xs
xsm
sm
md
lg

พันธมิตรฯ เปิดผลสำรวจเสียงส่วนใหญ่หนุนตั้งพรรค - ให้ “สนธิ” เป็นหัวหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“พันธมิตรฯ” เผยผลสำรวจความคิดเห็นสมาชิกช่วงงาน 193 วันรำลึก กว่าร้อยละ 81 หนุนตั้งพรรคเพื่อสร้างการเมืองใหม่ โดยให้คงมีพันธมิตรฯ เคลื่อนไหวควบคู่กันไป พร้อมหนุนแกนนำมีบทบาทในพรรคและมีตำแหน่งทางการเมือง กว่าร้อยละ 53 ให้ “สนธิ” เป็นหัวหน้าพรรค ขณะที่ “ดร.อาทิตย์” เป็นคนนอกที่ควรเป็นหัวหน้าพรรคมากที่สุด

คลิกที่นี่ เพื่อฟัง พันธมิตรฯ เปิดผลสำรวจเสียงส่วนใหญ่หนุนตั้งพรรค - ให้ “สนธิ” เป็นหัวหน้า

วันที่ 3 ก.ค.ที่บ้านพระอาทิตย์ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้จัดแถลงข่าวผลการสำรวจความคิดเห็นของสมาชิกพันธมิตรฯ ในช่วงวันที่ 24-25 พ.ค.2552 ที่ผ่านมา เกี่ยวกับการจัดตั้งพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ โดยมีนายพิภพ ธงไชย แกนนำพันธมิตรฯ และนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรฯ เป็นผู้แถลง ตามรายละเอียดดังนี้

“ตามที่ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้จัดการประชุมสภาพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยเชิญตัวแทนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยทุกจังหวัดทั่วประเทศที่ได้มาจากการคัดเลือกกันเองในแต่ละจังหวัด และองค์กรแนวร่วมเข้าร่วมประชุม เมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ที่อาคารนันทนาการ มหาวิทยาลัยรังสิต โดยมีการกรอกแบบฟอร์มสำรวจความคิดเห็นผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 1,484 คน และให้ตัวแทนทุกจังหวัดได้แสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผยพร้อมกับให้มีการถ่ายทอดสดผ่านดาวเทียม ASTV ตลอดทั้งงาน และวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ.2552 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้จัดงาน 193 วันรำลึก 1 ปีแห่งการต่อสู้ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่สนามกีฬา เมนสเตเดียม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตรังสิต และได้มีผู้ที่กรอกแบบสอบถามในการสำรวจดังกล่าวอีก 20,529 คน

รวมผลสำรวจที่มีผู้ให้ข้อมูลตลอดระยะเวลา 2 วัน ทั้งสิ้น 22,013 คน เป็นเพศหญิงคิดเป็นร้อยละ 58.48 เพศชายคิดเป็นร้อยละ 41.52 แบ่งตามภูมิภาค เป็นภาคกลาง และภาคตะวันตก คิดเป็นร้อยละ 44.38 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คิดเป็นร้อยละ 15.89 ภาคใต้ คิดเป็นร้อยละ 15.41 ภาคตะวันออก คิดเป็นร้อยละ 13.90 ภาคเหนือ คิดเป็นร้อยละ 10.42 แบ่งเป็นกลุ่มอาชีพ กลุ่มการค้าและภาคธุรกิจ คิดเป็นร้อยละ 53.10 กลุ่มข้าราชการ คิดเป็นร้อยละ 20.02 กลุ่มการเกษตร คิดเป็นร้อยละ 9.50 กลุ่มกิจการบริการ คิดเป็นร้อยละ 7.67 กลุ่มอื่นๆ คิดเป็นร้อยละ 9.71 โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนเรื่องพรรคการเมืองใหม่ และส่วนที่สอง คือ เรื่องที่เกี่ยวกับตัวบุคคล

ส่วนที่ 1 ความคิดเห็นเรื่องพรรคการเมืองใหม่

ความคิดเห็นต่อคำถามว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะสร้างการเมืองใหม่ให้เป็นผลสำเร็จด้วยวิธีใด? ผลสำรวจความคิดเห็นพบว่า อันดับที่1 ด้วยวิธีตั้งพรรคการเมืองคิดเป็นร้อยละ 81.58 (วันที่ 24 พ.ค.52 ร้อยละ 73.95 และวันที่ 25 พ.ค.52 ร้อยละ 84.20) อันดับที่ 2 วิธีชุมนุมต่อไปคิดเป็นร้อยละ 14.43 และวิธีอื่นๆ คิดเป็นร้อยละ 3.99 โดยความคิดเห็นดังกล่าวมีลักษณะใกล้เคียงกันในทุกภูมิภาคและทุกภาคส่วน

ความคิดเห็นต่อคำถามว่า ท่านคิดว่าบทบาทของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกับพรรคการเมืองใหม่ควรมีความสัมพันธ์กันอย่างไร? ผลสำรวจความคิดเห็นพบว่า อันดับที่ 1 ควรมีพรรคการเมืองใหม่แต่ยังคงมีพันธมิตรฯโดยไม่มีความสัมพันธ์ต่อกัน ทิ้งระยะห่างเพื่อให้ภาคประชาชนยังคงตรวจสอบทุกพรรคการเมืองต่อไป คิดเป็นร้อยละ 49.75 อันดับที่ 2 มีพรรคการเมืองที่เชื่อมโยงและเป็นเครื่องมือของพันธมิตรฯ โดยตรง เพื่อให้รักษาที่มั่นและอุดมการณ์จากภาคประชาชนโดยมีพรรคเดียวไม่แตกแยกคิดเป็นร้อยละ 45.50 อันดับที่ 3 พันธมิตรฯ ควรยุบไปรวมกับพรรคการเมืองใหม่คิดเป็นร้อยละ 2.56 อันดับที่4 ไม่เห็นควรให้ตั้งพรรคการเมืองใหม่คิดเป็นร้อยละ 1.64 ความคิดเห็นอื่นๆ คิดเป็นร้อยละ 0.55

ความคิดเห็นต่อคำถามว่า จุดพิจารณาในการที่กลุ่มพันธมิตรฯ ที่จะก้าวเข้าสู่การเมืองเพื่อสร้างการเมืองใหม่ด้วยเหตุผลใดมากที่สุด ผลสำรวจความคิดเห็นพบว่า อันดับ 1 เพราะการเมืองเก่าทำให้ประชาชนผิดหวังต่อทุกพรรคการเมือง คิดเป็นร้อยละ 31.52 อันดับที่ 2 เพราะนักการเมืองไม่ตอบสนองและไม่สนใจข้อเรียกร้องของ ภาคประชาชนและไม่สนใจการเสียสละของวีรชน ผู้บาดเจ็บ ผู้สูญเสียอวัยวะ และผู้เสียชีวิต คิดเป็นร้อยละ 27.77 อันดับที่ 3 เพราะการเคลื่อนไหวในการชุมนุมถึงทางตีบตันด้วยข้อจำกัดทางกฎหมาย ความไร้ยางอายของนักการเมืองและการเรียนรู้ของนักการเมืองต่อการรับมือกับการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนมีมากขึ้น คิดเป็นร้อยละ 20.43 อันดับที่ 4 เพราะนายสนธิ ลิ้มทองกุล ถูกลอบสังหาร ชีวิตของผู้ชุมนุมถูกอาวุธสงครามเข่นฆ่าโดยที่นักการเมืองเพิกเฉย จึงต้องเปลี่ยนวิธีการต่อสู้ยกระดับการต่อสู้เพื่อเข้าสู่อำนาจรัฐเพื่อยุติความรุนแรงและสร้างการเมืองใหม่ให้ได้เป็นจริงคิดเป็นร้อยละ 18.30 อันดับที่ 5 ไม่เห็นว่าสมควรเข้าสู่บทบาททางการเมืองไม่ว่ากรณีใดๆ คิดเป็นร้อยละ 1.16 ความคิดเห็นอื่นๆ คิดเป็นร้อยละ 0.82

ความคิดเห็นต่อคำถามว่า ท่านคาดหวังอะไรจากพรรคการเมืองใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้น ผลสำรวจความคิดเห็นพบว่า อันดับที่ 1 เป็นตัวอย่างของการเมืองใหม่ที่ส่งเสริมให้คนดีปกครองบ้านเมืองและป้องกันมิให้คนไม่ดีมีอำนาจ ปราศจากการทุจริตคอร์รัปชั่น มีคุณสมบัติ เสียสละ ซื่อสัตย์ กล้าหาญ และมีประสิทธิภาพ คิดเป็นร้อยละ 69.93 อันดับที่ 2 บรรลุข้อเรียกร้อง 13 ข้อ ตามแถลงการณ์ฉบับที่ 29/2551 ลงวันที่ 12 ธันวาคม 2551ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย คิดเป็นร้อยละ 15.49 อันดับที่ 3 เข้าสู่อำนาจรัฐและเพื่อไปปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจ สังคม สร้างการเมืองใหม่ด้วยตัวเองให้เร็วที่สุด คิดเป็นร้อยละ 8.72 อันดับที่ 4 เป็นตัวกระตุ้นและกดดันพรรคการเมืองในปัจจุบันให้เร่งปรับปรุงตัว คิดเป็นร้อยละ 4.09 อันดับที่ 5 ไม่เห็นควรให้ตั้งพรรคการเมืองใหม่ คิดเป็นร้อยละ 1.34 ความคิดเห็นอื่นๆ ร้อยละ 0.43

ความคิดเห็นต่อคำถามว่า สมมุติมีการตั้งพรรคการเมืองใหม่ที่ตอบสนองต่อการเมืองใหม่ หากมีการเลือกตั้ง ท่านจะลงคะแนนเลือกพรรคใด ผลสำรวจพบว่า อันดับที่ 1 ได้แก่พรรคการเมืองใหม่ คิดเป็นร้อยละ 89.35 (โดยแยกเป็นวันประชุมสภาพันธมิตรฯวันที่ 24 พ.ค. 2552 ภาคเหนือคิดเป็นร้อยละ 89.64, ภาคกลางและภาคตะวันตกคิดเป็นร้อยละ 88.89 ภาคตะวันออกคิดเป็นร้อยละ 92.08 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือคิดเป็นร้อยละ 92.31 ภาคใต้ คิดเป็นร้อยละ 85.25 ส่วนผลการสำรวจวันที่ 25 พ.ค.52 พบว่า ภาคเหนือคิดเป็นร้อยละ 90.04 ภาคกลางและภาคตะวันตกคิดเป็นร้อยละ 90.07 ภาคตะวันออกคิดเป็นร้อยละ 87.73 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือคิดเป็นร้อยละ 87.86 และภาคใต้คิดเป็นร้อยละ 86.75) อันดับที่ 2 ได้แก่พรรคประชาธิปัตย์ คิดเป็นร้อยละ 4.17 อันดับที่ 3 ได้แก่พรรคภูมิใจไทย คิดเป็นร้อยละ 0.11 พรรคการเมืองอื่นๆ รวมคิดเป็นร้อยละ 6.37

ความคิดเห็นต่อคำถามว่า หากไม่เห็นด้วยหรือเห็นด้วยกับการตั้งพรรคการเมืองใหม่ ข้อใดเป็นสิ่งที่ท่านกังวลมากที่สุด ผลสำรวจพบว่า อันดับที่ 1 ไม่กังวลใดๆ เพราะเชื่อมั่นในพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย คิดเป็นร้อยละ 43.67 อันดับที่ 2 กังวลว่าจะซ้ำรอยการเมืองเก่าร้อยละ 16.74 อันดับที่ 3 กังวลว่าจะหลงในอำนาจและเปลี่ยนจุดยืน คิดเป็นร้อยละ 15.74 อันดับที่ 4 กังวลว่าจะเปลี่ยนแปลงไม่สำเร็จ/สังคมไทยยังไม่พร้อม คิดเป็นร้อยละ 7.93 อันดับที่ 5 กังวลว่าจะทำให้ภาคประชาชนล้มเหลวไปด้วย คิดเป็นร้อยละ 6.97 อันดับที่ 6 กังวลว่าคนจะสนับสนุน ASTV น้อยลง คิดเป็นร้อยละ 3.93 อันดับที่ 7 กังวลว่าจะไปแย่งเสียงกับพรรคประชาธิปัตย์ คิดเป็นร้อยละ 3.23 ความคิดเห็นอื่นๆร้อยละ 1.79

ความคิดเห็นต่อคำถามว่า ถ้ามีการตั้งพรรคการเมืองใหม่ขึ้นแล้วท่านจะกำหนดบทบาทของตัวท่านอย่างไร ต่อการเคลื่อนไหวเพื่อนำไปสู่การเมืองใหม่? ผลสำรวจพบว่า อันดับที่ 1 ทำงานเคลื่อนไหวภาคประชาชนในนามพันธมิตรฯ ควบคู่กับการทำงานในภาคการเมืองในรัฐสภา คิดเป็นร้อยละ 54.21 อันดับที่ 2 ทำงานเคลื่อนไหวในนามภาคประชาชนในนามพันธมิตรฯอย่างเดียวคิดเป็นร้อยละ 40.12 อันดับที่ 3 ทำงานในภาคการเมืองในรัฐสภาอย่างเดียว คิดเป็นร้อยละ 4.80 ความคิดเห็นอื่นๆ คิดเป็นร้อยละ 0.86

ส่วนที่ 2 เรื่องเกี่ยวกับตัวบุคคล

ความคิดเห็นต่อคำถามว่า เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์การสร้างการเมืองใหม่ได้อย่างแท้จริง ท่านคิดว่า บุคคลต่างๆ ควรมีบทบาทอย่างไรในอนาคต?

2.1 บทบาทของแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต่อพรรคการเมือง

พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ควรทำงานในพรรคการเมืองใหม่ คิดเป็นร้อยละ 58.48 ควรทำงานในภาคประชาชนอย่างเดียวคิดเป็นร้อยละ 31.25 แล้วแต่มติของแกนนำคิดเป็นร้อยละ 10.27

ในบรรดาผู้ที่เห็นว่า พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ควรทำงานในพรรคการเมืองใหม่ ผลสำรวจพบว่า เห็นควรให้เป็นที่ปรึกษาพรรค คิดเป็นร้อยละ 55.75 เห็นควรเป็นกรรมการบริหารพรรคคิดเป็นร้อยละ 26.88 เห็นควรเป็นหัวหน้าพรรค คิดเป็นร้อยละ 17.37

นายพิภพ ธงไชย ควรทำงานในพรรคการเมืองใหม่ คิดเป็นร้อยละ 59.12 ควรทำงานในภาคประชาชนอย่างเดียว คิดเป็นร้อยละ 28.45 แล้วแต่มติของแกนนำคิดเป็นร้อยละ 12.44

ในบรรดาผู้ที่เห็นว่า นายพิภพ ธงไชย ควรทำงานในพรรคการเมืองใหม่ ผลสำรวจพบว่า เห็นควรเป็นกรรมการบริหารพรรค คิดเป็นร้อยละ 52.58 เห็นควรเป็นที่ปรึกษาพรรค คิดเป็นร้อยละ 42.71 เป็นหัวหน้าพรรคคิดเป็นร้อยละ 4.71

นายสนธิ ลิ้มทองกุล ควรทำงานในพรรคการเมืองใหม่ คิดเป็นร้อยละ 63.97 ควรทำงานในภาคประชาชนอย่างเดียว คิดเป็นร้อยละ 25.24 แล้วแต่มติของแกนนำคิดเป็นร้อยละ 10.79

ในบรรดาผู้ที่เห็นว่า นายสนธิ ลิ้มทองกุล ควรทำงานในพรรคการเมืองใหม่ ผลสำรวจพบว่า เห็นควรเป็นหัวหน้าพรรค คิดเป็นร้อยละ 53.61 เห็นควรเป็นที่ปรึกษาพรรคคิดเป็นร้อยละ 31.26 เห็นควรเป็นกรรมการบริหารพรรค คิดเป็นร้อยละ 15.13

นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ควรทำงานในพรรคการเมืองใหม่ คิดเป็นร้อยละ 66.35 ทำงานในภาคประชาชนอย่างเดียว คิดเป็นร้อยละ 16.66 แล้วแต่มติของแกนนำคิดเป็นร้อยละ 16.99

ในบรรดาผู้ที่เห็นว่านายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ควรทำงานในพรรคการเมืองใหม่ ผลสำรวจพบว่า เห็นควรเป็นกรรมการบริหารพรรค 54.07 เป็นที่ปรึกษาพรรคคิดเป็นร้อยละ 30.76 เป็นหัวหน้าพรรค คิดเป็นร้อยละ 15.17

นายสมศักดิ์ โกศัยสุข ควรทำงานในพรรคการเมืองใหม่ คิดเป็นร้อยละ 57.85 ทำงานในภาคประชาชนอย่างเดียว คิดเป็นร้อยละ 28.70 แล้วแต่มติของแกนนำคิดเป็นร้อยละ 13.45

ในบรรดาผู้ที่เห็นว่านายสมศักดิ์ โกศัยสุข ควรทำงานในพรรคการเมืองใหม่ ผลสำรวจพบว่า เห็นควรเป็นกรรมการบริหารพรรค 51.95 เป็นที่ปรึกษาพรรคคิดเป็นร้อยละ 42.08 เป็นหัวหน้าพรรค คิดเป็นร้อยละ 5.97

2.2 บทบาทของแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต่อตำแหน่งทางการเมือง

พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ไม่ควรเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คิดเป็นร้อยละ 37.70 ควรทำงานเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคิดเป็นร้อยละ 36.40 แล้วแต่มติของแกนนำคิดเป็นร้อยละ 25.90

นายพิภพ ธงไชย ควรเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คิดเป็นร้อยละ 45.15 ไม่ควรเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คิดเป็นร้อยละ 30.24 แล้วแต่มติของแกนนำคิดเป็นร้อยละ 24.61

ในบรรดาผู้ที่เห็นว่า นายพิภพ ธงไชย ควรเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผลสำรวจพบว่า ควรมีตำแหน่งในคณะรัฐบาล คิดเป็นร้อยละ 63.46 เป็น ส.ส. คิดเป็นร้อยละ 36.54

นายสนธิ ลิ้มทองกุล ควรเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คิดเป็นร้อยละ 44.04 ไม่ควรเป็นผู้ดำรงตำแหน่างทางการเมือง 33.93 แล้วแต่มติของแกนนำคิดเป็นร้อยละ 22.03

ในบรรดาผู้ที่เห็นว่า นายสนธิ ลิ้มทองกุล ควรเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผลสำรวจพบว่า เห็นควรมีตำแหน่งในคณะรัฐบาล คิดเป็นร้อยละ 71.78 เป็น ส.ส. คิดเป็นร้อยละ 28.22

นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ควรเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คิดเป็นร้อยละ 71.37 ไม่ควรเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 12.70 แล้วแต่มติของแกนนำคิดเป็นร้อยละ 15.93

ในบรรดาผู้ที่เห็นว่านายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ควรเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผลสำรวจพบว่า เห็นควรมีตำแหน่งในคณะรัฐบาล คิดเป็นร้อยละ 52.67 เป็น ส.ส. คิดเป็นร้อยละ 47.33

นายสมศักดิ์ โกศัยสุข ควรเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คิดเป็นร้อยละ 49.90 ไม่ควรเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 25.79 แล้วแต่มติของแกนนำคิดเป็นร้อยละ 24.31

ในบรรดาผู้ที่เห็นว่านายสมศักดิ์ โกศัยสุข ควรเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผลสำรวจพบว่า เห็นควรมีตำแหน่งในคณะรัฐบาล คิดเป็นร้อยละ 64.72 เป็น ส.ส. คิดเป็นร้อยละ 35.28

2.3 หากไม่ให้แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มามีบทบาทในพรรคการเมืองใหม่ ท่านคิดว่าอยากเห็นใครเป็นหัวหน้าพรรคมากที่สุด (คำถามปลายเปิด)

ผลสำรวจพบว่า ไม่ตอบคำถามถึงร้อยละ 45.54 ยังคงตอบเป็นนายสนธิ ลิ้มทองกุล คิดเป็นร้อยละ 9.17 ยังคงตอบเป็น พล.ต.จำลอง ศรีเมือง คิดเป็นร้อยละ 2.38 ยังคงตอบเป็นนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ คิดเป็นร้อยละ 1.74 ยังคงตอบเป็นนายสมศักดิ์ โกศัยสุข คิดเป็นร้อยละ 0.23 และนายพิภพ ธงไชย คิดเป็นร้อยละ 0.23 และยังคงตอบภาพรวมว่าต้องเป็นแกนนำพันธมิตรฯรุ่นหนึ่งอีกร้อยละ 0.56 รวมคิดเป็นการไม่ตอบคำถามดังกล่าวและยืนยันที่จะให้แกนนำพันธมิตรฯ เป็นหัวหน้าพรรค รวมคิดเป็นร้อยละ 59.85

หากแกนนำพันธมิตรฯ ไม่มามีบทบาทในพรรคการเมืองใหม่แล้ว ผลสำรวจพบว่าอยากเห็นบุคคลที่ควรเป็นหัวหน้าพรรคมากที่สุด เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย 20 ลำดับแรก ดังนี้

1.ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ร้อยละ 8.54
2.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ร้อยละ 5.59
3.นายสุริยะใส กตะศิลา ร้อยละ 4.21
4.น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ร้อยละ 3.27
5.พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ ร้อยละ 1.99
6.นายอานันท์ ปันยารชุน ร้อยละ 1.66
7.นายกษิต ภิรมย์ ร้อยละ 1.65
8.นายประพันธ์ คูณมี ร้อยละ 1.40
9.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ร้อยละ 0.84
10.ศ.ดร.ปราโมทย์ นาครทรรพ ร้อยละ 0.69

11.พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ร้อยละ 0.54
12.พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ ร้อยละ 0.44
13.นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ร้อยละ 0.33
14.คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ร้อยละ 0.29
15.ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ร้อยละ 0.21
16.ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ร้อยละ 0.20
17.นายศรัณยู วงศ์กระจ่าง ร้อยละ 0.19
18.นายคำนูณ สิทธิสมาน ร้อยละ 0.18
19.นายชัชวาลย์ ชาติสุทธิชัย ร้อยละ 0.16
20.ศ.นพ.ประเวศ วะสี ร้อยละ 0.14 และอื่นๆ รวมร้อยละ 1.38

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังเห็นว่า น่าจะใช้วิธีการอื่นๆ เช่น ให้แกนนำพันธมิตรฯ เป็นผู้เลือกคิดเป็นร้อยละ 2.28 ให้เป็นบุคคลภายนอก คิดเป็นร้อยละ 2.16 ให้จัดทำประชามติคิดเป็นร้อยละ 1.52 เห็นควรใครก็ได้ที่เป็นพันธมิตรฯ ที่ไม่ใช่แกนนำคิดเป็นร้อยละ 0.29







กำลังโหลดความคิดเห็น