xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : “เสื้อแดง” หยุดถวายฎีกา...หยุดโยน “ระเบิด” ใส่ “สถาบัน”!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลุ่มสยามสามัคคี นำโดย พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม อดีต หน.สำนักงานเลขาธิการ คมช.ออกแถลงการณ์ตำหนิการเข้าชื่อถวายฎีกาของกลุ่มคนเสื้อแดง
อมรรัตน์ ล้อถิรธร.....รายงาน

ไม่น่าเชื่อว่า แกนนำ “คนเสื้อแดง” จะไร้สำนึกแห่งความผิด-ชอบ-ชั่ว-ดี ขาดสติที่จะคิดว่า “อะไรควร-ไม่ควร” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเตรียมล่าชื่อ 1 ล้านคน เพื่อถวายฎีกาขอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ทั้งที่นักโทษหนีคดีผู้นี้ ไม่เคยยอมรับว่าตัวเองทำผิด และไม่ยอมกลับมารับโทษ แถมยังเคยใส่ร้ายศาลและกระบวนการยุติธรรมของไทย และพาดพิง “สถาบันกษัตริย์” ให้ได้รับความเสียหายหลายต่อหลายครั้ง มาคราวนี้ แกนนำเสื้อแดงและนายใหญ่ กำลังทำเรื่องใหญ่ที่คนทั่วประเทศรับไม่ได้ เพราะไม่เพียงจะสร้างความแตกแยก-วุ่นวายในสังคม แต่ยังจะสร้างความมัวหมอง-เสื่อมเสียครั้งใหญ่ให้แก่ “สถาบัน” อันเป็นที่รักและเทิดทูนของคนไทยอย่างไม่อาจให้อภัยด้วย

คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ

เมื่อไม่กี่วันก่อน (26 มิ.ย.) พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคำพิพากษาจำคุก 2 ปี ในคดีซื้อที่รัชดาฯ เพิ่งเล่นบทโฟนอินอ้อนชาวศรีสะเกษ ให้ช่วยอุ้มตนกลับประเทศด้วยการเลือกผู้สมัครพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ศรีสะเกษ เขต 1 ในวันที่ 28 มิ.ย.

แต่ให้หลังแค่ 1 วัน (27 มิ.ย.) พ.ต.ท.ทักษิณ ก็เปลี่ยนมุกใหม่ในการกลับประเทศ ด้วยการจะให้มวลชนคนเสื้อแดงเข้าชื่อ 1 ล้านคน เพื่อถวายฎีกาขออภัยโทษให้เขา ไม่ว่าวิธีดังกล่าวจะเป็นแนวคิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ เอง หรือลิ่วล้อคู่กายอย่าง นายวีระ มุสิกพงศ์ 1 ในแกนนำ นปช.และอดีตนักโทษหมิ่นสถาบัน ก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า จุดมุ่งหมายของการเข้าชื่อ 1 ล้านถวายฎีกาครั้งนี้ เพื่อขอพระเมตตา-พระมหากรุณาธิคุณ ดังที่ออกมาจากปาก พ.ต.ท.ทักษิณจริงๆ หรือเพื่อกดดันพระราชอำนาจ-พระราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กันแน่?

แต่แนวโน้มน่าจะเป็นประเด็นหลังมากกว่า เพราะพฤติกรรมและคำพูดก่อนหน้านี้ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ฟ้องต่อสังคมผ่านสื่อต่างประเทศหลายครั้งหลายครา ว่า ล้วนแล้วแต่ส่อเจตนามุ่งร้ายต่อสถาบันเบื้องสูงของไทยทั้งสิ้น โดยมีทั้งลักษณะกดดัน-ต่อรอง และส่อถึงขั้นหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ!

เริ่มจาก 15 ม.ค.2550 พ.ต.ท.ทักษิณ ให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น ที่ประเทศสิงคโปร์ โดยนอกจากจะพูดถึง “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ” แล้ว เขายังขอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อันเป็นที่เคารพรักของประเทศไทย เลิกพูดถึงอดีต เพื่อเห็นแก่ประโยชน์ของความสามัคคีในชาติ และว่า ตนต้องการเห็นการนิรโทษกรรมสำหรับคนไทยทุกคน มันถึงเวลาที่จะปรองดองกัน และเรื่องนี้น่าจะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้

1 ก.พ.2550 พ.ต.ท.ทักษิณ ให้สัมภาษณ์นิตยสารไทม์ ในลักษณะที่ทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนับสนุนการปฏิวัติรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 โดยเมื่อ ไทม์ ถาม พ.ต.ท.ทักษิณ ว่า “คุณอ้างว่าคุณและพรรคไทยรักไทย ได้รับความนิยมอย่างสูง (จากประชาชน) แต่ทำไมไม่ค่อยมีเสียงต่อต้านการรัฐประหารจากสาธารณชนเท่าไหร่? ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ตอบว่า “มันก็เหมือนกับการทำรัฐประหารในอดีตของไทยที่ผ่านมา 17 ครั้ง ตอนแรกประชาชนอาจรู้สึกตกใจ จากนั้นพวกเขาจะเริ่มแสดงความวิตกกังวล แล้วจึงเริ่มยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่(การรัฐประหาร) ได้รับการรับรองจากองค์พระมหากษัตริย์ พวกเขาอยู่ในกรอบระเบียบมากๆ พวกเขาเชื่อฟัง…”

24 พ.ย.2551 พ.ต.ท.ทักษิณ เริ่มส่งสัญญาณต่อรอง-กดดัน ให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานอภัยโทษให้ตน โดยให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ อาราเบียน บิซิเนส ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ตอนหนึ่งว่า “ผมคิดว่าหลายๆ อย่างขึ้นอยู่กับอำนาจของประชาชน หากพวกเขารู้สึกว่า พวกเขาอยู่อย่างยากลำบาก และต้องการให้ผมช่วย ผมก็จะกลับไป หากในหลวงทรงเห็นว่าผมยังสามารถทำคุณประโยชน์ได้ ผมจะกลับไป และพระองค์อาจจะพระราชทานอภัยโทษให้แก่ผม แต่ถ้าพวกเขาไม่ต้องการผม และพระองค์ทรงเห็นว่าผมกลับไปก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ผมก็จะอยู่ที่นี่ (เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) ทำธุรกิจไป”

20 เม.ย.2552 พ.ต.ท.ทักษิณ ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทม์ส ของอังกฤษ ในลักษณะที่อาจเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพราะทำให้สถาบันเบื้องสูง ถูกมองว่า รู้เห็นการยึดอำนาจเมื่อ 19 ก.ย.2549 โดย พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวหาว่า สถาบันเบื้องสูงรับทราบการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลตน เมื่อเดือน ก.ย.2549 ล่วงหน้า เนื่องจากมีบรรดานายทหารรวมถึงบุคคลระดับสูงหลายคนเข้ารายงานก่อนเกิดเหตุการณ์ (การให้สัมภาษณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ กรณีนี้ ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติอยู่ระหว่างดำเนินคดี เนื่องจาก “คณะกรรมการตรวจสอบพิจารณาข้อมูลข่าวสารที่มีผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์” ที่มี พล.ต.ท.ธีระเดช รอดโพธิ์ทอง ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล เป็นประธาน พิจารณาแล้วเห็นว่า เข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112)

21 เม.ย. 2552 พ.ต.ท.ทักษิณ ให้สัมภาษณ์นิตยสาร แดร์ สปีเกล นิตยสารชื่อดังของเยอรมนี โดยนอกจากจะพูดถึงปัญหาบ้านเมืองว่าตนเองและกลุ่มเสื้อแดงถูกกระทำแล้ว เขายังพูดพาดพิงสถาบันอีก คราวนี้นอกจากมีลักษณะต่อรองแล้ว ยังส่อว่าอาจเข้าข่ายบังคับให้สถาบันทำตามที่ตนต้องการอีกด้วย โดยบอกว่า “...ถึงเวลาที่จะปรองดองด้วยการให้อภัยซึ่งกันและกัน ลืมอดีต และมองไปข้างหน้า ... พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงต้องลงมาช่วยเหลือ พระองค์ทรงต้องดำเนินการให้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย และจากนั้นเราจำเป็นต้องมีการเลือกตั้งใหม่ขึ้น”

การส่งสัญญาณต่อรองและกดดันด้วยคำพูดให้มีการอภัยโทษให้ตัวเองของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ดำเนินมาเป็นระยะๆ กระทั่งล่าสุดเปลี่ยนแผนมาเป็นการใช้มวลชนคนเสื้อแดงกดดันด้วยการจะล่าชื่อให้ได้ 1 ล้านคน ใน 1 เดือน เพื่อถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อพระราชทานอภัยโทษนั้น อย่าว่าแต่หลายฝ่ายในสังคมจะรับไม่ได้เลย แม้แต่แกนนำคนเสื้อแดงเอง อย่างนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือแซ่ด่าน ก็ไม่เห็นด้วย โดยบอกว่า การขออภัยโทษด้วยการล่ารายชื่อ นอกจากจะถูกมองว่าเอารายชื่อมวลชนมาบีบบังคับแล้ว ยังเท่ากับว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ทำความผิดจริง จึงได้ขออภัยโทษ ซึ่ง นายสุรชัย ตั้งคำถามว่า ถ้า พ.ต.ท.ทักษิณ ทำผิดจริง ทำไมจึงไม่รับโทษ

แต่เสียงท้วงติงของ นายสุรชัย ดูเหมือนจะไม่สามารถกระตุ้นต่อมสำนึกผิด-ชอบ-ชั่ว-ดีของแกนนำคนเสื้อแดงที่เหลือได้ สังคมจึงได้เห็นนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช.ออกมาสวนกลับว่า การถวายฎีกาถือเป็นแนวทางปกติของประชาชนที่สามารถดำเนินการได้ตาม รธน.มาตรา 291 ไม่ถือว่าเป็นการจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด

ขณะที่นายนพดล ปัทมะ อดีตที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ออกมาป้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ว่า การที่คนเสื้อแดงจะเข้าชื่อ 1 ล้านคน เพื่อถวายฎีกาให้มีการอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ นั้น เป็นการแสดงออกถึงความห่วงใยและสงสาร พ.ต.ท.ทักษิณมากขึ้นทุกวัน และว่า ตนได้คุยกับอดีตนายกฯ ทักษิณ แล้ว ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ บอกว่า คงไปห้ามความต้องการของประชาชนไม่ได้

ได้เห็นท่าทีของ พ.ต.ท.ทักษิณ และแกนนำคนเสื้อแดงที่แตกคอกันเองเกี่ยวกับการล่าชื่อ 1 ล้านถวายฎีกาให้ พ.ต.ท.ทักษิณแล้ว ลองมาฟังมุมมองของนักกฎหมาย รวมทั้งนักวิชาการด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ กันบ้างว่า การเตรียมเข้าชื่อถวายฎีกาให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ของคนเสื้อแดงเป็นเรื่องบังควรหรือไม่ และสามารถทำได้จริงหรือ?

นายสัก กอแสงเรือง อดีตนายกสภาทนายความ และอดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ยืนยันว่า การขออภัยโทษเป็นเรื่องที่มีระเบียบปฏิบัติตามกฎหมายอยู่แล้วว่า ผู้ที่ทำผิดต้องขออภัยโทษด้วยตัวเอง หรือให้บุพการี หรือญาติใกล้ชิดดำเนินการแทน ไม่ใช่ใครก็ทำแทนได้

“เรื่องของขออภัยโทษมันก็เป็นเรื่องของผู้ที่ทำผิด และต้องเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย และไปดำเนินการผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ราชทัณฑ์ ผ่านกระทรวงยุติธรรม มันมีระเบียบอยู่ มีกฎหมายอยู่ ตามระเบียบตามกฎหมายมันก็ไม่ใช่เป็นเรื่องที่คนอื่นจะไปขอแทน จะต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสีย รู้สึกกฎหมายก็จะบังคับในเรื่องของผู้กระทำความผิด หรือผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน คู่สมรส มันจะต้องเป็นญาติใกล้ชิดน่ะ คนอื่นก็คงทำแทนไม่ได้ (ถาม-เพราะฉะนั้นยังไม่เคยมีธรรมเนียมปฏิบัติว่า นักโทษที่ยังคงหลบหนีอยู่ ยังไม่เคยต้องโทษ แต่คดีถึงที่สุดแล้ว จะยื่นขออภัยโทษได้?) โดยหลักมันขอยกเว้นไม่ดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม มันคงทำไม่ได้ ขอจะไม่ต้องถูกพิจารณาคดีตามกฎหมาย มันก็คงไม่ใช่ หรือจะไปเพิกถอนหมายจับ มันก็คงไม่ได้ มันคนละเรื่อง (ถาม-แล้วถ้ากลุ่มเสื้อแดงเข้าชื่อถวายฎีกาเข้าไปในวัง จะเป็นการระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทมั้ย?) เป็นเรื่องที่ควรหรือไม่ควร เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม ผมคิดว่าในฐานะที่เป็นพสกนิกรก็น่าจะคิดเองได้”

ด้าน รศ.ดร.อุดม รัฐอมฤต รองอธิการบดีฝ่ายบริหารท่าพระจันทร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ยืนยันเช่นกันว่า ในแง่กฎหมาย การจะขออภัยโทษ คนที่กระทำผิดต้องยอมรับผิดและมารับโทษก่อน แต่กรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ยังไม่เห็นเลยว่ายอมรับผิด และไม่ยอมกลับมารับโทษ ถ้าจะขออภัยโทษก็เป็นเรื่องแปลกและตลก ส่วนกรณีที่คนเสื้อแดงจะเข้าชื่อเพื่อถวายฎีกาให้มีการพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ นั้น รศ.ดร.อุดม ชี้ว่า นอกจากเป็นเรื่องที่อ่อนไหวต่อสถาบันแล้ว ยังอยากถามคนเสื้อแดงด้วยว่า ทำไมต้องทำอะไรเพื่อคนคนเดียว ทั้งที่ทำแล้วก็ไม่ได้ช่วยให้บ้านเมืองดีขึ้น

“เวลาเราพูดถึงถวายฎีกา ก็เป็นเรื่องความคับข้อง ความทุกข์อะไรก็แล้วแต่ที่เข้ามา ส่วนว่ามันจะปะปนเรื่องของความรู้สึกว่าประเด็นนี้ ทำให้แก้ปัญหาบ้านเมืองได้หรือไม่ ที่ผ่านมาเวลายื่นเรื่องส่วนใหญ่ถ้าเป็นถวายฎีกาแบบนี้ ก็เป็นเรื่องเหมือนกับจะหาทางออกให้บ้านเมือง แต่การหาทางออกให้บ้านเมืองที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชนกันเอง ทีนี้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประชาชนกันเองในกรณีนี้ มันไปเกี่ยวข้องกับปัญหาที่เรามองกันว่า มันเป็นเรื่องปัญหาสถาบันด้วย มันก็เลยยุ่งว่า ท่านมายื่นเรื่องในลักษณะแบบนี้เนี่ย มันก็เหมือนกับว่าจะดูท่าทีของท่านว่าคิดยังไง ซึ่งไม่เหมาะน่ะ คือ ในความเห็นผมว่า เรื่องพวกนี้ค่อนข้างสุ่มเสี่ยง เพราะมันเป็นความขัดแย้งที่มันเป็น 2 ขั้วอยู่เนี่ย สุ่มเสี่ยง มันไม่ใช่ปัญหาเรื่องว่าเราหาทางออกกันไม่ได้ มันไม่ใช่อย่างนั้น ปัญหาปัจจุบัน ถ้าพูดไปมันไม่ใช่เรื่องว่าบ้านเมืองอยู่ในสภาวะวิกฤตอะไรแท้ๆ ถ้าพูดไปก็คือมีรัฐบาลปกติ และเมื่อรัฐบาลบริหารไปสักระยะ แน่นอนมันก็ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ จะไปยุบสภาตามเขาเรียกร้อง หรือจะอยู่จนครบวาระอะไรก็แล้วแต่ มันก็มีการเลือกตั้งตามปกตินั่นแหละ แต่แน่นอนอีกฝ่ายก็มีความเห็นว่า ไม่ได้แล้ว ต้องเอาคนของเขากลับมา ผมมีความรู้สึกว่าตรงนี้เป็นข้อเรียกร้องที่ค่อนข้างจะ sensitive มันนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างแต่ละฝ่ายมากขึ้น ผมว่ามันเป็นเรื่อง sensitive ของสถาบันน่ะ”

“ขณะเดียวกัน ผมก็คิดได้ในฐานะของคนทั่วๆ ไปว่า สถานการณ์ในลักษณะแบบนี้เนี่ย ถามว่าเราจะมาทำเพื่อคนคนเดียวเนี่ย มันมีประโยชน์อะไร คือผมคิดในแง่ของผมอย่างนี้ว่า ตอนนี้เรากำลังทำเพื่อคนคนเดียวหรือเปล่า หมายถึงว่า เราคิดว่าถ้าคนคนนี้ได้อภัยโทษแล้ว สถานการณ์มันจะดีขึ้นหรือไง บ้านเมืองจะดีขึ้นเหรอ (ถาม-อ.คิดว่าจะดีขึ้นมั้ย ถ้ามีการอภัยโทษให้เขาจริงๆ?) ผมไม่คิดอย่างนั้น คือเขาไม่ได้ยอมรับผิดน่ะ เมื่อไม่ได้ยอมรับผิด มันก็กลายเป็นว่าอีกฝ่ายไปแกล้งเขา พออีกฝ่ายหนึ่งแกล้ง การที่บอกว่าขออภัยโทษก็คือว่า เราไม่ผิดนะ ถามว่าจะมาขออภัยโทษอะไร ในเมื่อคุณก็ยังไม่ได้บอกว่าคุณกระทำผิด”


ขณะที่ ผศ.ทวี สุรฤทธิกุล อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มองการเตรียมเข้าชื่อของคนเสื้อแดงเพื่อถวายฎีกาให้มีการพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ว่า เป็นสิ่งที่ท้าทายสังคมและไม่น่าจะเหมาะสม เพราะหากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณอภัยโทษให้ ก็จะทำให้เกิดปัญหาในแง่ความรู้สึกของราษฎรที่มีต่อสถาบันสูงสุด โดยเฉพาะประชาชนที่รักทักษิณ และเข้าชื่อถวายฎีกาให้

ผศ.ทวี ยังชี้ด้วยว่า การเข้าชื่อของคนเสื้อแดงเพื่อถวายฎีกาให้ พ.ต.ท.ทักษิณ นอกจากจะทำให้สถาบันกษัตริย์ต้องมัวหมองแล้ว ยังจะทำให้สังคมแตกแยกและเกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองด้วย

“เป็นการทำให้ภาพลักษณ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์ต้องมัวหมองไปใน 2 ด้าน ด้านหนึ่งก็คือ ค่อนข้างจะหมิ่นเหม่ต่อการไปแทรกแซงสถาบันตุลาการ ซึ่งก็เป็นองค์กรอิสระในแง่อำนาจอธิปไตย ซึ่งพระมหากษัตริย์เองก็ต้องใช้อำนาจอธิปไตยนั้นภายใต้ รธน.กำหนด จะมีอำนาจเหนือไม่ได้ และอีกเรื่องหนึ่งที่จะหมิ่นเหม่ ก็คือ ก็เป็นประเด็นที่พูดไปแล้ว เรื่องการหมิ่นเหม่ต่อความแตกแยกในสังคม ซึ่งคน 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายที่รักคุณทักษิณ กับฝ่ายที่ต่อต้านคุณทักษิณ ก็จะต้องออกมาปะทะกัน เพราะฉะนั้นการยื่นฎีกาในลักษณะนี้ ผมถือว่าเป็นลักษณะแค่การเป็นข้อเรียกร้องเหมือนกัน ถ้าในทางรัฐศาสตร์น่าจะเรียกว่า ultimatum ไม่ใช่ฎีกา แต่เป็นข้อบังคับเรียกร้องที่จะเอาตามความต้องการของตนเอง เหมือนกับเวลาประกาศสงคราม ในทางสงครามโลกที่ผ่านมา แต่ละประเทศเขาจะยื่น ultimatum ก็เป็นประกาศของการที่สงคราม เพราะฉะนั้น ผมเรียกว่า ultimatum ก็เพราะว่าสิ่งที่ฝ่ายเสื้อแดงจะยื่นเนี่ย ส่งผลเสียหายร้ายแรง 2 เรื่องที่ว่ามา เพราะฉะนั้นฎีกามันเป็นเรื่องส่วนบุคคล ส่วนบุคคลทั้งตัวผู้ขอ คือ ตัวนักโทษ และตัวผู้ให้ คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นพระมหากรุณาธิคุณส่วนพระองค์ เพราะฉะนั้นการออกมาเคลื่อนไหวอย่างนี้ มันเป็นเรื่องสาธารณะ มันเป็นไปในทางมวลชน เพราะฉะนั้นมันไม่มีทางที่จะก่อให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อกันได้เลย เหมือนกับประกาศสงครามนั่นแหละ”

“เพราะฉะนั้นในลักษณะของการยื่นฎีกาอย่างนี้ ผมคิดว่าจะทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และเมื่อเข้าไปถึงพระองค์แล้วเนี่ย ผมคิดว่าอันนี้เป็นเรื่องใหญ่ ก็เท่ากับว่าไปโยนระเบิดปรมาณูเข้าไปในพระเพลาของท่าน โยนไปที่หน้าตักของท่าน เพราะฉะนั้นทั้งการประกาศ การดำเนินการรวบรวมรายชื่อ และรอให้พระราชทานพระกรุณาธิคุณมาเนี่ย ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่มีเจตนาอย่างเดียว นั่นก็คือ ทั้งๆ ที่รู้ว่ามันไม่มีทางเป็นไปได้ ไม่มีทางสำเร็จ และจะมีแต่ผลเสีย แต่เขาหวังผลอย่างเดียว คือ ความวุ่นวาย ความเดือดร้อนแตกแยก และความสูญเสียที่จะมาสู่สถาบันทั้งหลาย ผมคิดว่านี่แหละคือบาปเคราะห์ที่คนเหล่านี้กำลังสร้างให้กับบ้านเมือง”


ผศ.ทวี ยังแนะวิธีลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสถาบันหากคนเสื้อแดงเข้าชื่อถวายฎีกาให้ พ.ต.ท.ทักษิณ จริงๆ ว่า เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องดูแลความสงบสุขในบ้านเมือง โดยเมื่อเห็นเหตุการณ์กำลังจะนำไปสู่ความวุ่นวายแบบนี้แล้ว รัฐบาลต้องป้องปรามด้วยการใช้อำนาจทั้งทางกฎหมาย ทางสังคม หรือในทางการเมือง โดยสร้างความเข้าใจให้ความรู้กับประชาชนทั่วประเทศว่า อะไรควร-อะไรไม่ควร รวมทั้งประณามการล่าชื่อถวายฎีกาที่ไม่เหมาะสมแบบนี้ รัฐบาลจะงอมืองอเท้าไม่ได้ เพราะการกระทำดังกล่าวไม่ใช่จะก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองเท่านั้น แต่จะเสื่อมเสียถึงสถาบันที่เราพยายามรักษามาอย่างยากลำบากด้วย ดังนั้น หากรัฐบาลไม่ทำอะไร แล้วเกิดอะไรขึ้น จะโทษใครไม่ได้ ต้องโทษและประณามรัฐบาลด้วย!!
คำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา เรียกร้องให้รัฐบาลแถลงให้ประชาชนทราบถึงข้อกฎหมายและประเพณีปฏิบัติในการขอพระราชทานอภัยโทษ
สัก กอแสงเรือง อดีตนายกสภาทนายความ ชี้ การขออภัยโทษ คนทำผิดต้องดำเนินการเองหรือญาติดำเนินการให้ ไม่ใช่ใครก็ทำแทนได้
รศ.ดร.อุดม รัฐอมฤต รองอธิการบดีฯ มธ.ชี้ การล่าชื่อถวายฎีกาของคนเสื้อแดง ถือเป็นเรื่องอ่อนไหวต่อสถาบัน
ผศ.ทวี สุรฤทธิกุล อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มสธ.ชี้ การล่าชื่อถวายฎีกาของคนเสื้อแดง เป็นเรื่องใหญ่และไม่บังควร เปรียบเหมือนการประกาศสงคราม
สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือแซ่ด่าน ไม่เห็นด้วยที่คนเสื้อแดงจะเข้าชื่อถวายฎีกาให้มีการอภัยโทษแก่ พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะจะเท่ากับว่ายอมรับผิด
นพดล ปัทมะ อดีตที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชี้เหตุที่คนเสื้อแดงจะเข้าชื่อถวายฎีกา เพราะห่วงใยและสงสาร พ.ต.ท.ทักษิณ
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคดีจำคุก 2 ปี อ้างว่า ไม่สามารถห้ามความต้องการของประชาชนที่จะเข้าชื่อถวายฎีกาให้ตนได้
กำลังโหลดความคิดเห็น