xs
xsm
sm
md
lg

“อภิสิทธิ์” หนีบ รมต.-ภาคเอกชนเยือนจีน หวังดึงนักลงทุนตั้งเป้าขายสินค้าเกษตร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
“นายกฯ อภิสิทธิ์” กุนซือใหญ่นำ รมต.-ภาคเอกชนชุดใหญ่เยือนจีน หวังดึงเชื่อมั่นลงทุนตั้งเป้าบุกตลาดจีนหวังขายสินค้าเกษตร หวังรัฐวิสาหกิจ-รัฐจีนช่วยด้าน “รถไฟ” ไม่เกี่ยวแผนฟื้นฟู ร.ฟ.ท ย้ำมีปัญหาคุยกันได้ แต่อย่าให้ ปชช.เดือดร้อน ย้ำต้องฟื้นฟู ชี้รัฐบาลนี้ทำไม่ได้รัฐบาลหน้าก็ต้องทำ แย้งไม่มีเอกชนเข้าดำเนินการไม่ใช่นโยบายรัฐ ไม่ขอพูด “ใครอยู่เบื้องหลัง” ไร้ประโยชน์ ไม่ปฏิรูปแน่

วันนี้ (24 มิ.ย.) ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อเวลา 09.20 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ เช่น นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธานกรรมการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ตลอดจนตัวแทนจากภาคธุรกิจเอกชนออกเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 24-27 มิ.ย.นี้ โดยจะมีการลงนามความตกลงด้านการค้า ความตกลงการขยายความร่วมมือทวิภาคีทางเศรษฐกิจและการค้าในเชิงกว้างและเชิงลึก (Agreement on Expanding and Deepening Bilateral Economic and Trade Cooperation) และความร่วมมือด้านการศึกษา

นายอภิสิทธิ์ให้สัมภาษณ์ก่อนเดินทางว่า จีนกับไทยจะเป็นหุ้นส่วนที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ไม่เฉพาะความสัมพันธ์ ด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรม แต่การทำงานในภูมิภาคที่จะให้มีทั้งความมั่นคงและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ยังเป็นเรื่องสำคัญ กรเดินทางไปเยือนครั้งนี้ จึงมีคณะที่ค่อนข้างใหญ่ทั้งในส่วนของรัฐมนตรี ภาคราชการและภาคเอกชน ในส่วนของเศรษฐกิจ เราได้กำหนดเป้าหมายการขยายทั้งด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ซึ่งในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา เจอกับปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ฉะนั้นจึงต้องกรไปหารือเพื่อยืนยันเป้าหมายที่จะต้องทำให้ได้ในปีต่อไป รวมทั้งการดูลู่ทางที่จะทำให้การค้าการลงทุน การท่องเที่ยวเป็นไปตามเป้าหมาย สำหรับตนนั้นให้ความสำคัญกับเรื่องสินค้าเกษตรที่ยังมีโอกาสที่จะเข้าไปในตลาดจีนอีกมาก ขณะเดียวกัน จีนเองสามารถที่จะมาซื้อและลงทุนได้มากเช่นกัน ในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะเรื่องของรถไฟตนคิดว่าจีนมีความพร้อมในทุกด้าน ที่จะเข้ามา และยังมีเรื่องของการท่องเที่ยว ซึ่งต้องยอมรับว่าในปี 2552นี้ นักท่องเที่ยวของจีนลดลงไปมากจากหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

นายกฯ กล่าวว่า ตนอยากเห็นการลงทุนซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือ มีทั้งภาคเอกชนซึ่งเป็นบริษัทต่างๆ ซึ่งมีความสนใจที่จะมาลงทุนทางด้านสินค้าเกษตร โดยเฉพาะเรื่องการแปรรูปยางพารา และมันสำปะหลัง และในส่วนของภาครัฐวิสาหกิจ หรือภาครัฐของจีน คิดว่าในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะเรื่องขนส่งมวลชนและรถไฟ น่าจะมีความเป็นไปด้านสูง ซึ่งเราคงต้องดูรูปแบบว่าจะเข้ามาในลักษณะใด อาจจะมีเรื่องของเงินทุนด้วยหรือไม่ เพราะก็อยู่ในกรอบการลงทุนที่นอกเหนือจากเงิน 8 แสนล้านบาท แต่อยู่ในเงินลงทุน 1.5 ล้านล้านบาท

เมื่อถามว่าการให้จีนมาร่วมลงทุนด้านรถไฟ เกี่ยวข้องกับแผนฟื้นฟูการรถไฟแห่งประเทศไทยหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ขอย้ำอีกครั้งว่า แผนการฟื้นฟูรถไฟ เป็นเรื่องการที่จะปรับโครงสร้างบริหารภายใน เพราะถ้าเราสามารถแยกกิจการของการดูแลโครงสร้างพื้นฐานออกจากการวิ่งรถและ การพัฒนาทรัพย์สินอื่นๆ ก็น่าจะทำให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น และหากสมมติว่ามีการลงทุนเพิ่มเติม ก็จะต้องอยู่ในกรอบของโครงสร้างพื้นฐาน

เมื่อถามว่าหลายฝ่ายวิตกว่าเหตุการณ์หยุดงานประท้วงของพนักงานการรถไฟจะกลายเป็น พฤติกรรมเลียนแบบ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ขอย้ำอีกครั้งว่าใครที่มีปัญหาหรือความไม่พอใจอะไร สามารถมาพูดคุยปรึกษาหารือได้อยู่แล้ว ภาครัฐยินดีรับฟัง และอยากให้หลีกเลี่ยงการดำเนินการอะไร ซึ่งนำไปสู่ความเดือดร้อนของประชาชน

เมื่อถามว่า ความเข้าใจผิดของสหภาพการรถไฟ ในเรื่องการแปรรูป เกิดขึ้นได้อย่างไร นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ก็เป็นความห่วงใย ซึ่งเขาได้ระบุว่าสมมติว่ารัฐบาลนี้ไม่ทำ รัฐบาลชุดต่อๆไปอาจจะทำ ก็เป็นเรื่องที่ต้องมาพูดคุยกันว่าทำอย่างไร ถึงจะทำให้เกิดความมั่นใจได้

เมื่อถามว่าจะสร้างความมั่นใจให้กับพนักงานได้อย่างไร ว่าการฟื้นฟูครั้งนี้ เอกชนจะไม่สามารถเข้ามาก้าวก่ายจนถึงขั้นมีการแปรรูป นายกฯ กล่าวว่า จะไปพูดถึงการป้องกันคงไม่ได้ เพราะแม้เราไม่ทำ เรื่องนี้ต่อไปถ้าหากมีคนอยากจะเข้ามาแปรรูปในวันข้างหน้า ถ้าได้เป็นรัฐบาลเขาก็อาจจะทำ แต่สิ่งที่เรายืนยันได้ คือ นโยบายรัฐบาลนี้ไม่มีเรื่องนี้แน่นอน แต่ถ้าหากเราร่วมกันทำให้มันดี ก็ไม่มีเหตุผลที่คนต่อๆ ไปจะเข้ามาเปลี่ยนแปลง

เมื่อถามว่ามีการตรวจสอบข้อมูลกรณีมีข่าวการจดทะเบียนตั้งบริษัทเอกชนจดทะเบียนล่วงหน้า เพื่อเตรียมเข้ามาบริหารแล้วหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ยังมองไม่เห็นว่าบริษัทเอกชนจะเข้ามาได้อย่างไร เพราะนโยบายรัฐบาลไม่มีการที่จะเปิดให้เข้ามา อย่างไรก็ตาม คิดว่าเป็นความกังวลเหมือนกับในหลายกรณีที่เกรงว่าจะมีการทำอย่างนั้นอย่างนี้ ก็เข้าใจความห่วงใย แต่ก็ต้องพูดกันด้วยเหตุด้วยผลว่า การเปลี่ยนแปลงซึ่งจะเป็นประโยชน์กับประชาชนและตัวองค์กร ต้องมาช่วยกันผลักดันให้เกิดขึ้น

“ถ้าทำทุกอย่างนี้ ผมก็ว่าคงไม่มีใครจะคิดมาเปลี่ยนแปลง แต่ต้องยอมรับสภาพในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นกรณีของรถไฟ หรือรถเมล์ก็ตามว่า มันถึงเวลาที่จะต้องมีความพยายามผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น” นายกฯ กล่าว

เมื่อถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตเบื้องหลังการหยุดงานประท้วงครั้งนี้หรือไม่ เพราะดูเหมือนการเจรจาจะยุติง่ายเกินไป นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า “จบลงเร็วก็ดีแล้วนี่ครับ สิ่งที่สหภาพการรถไฟต้องการคือการมีส่วนร่วม เมื่อมีสหภาพชุดใหม่เราก็เปิดโอกาสให้ แต่ผมเชื่อว่าพูดกันด้วยเหตุด้วยผลน่าจะเข้าใจกันได้ว่าสิ่งที่รัฐบาลพยายามจะทำนั้นก็เพื่อที่จะให้รถไฟอยู่ในสถานะที่ไม่ต้องขาดทุนตลอดเวลา และการบริการต่างๆ ที่มีปัญหาเรื่องการเสื่อมโทรมก็ต้องหาทางพลิกฟื้นขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราเชื่อว่าการขนส่งระบบรางจะเป็นหัวใจสำคัญในการลดต้น ทุนให้กับเศรษฐกิจ ลดต้นทุนด้านลอจิสติกส์ และการลดต้นทุนให้กับภาคอุตสาหกรรมภาคการเกษตรเราก็ต้องทำตรงจุดนี้” เมื่อถามว่าเหมือนกับอยู่ดีๆ ก็มา อยู่ดีๆ ก็ไป นายกฯ ไม่ตอบคำถามและหันไปหาคำถามอื่น

เมื่อถามว่า การที่รัฐพยายามเข้าไปฟื้นฟูสหภาพที่มีความเข้มแข็งจะมีอุปสรรคทั้งเรื่องการเมืองและการขัดขวางต่างๆ จะทำอย่างไร นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คิดว่ารัฐบาลกับสหภาพไม่น่าจะมีปัญหาระหว่างกัน เพราะคิดว่าทั้งสองส่วนน่าจะมีเป้าหมายเดียวกัน คือ ทำให้การบริการของรถไฟดีขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์กต่อทุกฝ่ายทั้งผู้ใช้และพนักงาน เมื่อถามว่า แต่บางครั้งการกลัวการเปลี่ยนแปลงอาจนำมาสู่การขัดขวาง นายกฯ กล่าวว่า ก็ต้องช่วยพูดเพื่อไม่ให้กลัวการเปลี่ยนแปลง ตนอยากให้เรากลัวความไม่เปลี่ยนแปลง ในสิ่งซึ่งควรที่จะต้องมีการปรับปรุงมากกว่า

เมื่อถามว่า เชื่อว่าการเคลื่อนไหวของสหภาพรถไฟครั้งนี้ไม่มีอะไรอยู่เบื้องหลังใช่หรือ ไม่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่มีประโยชน์ที่จะมาพูดถึงประเด็นเหล่านี้ เราพูดถึงเรื่องความตั้งใจของรัฐบาลเป็นหลักดีกว่า และเชิญชวนสหภาพและพนักงานเข้ามามีส่วนร่วมพูดคุยกันก็ไม่มีปัญหา ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นก็เป็นช่วงสั้นๆ เราก็หวังว่าจะไม่เกิดขึ้นอีก และรัฐบาลก็ต้องคิดว่า เวลาเกิดปัญหาการปิดถนน หรือหยุดบริการ จะต้องทำอย่างไร แต่ต้องยอมรับว่า หลายๆเรื่อง เป็นปัญหาของการที่ผู้ให้บริการที่มีทักษะเฉพาะอยู่ ถ้าหากไม่ร่วมมือก็ทำอะไรยาก ตอนนี้สิ่งที่เราทำได้คือ การจัดการบริการเข้ามาทดแทนเวลาที่เกิดปัญหา ตนได้ให้นโยบายไปแล้วว่าจะมีบุคลากรเข้ามาทำหน้าที่อย่างไรได้บ้าง กรณีที่เกิดภาวะฉุกเฉินขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น