“ม.ล.ปนัดดา”ห่วงคนเสื้อแดงล่าชื่อถวายฎีกาช่วย“แม้ว”จะสร้างความรู้สึกบางอย่างต่อสถาบัน เตือนให้รอบคอบถี่ถ้วน คำนึงถึงจารีตประเพณีและความเป็นนิติรัฐของประเทศ อย่าเอาการเมืองมาปนเปกับความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย ย้ำในหลวงทรงอยู่เหนือการเมืองและทรงมีพระราชอำนาจที่จะธำรงศักดิ์ศรีของชาติ ด้านเลขาธิการสภาทนายห่วงแกนนำเสื้อแดงแพร่ข้อมูลเท็จให้ชาวบ้าน แนะ จนท.รีบใช้กฎหมายจัดการ “เทพไท”จวก “ทักษิณ”จาบจ้วงเบื้องสูงมาตลอด ยังมีหน้าจะขอพระราชทานอภัยโทษ
รายการ “รู้ทันประเทศไทย” ออกอากาศทางเอเอสทีวี-ทีวีของประชาชน ช่วงเวลา 18.30-20.00 น.วันที่ 29 มิ.ย..2552 นายสันติสุข มะโรงศรี ดำเนินรายการ ในช่วงสนทนามีนายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมรายการ โดยมี ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคง และโฆษกกระทรวงมหาดไทย และนายเสงี่ยม บุญจันทร์ เลขาธิการสภาทนายความ ร่วมให้ความเห็นทางโทรศัพท์ ต่อกรณีกลุ่มคนเสื้อแดงจะถวายฎีกาเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่กำลังหลบหนีคดีอยู่ต่างประเทศ
นายเสงี่ยมกล่าวว่า การถวายฎีกานั้นเป็นเรื่องปกติที่พสกนิกรที่มีความเดือดร้อนจะถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่เป็นองค์ประมุขได้เพื่อขอพระราชทานความช่วยเหลือได้ หรือนักโทษที่อยู่ในเรือนจำจะยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ แต่กรณีที่คนเสื้อแดงจะล่ารายชื่อเพื่อถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณนั้นต้องดูว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ เพราะคนที่จะพระราชทานอภัยโทษต้องอยู่ในการควบคุมและถูกลงโทษเสียก่อน ดังนั้นการถวายฎีกาไม่น่าจะเข้าเงื่อนไขการขอพระราชทานอภัยโทษ แต่เป็นการขอไม่ให้ลงโทษ เพราะคนที่จะขอพระราชทานอภัยควรจะรู้สำนึกเสียก่อน อย่างไรก็ตามต้องมาดูว่า ถ้าเป็นการขอไม่ให้ลงโทษนั้นมันสมควรหรือไม่ และไม่จำเป็นต้องเอาคนมาเป็นกลุ่ม
นายเสงี่ยมกล่าวอีกว่า ในอดีตที่ผ่านมายังไม่มีที่คนซึ่งถูกตัดสินแล้วหนีไปต่างประเทศ ไม่ยอมรับคำตัดสินซ้ำยังด่าศาลว่าไม่ยุติธรรม แล้วมาขอพระราชทานอภัยโทษ และการปลุกระดมเอาชื่อคนมาเป็นล้านเพื่อถวายฎีกาก็ไม่เคยมีเช่นกัน และอย่าคิดว่าเอาชื่อคนมาเป็นล้านถวายฎีกาแล้วพระองค์ท่านจะทรงพระราชวินิจฉัยเลย แต่ต้องผ่านขั้นตอนของกระทรวงยุติธรรมและสำนักราชเลขาธิการก่อน ทั้งนี้ การเสนอขึ้นไปต้องระมัดระวังเรื่องการก้าวล่วงพระราชอำนาจด้วย
เลขาธิการสภาทนายความ กล่าวต่อว่า มีความน่าเป็นห่วงที่การเคลื่อนไหวของแกนนำคนเสื้อแดงขณะนี้พยายามไปบอกชาวบ้านว่าเป็นการถวายฎีกาเพื่อเอาตัว พ.ต.ท.ทักษิณกลับมา โดยที่ไม่เอาข้อเท็จจริงให้ชาวบ้านรู้ ฝ่ายรัฐต้องจัดการให้เด็ดขาดกับคนที่ปลุกระดมด้วยข้อมูลเท็จ แม้กระทั่งการโฟนอิน ดูเนื้อความแล้ว ทำไมไม่ดำเนินการ กระบวนการยุติธรรมและคนที่มีหน้าที่ต้องดำเนินการ ซึ่งต้องดูว่าเนื้อความก่อให้เกิดความแตกแยก ก่อให้เกิดความไม่สงบ หรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงหรือไม่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ก็มีเรื่องการสื่อเข้ามาด้วย นอกจากคนที่พูดแล้ว คนที่ให้การสนับสนุน แม้กระทั่งคนจัดฉาก เปิดให้ดำเนินการ ถ้าโฟนอินนั้นเป็นการกระทำความผิด ก็ต้องดำเนินการกับคนที่จัดให้มีการโฟนอินขึ้นมา
นอกจากนี้ เลขาธิการสภาทนายยังเห็นว่า การที่ พ.ต.ท.ทักษิณหนีไปต่างประเทศแล้วยังสามารถมอบอำนาจให้ทนายความไปยื่นฟ้องคนอื่นๆ ได้นั้น ไม่น่าจะทำได้ ผู้ที่รับฟ้องไม่ควรจะรับ เพราะเป็นการเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว ถ้าจะฟ้องคนอื่นทำไมไม่เข้ามาต่อสู้ สำหรับการมอบอำนาจให้ทนายความนั้น สภาทนายคงไม่เข้าไปตรวจสอบ เพราะเป็นหน้าที่ของผู้รับฟ้อง อย่างไรก็ตามทนายความที่รับว่าความให้ ต้องไปเอาข้อเท็จจริงออกมา ไม่ใช่ไปช่วยแก้ให้ผิดเป็นถูก
อย่างไรก็ตาม การห้ามคนที่อยู่ต่างประเทศนั้นทำยาก เพราะเราไปบังคับให้เขาส่งตัวมาไม่ได้ แต่ถ้ามีการโฟนอินเข้ามาแล้วเป็นข้อความที่หมิ่นฯ หรือกระทบความมั่นคงก็ต้องดำเนินการกับคนที่จัดงาน แต่ขึ้นกับผู้มีอำนาจโดยตรงว่าจะดำเนินการอย่างไร
ด้านนายเทพไท กล่าวว่า เวทีคนเสื้อแดงเมื่อวันที่ 27 มิ.ย.เป็นการสร้างเงื่อนไขชุมนุมเพื่อล้มอำมาตย์ แต่เท่าที่ดูเป็นการจงใจใช้มวลชนมากดดันพระราชอำนาจ พวกเขาจงรักภักดีหรือไม่นั้น ตนเห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณพุดเอาแต่ได้ เริ่มตั้งแต่เรื่องศาล เวลาศาลตัดสินให้เขาติดคุก เขาก็ด่าศาลว่าถูกแทรกแซงบ้าง สองมาตรฐานบ้าง แต่เวลาที่รู้สึกว่าคนอื่นทำให้ตัวเองเสียหายก็ใช้ศาลฟ้องคนอื่นดะไปหมด คราวนี้ก็เหมือนกัน เขาจาบจ้วงหมิ่นเหม่ต่อสถาบันหลายครั้ง แต่พอตนเองจนปัญญาไม่มีทางไป อยากจะให้พ้นจากการติดคุกก็จะมาถวายฎีกา ใครจะว่ายังไงก็เอา
ทั้งนี้คำพิพากษาของศาลที่ยกฟ้องคดีที่ พ.ต.ท.ทักษิณฟ้องนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ในข้อหาหมิ่นประมาทกรณีให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณต้องการเป็นประธานาธิบดีนั้น ระบุชัดว่า พ.ต.ท.ทักษิณมีพฤติกรรมที่จาบจ้วงเบื้องสูงอย่างไร ทั้งการพูดต่อคนขับรถแท็กซี่ การพูดออกรายการวิทยุและช่อง 11 เมื่อวันที่ 4 ก.พ.49 ว่าถ้าจะให้ลาออกให้ในหลวงมากระซิบข้างหู ต่อมาวันที่ 29 มิ.ย.49 ก็พูดกับข้าราชการที่ทำเนียบว่ามีผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญมาแทรกแซงการบริหารราชการ ที่สร้างความเคลือบแคลงให้กับประชาชนว่า พ.ต.ท.ทักษิณหมายถึงใคร หลังจากนั้นเมื่อเดือน ก.พ.52 ในการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่หน้ารัฐสภาก็นำพระบรมฉายาลักษณ์ไปติดบนเวทีอย่างไม่เหมาะสม จนกระทั่งต่อมา พล.ต.อ.วสิษฐ์ เดชกุญชร ได้เขียนบทความว่า พ.ต.ท.ทักษิณมีพฤติกรรมที่จะล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ กรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ต่างประเทศ รวมทั้ง พล.อ.พิจิตร กุลละวณิชย์ องคมนตรีก็พูดยืนยันเรื่องนี้
นายเทพไท กล่าวต่อว่า เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณมีพฤติกรรมตามที่ปรากฏในคำพิพากษาของศาลแล้ว ยังมีหน้าจะมาถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษอีกหรือ ทั้งนี้คิดว่า ที่ พ.ต.ท.ทักษิณต้องหารขอพระราชทานอภัยโทษ เพราะในใจของ พ.ต.ท.ทักษิณคงไม่อยากติดคุก อยากได้เงินคืน และอยากกลับประเทศเข้ามาเล่นการเมืองเพื่อเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะในการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่สนามราชมังคลากีฬาสถานเมื่อวันที่ 1 พ.ย.51 นายวีระ มุสิพงศ์ ก็ทำหน้าที่เป็นหน้าม้าพูดถึงราชประชาสมาสัย และ พ.ต.ท.ทักษิณก็บอกว่าเขาจะกลับมาได้หรือไม่ก็ด้วยพระบารมีหรือไม่ก็ด้วยพลังของพี่น้องประชาชนเท่านั้น ซึ่งการพึ่งพลังของพี่น้องประชาชนนั้นเขาพยายามทำเมื่อช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาแต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงกลับมาที่พระบารมี ซึ่งตนถือว่าเป็นการกดดันต่อพระบรมราชวินิจฉัยอย่างมาก เพราะไม่ว่าจะมีพระบรมราชวินิจฉันอย่างไรก็มีโอกาสจะสร้างความแตกแยกทั้งสิ้น ซึ่งตนไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น
นายเทพไท กล่าว่า ถ้า พ.ต.ท.ทักษิณต้องการขอพระราชทานอภัยโทษด้วยความบริสุทธิ์ใจก็ควรจะทำส่วนตัว โดยการกลับมาติดคุกก่อนและทำเรื่องผ่านกรมราชทัณฑ์ขึ้นไป ไม่ใช่ไปอยู่ต่างประเทศแล้วตะโกนเข้ามาขอให้พี่น้องลงชื่อถวายฎีกาให้
ด้าน ม.ล.ปนัดดากล่าวว่า การถวายฎีกาของคนเสื้อแดงนั้น ต้องมองในเรื่องจารีตประเพณีด้วย การกล่าวในที่สาธารณะสำหรับเรื่องเช่นนี้ จะกล่าวแบบผลีผลามไม่ได้ ต้องรอบคอบถี่ถ้วน รวมทั้งต้องคำนึงความยุติธรรมและระบบนิติรัฐของประเทศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประทับอยู่เหนือการเมือง พระองค์ท่านจึงอยู่ในพระราชสถานะที่จะต้องมีความระมัดระวังในการธำรงศักดิ์ศรีของชาติบ้านเมือง ขณะเดียวกันสถาบันพระมหากษัตริย์ของประเทศใดก็แล้วแต่ที่มีระบอบการปกครองเช่นนี้ไม่ใช่มีหน้าที่เพียงธำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีของสถาบันเท่านั้น พระองค์ท่านยังทรงมีพระราชอำนาจที่จะคำนึงถึงด้วยความรอบคอบถี่ถ้วนทั้งในเรื่องของราชประเพณีที่เป็นลายลักษณ์อักษรและจารีตประเพณี ดังนั้นเราจึงควรมีความรอบคอบอย่างมากก่อนที่จะมีการพูดอะไรออกไป
ม.ล.ปนัดดา กล่าวต่อว่า เมื่อเราดูตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่แก้ไขเพิ่มเติมปี 2548 ตั้งแต่มาตรา 259-261 อธิบายไว้ชัดเจนว่าส่วนราชการใด รัฐมนตรีใดมีหน้าที่รับผิดชอบ เช่น ม.261 ระบุว่าชัดว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมีหน้าที่ถวายเรื่องราวต่อองค์พระมหากษัตริย์พร้อมทั้งถวายความเห็นว่าควรจะพระราชทานอภัยโทษต่อเรื่องนั้นๆ หรือไม่
ม.ล.ปนัดดาย้ำว่า การคำนึงถึงจารีตประเพณีเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง และช่วงหลังๆ ก็มีการกล่าวถึงเป็นอย่างมากถึงความเหมาะสมในเรื่องข้อพิจารณาในเรื่องหนึ่งๆ ว่า สมควรหรือไม่ที่จะนำเรื่องต่างๆ ขึ้นทูลเกล้าถวาย สำหรับเรื่องที่คนเสื้อแดงจะถวายฎีกาจะเข้าข่ายหรือไม่นั้น ตนคำนึงถึงข้อกฎหมายเป็นสำคัญ คิดว่าข้อกฎหมายคงมีอยู่แล้วว่าควรทำได้หรือไม่ แต่ตนคงไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายในกระบวนการยุติธรรมได้ เราต้องให้เกียรติสถาบันตุลาการ ให้เป็นเรื่องของฝ่ายที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงเป็นคนตัดสินใจดีกว่า
นอกจากนี้ ม.ล.ปนัดดา ยอมรับว่า มีความห่วงใยที่สุดต่อการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงที่จะถวายฎีกา ว่าจะเป็นการทำให้เกิดความรู้สึกบางอย่างต่อสถาบัน ข้อกฎหมาย ความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันตุลาการและนิติรัฐไม่ใช่เรื่องการเมือง เรื่องการเมืองต้องแยกออกไปโดยเด็ดขาด ถ้าเอาเรื่องการเมืองมาผสมปนเปกัน มีหวังบ้านเมืองจะไปไม่รอด ต้องแยกจากกันโดยชัดเจน