“สงครามเกิดขึ้นในจิตใจของมนุษย์ ดังนั้นจึงต้องสร้างความหวงแหนสันติภาพให้เกิดขึ้นในจิตใจของมนุษย์ด้วย”
นั่นเป็นเจตนารมณ์เริ่มต้นขององค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโกที่มีหลายประเทศได้ลงนามในสัตยาบรรณดังกล่าวเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2489
หากนับจากวันที่คณะกรรมการมรดกโลก ของยูเนสโกได้ตัดสินให้กัมพูชาสามารถขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียว มาจนถึงวันนี้ก็กำลังจะครบรอบ 1 ปีแล้ว แต่กลับกลายเป็นว่าการตัดสินใจดังกล่าวของยูเนสโกกลับเป็นชนวน หรือตัวเร่งให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงระหว่างไทย-กัมพูชามากขึ้นเรื่อยๆ
และเป็นไปได้ว่าจะขยายบานปลายกลายเป็นสงครามระหว่างสองประเทศในอนาคตก็เป็นได้ หากไม่มีวิธีการหาทางออกที่เหมาะสมและเป็นธรรมให้กับทั้งสองฝ่าย
อย่างไรก็ดีปัญหาที่กำลังสร้างความยุ่งยากอยู่ในขณะนี้ส่วนสำคัญมีสาเหตุมาจากคนของเรา และรัฐบาลของเราในอดีตด้วย ที่ต้องจดจำไม่ลืมนั่นก็คือรัฐบาลที่นำโดย สมัคร สุนทรเวช และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่ชื่อ นพดล ปัทมะ ที่ไปลงนามยินยอมให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียวได้ ทั้งที่ผิดหลักการประวัติศาสตร์ และทางกายภาพภูมิศาสตร์อย่างสิ้นเชิง
เป็นลักษณะของการเสียดินแดนเสียอธิปไตยให้กับต่างชาติ โดยที่รัฐบาลไทยในยุคนั้นสมยอมแบบมีวาระซ่อนเร้น
ซึ่งต่อมาทางศาลปกครองก็ได้ตัดสินให้การลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาในครั้งนั้นมิชอบ และกำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาเอาผิดจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือ ป.ป.ช.
แต่สิ่งที่ต้องพิจารณากันเฉพาะหน้าก็คือการที่รัฐบาลปัจจุบันนำโดย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ยื่นคัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยมีมติคณะรัฐมนตรีส่ง สุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปยื่นประท้วงระหว่างการประชุมประจำปีของคณะกรรมการมรดกโลก ขององค์การยูเนสโก ระหว่างวันที่ 22-30 มิถุนายน ที่ประเทศสเปน ซึ่งคาดว่าจะมีการนำเรื่องดังกล่าวมาชี้ขาดอีกครั้งในวันที่ 30 มิถุนายน
การเดินทางไปยื่นประท้วงและชี้แจงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯครั้งนี้เพื่อยืนยันท่าทีของไทยที่คัดค้านการขึ้นทะเบียนแต่เพียงฝ่ายเดียวของกัมพูชา รวมทั้งชี้ให้เห็นว่าการตัดสินของคณะกรรมการมรดกโลกได้กระทำที่ฝืนต่อหลักการ ต่อธรรมนูญ และเจตนารมณ์ขององค์การยูเนสโก ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชนของทั้งสองฝ่าย ทำลายความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม รวมทั้งตัดสายธารแห่งศรัทธาร่วมกันของมนุษยชาติอย่างสิ้นเชิง
ซึ่งองค์การยูเนสโกต้องทบทวนบทบาทที่ผ่านมา
สำหรับอีกด้านหนึ่งกับบทบาทของ สุเทพ เทือกสุบรรณรองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคงที่นำทีมเดินทางไปเจรจากับผู้นำรัฐบาลกัมพูชาเมื่อวันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา แม้ว่าอีกมุมหนึ่งอาจเป็นความต้องการทำความเข้าใจ เพื่อลดความตึงเครียดระหว่างสองฝ่าย แต่กับผลที่ได้มาถือว่าไร้ประโยชน์ใดๆ
เพราะกรณีที่เกิดขึ้นไทยไม่ได้เป็นคู่กรณีกับกัมพูชา แต่ที่ไทยต้องเจรจาโดยตรงก็คือกับยูเนสโก ส่วนปัญหาระหว่างไทย-กัมพูชา มีเจ้าหน้าที่ มีคณะกรรมการที่ทำหน้าที่ดำเนินการไปตามขั้นตอนอยู่แล้ว
ในทางตรงกันข้ามหากจะว่าไปแล้วการเดินทางไปกัมพูชาของ สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมร่วมคณะไปด้วย นอกจากไม่มีอะไรติดมือมาแล้ว ยังอาจทำให้เสียศักดิ์ศรีของชาติตามมาอีกด้วย เพราะทั้งก่อนและหลังการเดินทาง ฝ่ายกัมพูชาไม่ได้มีท่าทีในเชิงบวกที่จะเจรจาในเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด
ขณะเดียวกันหากพิจารณาในแง่ของยูเนสโก กรณีการเห็นชอบให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนประสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกเพียงฝ่ายเดียวได้สร้างรอยด่างและความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงให้กับองค์กรแห่งนี้ที่มีเจตนารมณ์ในด้านส่งเสริมสันติภาพและความร่วมมือของนานาชาติ
เพราะหลังจากการขึ้นทะเบียนดังกล่าวก็ได้ทำให้เกิดความตึงเครียดบริเวณชายแดนของทั้งสองฝ่าย เกิดการปะทะทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บอย่างต่อเนื่อง และยังมีความเป็นไปได้ว่าหากสถานการณ์ยังคงดำรงอยู่แบบนี้ต่อไป โอกาสที่จะบานปลายกลายเป็นสงครามก็เป็นไปได้ แม้ว่าคงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นก็ตาม
แต่ขณะเดียวกันหากยังมีความตึงเครียด มีการปะทะหรือเลวร้ายที่สุดคือเกิดสงครามขึ้นมาจริงๆ องค์การยูเนสโกจะต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย เพราะเป็นต้นเหตุในการร่วมจุดชนวน
ซึ่งถือว่า น่าเศร้าที่สุดสำหรับองค์กรที่เคยได้ชื่อว่าเป็นองค์กรที่ส่งเสริมความร่วมมือของมนุษยชาติในด้านวัฒนธรรม กลับกลายมาเป็นต้นเหตุแห่งความขัดแย้งเสียเอง !!