หากเป็นความเข้าใจของคนทั่วไปคงหลับตานึกภาพพจน์ของ“ผู้ก่อการร้าย” ว่าจะต้องเป็นคนที่สวมชุดไอ้โม่ง มีอาวุธครบมือ บุกเข้าไปยึดอาคารที่ทำการของรัฐที่ไหนสักแห่ง แล้วจับคนบริสุทธิ์เป็นตัวประกันไม่เว้นแม้กระทั่ง เด็ก สตรี หรือคนแก่ จากนั้นก็ยื่นเงื่อนไขต่อรองให้ปล่อยนักโทษหรือใครก็ตาม ที่เป็นพวกเดียวกันให้เป็นอิสระ หากไม่ทำตามเงื่อนไขก็จะยิงตัวประกันทิ้งทีละคน ทีละคน
ขณะที่ฝ่ายรัฐก็ต้องเตรียมหน่วยคอมานโด นักแม่นปืนบุกเข้าไปช่วยเหลือ แล้วมีการปะทะกันนองเลือด มีการบาดเจ็บล้มตาย
นั่นคือภาพผู้ก่อการร้ายทั้งในภาพยนตร์ และในเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ส่วนจะเป็นผู้ก่อการร้ายสากลหรือผู้ก่อการร้ายท้องถิ่นบ้านนอกหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง !!
ในความเป็นจริงเมื่อหลับตาย้อนกลับไปถึงการชุมนุมของประชาชนที่เรียกว่า พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ตัดตอนเอาเฉพาะการชุมนุมที่สนามบินสุวรรณภูมิ ที่ถูกแจ้งข้อหา “ผู้ก่อการร้าย” และมีการออกหมายเรียกแกนนำ รวมทั้งคนที่เข้าร่วมกิจกรรมรวมทั้งหมด 25 คน ซึ่งไม่นับกรณีการชุมนุมที่สนามบินดอนเมือง ที่แยกออกมาอีกคดีหนึ่ง
หลายคนเห็นแล้วคงรู้สึกตลก และสะท้อนความรู้สึกอยู่ภายในว่า นี่หรือคือกระบวนการยุติธรรมต้นทางในบ้านเรา แต่ก็เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้
น่าสังเกตก็คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตั้งข้อหา “ผู้ก่อการร้าย” กับบรรดาแกนนำ และผู้ที่เข้าร่วมจำนวน 25 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นมี กษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รวมอยู่ด้วย ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมทางการเมืองพอสมควร ขณะเดียวกัน ยังมีการนำไปขยายผลเพื่อเป้าหมายบางอย่าง
หากว่ากันเฉพาะข้อหาก่อการร้าย ถือว่าร้ายแรง เพราะมีโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต แต่ในทางกลับกัน เมื่อมองในแง่ของพฤติกรรม และเหตุผลของการชุมนุมที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2551 ที่เป็นต้นเหตุของการตั้งข้อหา ทุกอย่างตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง
เพราะหากพิจารณานิยามหรือความหมายของผู้ก่อการร้ายดังกล่าวข้างต้น ย่อมถือว่า“อันตราย” จะปล่อยให้คนเหล่านี้เดินอยู่บนถนนจนถึงปัจจุบัน นานถึง 9 เดือน และบางคนโดยเฉพาะ กษิต ภิรมย์ ยังได้เป็นถึงรัฐมนตรีต่างประเทศ ถือว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง
แต่นี่กลับปล่อยไว้ให้ลอยนวล และที่สำคัญระดับผู้ก่อการร้าย ไม่สมควรออกเป็นหมายเรียก ต้องเป็นหมายจับ หรือต้องตามล่ามาลงโทษ หรือไม่ก็ต้องยิงทิ้ง เพราะเป็นบุคคลที่อันตรายต่อโลกใบนี้
แต่เมื่อทุกอย่างกลับไม่ดำเนินการ แสดงว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตั้งข้อหากับบุคคลเหล่านั้น “เกินจริง” หรือทำตามใบสั่ง เพื่อเป้าหมายซ่อนเร้นทางการเมืองบางอย่าง หรือมีวัตถุประสงค์เพื่อต่อรองในทางคดีหรือไม่
เพราะก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ตำรวจก็เคยตั้งข้อหากับบรรดาแกนนำพันธมิตรฯใน “ข้อหากบฏ” เกินความจริงจน ศาลอุทธรณ์ต้องมีคำสั่งยกเลิกไปแล้ว
ดังนั้นการตั้งข้อหาผู้ก่อการร้ายในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการ “ยัดข้อหา” อีกหรือไม่ แม้ว่าขั้นตอนของการดำเนินคดี ยังต้องดำเนินการอีกยาวไกล และยังไม่รู้ว่าในที่สุดแล้วตำรวจจะสรุปแบบไหน หรือเมื่อสั่งฟ้องแล้ว อัยการจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม แต่การตั้งข้อหาให้เกินจริง เพื่อให้เกิดผลทางการเมือง สะท้อนให้เห็นถึงมาตรฐานหรือไม่
เพราะไม่ว่าจะมองในมุมไหนของกฎหมาย รวมทั้งพฤติกรรมการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ก็ไม่มีทางจะเข้าข่ายผู้ก่อการร้ายได้เลย
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาในแง่ของ“แรงจูงใจ” ในการทำคดีของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็ถือว่ามีความน่าสงสัย และมีพิรุธ ซึ่งหากนำมาปะติดปะต่อกัน ก็จะเชื่อมโยงถึงกัน
เริ่มจากคดี “7ตุลาทมิฬ” ที่มีระดับบิ๊กของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไล่ลงมาตั้งแต่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รวมไปถึงนายตำรวจระดับสูงหลายนาย ถูกคณะอนุกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดไปแล้ว และกำลังจะถูก ป.ป.ช.ชุดใหญ่ นัดชี้ขาดในเร็วๆ นี้
ซึ่งจากผลสรุปจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และกรรมาธิการของวุฒิสภา ที่สรุปออกมาก่อนหน้านี้เป็นบรรทัดฐานตรงกันว่า มีความผิด ซึ่งนั่นหมายความว่า หากมีการชี้มูลความผิดจากป.ป.ช.มันก็จะมีสะเทือนไปถึงโครงสร้างอำนาจการเมืองในปัจจุบันด้วย ทำให้ช่วยไม่ได้ที่ต้องถูกมองว่ามีการ “ต่อรอง” บางอย่างเกิดขึ้น
ขณะเดียวกันหากมองในมุมของการทำงานแล้ว คดีใหญ่แบบนี้ ต้องมีการรายงานให้ผู้บริหารในรัฐบาลได้ทราบ จนได้รับ“ไฟเขียว” เสียก่อน
หากมองในมุมการเมือง นั่นคือผลกระทบที่จะตามมาก็ย่อมเห็นได้ การที่แกนนำพันธมิตรฯถูกดำเนินคดีคาเอาไว้ในข้อหาก่อการร้าย ก็อาจหวังผลให้การเคลื่อนไหวก่อตั้ง “พรรคการเมืองใหม่” มีปัญหา หรือแม้กระทั่งกรณีของ กษิต ภิรมย์ จะต้องถูกกดดัน ให้ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หรือไม่
ซึ่งเวลานี้กลุ่มเครือข่าย ทักษิณ ชินวัตร ในนามพรรคเพื่อไทย ก็ได้ออกมาขยายผลใหญ่โต สาเหตุก็ไม่มีอะไรมากไปกว่า หาก กษิต พ้นไป ก็จะทำให้ ทักษิณ เคลื่อนไหวในต่างประเทศได้สะดวกเท่านั้นเอง
นอกจากนี้อีกมุมหนึ่งที่สำคัญก็คือ ผลของคดีดังกล่าวอาจนำไปสู่การสยบการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง และกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่ง“กลุ่มอำนาจใหม่” ที่แฝงตัวอยู่ในรัฐบาล และในพรรคประชาธิปัตย์กำลังแตะมือกัน หวังอยู่ลึกๆหรือไม่ เพราะเห็นว่ากรณีเฉพาะหน้าทั้งพันธมิตรฯ และกษิต ไม่มีประโยชน์กับพวกเขา มิหนำซ้ำยังขัดขวางในหลายเรื่องเสียอีก ดังนั้นอาจถึงเวลาที่จะต้องกำจัดไปพร้อมกัน
แม้ว่าในท้ายที่สุดแล้วการตั้งข้อหาผู้ก่อการร้าย กับแกนนำพันธมิตรฯและ กษิต ภิรมย์ จะมีสาเหตุมาจากอะไรก็ตาม แต่นาทีนี้ต้องย้ำว่า “เว่อร์” และต้องมีเบื้องหลังไม่ชอบมาพากลแน่นอน !!