xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” ลั่น สงครามไม่ช่วยแก้ปัญหา เขาพระวิหาร ยัน “กษิต” ไม่ได้นิ่งเฉย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
“นายกฯ อภิสิทธิ์” เมิน “ฮุนเซน” ท้ารบ ลั่นสงครามไม่ใช้วิธีแก้ปัญหาความขัดแย้งปราสาทพระวิหาร ย้ำขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารคนทั้งโลกต้องได้ประโยชน์ ชี้ไม่ฟังไทยปัญหาจึงเกิดขึ้น ตราบใดที่เขตแดนยังไม่ชัด ยันต้องทักท้วง อุ้ม “กษิต” ปัดนิ่งเฉยดำเนินการอยู่

วันนี้ (2 ก.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีการเจรจาของกัมพูชาว่า กรอบการเจรจานั้นเป้าหมายตรงกันคือเราต้องการแก้ไขปัญหาโดยสันติ แต่เรื่องกำลังพลนั้นเป็นรายละเอียดและบางพื้นที่ที่มีความละเอียดอ่อนเช่นวัดก็ต้องใช้เวลาในการพูดคุยกันก่อนแม้จะยังตกลงกันไม่ได้ก็ตาม เมื่อถามว่า สมเด็จฯ ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ให้สัมภาษณ์ท้าทายศักดิ์ศรีของประเทศไทยตลอดเวลา เรื่องนี้จะส่งผลถึงการพูดคุยของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานอยู่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า คิดว่าตอนนี้ความเข้าใจของคนทำงานเป็นไปในทางที่ดี ส่วนการแสดงออกของฝ่ายการเมืองบางครั้งก็เป็นเรื่องปัญหาการเมืองภายในเหมือนกัน ซึ่งก็ต้องเข้าใจ ย้ำว่าไม่กระทบเพราะคนทำงานก็ต้องคุยกัน หากไปถาม รมว.กลาโหม และผู้บัญชาการเหล่าทัพ ก็ยืนยันว่าการพูดคุยเป็นไปในเป้าหมายเดียวกัน คือ ลดความตึงเครียดลง แน่นอนว่าต่างฝ่ายต้องระวัง เพราะการเจรจานั้นจะมีความได้เปรียบเสียเปรียบ

เมื่อถามว่า ท่าทีล่าสุดของนายกฯ กัมพูชาที่ระบุว่าพร้อมทำสงคราม นายกฯ กล่าวว่า การพูดเรื่องความพร้อมนั้น ไทยก็มีความพร้อม แต่สิ่งสำคัญนั้นคือ การพูดคุยกันแล้วว่าไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหา ตนเชื่อว่าในที่สุดแล้วทั้งสองประเทศจะเข้าใจว่าเมื่อมีการรบกันนั้น ไม่มีใครชนะ จะเสียหายมาก สองประเทศก็อยู่ในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน มีงานที่ทำร่วมกันหลายเรื่อง เช่น คมนาคม การท่องเที่ยว การรวมตัวทางเศรษฐกิจโดยรวม มันจึงไม่มีประโยชน์อะไร สุดสัปดาห์นี้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ จะไปร่วมงานเปิดถนนในเส้นทางที่ไทยไปสนับสนุนกัมพูชา สิ่งนี้คือหลักของความสัมพันธ์ ปัญหาเขาพระวิหารนั้นต้องค่อยๆ แก้ไข ส่วนคำพูดของนายกฯ กัมพูชาที่เหมือนว่ามักเขกหัวรัฐบาลไทยเสมอๆ นั้น นายกฯ กล่าวว่า ไม่ใช่อย่างนั้น เราต้องระวังเรื่องข่าวสาร

เมื่อถามว่า นายปองพล อดิเรกสาร อดีตกรรมการมรดกโลกของไทย ระบุว่า นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ เดินทางไปสังเกตการณ์การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่สเปนนั้น คัดค้านไม่เป็นผล เพราะเขาพระวิหารขึ้นทะเบียนไปแล้ว นายกฯ กล่าวว่า ต้องเข้าใจข้อมูลว่าการตัดสินใจขึ้นทะเบียนนั้นเกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ช่วงที่นายปองพลและนายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศไปประชุม แต่มันมีข้อกำหนดว่ากัมพูชาต้องทำอะไรบ้าง เช่น การจัดทำรายงาน แผนที่ ข้อเสนอการบริหารจัดการพื้นที่ปราสาทและบริเวณโดยรอบ สิ่งที่รัฐบาลนี้ต้องทำ คือ ขั้นตอนเหล่านี้ต้องไม่กระทบกระเทือนอธิปไตยของไทย ฉะนั้นจึงท้วงไปว่ารายงานของกัมพูชาที่ส่งไปให้คณะกรรมการมรดกโลกเมื่อเดือน เม.ย.นั้น ไทยยังไม่เห็นเลย และไม่สามารถมั่นใจว่าจะไม่กระทบกระเทือนไทย จึงบอกไปว่ายังไม่เหมาะสมที่จะดำเนินการ คณะกรรมการมรดกโลกจึงเลื่อนการพิจารณาไปในเดือน ก.พ.2553 ฉะนั้นไม่มีอะไรซับซ้อน

นายกฯ กล่าวต่อว่า ขออย่าทำให้สับสนว่าขึ้นทะเบียนแล้วหรือไม่ มันเป็นเรื่องของปีที่แล้ว สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำคือแก้ไขปัญหานั้น และกำลังทำได้ตามแนวทางที่กำหนด จุดยืนของไทยคือทำความเข้าใจกับคณะกรรมการมรดกโลกว่า จริงแล้วการขึ้นทะเบียนมรดกโลกต้องมีจุดหมายนำไปสู่สันติภาพ โดยคนไทย คนกัมพูชา และคนทั้งโลกได้ประโยชน์จากสิ่งนี้ หากทำไปแล้วเกิดความตึงเครียด การรบ และสูญเสียนั้นไม่ใช่จุดประสงค์ขององค์การสหประชาชาติ ยูเนสโก และคณะกรรมการมรดกโลก มันคือจุดที่ไทยดึงและติงไว้ จึงเชื่อว่าข้อนี้จะมีน้ำหนักพอที่จะให้ไทยเข้าไปมีส่วนบอกว่าจะทำอย่างไรไม่ให้กระทบกระเทือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หากไม่ฟังไทยจะมีปัญหาเหมือนช่วงที่นายปองพลและนายนพดลดำเนินการในครั้งที่ผ่านมา ปัญหาจึงเห็นอยู่ในวันนี้

เมื่อถามว่า การชี้แจงของนายสุวิทย์ทำให้เกิดปัญหาตามมาหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า นายสุวิทย์ทำงานหนักและยืนยันว่าไปช่วยทำให้ประเทศสมาชิกเกิดความเข้าใจที่ดีขึ้นกับกรณีที่เกิดขึ้น

“ทั้งหมดนี้ต้องอิงกับข้อตกลงที่จะมีกับกัมพูชาและกรรมการเจบีซี เช่น หนังสือ เอกสาร แผนที่” นายกฯ กล่าว

เมื่อถามว่า แนวทางการแก้ไขปัญหานั้น สองประเทศจะไปขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารร่วมกันได้หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า “ไม่มี ในชั้นนี้ยังไม่พูดกัน และจะทำให้เกิดความสับสนหลายเรื่อง ตราบที่เขตแดนยังไม่ชัด การจะขึ้นทะเบียนร่วมกันจะเกิดคำถามว่าเป็นพื้นที่ของใคร เว้นแต่ตกลงได้ว่าขึ้นทะเบียนร่วมกันโดยไม่มีข้อตกลงเรื่องเขตแดน เรื่องนี้ไม่ใช่ฝ่ายใดตัดสินใจได้ แต่การเดินหน้าขอขึ้นทะเบียนนั้นกัมพูชาต้องคำนึงถึงความละเอียดอ่อนและความเห็นของไทย แต่ท้ายสุดจะขึ้นทะเบียนร่วมหรือไม่ก็อยู่ที่ไทย กัมพูชา และคณะกรรมการมรดกโลกที่จะคุยกัน แต่กัมพูชายังไม่ยอมคุยเรื่องนี้ บางคนบอกว่าหากรัฐบาลคิดไปจดทะเบียนร่วมจะเกิดความเสียเปรียบ ผมดูกฎหมายเป็นหลัก จุดยืนสมัยที่เป็นฝ่ายค้านเคยมีอย่างไรก็ยังเหมือนเดิม และอาจเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าสิ่งที่เดินอยู่นั้นต้องการทำอะไร” เมื่อถามว่า บทบาทของนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศในเรื่องนี้ยังไม่ค่อยมีบทบาทเท่าที่ควร นายกฯ กล่าวว่า นายกษิตดำเนินการอยู่และรายงานตนตลอด
กำลังโหลดความคิดเห็น