“กอร์ปศักดิ์” หักคอ “เจ๊พร” สั่งส่งออกข้าวโพด-มันสำปะหลังที่ค้างในสต๊อกรัฐอย่างเดียว เผยอัดงบแทรกแทรกแซงราคากุ้งขาว 300 ล้าน พร้อมร่วมกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ และธ.ก.ส. ดูแนวทางประกันรายได้เกษตรกรเลี้ยงกุ้ง
วันนี้ (18 มิ.ย.) นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะคณะกรรมการนโยบายช่วยเหลือเกษตร (คชก.) กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการเพิ่มวงเงินในโครงการแทรกแซงราคากุ้งขาวอีก 1 เท่าตัว ภายใต้งบประมาณ 300 ล้านบาท และค่าบริหารจัดการโครงการอีก 9 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มจำนวนเงินให้กับเกษตรกรหากมีความต้องการเพิ่มเติม เนื่องจากนโยบาย Contract Farming ได้ผลดีมาก ขณะเดียวกัน แม้รัฐบาลจะยกเลิกโครงการรับจำนำกุ้ง เพราะผู้ประกอบการห้องเย็นไม่ให้การร่วมมือ โดยอ้างว่า ไม่สามารถแบกรับภาระการขาดทุนและไม่เชื่อว่าราคากุ้งจะสูงกว่าราคาจำนำในอนาคต ดังนั้น ที่ประชุมจึงขอให้กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ไปดูแนวทางประกันรายได้ของเกษตรกรเลี้ยงกุ้ง เพื่อดำเนินการภายใน 2 สัปดาห์ โดยใช้แนวคิดราคาที่ประกาศก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการอ้างว่าไม่สามารถแบกรับค่าเช่าห้องเย็นจำนวน 120 ล้านบาท ค่าเด็ดหัวกุ้ง 60 ล้านบาท และค่าบริหารจัดการ 30 ล้านบาทได้
นายกอร์ปศักดิ์กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังมีมติให้กระทรวงเกษตรฯ และธ.ก.ส. ไปหารือแนวทางปฎิบัติการรับจำนำข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลังที่ค้างอยู่ในสต๊อกรัฐอีกครั้ง โดยให้ไปดูราคาประกัน เนื่องจากแต่ละพื้นที่ปลูกไม่เหมือนกัน เพื่อนำเสนอว่าราคาไหนควรดำเนินการอย่างไร แม้ที่ประชุมจะอนุมัติยุทธศาสตร์การระบายสินค้าการเกษตรทั้ง 2 ชนิดแล้ว แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยได้
อย่างไรก็ตาม นายกอร์ปศักดิ์กล่าวต่อว่า สินค้าทุกตัวจะเปิดประมูลให้ผู้ส่งออกในและนอกประเทศส่งออกของทั้งหมด เพื่อป้องกันการหมุนเวียน โดยผู้ประมูลทุกคนจะต้องเข้าหลักเกณฑ์ อินเตอร์เนชั่นแนลบิท ซึ่งเป็นไปตามมติที่ประชุม ครม.ว่าด้วยการเปิดประมูลที่มีความเหมาะสม และสามารถดำเนินการประมูลโดยเหมาโกดังได้ ทั้งนี้ วิธีดังกล่าวเป็นการป้องกันการสมยอมราคา สำหรับในส่วนมันสำปะหลังที่นำมาผลิตเอทานอลยังมีปัญหาทรายที่ปนเบื้อนอยู่กว่า 1 เปอร์เซ็นต์ ทำให้การผลิตเอทานอลใน 3 เดือนที่ผ่านมา ผลิตได้แค่ 3.5 หมื่นตันเท่านั้น
รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการแนวทางระบายมันเส้นที่จำนวน 3 ล้านตัน และแป้งมัน จำนวน 5 แสนตัน โดยจะเปิดให้ผู้เข้าประมูลได้ทั้งในและนอกประเทศ ส่วนแนวทางระบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จะเปิดประมูล 1 ล้านตัน แต่จะเป็นการส่งออกทั้งหมด ไม่มีการจำหน่ายในประเทศ
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ ทางกระทรวงพาณิชย์เห็นว่าควรจะมีการจำหน่ายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในสต๊อกในประเทศด้วย เพราะมีผู้ผลิตในประเทศก็มีความสนใจเช่นกัน