯ หรือนปช. เจ้าหน้าที่รัฐไม่ควรใช้อำนาจทางกฏหมายมาตั้งข้อกล่าวหารังแกประชาชนเช่นนี้
ทั้งนี้ นายนิติธร กล่าวต่อว่า การตั้งข้อหาก่อการร้ายต้องมีการปราบปรามเวลานั้น ไม่ใช่ปล่อยให้ผ่านมาหลายเดือน แล้วเพิ่งมาตั้งข้อกล่าวหา เพราะเหตุการณ์พันธมิตรฯ ไปชุมนุมที่สนามบินสุวรรณภูมินั้น เกิดขึ้นเมื่อประมาณวันที่ 2-3 ธันวาคม ของปีที่แล้ว แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจเพิ่งมาตั้งข้อกล่าวหากับพันธมิตรฯ และนายกษิตเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายออกมาท้วงติงถึงเรื่องความเสียหาย ตนอยากให้ดูว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้อำนาจเกินขอบเขตด้วยหรือไม่ เนื่องจากตอนชุมนุมที่สนามบินสุวรรณภูมิ ไม่มีฝ่ายใดออกมาเรียกร้องว่าพันธมิตรฯ เป็นผู้ก่อการร้าย ทั้งที่มีเจ้าหน้าที่และผู้โดยสารอยู่ในสนามบิน
นายนิติธร กล่าวอีกว่า ปัญหาต่อมาที่ต้องพิจารณา คือ จะทำอย่างไรกับผู้ร่วมชุมนุม เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการดำเนินคดีกับ 5 แกนนำพันธมิตรฯ แต่ในส่วนผู้ชุมนุมที่เหลือจะทำอย่างไร รวมทั้งจะมีวิธีการดำเนินคดีกับผู้ร่วมขึ้นเวทีปราศรัยหรือไม่ เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องระบุให้ชัดเจนว่ามาตรฐานเป็นเช่นไร ใช้กฏเกณฑ์ใดมาตัดสินว่าเป็นการก่อการร้าย ซึ่งสำหรับตนขอยืนยันว่าไม่ได้มีอคติกับเรื่องดังกล่าว รวมทั้งไม่มีอคติกับเจ้าหน้าที่ แต่ถ้าหากมาตั้งข้อกล่าวหาเกินจริง ทางพันธมิตรฯ ก็ย่อมสามารถฟ้องกลับได้ โดยอาจขอให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน และทางรัฐบาลเองก็ควรเข้าไปดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจังตามที่เคยประกาศว่าจะทำทุกอย่างภายใต้กรอบนิติธรรม ดังนั้น ต้องทำทุกอย่างให้กระจ่างชัด
ขณะที่ นายสุริยะใส กล่าวถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ว่า เท่าที่ทราบข้อกล่าวหา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการประชุม โดยพนักงานสอบสวนต่างมีความเห็นที่แตกต่างกัน ซึ่งบางคนถึงกับแย้งในที่ประชุมว่าการตั้งข้อหาก่อการร้าย ร้ายแรงเกินไปหรือไม่ โดยสำหรับตนเชื่อว่าเรื่องนี้ทางเจ้าพนักงานแจ้งข้อหาโดยมีใบสั่งอย่างแน่นอน ส่วนข้อเสนอแลกเปลี่ยน คือ การที่เจ้าของสำนวนคนหนึ่งให้เลื่อนยศ นอกจากนี้ วงในยังกระซิบอีกว่า เดิมที่ นายกษิต ไม่ได้ถูกตั้งข้อกล่าวหาดำเนินคดี แต่ทำไมถึงโดนพร้อมกับพันธมิตรฯ ด้วย ทำให้น่าคิดว่าเรื่องนี้อาจมีเงื่อนงำที่ไม่ชอบมาพากล โดยในส่วนนายกษิตไม่น่ากังวลอะไร เพราะเป็นการขึ้นเวทีพันธมิตรฯ ในฐานะวิทยากรเพียงครั้งเดียวเท่านั้น
"วันนี้มีนักข่าวประจำพรรคประชาธิปัตย์หลายฉบับ โทรมาถามว่า เตรียมรายชื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศคนใหม่แล้วหรือยัง ตนจึงตอบไปว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับพันธมิตรฯ นายกษิตไม่ได้เป็น ส.ส.ในโค้วตาของพันธมิตรฯ อีกทั้งไม่ได้มีความประสงค์จะร่วมงานกับพรรคการเมืองใหม่ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องของรัฐบาลต้องตัดสินใจเอง เพราะนายกษิตเป็น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ แต่ถ้าหากมีการปลดนายกษิตจริง ก็ถือเป็นความพ่ายแพ้ของรัฐบาล" นายสุริยะใส กล่าว