“นายกฯ” เผย ครม.มอบ “สุวิทย์-กก.มรดกโลก” ประท้วง “ยูเนสโก” ขึ้นทะเบียนเขาพระวิหาร ย้ำจุดยืนต้องขึ้นทะเบียนร่วมกัน โดยประชาชนทั้ง 2 ฝั่งได้ประโยชน์จากการมีมรดกที่สำคัญ และพื้นที่ตรงนั้นต้องสงบ ยันไม่มีปัญหากับ “ฮุนเซน”
วันนี้ (17 มิ.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ที่ประชุม ครม.จะทำหนังสือคัดค้านกรณีเขาพระวิหารว่า คณะกรรมการมรดกโลกจะมีการประชุม ซึ่งเมื่อทางกรรมการมรดกโลกจะประชุม ทางกัมพูชาเขาก็ต้องทำรายงานขึ้นไปเกี่ยวกับความคืบหน้าของเขาที่ขอขึ้นทะเบียน แต่จุดยืนของเราก็คือ เราต้องการให้ทางยูเนสโกทราบว่าสิ่งที่กำลังดำเนินการอยู่นั้นน่าจะขัดกับหลายอย่าง เช่น ขัดกับระเบียบปฏิบัติและตัวธรรมนูญของมรดกโลกของยูเนสโก และที่สำคัญ คือ ยูเนสโกและมรดกโลกเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นมาเพื่อส่งเสริมสันติภาพ เราจะเห็นว่าก่อนที่จะมีปัญหาการขึ้นทะเบียนมรดกโลกในสภาพพื้นที่แม้ว่าจะมีการโต้แย้งสิทธิกันแต่ไม่รุนแรง นับแต่มีความพยายามที่จะดำเนินการในเรื่องการขึ้นทะเบียนมรดกโลกทำให้เกิดความขัดแย้งและนำมาสู่ความสูญเสียแล้ว ตรงนี้เป็นจุดที่เราจะขอให้ทางยูเนสโกเขาทบทวนว่าสิ่งที่เขาทำอยู่นี้ มันขัดกับวัตถุประสงค์ของการตั้งองค์กรและทำเรื่องมรดกโลกขึ้นมาทั้งหมดหรือไม่ เพราะแทนที่จะเป็นพื้นที่ที่เราอนุรักษ์วัฒนธรรมและทำให้ประชาชนทั้ง 2 ประเทศหรือนักท่องเที่ยวได้เข้าไปชมและสัมผัสความงดงามและวัฒนธรรมของประวัติศาสตร์กลับกลายเป็นว่า มีความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้น ก็ควรจะมีการทบทวนและก็เป็นจุดยืนที่ชัดเจน
เมื่อถามว่ารัฐบาลจะมีการทำหนังสือไปที่ยูเนสโกเลยใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ใช่ เราก็ดำเนินการตามกรอบของเรา โดยเราจะมีตัวแทนซึ่งก็คือในกรรมการระดับชาติของมรดกโลกเราที่จะไปแสดงจุดยืนอันนี้ “สิ่งที่เขาดำเนินการมันยิ่งสะเทือนความสัมพันธ์ของไทยและกัมพูชาอีก” นายกฯ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะย้อนไปถึงว่าต้องการให้มีการขึ้นทะเบียนมรดกโลกร่วมกันระหว่างไทย-กัมพูชาหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เราก็ยังยืนยันอย่างนั้นว่า ถ้าขึ้นร่วมกันก็จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ซึ่งทุกอย่างก็จะเป็นไปตามวาระการประชุม ซึ่งของเราก็จะมีนายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเดินทางไป โดยในเบื้องต้นนี้คงจะเป็นการไปคัดค้านกระบวนการที่มีการดำเนินการมาที่เราเห็นว่ามันไม่น่าชอบด้วยระเบียบปฏิบัติ และอยากให้เห็นถึงภาพใหญ่ของความไม่สอดคล้อง กับสิ่งที่ทำเรื่องมรดกโลกขึ้นมา ซึ่งในประชุม ครม.วานนี้ได้มีมติมอบให้ทางกรรมการมรดกโลกไปดำเนินการ
“ผมอยากจะเห็นพื้นที่ตรงนั้นสงบ และประชาชนทั้ง 2 ฝั่งได้ประโยชน์จากการมีมรดกที่สำคัญในทางประวัติศาสตร์ แต่จากการพบกันของผมกับสมเด็จฯ ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ไม่ได้มีการหยิบยกประเด็นยูเนสโก เพียงแต่หยิบยกเรื่องเขตแดนว่าให้เป็นเรื่องของการดำเนินการตามกลไกที่มีอยู่ ส่วนความร่วมมือด้านอื่นๆ ก็สามารถเดินหน้าต่อไปได้” นายกฯ กล่าว
เมื่อถามว่าทางกัมพูชาจะเข้าใจท่าทีของไทยในเรื่องนี้หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เราก็อธิบายได้ เมื่อถามว่าจะทำให้เกิดเชื้อประทุเพิ่มขึ้นในระหว่างการเผชิญหน้ากันบริเวณชายแดนมากขึ้นหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ที่เราแสดงออกนี้ เราไม่ได้ไปพูดในส่วนของกัมพูชา เท่ากับการทำงานของทางมรดกโลก ดังนั้น อันนี้ก็เป็นไปตามกระบวนการ อยู่ในกรอบของการประชุมของมรดกโลกและยูเนสโก ซึ่งตนคิดว่าทุกประเทศก็เข้าใจ เพราะประเทศต่างๆ อาจจะมีจุดยืนที่แตกต่างกันได้ แต่ตนก็ยืนยันกับสมเด็จฯ ฮุนเซน ไปว่าเราแก้ปัญหานี้ด้วยสันติวิธี สิ่งที่เราทำอยู่แม้จะเห็นไม่ตรงกัน คัดค้านกันแต่ก็เป็นไปตามแนวทางสันติวิธี