xs
xsm
sm
md
lg

“อภิสิทธิ์” เดินหน้าปราบยาเสพติด ย้ำต้องไม่ฆ่าตัดตอน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นายกฯ ยืนยันข้อมูลยาเสพติดระบาดเพิ่มขึ้นในช่วง 5 ปี มีตัวเลขผู้เข้าอยู่ในวงจรเพิ่ม 2 แสนคน ระบุ มาตรการปราบปรามยังจำเป็นแต่ต้องละเมิดสิทธิ์ ย้ำจะต้องไม่ฆ่าตัดตอนย้อนยุคแม้ว ชี้ปีนี้ยึดทรัพย์ได้มากกว่าปีที่ผ่านมา 100 กว่าล้านบาท

วันนี้ (28 มิ.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวแถลงผลสรุปนโยบายแก้ไขปัญหายาเสพติดของรัฐบาล ภายใต้ปฏิบัติการ 5 รั้วป้องกันรอบ 3 เดือนในรายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์ว่า เรื่องของปัญหายาเสพติดนี้ก็เป็นปัญหาที่เป็นความทุกข์ของประชาชนคนไทยจำนวนมาก และก็เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา น่าจะมีคนที่เข้าไปอยู่ในวงจรที่ติดยาเสพติดเพิ่มขึ้นประมาณ 1-2 แสนคน ก็เป็นปัญหาซึ่งรัฐบาลต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ซึ่งในอดีตการทำงานส่วนใหญ่ ทุกคนก็ให้ความสนใจมุ่งไปที่ เรื่องของการปราบปราม ซึ่งก็เป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่ไม่สำคัญ และรัฐบาลนี้ก็ดำเนินการในเรื่องของการปราบปรามอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่ว่า ลำพังการปราบปรามอย่างเดียวนี้ หรือเราคิดว่าเราใช้มาตรการที่รุนแรงในการปราบปรามแล้วจะได้ผล มันไม่ได้เป็นอย่างนั้น

“ผมคิดว่าเราคงจำได้ว่าใน 5 ปีที่ผ่านมา ในบางช่วงก็มีมาตรการ ซึ่งเน้นการปราบปรามซึ่งอาจจะเกินเลยไปถึง เรื่องของการใช้คำว่าฆ่าตัดตอน มีการละเมิดสิทธิจนกระทั่งทุกวันนี้ บางเรื่องยังเป็นคดีความกันอยู่ สิ่งที่เราพบคือว่าในช่วงที่มีการดำเนินการอย่างนั้น ยาเสพติดอาจจะดูลดลง แต่จะเป็นเรื่องชั่วคราวเท่านั้นเอง เหตุผลที่มันเป็นการลดลงชั่วคราว ก็เพราะว่าพอสักพักหนึ่ง กลุ่มที่ค้าขายเขาก็จะสามารถ ที่จะไปจัดระบบจัดองค์กรของเขาใหม่” นายกฯ กล่าว

นายกฯ กล่าวอีกว่า ในกรณีฆ่าตัดตอนสิ่งที่เกิดขึ้น ช่วงหนึ่งก็คือราคายาเสพติดก็จะพุ่งสูงขึ้น และจะมีการไปรวมกลุ่มบริหารจัดการ อะไรของเขาเป็นรายใหญ่ขึ้น สักพักก็กลับมา ขณะเดียวกันเราก็เรียกว่ามีคนเสียชีวิต ไปในช่วงนั้นประมาณ 2-3 พันคน ซึ่งหลายคนต่อมาภายหลังก็พิสูจน์ ได้ด้วยว่าไม่ได้เกี่ยวข้อง ก็คงเป็นไปไม่ได้ที่บอกว่าทุก 6 เดือน เราจะมาใช้มาตรการกันแบบนั้น แล้วก็มีผู้เสียชีวิตอีก ก็คงไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง ฉะนั้น การปราบปราม ก็ต้องทำอยู่ในกรอบของกฎหมาย แต่สิ่งสำคัญกว่าก็คือว่าถ้าเราทำให้สังคมเข้มแข็ง และป้องกันตามจุดที่เป็นความเสี่ยงต่างๆ

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ถ้าพูดในแง่ของการสกัดกั้นตามรั้วชายแดน เพราะจริง ๆ ขณะนี้เราไม่ใช่ประเทศที่ผลิตยาเสพติด แต่ว่าเข้ามาตามตะเข็บชายแดนต่างๆ เราก็ต้องสร้างรั้วป้องกันตรงนั้น ส่วนในเรื่องของการสร้างความเข้มแข็ง ในระดับโรงเรียน ชุมชน ครอบครัว ก็ต้องมีการดำเนินการกันไป

“เพราะฉะนั้นรัฐบาลก็จึงบอกว่าปราบปรามก็ต้องทำ แล้วก็ในช่วง 5 เดือนครึ่งประมาณ 1 มกราคม - 15 มิถุนายน ก็ยังมีการดำเนินการอย่างเข้มข้นในเรื่องการปราบปราม จริง ๆ แล้วถ้าเทียบกับปีที่แล้ว คดีเพิ่มขึ้นมา ที่ดำเนินคดีได้เพิ่มขึ้นมาประมาณ 15,000 คดี ได้ผู้ต้องหาเพิ่มมาประมาณ 16,000 คน ยึดของกลางได้เพิ่มเทียบกับปีที่แล้ว 3,000,000 เม็ด เพราะฉะนั้นมีความจริงจังในการดำเนินการในการปราบปราม และถ้าคำนวณจะพบว่ารายที่จับขณะนี้เทียบกับในอดีตจะเป็นรายที่ใหญ่ขึ้นด้วย” นายกฯ กล่าว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงการการตรวจสอบ ยึด อายัดทรัพย์สินว่า ก็มีการดำเนินการ ปีนี้ทำมากกว่าปีที่แล้วไปแล้ว 100 กว่าล้านในช่วง 5 เดือนครึ่ง แต่ว่างานตรงนั้นก็ต้องทำไป และตนก็ทราบดี หลายพื้นที่จะมีเรื่องร้องเรียนว่ายังมีอยู่ตรงนั้นตรงนี้ ที่หนักหน่อยก็คือบางพื้นที่ก็บอกว่า มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ก็ขอยืนยันว่าขณะนี้หน่วยงานที่ทำงานเรื่องนี้ทั้ง ป.ป.ส. และกอ.รมน. ก็ร่วมมือกัน และขณะนี้ก็ได้เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ มีเบาะแสสามารถแจ้งข้อมูล เข้ามาในทุกพื้นที่จะมีรายชื่อว่า ใครเป็นผู้รับผิดชอบอะไรต่าง ๆ อยู่ ขอให้มั่นใจว่าเราจะเอาข้อมูลนั้นมา แล้วก็มาดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด แต่อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย

นายกฯ กล่าวว่า ส่วนงานทางด้านของการป้องกันทั้งหลาย ในเรื่องของการสร้างพื้นที่ดีให้เยาวชนจะเป็นงาน สำคัญที่สุด เพราะฉะนั้นงานสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ทั้งทางกายภาพ คือจะมีเรื่องลานกีฬา มีเรื่องกิจกรรมต่าง ๆ ให้เยาวชนมากขึ้น ก็เป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนในโครงการไทยเข้มแข็งด้วย แล้วก็อีกส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องของสื่อ ก็คือพื้นที่ทางสื่อ จะเป็นอินเตอร์เน็ต จะเป็นอะไรต่างๆ ก็จะมีการรุกในเรื่องนี้ ในการทำพื้นที่สร้างสรรค์ อันนี้ก็จะผ่านทาง สสส. ด้วยและองค์กรของชุมชนต่างๆ ด้วย ก็จะเป็นขั้นต่อไปในเชิงของนโยบายภาพกว้าง แต่ว่าวันนี้เราก็มีผู้แทนซึ่งทำงานในเฉพาะด้าน ในรั้วต่างๆ รวมทั้งงานทางด้านบำบัดมาสนทนาด้วย

ส่วนการเพิ่มเติมนโยบายการบำบัดนั้น นายกฯกล่าวว่า เรื่องของการบำบัดเป็นเรื่องที่มาจากหลักคิดของเราว่าจริง ๆ แล้วเราต้องการที่จะลงโทษในส่วนของผู้ค้า ส่วนของผู้เสพเราต้องการดึงเขากลับมา กลับมาอยู่ในสังคม แล้วก็สามารถที่จะหลุดพ้นจากวงจรตรงนี้ได้ เรียนว่าเรื่องของการบำบัดนี้ สิ่งหนึ่งซึ่งยังจะต้องเร่งรัดมากขึ้น ก็คือ ระยะหลังนี้ คือการบำบัดมีสองลักษณะ ลักษณะหนึ่งก็คือว่าสมัครใจ นั่นหมายความว่า คนที่รู้ตัวเองว่ามีปัญหาก็เดินเข้ามาเพื่อขอรับการบำบัด กับส่วนที่สองก็คือว่า ถูกจับหรืออะไรก็แล้วแต่ ก็เหมือนกับเป็นภาคบังคับ ที่น่าเป็นห่วงคือในช่วงปีหลัง ๆ นี้สัดส่วนของการเข้ามารับการบำบัดโดยสมัครใจนี้ลดลง เพราะฉะนั้นตรงนี้คือสิ่งที่ผมได้ให้เป็นนโยบายไป ว่าทำอย่างไรเราจะกระตุ้นให้มีการบำบัดที่เกิดขึ้นจากความสมัครใจได้มากขึ้น

นายกฯ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ปัญหายาเสพติดซึ่งถ้ามองในภาพกว้างก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาสังคม ปัญหาเรื่องค่านิยม ปัญหาเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงนี้เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนของสังคมต้องร่วมมือกัน ผู้ปกครองอย่าไปคิดว่าเป็นภาระของโรงเรียน ครูบาอาจารย์อย่าไปคิดว่าเป็นปัญหาของชุมชน หรือว่าชุมชนไปคิดว่ามันก็เป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละคน ไปคิดอย่างนั้นไม่ได้ เพราะว่านี่คืออนาคตของประเทศชาติบ้านเมือง คุณภาพคนของเรา พลเมืองของเรามีความเข้มแข็งมากน้อยแค่ไหน แล้วก็ถ้าเราไปคิดว่าเป็นภาระของคนอื่น สุดท้ายไม่มีใครดูแล แต่ว่าถ้าเราถือว่าเป็นธุระของพวกเราทุกคน เราก็จะสามารถที่จะทำให้คุณภาพของคนของเรามีการพัฒนา มีการปรับปรุงขึ้นมา

“ผมมีความเชื่อโดยส่วนตัวนะครับ ว่า เด็กและเยาวชนและคนไทยทุกคนมีความดีอยู่ในตัวอยู่แล้ว ทำอย่างไรเท่านั้นเองที่ผู้ปกครองก็ดี เพื่อนฝูงก็ดี ชุมชนก็ดี โรงเรียนก็ดี ดึงสิ่งดี ๆ ออกมาให้ได้ ถ้าเราทำอย่างนี้ได้ก็จะทำให้อนาคตของบ้านเมืองของเรามีความมั่นคง” นายกฯ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการจัดรายการฯ นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานประกาศเกียรติคุณบุคคลและองค์กร ที่มีผลงานยอดเยี่ยมและดีเด่นในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ประจำปี 2552 ณ หอประชุมสุขุมนัยประดิษฐ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) จังหวัดนนทบุรี
กำลังโหลดความคิดเห็น