xs
xsm
sm
md
lg

กกต.ลงดาบ 16 ส.ว.พัวพันถือหุ้นสื่อ-พลังงาน ชี้ขัดต่อ รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุทธิพล ทวีชัยการ
กกต.ลงดาบ 16 ส.ว.พัวพันถือหุ้นสื่อ-พลังงานเข้าข่ายเป็นคู่สัญญาสัมปทานรัฐที่ถือว่าขัดต่อ รธน. ระบุแม้ซื้อในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ไม่มีอำนาจบริหารกิจการ แต่ กม.ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับจำนวน แค่ถือหุ้นก็ถือว่าผิดแล้ว ด้าน 60 ส.ส.หนาว อนุฯ สอบเตรียมชงส่งเรื่องเข้าที่ประชุม กกต.ให้พิจารณาภายในสัปดาห์หน้า

วันนี้ (18 มิ.ย.) นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวภายหลังจากการประชุม กกต.เสร็จสิ้นว่า ที่ประชุม กกต.มีการพิจารณาคำร้องของนายศุภชัย ใจสมุทร โฆษกพรรคภูมิใจไทย และนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ที่ยื่นคำร้องขอให้กกต. ตรวจสอบการกระทำของสมาชิกวุฒิสภา 37 ราย โดยอ้างว่าเข้าข่ายเป็นผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์ และเป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทที่รับสัมปทาน หรือเข้าเป็นคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐในลักษณะผูกขาดตัดตอน ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนตามมาตรา 48 ประกอบมาตรา 265 (2) (4) ของรัฐธรรมนูญ อันเป็นเหตุให้สมาชิกภาพการเป็น ส.ว.ของบุคคลดังกล่าวสิ้นสุดตามมาตรา 119 (5) ของรัฐธรรมนูญ โดยมีมติเสียงข้างมากให้สมาชิกภาพความเป็น ส.ว.ของ ส.ว.16 คนสิ้นสุดลงตามมาตรา 119 (5)ตามความเห็นของอนุกรรมการสอบสวนเสียงข้างน้อย และตามมติเอกฉันท์ของที่ปรึกษากฎหมายกกต. ประกอบด้วย 1.ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ตรึงใจ บูรณสมภพ ส.ว.สรรหา ถือหุ้น บริษัท เทเลคอนเอเชีย คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด มหาชน 2.นายถาวร ลีนุตพงษ์ ส.ว.สรรหา ถือหุ้น บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีพีไอโพลีน จำกัด มหาชน 3.นายบุญชัย โชควัฒนา ส.ว.สรรหา ถือหุ้นบริษัท สหโคเจน (ชลบุรี) จำกัด (มหาชน)

4.นายพิชัย อุตมาภินันท์ ส.ว.สรรหา ถือหุ้นบริษัท ทีพีไอโพลีน จำกัด มหาชน 5.นางพรพันธุ์ บุญรัตพันธุ์ ส.ว.สรรหา ถือหุ้นในบริษัท ปตท.เคมิคอล จำกัด (มหาชน) 6.นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) 7.นายวรวุฒิ โรจนพาณิช ส.ว.สรรหา ถือหุ้นบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 8.นายสิทธิศักดิ์ ยนต์ตระกูล ส.ว.กาฬสินธุ์ถือหุ้นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 9.นายสุพจน์ เลียดประถม ส.ว.ตราด ถือหุ้น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 10.นางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ ส.ว.พิษณุโลก บริษัท ทีพีไอโพลีน จำกัด มหาชน 11.นายจรัล จึงยิ่งเรืองรุ่ง ส.ว.สระบุรี ถือหุ้นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท.สผ. จำกัด (มหาชน) และบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) 12.พล.ต.อ.โกวิท ภักดีภูมิ ส.ว.อ่างทอง ถือหุ้นในบริษัท ปตท.เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

13.นางนฤมล ศิริวัฒน์ ส.ว.อุตรดิตถ์ ถือหุ้นบริษัท ทีพีไอโพลีน จำกัด (มหาชน) 14.นายจิตตพจน์ วิริยะโรจน์ ส.ว.ศรีสะเกษ ถือหุ้นบริษัท ชินคอร์เปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) 15.นายสมชาติ พรรณพัฒน์ ส.ว.นครปฐม ถือหุ้นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) บริษัท ทรูคอร์เปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทีทีแอนด์ที จำกัด (มหาชน) 16.ร.ศ.อัจฉรา เตชฤทธิพิทักษ์ ส.ว.สรรหา ถือหุ้นบริษัท ปตท.เคมิคอล จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีพีไอโพลีน จำกัด (มหาชน) และบริษัท ผู้จัดการ จำกัด (มหาชน)

ขณะที่ ผศ.ทิพวัลย์ สมุทรรักษ์ อดีต ส.ว.สรรหา กกต.มีความเห็นยกคำร้อง เนื่องจากลาออกจากตำแหน่งไปก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ นายสุทธิพลกล่าวต่อว่า เนื่องจากมาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญ เป็นบทบัญญัติที่มีเจตนารมณ์เป็นการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน เพื่อให้การนำเสนอข้อมูลข่าวสาร และความคิดเห็นของทางสื่อต่างๆ เป็นไปอย่างเสรี หากผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเจ้าของกิจการ หรือถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือโทรคมนาคม ย่อมมีโอกาสและสามารถใช้อำนาจความเป็นเจ้าของกิจการ หรือผู้ถือหุ้นด้วยวิธีการใดๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อมไปขัดขวาง จำกัด บิดเบือน แทรกแซง ครอบงำ หรือไปมีอิทธิพลเหนือการนำเสนอข่าวสาร หรือการแสดงความคิดเห็นในกิจการเหล่านั้น หรือทำให้มีการควบรวม การครองสิทธิข้ามสื่อ หรือการครอบงำ ทำให้การนำเสนอข้อมูลข่าวสาร และการแสดงความคิดเห็นเป็นไปอย่างไม่เสรี ซึ่งจะมีผลเป็นการขัดขวางเสรีภาพในการรับรู้ หรือปิดกั้นการได้รับข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายของประชาชน และสามารถใช้ประโยชน์จากการเป็นเจ้าของกิจการหรือผู้ถือหุ้นในกิจการสื่อ เพื่อได้มาซึ่งผลประโยชน์ทางการเมืองและส่วนตน เมื่อ ส.ว.เป็นเจ้าของกิจการ หรือผู้ถือหุ้นในกิจการสื่อมวลชนก่อนและหลังวันเข้าดำรงตำแหน่งแล้วไม่สละสิทธิ ยังคงสิทธิไว้ก่อน ย่อมสามารถใช้อำนาจความเป็นเจ้าของกิจการ หรือผู้ถือหุ้นกระทำการใดดังกล่าวได้ จึงไม่เป็นไปตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ

“ส.ว.ไม่อาจคงไว้ซึ่งสิทธิการเป็นเจ้าของ หรือผู้ถือหุ้นในกิจการสื่อที่เข้าลักษณะต้องห้าม และสิทธิในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองไว้ในเวลาเดียวกัน ซึ่งต้องเลือกสิทธิทางใดทางหนึ่ง เมื่อบุคคลทั้งหมดเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเป็นผู้หุ้นในกิจการดังกล่าวนี้ จึงเข้าข่ายการขัดกันแห่งผลประโยชน์และเข้าข่ายลักษณะการกระทำอันต้องห้ามตามมาตรา 48 และ 265 (4) อันเป็นเหตุให้สมาชิกภาพการเป็น ส.ว. ของผู้นั้นต้องสิ้นสุดลง ซึ่งเรื่องนี้ก็มีบทบัญญัติห้ามไว้ในพ.ร.บ.ป.ป.ช.มาตรา 100 ( 3) ด้วย” นายสุทธิพล กล่าว

ส่วน 20 ส.ว. กกต.มีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นว่าการถือครองหุ้นที่ไม่เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย 1.รศ.ดร.กอบกุล พันธุ์เจริญวรกุล ส.ว.สรรหา 2.ดร.ธนู กุลชล ส.ว.สรรหา 3.ศ.นพ.วิรัตน์ พาณิชพงษ์ ส.ว.สรรหา 4.นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.สรรหา 5.นายฐิรวัตร กุลละวณิชย์ ส.ว.สรรหา 6.นายพิเชต สุนทรพิพิธ ส.ว.สรรหา 7.พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวาณิช ส.ว.สรรหา 8.นายวรินทร์ เทียมจรัส ส.ว.สรรหา 9.นางอุไร คุณันทกุล ส.ว.สรรหา 10.พล.ต.ต. เกริก กัลยาณมิตร ส.ว.สรรหา 11.น.ส.ทัศนา บุญทอง ส.ว.สรรหา 12.นายสุรพงษ์ ตันธนศรีกุล ส.ว.กาญจบุรี 13.นายมงคล ศรีคำแหง ส.ว.จันทบุรี 14.นายชูชัย เลิศพงษ์อดิศร ส.ว.เชียงใหม่ 15.พล.ท.พงศ์เอก อภิรักษ์โยธิน ส.ว.พะเยา 16 นายประวัติ ทองสมบูรณ์ ส.ว.มหาสารคาม 17.พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ ส.ว.สุราษฎร์ธานี 18.นางพรทิพย์ จันทร์รัตนปรีดา ส.ว.ชัยภูมิ 19.นาย ประสิทธิ โพธสุธน ส.ว.สุพรรณบุรี และ20.นายนิคม ไวยรัชพาณิช ส.ว.ฉะเชิงเทรา

นายสุทธิพลกล่าวต่อว่า หลังจากนี้ กกต.จะเร่งยกร่างคำวินิจฉัย เพื่อเสนอต่อประธานวุฒิสภาให้ส่งเรื่องบุคคลที่ กกต.มีมติว่าขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญโดยเร็ว

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าในรายงานผลสรุปที่ทางอนุกรรมการไต่สวนได้เสนอต่อ กกต. และกกต.เสียงข้างมากเห็นด้วยว่า ห้าม ส.ว.ถือครองหุ้นที่เป็นการขัดรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ ยังระบุถึงประเด็นการโต้แย้งของ ส.ว.ที่ว่าเป็นการซื้อหุ้นสามัญของบริษัทที่มีกิจการเข้าลักษณะต้องห้ามในตลาดหลักทรัพย์ โดยหวังเพียงประโยชน์จากราคาที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะตลาดหุ้น และไม่ได้มีอำนาจในการเข้าบริหารกิจการนั้น ซึ่งในความจริงแล้วมีคำอธิบายระบุไว้ว่า หุ้นสามัญ คือ ตราสารสิทธิที่แสดงความเป็นเจ้าของกิจการ ส.ว.ที่ถูกร้องถือหุ้นสามัญจึงมีสถานะเป็นเจ้าของกิจการด้วย เมื่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการมีจำนวน หรือการได้มาของหุ้นที่ถือไว้ที่ไม่เข้าลักษณะการกระทำอันเป็นการต้องห้ามจึงไม่อาจพิจารณาเป็นอย่างอื่นได้ เมื่อผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่ง ส.ว. และถือหุ้นดังกล่าวก็ต้องถือว่าเป็นเหตุให้สิ้นสมาชิกภาพ

นอกจากนี้ ในรายงานยังระบุอีกว่า ในกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน มีอำนาจสั่งการ ควบคุม กำกับดูแลหน่วยราชการ งานของรัฐ และรัฐวิสาหกิจได้ การเป็นหุ้นส่วนหรือการเป็นผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่เข้าลักษณะการกระทำอันต้องห้ามรัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ 2 กรณี คือ 1.อยู่ในมาตรา 267 ให้การกระทำตาม 265 เป็นการกระทำอันมีลักษณะต้องห้ามของนายกฯ และรมต. และ 2. บัญญัติไว้ในมาตรา 269 ว่าด้วยการที่นายกฯและรมต.ต้องไม่เป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัท หรือไม่คงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทต่อไป จำนวนหุ้นที่จะคงไว้ได้ มีกำหนดไว้แล้วใน พ.ร.บ.จัดการหุ้นส่วน และหุ้นของรัฐมนตรี 2543 และในมาตรา 269 ก็ได้บัญญัติถึงวิธีการที่นายกฯหรือรมต.ประสงค์จะได้รับประโยชน์จากการถือครองหุ้นในจำนวนที่กฎหมายกำหนดด้วยการให้แจ้งต่อประธาน ป.ป.ช. และโอนหุ้นดังกล่าวให้นิติบุคคล ซึ่งจัดการทรัพย์สิน เพื่อประโยชน์ของผู้อื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ ดังนั้น ถ้าหากมีการโอนให้นิติบุคคลฯ จัดการก็จะไม่ถือเป็นความผิด ตามมาตรา 265

ส่วนความเห็นของอนุกรรมการไต่สวนเสียงข้างมากที่เห็นว่า การถือหุ้นของ ส.ว. ไม่เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ ให้เหตุผลว่า หุ้นที่ ส.ว ซึ่งถูกร้องถือนั้นได้มีการยื่นแสดงต่อ ป.ป.ช. แล้ว และเป็นทรัพย์สินที่ได้มาก่อนดำรงตำแหน่ง ไม่มีรายการใดได้มาภายหลังดำรงตำแหน่ง ซึ่งบุคคลจะเป็น ส.ว.ต้องนับความเป็น ส.ว.ตั้งแต่วันเริ่มมีสมาชิกภาพ คือ วันเลือกตั้งและเริ่มตั้งแต่ที่มีชื่อบุคคลนั้นเป็นผู้ได้รับการสรรหา ดังนั้น ก่อนวันเริ่มสมาชิกภาพบุคคลนั้น จึงไม่มีสถานะเป็น ส.ว.และไม่อยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 265 รวมทั้งไม่มีความจำเป็นใดๆ ต้องสละ ละทิ้ง หรือจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินดังกล่าว แม้ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งแล้ว เพราะไม่มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญบังคับไว้ รวมถึงในมาตรา 269 ก็เป็นบทบัญญัติที่ใช้กับนายกฯ และรมต.เท่านั้น โดยจะเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญต้องการรับรองคุ้มครอง ความชอบธรรมที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะยึดถือครอบครองทรัพย์สินที่ได้มา และมีอยู่ก่อนที่จะเข้าดำรงตำแหน่ง และส.ว.เป็นเพียงฝ่ายนิติบัญญัติไม่มีอำนาจบริหาร การถือครองทรัพย์สินที่มีอยู่ก่อนแล้วไม่มีผลเสียหายเท่าผู้มีอำนาจบริหาร จึงไม่มีการบัญญัติเรื่องการคงไว้ต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการวินิจฉัยของ กกต.ในครั้งนี้ มติเสียงข้างที่เห็นว่า 16 ส.ว. กระทำการขัดรัฐธรรมนูญ เป็น 3 ต่อ 1 โดยเสียงข้างน้อย คือ นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านบริหารการเลือกตั้ง ซึ่ง กกต. เสียงข้างมากเห็นว่า ควรส่งเรื่องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพื่อวางบรรทัดฐาน เช่นเดียวกับกรณีการเป็นลูกจ้างรายการชิมไปบ่นไปของนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี สำหรับในส่วนคุณสมบัติ ส.ส.ที่ถูกร้องในประเด็นเดียวกันประมาณ 60 คนนั้น ได้มีรายงานว่าจะเสนอที่ประชุม กกต.พิจารณาให้เสร็จสิ้นภายในสัปดาห์หน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น