xs
xsm
sm
md
lg

โค้งสำคัญพันธมิตรฯ : จาก 193 วันถึงพรรคการเมืองใหม่!?

เผยแพร่:   โดย: สำราญ รอดเพชร *-*

พักนี้ได้ฟังการสนทนา ได้อ่านบทความ...ว่าด้วยการตั้ง-ไม่ตั้งพรรคการเมืองของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จนอิ่มแปร้ แต่ที่อยากจะฟังมากๆ ก็คือ เสียงจากตัวแทนพันธมิตรฯ ทุกจังหวัดนับพันคนที่จะชักแถวเข้าประชุม “สภาพันธมิตรฯ” ในวันที่ 24 พ.ค.52 ณ อาคารนันทนาการ มหาวิทยาลัยรังสิต

จากที่ได้รับฟัง ได้อ่านความเห็นปฏิกิริยาสะท้อนต่างๆ แล้ว บอกได้อย่างเดียวว่า...คือความงดงามในความเห็นต่างของพ่อแม่พี่น้องพันธมิตรฯ และวิญญูชนคนทั่วไป ผมนึกภาพเลยเถิดไปไกลถึง “อิน-จัน” แฝดสยาม..ตัวติดกันแท้ๆ แต่คิดต่างกันก็มากมายหลายเรื่อง นอนบนเตียงเดียวกัน ตัวติดกันแต่ฝันกันคนละเรื่อง...

ประสาคนมองโลกในแง่ดี ผมคิดว่าความเห็นต่าง เรื่องการตั้ง-ไม่ตั้งพรรคการเมือง เป็นปรากฏการณ์การถกเถียงทางปัญญาครั้งสำคัญของพันธมิตรฯ ไม่ว่าผลสรุปในวันที่ 24-25 พ.ค. 52 จะเป็นอย่างไร ผมยังเชื่อมั่นว่ามวลชนพันธมิตรฯ ส่วนใหญ่จะยังร้อยรัดความรักกันเป็นหนึ่งเดียวเอาไว้ได้...

เหมือน 193 วันแห่งการต่อสู้ ที่หลายคนหรือแม้แต่ผมในบางครั้งรู้สึกทดท้อเหนื่อยล้าเพราะความยืดเยื้อและวิธีการต่อสู้ในบางครั้ง แต่เพราะความเชื่อมั่นทั้งต่อแกนนำและพี่น้องพันธมิตรฯ ว่า...ทุกคนมีแต่ความจริงใจในการต่อสู้ สู้เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์

ทำให้เรายืนหยัดอยู่ได้จนถึงวันที่ 193

ยอมรับว่า การตั้ง-ไม่ตั้งพรรคการเมือง คือโค้งสำคัญของพันธมิตรฯ

ว่าจะต่อสู้บนแนวทางองค์กรภาคประชาชนโดยพัฒนาปรับแต่งขบวนให้เข้มแข็งมากขึ้นและมากขึ้น เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลเป็นหูเป็นตาเป็นยามเฝ้าแผ่นดิน ไม่ให้พวกโจรมันปล้นชาติปล้นเมืองต่อไป

หรือว่าจะปรับขบวน ยกระดับการต่อสู้ของพันธมิตรฯ ขึ้นมาอีกรูปแบบหนึ่งด้วยการตั้งพรรคการเมือง สู้ในแบบประชาธิปไตยตัวแทนคือมี ส.ส.ในสภา หรือตลอดจนในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย เพื่อจะได้เป็นปากเป็นเสียงเป็นไม้เป็นมือในการขับเคลื่อนกฎหมาย-นโยบายให้เป็นรูปธรรม แทนที่จะต้องยืมจมูกคนอื่นหายใจ หรือต้องลงแรงชุมนุมทางการเมืองกันเรื่อยไป..


ถามว่าผมคิดอย่างไร...เรื่องการตั้ง-ไม่ตั้งพรรคการเมือง ก็ต้องตอบตามตรงว่าแม้จะมองเห็นทั้งข้อดีข้อด้อยของทั้งสองแนวทาง แต่เมื่อบวกลบคูณหารแล้ว ผมเห็นว่า...ได้เวลาที่พันธมิตรฯ ควรจะยกระดับการต่อสู้ด้วยการตั้งพรรคการเมือง โดยที่ยังไม่ละทิ้งองค์กรภาคประชาชนอย่างพันธมิตรฯ

เหตุผลกว้างๆ

1) แม้ในอนาคตความจำเป็นที่จะต้องชุมนุมทางการเมืองขนาดใหญ่อาจจะมี แต่ก็คงมีไม่มากหรือไม่บ่อยครั้ง ขณะที่การชุมนุมเคลื่อนไหวในลักษณะอารยะขัดขืน เช่น ยึดถนน ยึดสถานที่ราชการก็มีความจำกัดและยากลำบากกว่าเดิม

ผมกำลังบอกว่าการเมืองบนท้องถนน อาจจะยังจำเป็นอยู่ในบางสถานการณ์เท่านั้น แต่ไม่ควรและไม่น่าจะใช่ทางเลือกหลัก

2) แม้พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองที่มีแนวทางแนวคิดสอดคล้องกับมวลชนพันธมิตรฯ มากที่สุด แต่ด้วยความจำกัดทั้งโครงสร้างของการเมืองรัฐบาลผสม บวกกับวัฒนธรรม วิธีคิดของพรรคประชาธิปัตย์ทำให้รัฐบาลประชาธิปัตย์ไม่ได้ตอบสนองข้อเสนอข้อเรียกร้องของพันธมิตรฯ อย่างมีนัยสำคัญแต่ประการใด

แปลไทยเป็นไทยว่า...ถ้าพรรคประชาธิปัตย์เจ๋งกว่านี้ พันธมิตรฯ ก็ไม่ควรตั้งพรรคการเมืองให้เมื่อยตุ้ม

3) ทิศทางการเมืองเบื้องหน้า ปลายปีนี้หรือต้นปีหน้ามีแนวโน้มสูงยิ่งที่จะยุบสภาเลือกตั้งทั่วไปกันใหม่ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย จะเป็น 3 พรรคใหญ่สุด ส่วนพรรคขนาดกลาง ขนาดเล็กก็เดิมๆ โครงสร้างอำนาจ-การเมืองก็ยังจะเดิมๆ การเข้ามาถอนทุนของแต่ละพรรคการเมืองหรือการปล้นชาติผลาญเมืองก็จะยังเกิดขึ้นต่อไป

ถ้าพันธมิตรฯ ประสานเสียงการต่อสู้อย่างสร้างสรรค์ทั้งนอกสภาและในสภา การปกป้องผลประโยชน์ชาติก็น่าจะหนักแน่นขึ้น

หรือว่าเราจะปล่อยให้การโกงบ้านกินเมืองเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาเราอีก โดยที่เราทำได้เพียงนั่งวิพากษ์วิจารณ์หรือด่าทอด้วยความคลั่งแค้นที่ตัวเองช่วยอะไรประเทศชาติไม่ได้

4) การแจ้งเกิดของพรรคพันธมิตรฯ ไม่ว่าจะมีตัวแทนในสภากี่ที่นั่งก็ตาม แต่เป็นโอกาสสำคัญที่จะได้ใช้ความเสียสละ ความซื่อสัตย์และความกล้าหาญ ตลอดจนความรู้ความสามารถ จุดความหวังให้ประชาชนที่กำลังเบื่อหน่าย สิ้นหวังกับการเมือง(เก่า) และผนึกพลังกันเดินหน้าสร้างการเมืองใหม่ให้เป็นจริงในอนาคตได้

และถ้าพรรคพันธมิตรฯ ผ่านการพิสูจน์บทแรกด้วยความสมบูรณ์สวยงาม นักธุรกิจ ปัญญาชน นักต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม คนดีๆ ที่รักบ้านรักเมืองอีกจำนวนมากก็คงชักแถวออกมาเข้าร่วมมากขึ้นและมากขึ้น

5) ความเป็นพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ มิได้เป็นการปิดกั้นหรือลดทอนพลังแห่งการจุดเทียนแห่งปัญญาให้กับประชาชนแต่ประการใด ตรงข้ามภายใต้โครงสร้างที่มีสาขาพรรค หรือแม้แต่ตัวองค์กรพันธมิตรฯ ก็จะทำหน้าที่จุดเทียนสร้างปัญญาได้ต่อไป

...ฯลฯ...

ครับ เหล่านี้เป็นทั้งความรู้สึกและความเชื่อส่วนตัวของผม ผิด-ถูกอย่างไรก็ถือเสียว่าเป็นการแลกเปลี่ยน ไม่ได้ออกมาชี้แนะชี้นำแต่ประการใดทั้งสิ้น

ส่วนรายละเอียดโครงสร้างพรรค ตัวบุคคลระดับนำที่จะร่วมกันสรรค์สร้าง นำพาพรรคการเมืองพรรคนี้ในเบื้องต้นผมเชื่อมั่นว่ามีมากมาย จะให้ลองเอ่ยชื่อเล่นๆ เพื่อให้เห็นภาพบ้างก็ยังได้...

นอกเหนือจาก สนธิ ลิ้มทองกุล และอีก 4 แกนนำแล้ว ผมเชื่อว่าคนอย่าง น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ, ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์, พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ, ดร.สิทธิชัย โภคัยอุดม, พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส, คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑะกา ฯลฯ ก็ไม่น่าจะขัดข้องที่จะเข้าร่วมหากไปเทียบเชิญ

แน่นอนในภาคปฏิบัติหรือชีวิตจริงการทำพรรคการเมืองให้บรรลุเป้า ภายใต้ค่านิยม วัฒนธรรมการเมืองเก่าที่ฝังรากลึกไม่ง่ายหรอก และหลายคนเกรงว่าพันธมิตรฯกำลังจะเดินหลงทางเข้าร่องแข้งของพวกนักเลือกตั้งบางพวกที่จ้องจะโจมตีด่าว่า ก็เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังและพึงตระหนัก ซึ่งผมเห็นด้วยว่าอย่าประมาท...เพียงแต่ผมไม่เห็นด้วยถ้าเราจะเกร็งกันจนยอมจำนนจนไม่กล้าขยับที่จะทำอะไรใหม่ๆ

ครับ ทั้งหมดด้วยความบริสุทธิ์ใจครับ

                                                          samr_rod@hotmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น