“ปณิธาน” เผยภายหลังเอกอัครราชทูตกัมพูชาเข้าพบนายกฯ ระบุรายงานความพร้อมงานต้อนรับนายกฯ ในโอกาสเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการ พร้อมนำความตั้งใจปรารถนาดีของ “สมเด็จฯ ฮุนเซน” ในการจะร่วมแก้ปัญหาระหว่างสองประเทศให้ลุล่วงด้วยดี เตรียมนำประสบการณ์แก้ปัญหาขัดแย้งกับเวียดนามเรื่องเขตแดนมาใช้กับไทย
วันนี้ (10 มิ.ย.) ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 08.30 น. นางยู ออย เอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย เข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี โดยนายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เอกอัครราชทูตกัมพูชาได้มารายงานความพร้อมที่กัมพูชาจะต้อนรับนายกรัฐมนตรีในโอกาสที่จะไปเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการในวันที่ 12 มิ.ย.นี้ ซึ่งขณะนี้สถานที่ที่จะจัดต้อนรับในการเยือนครั้งนี้บางส่วนกำลังก่อสร้างอยู่ จึงแจ้งให้ทราบว่าอาจจะต้อนรับที่กระทรวงการต่างประเทศก่อน แต่ยืนยันว่าพร้อมสำหรับการต้อนรับ และแจ้งนายกรัฐมนตรีให้ทราบว่าสมเด็จฯ ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาได้ฝากความระลึกถึงมา และฝากความตั้งใจปรารถนาดีมาว่า การเยือนครั้งนี้จะมีหลายเรื่องซึ่งทางกัมพูชาตั้งใจจะทำงานร่วมกันกับไทย เพื่อแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงด้วยดี โดยเฉพาะโครงการที่ยังไม่ก้าวหน้ามากนัก เพราะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหลายครั้ง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องโครงข่ายขนส่งคมนาคม หรือถนน ซึ่งกำลังมองลู่ทางว่าจะก้าวหน้าอย่างไร และเห็นพ้องต้องกันว่าหลายโครงการที่เดินหน้ามาหลายรัฐบาล คงจะใช้การเดินทางครั้งนี้ผลักดันให้ลุล่วงไปกว่าเดิม
สำหรับปัญหาเขตแดนไทย-กัมพูชานั้น นายปณิธานกล่าวว่า ได้มีการพูดคุยกัน ซึ่งเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย ได้แจ้งให้ทราบว่ากัมพูชาเคยมีปัญหาเรื่องเขตแดนค่อนข้างมากกับเวียดนามและค่อนข้างจะรุนแรง ในอดีตเคยมีการยึดครองกัมพูชาโดยทหารเวียดนาม แต่เขามีแนวทางแก้ปัญหา ซึ่งในที่สุดทั้งสองฝ่ายร่วมมือด้วยดี และคิดว่าประสบการณ์ตรงนั้นจะนำมาใช้แก้ไขปัญหากับไทย ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับกรณีของเวียดนาม โดยแนวดังกล่าวนั้นคิดว่าคงต้องหาแนวทางหรือโครงการที่ทั้งสองฝ่ายรู้สึกว่าได้รับผลประโยชน์ทั้งสองฝ่ายด้วยกัน และเป็นหุ้นส่วนเท่า ๆ กัน โดยไม่มีใครเสียเปรียบ ซึ่งขณะนี้กำลังพิจารณาดูอยู่ เช่นหากเราช่วยกัมพูชาเรื่องเครือข่ายถนน และในทางกลับกันกัมพูชาอาจจะช่วยไทยในด้านปัญหาชายแดน
“นายกรัฐมนตรีก็บอกว่าในเรื่องนี้หลักการตรงกัน และคิดว่าเราจะยึดในข้อตกลงร่วมเอ็มโอยู และเราจะยึดแนวการทำงานร่วมกันผ่านคณะกรรมาธิการชายแดนร่วม ซึ่งท่านทูตก็ตอบรับ คิดว่าเป็นโครงสร้างที่ดีอยู่แล้ว” นายปณิธาน กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ นาย Andrew Witty ซีอีโอจากบริษัท GlaxoSmithKline นำคณะผู้บริหารของบริษัทเข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี และได้หารือถึงหารือกับนายกรัฐมนตรี ในประเด็นการแพร่ระบาดและมาตรการในการควบคุมและป้องกันเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิด A (H1N1) ซึ่งมีการแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ อีกทั้งได้กล่าวชื่นชมมาตรการของรัฐบาลไทยต่อการควบคุมและป้องกันเชื้อไวรัสดังกล่าว รวมทั้งเสนอแนวทางที่บริษัทจะได้ร่วมลงทุนกับรัฐบาลไทยและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเพื่อผลิตยารักษาไวรัสดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น