เปิดร่างนโยบาย รัฐบาล “มาร์ค 1” เน้นกู้วิกฤตเศรษฐกิจ แก้ปัญหายากจน โดยส่งเสริมปลูกป่า-สร้างความเข้มแข็งกองทุนหมู่บ้าน ปฏิรูปสื่อฟื้นความสามัคคี ปลูกฝังค่านิยม “คนไทยต้องไม่โกง” ยกเลิกอายุความคดีทุจริต สกัดปัญหาคอร์รัปชั่น พร้อมปกป้องเทิดทูนสถาบันกษัตริย์ไม่ให้มีการละเมิดพระบรมเดชานุภาพอย่างจริงจัง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้จัดทำร่างนโยบายเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยคณะรัฐมนตรีจะแถลงต่อรัฐสภาในวันที่ 29 ธ.ค.นี้ มีทั้งสิ้น 36 หน้า แบ่งเป็นนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลตั้งเป้าจะดำเนินในปีแรก ด้วยการสร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นเศรษฐกิจภาครวม เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นแก่ภาคประชาชนและเอกชนในการลงทุน และการบริโภค เช่นเสริมสร้างความสมานฉันท์ และความสามัคคีของคนในชาติให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ลดปัญหาความขัดแย้งในทุกกรณี รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายให้เท่าเทียมกัน และให้เป็นธรรมกับทุกฝ่าย
นโยบายในการแก้ปัญหาความยากจน เช่นส่งเสริมการปลูกป่า สร้างความเข้มแข็งของกองทุนหมู่บ้าน และแหล่งเงินทุนอื่นๆ ในระดับชุมชน เพื่อให้มีความโปร่งใส และมีประสิทธิภาพ รวมถึงปรับโครงสร้างหนี้ภาคประชาชน เพื่อนำไปสู่การลดหนี้หรือยืดเวลาชำระหนี้ หรือลดอัตราดอกเบี้ยหรือลดชำระดอกเบี้ย
นอกจากนี้ ในส่วนของนโยบายกฎหมายและการยุติธรรมจะมีการแก้ไขกฎหมายที่เปิดช่องให้มีการทุจริตหรือทำให้มีการประโยชน์ทับซ้อน และออกกฎหมายใหม่ๆ เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว ขยายและยกเลิกอายุความในคดีบางประเภทและคดีทุจริต ปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจังสนับสนุนให้ประชาชนมีโอกาสตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐมากขึ้นและปลูกฝังค่านิยม “คนไทยต้องไม่โกง” ขณะเดียวกัน ให้พัฒนากระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพและโปร่งใสมากขึ้น และพัฒนาตำรวจให้เป็นมืออาชีพที่มีเกียรติศักดิ์ศรี และกระจายอำนาจทั้งในส่วนที่ไม่ใช่ภารกิจหลัก และกระจายอำนาจไปยังส่วนภูมิภาค
ส่วนนโยบายด้านสื่อจะปรับปรุงกลไกของภาครัฐให้ทำเพื่อประโยชน์สาธารณะและสร้างความสมานฉันท์ในชาติ และจะจัดให้มีกฎหมายคุ้งครองผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ เพื่อให้มีเสรีปราศจากการแทรกแซง และมีความรับผิดชอบต่อสังคม รวมทั้งยกเลิกและปรับปรุงกฎหมายที่ขัดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อด้วย
นอกจากนี้จะมีการลดหย่อนค่าธรรมเนียม และค่าบริการท่องเที่ยว เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาในไทยมากขึ้น ส่วนการรักษาและเพิ่มรายได้ของประชาชนที่รัฐบาลจะต้องรับมือกับปัญหาวิกฤติการเลิกจ้างแรงงานในปีหน้า โดยจะร่วมมือกับภาคเอกชนหามาตรการชะลอการเลิกจ้าง และป้องกันการขยายตัวของการเลิกจ้างของภาคอุตสาหกรรม โดยใช้มาตรการจูงใจ เพื่อลดภาระของเอกชน ส่วนนักศึกษาจบใหม่ และแรงงานที่ว่างงานจากภาคอุตสาหกรรมจะมีการจัดโครงการฝึกอบรมแรงงานที่ว่างงานกว่า 5 แสนคน ในระยะเวลา 1 ปี และมีมาตรการดูแลผู้ถูกเลิกจ้างให้ได้รับสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับตามกฎหมายรวมถึงสวัสดิการต่างๆ เช่น การเพิ่มวงเงินให้กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง อีกทั้งขยายเพดานให้ผู้สูงอายุสามารถกู้ยืมเงินจากกองทุนผู้สูงอายุรายละ 3 หมื่นบาท รวมถึงมีการจัดตั้งสภาเกษตรกรแห่งชาติ เพื่อให้เกษตรมีส่วนร่วมในการเสนอนโยบายและวางแผนพัฒนาเกษตรกรอย่างเป็นระบบ
สำหรับนโยบายเศรษฐกิจจะมีการแบ่งเป็นการบริหารเศรษฐกิจมหภาค โดยเฉพาะการทำให้ระบบสถาบันทางประเทศมีประสิทธิภาพและความมั่นคงด้วยการติดตามเคลื่อนไหวธุรกรรมทางการเงิน เพื่อป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างรวดเร็ว โดยขอความร่วมมือทางการเงินในกรอบการประชุมสุดยอดอาเซียน และร่วมมือแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจและการเงินในภูมิภาค นอกจากนี้จะมีการปรับปรุงแนวทางการจัดงบประมาณของประเทศให้สอดคล้องกับกำลังเงิน และเร่งอกกฎหมายของการเงินการคลัง เพื่อใช้กำกับและเป็นกรอบแนวทางปฏิบัติ และมีการปรับปรุงโครงสร้างและการจัดเก็บภาษีอย่างเป็นธรรมและโปร่งใส
สำหรับนโยบายลดภาระค่าครองชีพของประชาชนจะจัดให้มีการศึกษาฟรี 15 ปี โดยมีการแจกชุดนักเรียน และอุปกรณ์การเรียนฟรี ให้ทันปีการศึกษาปี 2552 และสนับสนุนค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เรียกเก็บจากผู้ปกครอง มีมาตรการลดค่าครองชีพในการเดินทาง ก๊าชหุงต้ม และบริการด้านสาธารณูปโภคให้สอดคล้องต่อเศรษฐกิจ ใช้กองทุนน้ำมันในการรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเร่งรัดและติดตามและแก้ไขปัญหาลดขั้นตอนของการปฏิบัติ และกำหนดมาตรการและโครงการต่างๆ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยด่วน
ส่วนนโยบายด้านความมั่นคง รัฐบาลตั้งเป้าจะดำเนินการในระยะเวลา 3 ปีโดยการจะปกป้องเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ให้มีการล่วงละเมิดพระบรมเดชานุภาพอย่างจริงจัง ส่วนการพัฒนาศักยภาพในการป้องกันประเทศจะมีการเตรียมความพร้อมของกองทัพ และจัดให้มีแผนการสำรองอาวุธ และพลังงานเพื่อความมั่นคง และสนับสนุนให้มีการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ได้เอง และให้ความสำคัญแก่การสำรวจและปักปันเขตแดนต่อประเทศเพื่อนบ้านอย่างถูกต้องตามข้อตกลงและสนธิสัญญา เพื่อไม่ให้มีปัญหากระทบต่อชายแดน
สรุป ร่างนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
หลักของนโยบายจะแบ่งออกเป็นนโยบายเร่งด่วน นโยบายตามวาระของรัฐบาล นโยบายเร่งด่วน โดยมุ่งเน้นภารกิจ ดังนี้
1.การปกป้องและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ให้มีความมั่นคงในการเป็นศูนย์รวมจิตใจและความรักสามัคคีของคนในชาติ และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้เหนือความขัดแย้งทุกรูปแบบ พร้อมทั้งดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อปกป้องมิให้มีการล่วงละเมิดพระบรมเดชานุภาพ
2. การสร้างความสมานฉันท์ บนพื้นฐานของความถูกต้อง ยุติธรรม และความยอมรับของทุกภาคส่วน
3. การฟื้นฟูเศรษฐกิจ ให้ขยายตัวอย่างยั่งยืน และบรรเทาผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจที่ประชาชนจะประสบ
4. การพัฒนาประชาธิปไตยและระบบการเมือง ให้มีความมั่นคง มีการปฏิบัติตามกฎหมาย และบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาค เป็นธรรม และเป็นที่ยอมรับของสากล
1.นโยบายเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการในปีแรก
1.1 การสร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นแก่ภาคประชาชนและเอกชนในการลงทุนและการบริโภค
1.1.1 เสริมสร้างความสมานฉันท์และความสามัคคีของคนในชาติให้เกิดขึ้นโดยเร็ว โดยใช้แนวทางสันติวิธี รับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย และหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในชาติในทุกกรณี รวมทั้งการฟื้นฟูระเบียบสังคมและบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย รวมทั้งสนับสนุนองค์กรตามรัฐธรรมนูญให้มีส่วนร่วมในการสร้างความสมานฉันท์ ภายใต้กรอบของบทบาทอำนาจหน้าที่และองค์กร
1.1.2 จัดให้มีสำนักงานบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นองค์กรถาวร เพื่อทำหน้าที่แก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่ชายแดนภาคใต้ โดยยึดมั่นหลักการสร้างความสมานฉันท์ และแนวทาง เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ใช้กระบวนการยุติธรรมกับผู้กระทำผิดอย่างเคร่งครัดและเป็นธรรม กำหนดจังหวัดชายแดนเป็นเขตพัฒนาพิเศษ ที่มีการสนับสนุนแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ สิทธิพิเศษด้านภาษี และพัฒนาเป็นเขตอุตสาหกรรมฮาลาล นอกจากนั้นกำหนดเป็นเขตพัฒนาพิเศษตามวิถีอิสลาม เช่น มีกองทุนซากาด ศลาซารีอะห์ และส่งเสริมเป็นศูนย์กลางอิสลามศึกษานานาชาติ เป็นต้น
1.1.3 ปฏิรูปการเมือง โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาแนวทางการดำเนินการปฏิรูป โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เพื่อวางระบบการบริหารประเทศให้มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพ ในแนวทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพสังคมไทย รวมทั้งสามารถสนองตอบต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และเป็นไปตามความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง
1.1.4 เร่งสร้างความเชื่อมั่นของประเทศไทยในสายตาของชาวโลก โดยให้ความสำคัญกับกรอบความร่วมมืออาเซียนเป็นลำดับแรก และร่วมมือกับรัฐสภาในการพิจารณาอนุมัติเอกสารที่เกี่ยวข้องที่ประเทศไทยในฐานะสมาชิกประชาคมอาเซียนจะต้องลงนามในช่วงของการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนให้แล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม และเตรียมความพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 14 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียน
1.1.5 ฟื้นฟูเศรษฐกิจที่กำลังประสบปัญหาเป็นการเร่งด่วน โดยจัดทำเป็นแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะสั้นที่ครอบคลุม ภาคเกษตรและเกษตรกร ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการและการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ภาคอสังหาริมทรัพย์ การสร้างงานและสร้างรายได้ในชนบท การพัฒนาแหล่งน้ำธรรมชาติและฟื้นฟูทรัพยากร ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม พร้อมทั้งจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณพ.ศ.2552 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเม็ดเงินของรัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและเพื่อให้สามารถบรรเทาภาวะความเดือดร้อนของประชาชนและภาคธุรกิจได้
1.1.6 เร่งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ และเร่งรัดมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว โดยการดำเนินการร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนในการประชาสัมพันธ์ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งเสริมการท่องเที่ยวของคนไทยในประเทศ และปรับแผนงบประมาณของส่วนราชการที่ได้รับงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 อยู่แล้วเพื่อใช้ในการจัดการฝึกอบรมและสัมมนาให้กระจายทั่วประเทศ รวมทั้งลดหย่อนค่าธรรมเนียมและค่าบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดให้มีการเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น
1.1.7 เร่งลงทุนเพื่อการพัฒนาประเทศ โดยให้ความสำคัญกับโครงการลงทุนที่มีความคุ้มค่ามากที่สุด เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุน ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งระบบ การลงทุนเพื่อปรับโครงสร้างระบบบริการสุขภาพที่มุ่งสู่การป้องกันและส่งเสริม การลงทุนพัฒนาระบบขนส่งมวลชน และการพัฒนาระบบบริการจัดการน้ำและการชลประทาน ให้สามารถเริ่มดำเนินโครงการได้ในปี 2552 โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน การรักษาสิ่งแวดล้อม การดำเนินงานอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และการรักษาวินัยการคลังของประเทศ รวมทั้งเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ
1.2 การรักษาและเพิ่มรายได้ของประชาชน
1.2.1 ร่วมมือกับภาคเอกชนในการดำเนินมาตรการชะลอการเลิกจ้าง และป้องกันการขยายตัวของการเลิกจ้างในภาคอุตสาหกรรม และบริการ ทั้งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดย่อม โดยใช้มาตรการจูงใจเพื่อลดภาระของภาคเอกชนในการชะลอการเลิกจ้างงาน
1.2.2 ดำเนินมาตรการเร่งด่วนเฉพาะหน้า เพื่อรองรับปัญหาแรงงานว่างงานจากภาคอุตสาหกรรม และนักศึกษาจบใหม่ โดยจัดโครงการฝึกอบรมแรงงานที่ว่างงานประมาณ 500,000 คน ในระยะเวลา 1 ปี ตามกลุ่มความถนัดและศักยภาพ และรองรับแรงงานกลับสู่ภูมิลำเนา เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่วิสาหกิจและธุรกิจชุมชน
1.2.3 เร่งรัดดำเนินการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ถูกเลิกจ้างและผู้ว่างงานอันเนื่องมาจากวิกฤตเศรษฐกิจ โดยการดูแลให้ได้รับสิทธิประโยชน์ที่พึงจะได้ตามกฎหมายโดยเร็ว การหางานใหม่ การส่งเสริมอาชีพอิสระ การสร้างงาน และการเพิ่มพูนทักษะเพื่อปรับเปลี่ยนอาชีพ รวมทั้งการจัดสวัสดิการที่จำเป็น เช่น การเพิ่มวงเงินให้กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง เพื่อช่วยเหลือลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง และการดำเนินโครงการสานฝันแรงงานคืนถิ่น ซึ่งรวมถึงการสร้างงานและจัดที่ทำกิน รวมทั้งการเข้าถึงแหล่งทุน สำหรับแรงงานนอกภาคเกษตรที่ถูกเลิกจ้างให้คืนสู่ภาคเกษตร
1.2.4 สร้างหลักประกันด้านรายได้แก่ผู้สูงอายุ ที่มีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ หรือไม่สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ โดยจัดสรรเบี้ยยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปที่แสดงความจำนงโดยการขอขึ้นทะเบียนเพื่อขอรับการสงเคราะห์ รวมทั้งขยายเพดานให้กู้ยืมจากกองทุนผู้สูงอายุเป็น 30,000 บาทต่อราย
1.2.5 เพิ่มมาตรการด้านการคลัง เพื่อช่วยเพิ่มรายได้ของประชาชนและกระตุ้นธุรกิจในสาขาที่ถูกผลกระทบ
1.2.6 สร้างรายได้และศักยภาพทางเศรษฐกิจในระดับฐานราก โดยการจัดตั้งกองทุนเศรษฐกิจพอเพียง และจัดสรรเงินเพิ่มเติมให้จากวงเงินที่เคยจัดสรรให้เดิม เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำและพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติระดับชุมชน ลดต้นทุนปัจจัยการผลิตทางการเกษตร รวมทั้งเร่งรัดและลดขั้นตอนของภาครัฐเพื่อให้ท้องถิ่นสามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้อย่างรวดเร็ว
1.2.7 ดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรผ่านกลไกและเครื่องมือของรัฐให้มีประสิทธิภาพ และเร่งสร้างระบบประกันความเสี่ยงทางการเกษตร ทั้งระบบประกันความเสี่ยงราคาพืชผลผ่านกลไกตลาดซื้อขายล่วงหน้าสินค้าเกษตรและระบบประกันภัยพืชผลอันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติ
1.2.8 เร่งรัดและพัฒนาตลาดและระบบการกระจายสินค้า ของสินค้าเกษตรและสินค้าชุมชน เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศและการส่งออก
1.2.9 จัดตั้งสภาเกษตรกรแห่งชาติ เพื่อให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการเสนอนโยบายและวางแผนพัฒนาการเกษตรอย่างเป็นระบบ และมีระบบการคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกร รวมทั้งพัฒนาความเข้มแข็งของเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน
1.2.10 ส่งเสริมบทบาทอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ทั่วประเทศ ให้ปฏิบัติงานเชิงรุก ในการส่งเสริมสุขภาพในท้องถิ่น/ชุมชน การดูแลเด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ การดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาล และการเฝ้าระวังโรคในชุมชน โดยจัดให้มีสวัสดิการค่าตอบแทนให้กับ อสม. เพื่อสร้างแรงจูงใจหนุนเสริมให้ปฏิบัติงานได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ
1.3 ลดภาระค่าครองชีพของประชาชน
1.3.1 ให้ทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาฟรี 15 ปี โดยให้สนับสนุนตำราในวิชาหลักให้กับทุกโรงเรียน จัดให้มีชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียนฟรีให้ทันปีการศึกษา 2552 และทั้งสนับสนุนค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพื่อชดเชยรายการต่างๆ ที่โรงเรียนเรียกเก็บจากผู้ปกครอง
1.3.2 กำกับดูแลสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการที่มีความจำเป็นต่อการครองชีพ ให้มีราคาที่เป็นธรรม สะท้อนต้นทุนอย่างเหมาะสมและไม่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค
1.3.3 ดำเนินมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนในการเดินทาง ก๊าซหุงต้ม และบริการด้านสาธารณูปโภค โดยปรับปรุงมาตรการดังกล่าวให้สอดคล้องกับสภาวะทางเศรษฐกิจ และอยู่บนหลักการของการใช้และบริโภคอย่างประหยัด
1.3.4 ใช้กองทุนน้ำมันในการรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและการใช้น้ำมันอย่างประหยัด
1.4 จัดตั้งคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ และคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) เพื่อเร่งรัดติดตาม แก้ไขปัญหา ลดขั้นตอนในการปฏิบัติ และกำหนดมาตรการและโครงการ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในภาวะเร่งด่วน