xs
xsm
sm
md
lg

ปราสาทพระวิหาร บทพิสูจน์ยูเนสโก สร้าง “มรดกโลก” หรือทิ้ง “มรดกเลือด”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปราสาทพระวิหาร
หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา แสดงจุดยืนยื่นหนังสือต่อองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก เพื่อขอให้คณะกรรมการมรดกโลก ทบทวนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียวของกัมพูชา

ก็ทำให้คนไทยใจชื้นขึ้น เริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์และมีความหวังรางๆ ว่า

การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 33 ณ เมืองเซบีญา ประเทศสเปน ระหว่างวันที่ 22-30 มิ.ย.นี้ อาจหมุนกลับ 360 องศา ให้ไทยขี้นทะเบียนปราสาทพระวิหารร่วมกับกัมพูชา!

ความเป็นไปได้ในเรื่องนี้มีมากน้อยแค่ไหน ก็คงต้องพิจารณาจากเหตุผลและประเด็นที่รัฐบาลไทยหยิบยกไปต่อสู้ เพื่อหักล้างมติเดิมของคณะกรรมการมรดกโลกที่ ควิเบก ประเทศแคนาดา ว่าจะมีน้ำหนักมากน้อยเพียงใด

ช่องทางที่รัฐบาลจะใช้ในการต่อสู้เพื่อให้คณะกรรมการมรดกโลกทบทวนมติของตัวเองมี 3 ประเด็นหลัก คือ

1. การพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 32 ขัดกับระเบียบและธรรมนูญของคณะกรรมการมรดกโลก ที่ระบุว่า กรอบการพิจารณาสถานที่ใดก็ตามให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก จะต้องเป็นไปอย่างสร้างสรรค์

เพื่อให้เกิดสันติภาพและเชิดชูวัฒนธรรมให้ชาวโลกได้ซึมซับสิ่งเหล่านี้ร่วมกัน


แต่ทันทีที่คณะกรรมการมรดกโลกมีมติให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียว ก็เกิดความตึงเครียดบริเวณแนวชายแดนไทย-กัมพูชา จนนำไปสู่การปะทะกัน และเกิดความสูญเสียตามมาในที่สุด

นอกจากนี้ มติดังกล่าวยังขัดกับมติคณะกรรมการมรดกโลกในการประชุมครั้งที่ 31 ณ เมืองไครส์เชิร์ช ออสเตรเลีย ที่ให้การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกจะต้องได้รับความเห็นชอบร่วมกันของทั้งไทย–กัมพูชา และให้กำหนดแผนบริหารจัดการพื้นที่ร่วมกันด้วย

2. การให้กัมพูชาจดทะเบียนเพียงลำพังถือว่า ไม่สมบูรณ์ในทางกฎหมายของบประเทศไทย

แม้ว่าในรัฐบาลที่ผ่านมาจะยอมรับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกฝ่ายเดียวของกัมพูชา แต่สุดท้าย ทั้งศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญ ได้วินิจฉัยแล้วว่า แถลงการณ์ที่ไทยทำร่วมกับกัมพูชาในเรื่องดังกล่าว เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 190

จึงถือว่า ข้อเสนอของกัมพูชาที่จดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกเพียงลำพังไม่สมบูรณ์ในทางกฎหมาย

เนื่องจากไม่มีแผนการบริหารจัดการที่ดินรอบปราสาทพระวิหาร ตามกรอบของคณะกรรมการมรดกโลก เพราะปราสาทพระวิหาร ไม่ได้มีเฉพาะแค่ตัวปราสาทพระวิหารเท่านั้น แต่ยังประกอบด้วย สถูป สระตราว และผามออีแดง ซึ่งล้วนอยู่บนผืนแผ่นดินไทย จึงเป็นไปไม่ได้ ที่กัมพูชาจะบริหารจัดการพื้นที่รอบตัวปราสาทได้โดยไม่ได้รับการสนับสนุนจากประเทศไทย

และ 3. หากคณะกรรมการมรดกโลกยังคงยืนยันมติเดิม ก็จะเป็นชนวนทำให้เกิดสงครามระหว่างไทย-กัมพูชา

โดยเห็นได้จากความตึงเครียดบริเวณแนวชายแดนที่เกิดขึ้น และสุดท้ายการขึ้นทะเบียนดังกล่าว จะไม่เป็นประโยชน์กับฝ่ายใดเลย

มีแต่จะเพิ่มความขัดแย้งมากขึ้น จนสุดท้าย “มรดกโลก” อาจกลายเป็น “มรดกเลือด” ซึ่งคงไม่ใช่วัตถุประสงค์ของคณะกรรมการมรดกโลก

หากพิจารณาโดยใช้หลักเหตุและผลก็คงตัดสินได้ว่า ควรเลือกแนวทางใดจึงจะเหมาะสม แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า ประเทศมหาอำนาจจะใช้สิทธิ์โหวตลงคะแนนโดยคำนึงถึงเรื่องใด

ระหว่างผลประโยชน์ของประเทศตัวเองที่จะได้รับ จากการขึ้นทะเบียนโดยลำพังของกัมพูชา หรือ จะพิจารณากันตามเนื้อผ้า เพื่อรักษาสันติภาพตามเจตจำนงของยูเนสโก

นี่เป็นบทพิสูจน์สำคัญว่า แท้จริงแล้ว คณะกรรมการมรดกโลก เกิดขึ้นเพื่อสันติภาพ หรือเป็นเพียงแค่กลไกหนึ่ง ให้มหาอำนาจใช้เพื่อล่าอาณานิคมยุคใหม่ในลักษณะปล้นพื้นที่ และทรัพยากรธรรมชาติของประเทศอื่น

โดยอาศัยการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก แล้วให้ต่างชาติเข้ามามีสิทธิ์บริหารจัดการเหนือพื้นที่ผู้อื่น เหมือนที่คณะกรรมการมรดกโลกได้มีมติให้ 7 ชาติ เข้ามาจัดการพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหารมาแล้ว

คำถามมีอยู่ว่า โอกาสที่คณะกรรมการมรดกโลกจะทบทวนมติของตัวเอง มีหรือไม่?

คำตอบคือ มีแน่นอน และทบทวนได้โดยไม่เสียหน้าด้วย เพราะการต่อสู้ของไทยในครั้งนี้ อยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงที่ปรากฏชัดเจนแล้วว่า หลังขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารให้กับกัมพูชาไปแล้ว เกิดอะไรขึ้นบ้าง มีความสูญเสียอย่างไร

ซึ่งถือเป็นข้อมูลใหม่ที่คณะกรรมการมรดกโลก ต้องพิจารณา ประกอบกับรัฐบาลไทยมีจุดยืนชัด ไม่สมรู้ร่วมคิดยกพื้นที่โดยรอบของปราสาทพระวิหารให้กัมพูชา เหมือนรัฐบาลในอดีต


เมื่อประเด็นที่ต่อสู้มีน้ำหนัก ประกอบกับตัวแทนรัฐบาลไทยคือ นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถือเป็นบุคคลที่ได้รับการศึกษาจนมีความรู้เกี่ยวกับประเด็นนี้อย่างดี อีกทั้งฝีไม้ลายมือในการเจรจาก็ต้องบอกว่า ไม่เป็นรองใคร

การจะโน้มน้าวเพื่อให้คณะกรรมการมรดกโลกเห็นชอบตามที่ไทยเสนอ จึงเป็นเรื่องที่ไม่ไกลเกินกว่าจะตั้งความหวัง

แต่อย่างไรก็ดี ปัญหาหนึ่งของไทยคือ เราอยู่ในฐานะผู้สังเกตการณ์เท่านั้นไม่มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียง !

ถ้าผลการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่สเปน ไม่เป็นไปอย่างที่คิด คณะกรรมการมรดกโลกน่าจะมีทางออกต่อเรื่องนี้อย่างไร เป็นสิ่งที่ควรขบคิดต่อ

หลักการง่ายๆ คือ คณะกรรมการมรดกโลก ก็อาจจะยืนตามมติเดิมแล้วพิจารณาให้กัมพูชา กลับไปทำแผนบริหารจัดการพื้นที่บริเวณโดยรอบปราสาทพระวิหารใหม่ เนื่องจากแผนเดิมจัดการไม่ได้ โดยอาจต่ออายุขยายเวลาไปอีก 1 ปี

ซึ่งนั่นจะทำให้ไทยและกัมพูชา อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งเพิ่มขึ้น เพราะรัฐบาลไทยก็ต้องยืนยันว่ามีสิทธิอันชอบธรรมที่จะเข้าร่วมบริหารจัดการร่วมกับกัมพูชา ขณะที่กัมพูชาเองก็จะยิ่งใช้มาตรการที่ก้าวร้าวมากขึ้นในบริเวณพื้นที่พิพาท โดยอ้างความชอบธรรมจากที่คณะกรรมการมรดกโลกให้กัมพูชา ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร แต่เพียงลำพัง

สุดท้ายก็คงนำไปสู่การปะทะกัน ตามมาด้วยความสูญเสีย เหมือนที่เคยเกิดขึ้นแล้วในช่วงเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา


ในทางกลับกัน หากคณะกรรมการมรดกโลกทบทวนมติ ก็ไม่ได้หมายความว่า การขึ้นทะเบียนร่วมระหว่างสองประเทศจะเกิดขึ้นได้ทันที เพราะยังมีขั้นตอนอีกมากที่จะต้องสู้กันต่อ แต่อย่างน้อยก็จะลดความเหิมเกริมของกัมพูชา ที่ทำตัวขี่คอรัฐบาลไทยมาโดยตลอดในกรณีนี้ โดยสิ่งที่เกิดขึ้นจะผลักดันให้กัมพูชาต้องนำเรื่องนี้กลับสู่โต๊ะเจรจาอีกรอบ แน่นอนว่า ไทยก็จะได้สิทธิเหนือพื้นที่บริเวณโดยรอบกลับคืนมา แทนที่จะเสียสิทธิ์ไปกับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแต่เพียงลำพังของกัมพูชา

มีคำถามตามมาว่า แล้วถ้ากัมพูชาดื้อแพ่ง จะยึดตามมติเดิมของคณะกรรมการมรดกโลกล่ะ จะเกิดอะไรขึ้น?

หนทางที่กัมพูชาจะทำได้คือ นำเรื่องนี้ไปฟ้องศาลโลก แต่ไทยก็แก้เกมได้ไม่ยากนัก โดยไม่จำเป็นต้องไปสู้คดีในศาลโลก เพราะไทยไม่ได้เป็นภาคีของศาลโลก ทำให้ไทยมีสิทธิ์เลือกว่า จะเข้าไปอยู่ภายใต้การตัดสินของศาลโลกหรือไม่ ซึ่งเราก็มีเหตุผลรองรับการไม่ไปสู้คดีในศาลโลกได้ว่า คดีปราสาทพระวิหาร เคยมีการตัดสินของศาลโลกมาแล้วในปี 2505 โดยขณะนั้นศาลโลกได้ตัดสินให้กัมพูชา มีสิทธิ์เหนือตัวปราสาทพระวิหารเท่านั้น ไม่นับรวมพื้นที่รอบปราสาท 4.6 ตารางกิโลเมตร ขึ้นอยู่กับว่า รัฐบาลไทยจะตัดสินใจอย่างไร

คำตอบสุดท้ายที่ดีที่สุดสำหรับสองประเทศคือ ทำอย่างไรให้ประชากรของทั้งสองประเทศได้ใช้ประโยชน์จากปราสาทพระวิหารร่วมกัน ซึ่งถ้าคิดเพียงแค่นี้ ก็ง่ายต่อการตัดสินใจ

แต่ที่ยากเป็นเพราะมันคาบเกี่ยวกับพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล อันหมายถึงมีผลประโยชน์มหาศาลด้านพลังงานเป็นเดิมพันอยู่ด้วย !

งานนี้โจทย์ใหญ่ของรัฐบาลไทยคือ ต้องทำความเข้าใจกับกัมพูชาให้ได้ว่า สู้ครั้งนี้ไทยทำศึกกับคณะกรรมการมรดกโลก ไม่ใช่ท้าชกกับกัมพูชา และในฐานะประเทศเพื่อนบ้านควรจับมือกันปกป้องผลประโยชน์ร่วมที่กำลังจะถูกมหาอำนาจมาชุบมือเปิบ

สุวิทย์ คุณกิตติ
กำลังโหลดความคิดเห็น