เลขานุการ รมว.ต่างประเทศ สวนกลับ “นพดล”ต่างหากแก้เกี้ยว หลังเซ็นรับรองให้กัมพูชาจดมรดกโลกปราสาทพระวิหาร จนศาลตัดสินว่าผิด ต้องรีบตามไปประท้วง แต่ก็ไม่เป็นผล รัฐบาลปัจจุบันต้องตามแก้ไขสิ่งที่อดีต รมว.ต่างประเทศทำผิดเอาไว้ จับพิรุธ “นพดล” ยอมรับกลายๆ หากไม่มีำคำสั่งศาลปกครอง หรือการประท้วง จะเสียดินแดนแน่
วันนี้ (20 มิ.ย.) นายชวนนท อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และโฆษกฝ่ายการเมืองของกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ “ASTVผู้จัดการออนไลน์” กรณีที่นายนายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศและที่ปรึกษาด้านกฎหมายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กล่าวหาว่าการที่รัฐบาลไทยจะยื่นประท้วงยูเนสโก้ที่รับจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชาแต่เพียงฝ่ายเดียวเป็นการแก้เกี้ยวที่ไม่สามารถทวงคืนปราสาทพระวิหารว่า เรื่องนี้ไม่ใช่การแก้เกี้ยวแต่อย่างใด แต่การประท้วงเป็นไปตามมติของคณะกรรมการมรดกโลกในส่วนของไทยที่เห็นว่าการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชาแต่เพียงฝ่ายเดียวเมื่อปี 2551 ที่ผ่านมานั้นไม่ถูกต้องตามขั้นตอน รวมทั้งสร้างความขัดแย้งระหว่างสองประเทศ และเห็นว่าควรจะมีการจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกร่วมกันระหว่างไทยและกัมพูชา
นายชวนนท์กล่าวต่อว่า การแก้เกี้ยวน่าจะเป็นการกระทำของนายนพดลมากกว่า เพราะนายนพดลทำความผิดเอาไว้ กรณีที่ไปลงนามในแถลงการณ์ร่วมกับกัมพูชาสนับสนุนให้จดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชาแต่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งศาลปกครองมีคำตัดสินว่าการลงนามดังกล่าวผิดกฎหมาย พร้อมมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวห้ามปฏิบัติตามแถลงการณ์ฉบับนั้น นายนพดลจึงแก้เกี้ยวด้วยการตามไปประท้วงในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก (ที่เมืองควิเบก ประเทศแคนาดา) แต่ก็ไม่ทัน และต่อมาศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำพิพากษาว่า การกระทำดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 190 เพราะไม่ผ่านการพิจารณาของสภาก่อน
นายชวนนท์กล่าวต่อว่า กรณีที่นายนพดลอ้างว่า การที่เขาไปประท้วงทำให้ประเทศไทยไม่ต้องเสียดินแดนนั้น แสดงว่านายนพดลยอมรับกลายๆ ว่าสิ่งที่เขาทำไปทีแรกนั้นจะทำให้เสียดินแดน ซึ่งหากศาลปกครองไม่ตัดสินว่าผิดและไม่มีการประท้วงก็จะทำให้ประเทศไทยเสียดินแดน เพราะฉะนั้น การที่นายนพดลอ้างว่าเขาทำเพื่อปกป้องเขตแดน จึงรับไม่ได้อย่างเด็ดขาด
นายชวนนท์ย้ำว่า เป็นหน้าที่ของรัฐบาลปัจจุบันที่จะดำเนินการแก้ไขในสิ่งที่นายนพดลได้ทำความผิดเอาไว้ด้วยการไปเซ็นรับรองให้กัมพูชาสามารถขึ้นทะเบียนมรดกโลกได้ แต่เมื่อขึ้นทะเบียนแล้วก็เกิดความขัดแย้งตามมา ซึ่งถือว่าขัดต่อเจตนารมณ์ของยูเนสโก้ นอกจากนี้ยังพบว่าการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกครั้งนี้ ยูเนสโก้ได้ทำผิดเสียเอง เพราะตามขั้นตอนนั้น การยื่นขอจดทะเบียนมรดกโลกต้องแนบแผนที่บัฟเฟอร์โซนไปด้วย แต่การยื่นครั้งนี้ไม่มีแผนที่บัฟเฟอร์โซน เพราะยังอยู่ระหว่างการเจรจาของคณะกรรมการเขตแดน (JBC) ของทั้งสองประเทศอยู่ ดังนั้นจึงถือว่าการจดทะเบียนผิดขั้นตอน จึงมีเหตุผลที่ฝ่ายไทยต้องประท้วง อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ถือว่าเป็นความผิดของฝ่ายยูเนสโก้ ไม่เกี่ยวกับทางฝ่ายกัมพูชาแต่อย่างใด
อนึ่ง ครม.ได้มีมติมอบหมายให้นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะรองประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก เดินทางไปยื่นประท้วงการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารฯ ในที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 33 ที่เมืองเซบีญา ประเทศสเปน ระหว่างวันที่ 22-30 มิ.ย.นี้ ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มั่นใจว่าสามารถทำความเข้าใจกับสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาได้ เพราะท่าทีของไทยไม่ได้มีอะไรที่ไปกระทบกระทั่งต่อฝ่ายกัมพูชา และปรารถนาจะเห็นความร่วมมือกันในด้านต่างๆ เดินหน้าต่อไปอย่างเต็มที่ ทั้งหมดที่ประท้วงก็เพื่อให้ทางคณะกรรมการมรดกโลกและยูเนสโกทราบว่าสิ่งสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดคือความสงบสุขและสันติในพื้นที่สำหรับประชาชนทั้งสองฝ่าย