อมรรัตน์ ล้อถิรธร....รายงาน
สัปดาห์หน้า วันที่ 3 มิ.ย.ก็จะได้รู้กันว่า ไอเดียของรัฐบาลที่จะออก “พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงิน 4 แสนล้าน เพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ” นั้น ถือว่าขัดต่อ รธน.หรือไม่ หลัง ส.ส.พรรคเพื่อไทย ฝ่ายค้าน พยายามขัดขวางการออก พ.ร.ก.ดังกล่าวด้วยการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ก่อนถึงนาทีชี้ชะตา ลองมาฟังสุ้มเสียงของนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ-การเงินการคลัง กันดู แล้วจะรู้ว่า สภาพเศรษฐกิจขณะนี้ ถือว่ามีความจำเป็นที่รัฐบาลต้องออกกฎหมายกู้เงินในลักษณะ “พ.ร.ก.” หรือไม่
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ
หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 พ.ค.มีมติให้กระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินกู้ 8 แสนล้านบาท เพื่อสนับสนุนโครงการลงทุนของรัฐบาลตาม “แผนปฏิบัติการ : ไทยเข้มแข็ง 2555” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 ส่วนวิธีหาเงินกู้ดังกล่าว รัฐบาลจะออกกฎหมาย 2 ฉบับ คือ 1. พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ.... วงเงิน 4 แสนล้านบาท และ 2. พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ พ.ศ....วงเงิน 4 แสนล้านบาท
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ บอกว่า การกู้เงิน 8 แสนล้านนั้น เป็นเรื่องเร่งด่วน 4 แสนล้าน โดย 2 แสนล้าน ใช้สำหรับเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารเงินในส่วนของคลัง ส่วนอีก 2 แสนล้าน เป็นโครงการเร่งด่วนที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่อีก 4 แสนล้านนั้นจะเป็นโครงการในอีก 2-3 ปีข้างหน้า นายอภิสิทธิ์ ยังย้ำด้วยว่า เงินกู้ทั้ง 8 แสนล้านจะเป็นการกู้ภายในประเทศ
ด้าน ส.ส.พรรคเพื่อไทย รีบออกมาขู่รัฐบาลทันที ว่า หากมีการนำเรื่องการออก พ.ร.ก.ดังกล่าวเข้าสภา ส.ส.พรรค อาจจะวอล์กเอาต์ แถมขู่จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยด้วยว่าการออก พ.ร.ก.ดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เนื่องจากเห็นว่าไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องออกเป็น พ.ร.ก. ซึ่งในที่สุด ส.ส.พรรคเพื่อไทยก็ได้เข้าชื่อ 1 ใน 5 ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมด (ลงชื่อ 99 คน) ยื่นหนังสือต่อนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การที่รัฐบาลจะออก พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านนั้น ถือว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 184 และ 185 หรือไม่
ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ ยืนยันว่า การตัดสินใจให้ออก พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้าน ได้พิจารณาอย่างดีแล้ว รวมทั้งให้ฝ่ายกฎหมายและกระทรวงการคลังตรวจสอบในแง่กฎหมายแล้ว “ผมเป็นคนย้ำเองว่า ให้ทั้งฝ่ายกฎหมายและกระทรวงการคลังดูให้ชัดเจนว่าเข้าในเงื่อนไข เพราะใจของผมไม่อยากอก พ.ร.ก.โดยไม่จำเป็น เมื่อเห็นชัดเจนว่าจำเป็น ถึงได้ตัดสินใจเสนอเป็น พ.ร.ก. และบอกไปชัดเลยว่าต้องแยกเลย อันไหนที่ไม่เร่งด่วนก็ให้ออกเป็น พ.ร.บ.”
ด้าน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม รองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) กล่าวถึงกรณีที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย อ้างว่า ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะออก พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้าน โดยยืนยันเช่นกันว่า รัฐบาลได้ตรวจสอบข้อกฎหมายอย่างรอบคอบแล้ว พร้อมย้ำ การออก พ.ร.ก.ดังกล่าวมีความจำเป็น เนื่องจากรู้กันทั่วไปว่า ปัญหาเศรษฐกิจขณะนี้รุนแรงมาก หากไม่แก้ไข อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอาจติดลบมากกว่า -4% ก็ได้ จึงถือว่ามีความจำเป็นเร่งด่วน หากออกเป็น พ.ร.บ.อาจไม่ทันกาล นพ.วรงค์ ยังชี้ด้วยว่า “ในอดีต รัฐบาลหลายชุด ทั้ง นายชวน หลีกภัย และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็เคยออก พ.ร.ก.แบบนี้มาแล้ว จึงไม่น่าจะมีปัญหา”
ทั้งนี้ การเดินเกมเข้าชื่อของ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การที่รัฐบาลออก พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้าน ขัดต่อ รธน.หรือไม่ ส่งผลให้ที่ประชุมสภาเมื่อวันที่ 18 พ.ค.ยังไม่พิจารณาเรื่อง พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้าน เพราะต้องรอผลวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อน ขณะที่วิปรัฐบาลตัดสินใจถอนเรื่อง พ.ร.บ.กู้เงินอีก 4 แสนล้านออกจากวาระการประชุมเช่นกัน โดยให้เหตุผลว่า กฎหมายทั้ง 2 ฉบับมีความเกี่ยวเนื่องกัน จึงควรพิจารณาในคราวเดียวกัน
นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาตำหนิการกระทำของพรรคเพื่อไทย ว่า ขณะนี้บ้านเมืองมีวิกฤตซ้อนวิกฤต ทั้งเศรษฐกิจและการเมือง ต้องยอมรับว่า พ.ร.ก.นี้จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องและการจ้างงาน จึงไม่อยากให้มีการดำเนินการทางการเมืองเพียงเพื่อเอาชนะหรือตีรวน แล้วไปปิดกั้นโอกาสในการพัฒนาพื้นที่ชนบท
ขณะที่ นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย ยืนยันว่า การเข้าชื่อ ส.ส.เพื่อยื่นเรื่อง พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เป็นการใช้สิทธิของ ส.ส.ในการตรวจสอบ ไม่ได้มีเจตนาขัดขวางรัฐบาลในการบริหารงานแต่อย่างใด
ด้านนายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ชี้ว่า พ.ร.ก.กู้เงินดังกล่าว มีความสำคัญต่อรัฐบาล เพื่อนำมาใช้ในการฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจและทำให้เกิดการจ้างงาน และว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.ก.ดังกล่าวขัด รธน.ก็จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ของรัฐบาลที่ต้องแก้ไขต่อไป
ด้านคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หลังจากมีมติรับเรื่อง พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านไว้วินิจฉัยว่าขัด รธน.หรือไม่เมื่อวันที่ 20 พ.ค.ก็ได้เปิดโอกาสให้ทั้งผู้ร้องคือ ส.ส.พรรคเพื่อไทย และผู้ที่ถูกร้องคือ คณะรัฐมนตรีที่ออก พ.ร.ก.ดังกล่าว เข้าชี้แจงเมื่อวันที่ 26 พ.ค.
โดยนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะตัวแทนของผู้ร้อง ชี้แจงโดยยืนยันว่า ไม่มีความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องออก พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้าน การกู้เงินควรมีการออกเป็น พ.ร.บ.ที่ผ่านสภา เพื่อจะได้มีการตรวจสอบไม่ให้เกิดการทุจริต หรือใช้เงินผิดประเภท และว่า การออกเป็น พ.ร.ก.นั้นจะทำให้สูญเสียวินัยในการบริหารเงิน นายสุรพงษ์ ยังบอกด้วยว่า ฝ่ายค้านพร้อมให้การสนับสนุนด้วยการผ่าน 3 วาระรวด หากรัฐบาลสามารถชี้ให้เห็นว่าการกู้เงินนี้จะเป็นประโยชน์จริง
ด้านนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีคลัง ในฐานะตัวแทนของรัฐบาล ชี้แจงโดยยืนยันว่า ขณะนี้ประเทศประสบปัญหาทั้งวิกฤตเศรษฐกิจและการเมืองตั้งแต่ปลายปี 2551 ขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ไตรมาสแรกของปีนี้ ก็หดตัวลงถึงร้อยละ 7.1 รัฐบาลจึงต้องดำเนินมาตรการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และว่า การออก พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้าน ก็เพื่อรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ควรกู้เงินมาฟื้นฟู เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจตกต่ำกว่าที่เป็นอยู่ โดยเงินที่กู้มา จะนำมาสมทบเงินคงคลังและใช้จ่ายในโครงการบริการสาธารณะ
ทั้งนี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนัดลงมติว่า การออก พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้าน ขัด รธน.หรือไม่ในวันที่ 3 มิ.ย.นี้
ก่อนจะรู้ผลชี้ขาดของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ลองมาฟังมุมมองของนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและการเงินการคลังดูว่า ขณะนี้มีความจำเป็นจริงหรือไม่ที่รัฐบาลต้องออก พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้าน เพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ชี้ว่า ขณะนี้ มีความจำเป็นทั้งในเชิงเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศที่รัฐบาลต้องกู้เงิน 4 แสนล้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัวลงให้ฟื้นตัวขึ้น ส่วนเหตุที่ต้องใช้วิธีกู้เงิน ก็เพราะการจัดเก็บรายได้ไม่เข้าเป้า ขณะที่เงินคงคลังก็เหลือน้อย จึงควรกู้เงินมากระตุ้นเศรษฐกิจและเสริมสภาพคล่องของเงินคงคลัง
“ตอนนี้เราต้องตอบว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้อย่างไร? ผมคิดว่านั่นคือส่วนแรกที่คนไทยต้องตอบ คำถามคือ เราจะพึ่งพาการส่งออกเหมือนที่เราเคยพึ่งพาหรือไม่? คนก็จะบอกว่าเศรษฐกิจโลกมันอยู่ในภาวะถดถอย แม้ว่าโลกเอง หลายคนจะบอกว่ากำลังจะฟื้น แต่มันยังไม่ฟื้น เพราะฉะนั้นภาคการส่งออกคงจะขาดแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ คำถามต่อมาคือภาคประชาชนล่ะ ภาคประชาชนตอนนี้บริโภคจับจ่ายใช้สอยเป็นปกติมั้ย? คำตอบคือประชาชนยังระมัดระวังนะ เพราะฉะนั้นแรงขับเคลื่อนของระบบเศรษฐกิจก็คือ ชะลอตัวลง และไม่มีกำลังซื้อเข้ามาในระบบเศรษฐกิจไทย ก็ทำให้นักธุรกิจเองตอนนี้ก็ไม่ลงทุนขยับขยายกิจการ คำตอบเดียวคือ รัฐบาลต้องเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ”
“คำถามที่ 2 ที่ต้องบอกว่า แล้วรัฐบาลขับเคลื่อนเศรษฐกิจเนี่ย เอาเงินจากไหน ภายใต้สถานการณ์ที่ข้อมูลที่เรารู้จากกระทรวงการคลังคือ รัฐบาลเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมายนะ 2 แสนกว่าล้านบาท และแน่นอนตรงจุดนี้เองก็ทำให้สภาพคล่องทางการคลังของรัฐบาลเองก็อาจจะหดหายไปพอสมควร เราจะได้ยินข่าวคราวว่า เงินคงคลังหรือเงินที่รัฐบาลเก็บไว้ใช้จ่ายยามฉุกเฉินเหลือเพียง 5 หมื่นล้าน และอาจจะเพิ่มเป็น 1 แสนล้านบาทเมื่อมีการเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล เพราะฉะนั้นถ้ารัฐบาลจะต้องเข้ากระตุ้นเศรษฐกิจขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัว คำถามคือ เงินที่เก็บภาษีได้น้อยลง และเงินรัฐบาลเองอาจจะยังไม่มีความคล่องตัวในการมากระตุ้นเศรษฐกิจมากนัก คำตอบ คือ ต้องกู้ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าการกู้ด้วยวงเงิน 4 แสนล้านบาท ก็ถือว่าเป็นความจำเป็นในเชิงเศรษฐกิจและในเชิงการบริหารพัฒนาประเทศ”
ส่วนคำถามว่า จำเป็นหรือไม่ที่รัฐบาลต้องออกเป็น พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านนั้น ดร.ธนวรรธน์ บอกว่า การจะกระตุ้นเศรษฐกิจ ทุกคนคงเห็นเหมือนกันว่า ควรจะกระตุ้นทันที ซึ่งน่าจะกระตุ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจครึ่งปีหลังให้ดีขึ้น ดังนั้น คำถามคือ หากออกเป็น พ.ร.บ. จะต้องใช้เวลาเท่าไหร่กว่าจะได้เงินมา จะทันไตรมาส 3 หรือไม่ เพราะการออก พ.ร.บ.ต้องผ่านสภา ต้องตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณาอีก แต่หากออกเป็น พ.ร.ก.รัฐบาลสามารถกู้ยืมเงินมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ทันที
ดร.ธนวรรธน์ ยังแสดงความเห็นด้วยที่รัฐบาลใช้วิธีกู้เงินในประเทศ เพราะสามารถดำเนินการได้ทันที ขณะที่สภาพคล่องในประเทศก็มีพอ แต่หากกู้เงินต่างประเทศ คงไม่ง่าย นอกจากต้องใช้เวลาเจรจาแล้ว คงต้องทำโครงการต่างๆ เสนอไปอีกมากมาย
อย่างไรก็ตาม หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การออก พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านขัด รธน.จะส่งผลกระทบอย่างไรหรือไม่ ดร.ธนวรรธน์ ชี้ว่า นอกจากจะทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจต้องล่าช้าออกไปแล้ว อาจกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลด้วย
“จุดแรกนี่ผมคิดว่าประธานวิปฝ่ายรัฐบาลก็มองประเด็นว่า สามารถที่จะแปลง พ.ร.ก.เป็น พ.ร.บ.ได้นะ ก็คือ พ.ร.บ.8 แสนล้านบาท นั่นคือทางเลือกที่ 1 ข้อกำหนดในทางเลือกนี้คือ เมื่อแปลงเป็น พ.ร.บ.คงจะต้องมีคณะกรรมการของ 2 สภา กับอีก 1 คณะกรรมาธิการ มีการแต่งตั้งคณะทำงานในการที่จะมาพิจารณากลั่นกรองวาระ 1-2-3 หรือไม่ ซึ่งประเด็นคือ ขั้นตอนจะใช้เวลานานแค่ไหนกว่า พ.ร.บ.จะผ่าน ซึ่งคงต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน ซึ่งนั่นก็คงทำให้โดยภาพของเม็ดเงินที่รัฐบาลจะสามารถเข้ามากู้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้อาจจะล่าช้าออกไปอย่างน้อยประมาณ 3 เดือน นั่นคือมุมมองในเบื้องต้น”
“อันที่ 2 คงต้องยอมรับว่า ทางเลือกในการแก้เป็น พ.ร.บ.เนี่ย จริงๆ แล้วจะง่ายหรือเปล่า ขณะเดียวกันคือ ถ้าสมมติไม่ผ่านศาลรัฐธรรมนูญเนี่ย แรงกดดันทางการเมืองจะเข้ามาโถมใส่รัฐบาลมากน้อยแค่ไหน ถ้าเกิดฝ่ายค้านหยิบยกว่า กรณีที่รัฐบาลเองออกเป็น พ.ร.ก. และไม่ผ่านการตีความจากศาลรัฐธรรมนูญ รัฐบาลควรจะรับผิดชอบ ตรงนี้อาจเป็นเรื่องที่คาดเดาลำบากว่าจะกระเทือนถึงเสถียรภาพของรัฐบาลแค่ไหน ความรับผิดชอบของรัฐบาลต่อกรณีนี้จะเป็นอย่างไร ก็อาจจะมีความสุ่มเสี่ยงต่อเสถียรภาพของรัฐบาล ซึ่งไม่น่าจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจมากนักหากเป็นกรณีแบบนี้ ซึ่งยากในการคาดเดาว่ารัฐบาลจะมีทางออกอย่างไรในการที่จะแก้ไขแปลง พ.ร.ก.เป็น พ.ร.บ.8 แสนล้านบาท หรือจะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร”
ด้าน ดร.วรพล โสคติยานุรักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินการคลัง สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ก็มองว่า มีความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องออก พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้าน พร้อมแนะให้รัฐบาลเลือกลงทุนโครงการที่จะเกิดผลอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพื่อให้ได้เงินกลับคืนมาชำระหนี้ในที่สุด
“เราอยู่ในฐานะที่จะต้องมีรายรับที่ต่ำกว่าที่คาดหมายไว้เยอะในการวางแผนจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีครั้งนี้ จึงมีความจำเป็น เนื่องจากที่วางไว้ว่าจะกู้เงินจำนวนหนึ่งนั้นเนี่ย มันไม่เพียงพอ และมันจะเกินวงเงิน คือมีความจำเป็นจะต้องกู้เงินเพื่อที่จะนำมาใช้เพื่อหมุนเวียนชดเชยเงินคงคลังและเพื่อลงทุนส่วนหนึ่ง จริงอยู่อาจจะใช้เงินถึง 8 แสน (ล้านบาท) แต่ที่จำเป็นจริงๆ เฉพาะหน้าที่ต้องรวดเร็วก็คือประมาณ 4 แสน (ล้านบาท) ส่วนอีก 4 แสน(ล้าน)นั้นสามารถรอไปออก พ.ร.บ.ได้ แต่ในส่วน 4 แสน (ล้าน) แรกคงจำเป็นต้องออก พ.ร.ก.เพื่อที่จะมีเงินหมุนเวียน และบริหารราชการแผ่นดินในช่วงนี้ให้ได้ นี่คือข้อแรกที่ว่าความจำเป็นนั้นมีอยู่ ความจำเป็นข้อ 2 คือ ในขณะนี้เรามีความจำเป็นในส่วนหนึ่งที่ต้องใช้เงินเฉพาะหน้าอยู่จำนวนไม่น้อย ก็จำเป็น ในส่วนที่ไม่จำเป็นหรือจำเป็นน้อยหน่อย ก็ออก พ.ร.บ.ก็พอทัน ที่สำคัญอีกข้อหนึ่งก็คือ รัฐบาลคงต้องดำเนินนโยบายเศรษฐกิจอย่างอื่นที่จะทำให้การลงทุนนั้นเกิดผลดีกลับคืนมา เพื่อมีรายรับมาชำระเงินกู้ เงินกู้ต้องชำระด้วยรายรับ รายได้ เพราะฉะนั้นทุกโครงการที่นำมาใช้ต้องเป็นผลดี เป็นผลที่สามารถนำมาชำระหนี้ได้ในที่สุด ก็ขึ้นอยู่กับโครงการรัฐบาลจะเอาไปทำอะไรให้เกิดผล ก็อยากให้รัฐบาลดูแลการลงทุนทุกอย่างให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยให้เกิดผลดีกลับคืนมาชำระหนี้ได้ในที่สุด”
“(ถาม-แล้ว อ.เห็นด้วยมั้ยกับการกู้เงินภายในประเทศ?) ตามหลักแล้วถ้าสภาพคล่องในประเทศอำนวยก็สามารถกู้ในประเทศได้ ในเวลานี้เรามีสภาพคล่องที่เหลืออยู่ในระบบ เนื่องจากผู้ลงทุนภาคเอกชนมีการลงทุนที่ลดลง และมีเงินฝากที่เพิ่มขึ้น พูดง่ายๆ ว่าการเจริญเติบโตของสินเชื่อมีสัดส่วนที่น้อยมาก แต่การเพิ่มขึ้นของเงินฝากเพิ่มขึ้นมากกว่า เพราะฉะนั้นก็ถือว่าในระบบเศรษฐกิจในขณะนี้ มีสภาพคล่องที่มากพอและไม่ไปกระทบกระเทือนต่อการกู้เงินลงทุนของภาคเอกชนใดใด ก็น่าจะเหมาะสมที่จะกู้เงินจากภายในประเทศได้”
ดร.วรพล ยังแนะการใช้เงิน 4 แสนล้านที่รัฐบาลจะกู้มาด้วยว่า รัฐบาลต้องใช้เงินทุกบาทอย่างคุ้มค่า รายจ่ายอะไรที่ยังไม่จำเป็น ก็อย่าเพิ่งใช้จ่าย รายจ่ายอะไรที่ประวิงเวลาไว้ได้ ก็รอไว้ก่อน ต้องเลือกโครงการที่จะดำเนินการ จัดอันดับความสำคัญของโครงการให้ดี โครงการไหนทำให้เกิดการจ้างงาน การลงทุน และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ต้องทำอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนกลับคืนมาชำระดอกเบี้ยและเงินต้นที่กู้ไปได้เร็วที่สุด
ขณะที่ ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ก็แนะการใช้เงิน 4 แสนล้านแก่รัฐบาลว่า เมื่อกู้เงินได้เมื่อไหร่ ต้องรีบใช้เงินในการลงทุนทันที เพื่อให้เม็ดเงินหมุนเวียนเร็ว และกระตุ้นเศรษฐกิจได้เร็ว ส่วนโครงการที่จะลงทุน ควรเลือกโครงการที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ และจ้างงานในประเทศเป็นลำดับแรก ไม่ควรใช้เงินไปในโครงการที่นำเข้าวัตถุดิบหรือเครื่องมือเครื่องจักรจากต่างประเทศมากนัก และสุดท้าย สื่อมวลชนหรือภาคประชาชน รวมทั้งองค์กรกลางต่างๆ น่าจะได้ช่วยกันตรวจสอบการใช้เงินของรัฐบาลด้วย เพื่อไม่ให้เงินรั่วไหลและเกิดประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด!!