xs
xsm
sm
md
lg

เหม็นกลิ่นน้ำเน่า เกมแก้ รธน.-ปรับ ครม. รื้อกติกาฟื้นอำนาจโจร-เซ็งลี้เก้าอี้ รมต. ถึงจุดเปลี่ยนที่ต้องเริ่ม “การเมืองใหม่”

เผยแพร่:   โดย: นกหวีด


ไม่ว่าบทสรุป ของการรวมตัวครั้งสำคัญของกลุ่มคนเสื้อเหลือง ในนามกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในประเด็นการหารือเกี่ยวกับการตั้งพรรคการเมืองจะออกมาเช่นใด

จะมีการตั้งพรรคการเมืองใหม่หรือไม่ หรือจะล้มเลิกแนวคิดที่ว่ามานี้ และ/หรือ แนวทางที่จะเดินต่อไปของกลุ่มคนเสื้อเหลืองจะเป็นเช่นใดก็ตาม

ถือได้ว่า กลุ่มพันธมิตรฯได้ดำรงความมุ่งหมายในอุดมการณ์ ที่มีร่วมกันมาในระยะเวลาหลายปีมานี้ คือการเดินหน้าผลักดัน ไปสู่วิถีการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในประเทศชาติบ้านเมือง

เปลี่ยนแปลงจากของเก่า ของเดิมๆ ไปสู่สิ่งที่ดีกว่าในปัจจุบัน ในภาวะที่สภาพการณ์ของบ้านเมืองได้เดินทางมาถึง“จุดเปลี่ยน”

และไม่ว่าผลลัพธ์ของการตัดสินใจร่วมกันจะออกมาเป็นเช่นใด จะประสบความสำเร็จอย่างที่มุ่งหวัง หรือต้องล้มเหลวไปในอนาคตกาลก็ตาม ที่ ถือว่า ทุกคนได้ทำหน้าที่ ร่วมกันผลักดันการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นแล้ว

Change

เพราะแค่การเปิดเวทีระดมมวลชนเพื่อรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอ ในการดำเนินการในเรื่องใดเรื่องหนึ่งของกลุ่มคนจำนวนมาก เพื่อให้ได้บทสรุปร่วมกัน ตรงนี้ ก็ถือว่าเป็นแนวทางใหม่ สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นแล้วในสังคมไทย

เป็นกระบวนการรับฟังประชาชนอย่างแท้จริง ที่ก่อนนี้ไม่เคยมีอยู่จริง

เพราะเป็นที่ประจักษ์ชัดเจนว่า ตลอดระยะเวลาการต่อสู้ของกลุ่มประชาชน มวลชนคนเสื้อเหลืองในหลายปีที่ผ่านมา ถึงจะประสบความสำเร็จในวัตถุประสงค์เบื้องต้น แต่ยังไม่สามารถบรรลุถึง

เป้าหมายที่แท้จริง

นับเนื่องมาตั้งแต่ปี 2548 ที่ภาคประชาชนตื่นตัวเข้าร่วมรับฟังรายการ “เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร” และขยายวงกว้าง ก่อกำเนิดกลุ่มพันธมิตรฯที่ลานพระรูปทรงม้า

เป็นกลุ่มมวลชนที่รวมกันต่อต้าน พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่บริหารประเทศ ด้วยความเคลือบแคลงเรื่องการทุจริตคอรัปชั่น และผิดทิศผิดทาง สุ่มเสี่ยงที่จะนำพาประเทศไปสู่หายนะ

สุดท้ายกองทัพมาเป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลง ก่อการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลทักษิณ

ตั้งรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์แม้ยอมรับได้ไม่เต็มร้อยกับอำนาจนอกระบบ แต่กลุ่มคนพันธมิตรฯก็หวังลึกๆที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดี

เป็นปฏิวัติสีเขียว ที่คนเสื้อเหลืองแอบ“ฝันหวาน”

แต่ทุกอย่างก็ล้มคืน กลายเป็นฝันร้ายตอนกลางวัน โดยน้ำมือของรัฐบาลขิงแก่ กลุ่มพันธมิตรฯ ก็แค่“เตะหมูเข้าปากหมา”
และก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ประชาชน ต้องเดินลงสู่ถนน และออกแรงกันเหนื่อยอีกครั้ง และยาวนาน 193 วัน เพื่อโค่นล้มรัฐบาลร่างทรง นายกฯนอมินี เป็นแรงกระตุ้นทำให้เกิดการพลิกขั้ว

รัฐบาลประชาธิปัตย์ที่พรรคแกนนำเป็นพรรคอนุรักษ์นิยม ยากต่อการเปลี่ยนแปลง แต่กลุ่มคนพันธมิตร ก็ยังขอ“หวัง”อีกครั้ง แต่4-5เดือนที่ผ่านมาก็เห็นแล้วว่า “ผิดหวังซ้ำซาก”

ภาพรวมรัฐบาลยังเดินอยู่ในวังวนการเมืองแบบเก่า การเมืองว่าด้วยการบริหารงานด้วยเรื่องของปริมาณตัวเลขเสียงสนับสนุน โควตาเก้าอี้ การจัดสรร ช่วงชิงและกอบโกยซึ่งผลประโยชน์

การเมืองที่ฉุดรั้งประเทศชาติ ไม่ให้เดินหน้าไปสู่ความเป็นอารยะ การเมืองที่ดึงบ้านเมืองให้ถอยหลังลงคลองน้ำครำที่เต็มไปด้วยสิ่งปฏิกูลโสโครก

เสียงเพรียกหา“การเมืองใหม่”นับวันจึงกระหึ่มกึกก้องขึ้นเรื่อยๆ

เป็นเรื่องที่ไม่เกินจริงเลย หากพิจารณาจากสภาพการณ์บ้านเมืองไทยในขณะนี้ ภายหลังจากประเทศชาติต้องย่อยยับลงไป จากน้ำมือของกลุ่มคนเสื้อแดง ล้มการประชุมระดับนานาชาติ และก่อการจลาจลเผาบ้านเผาเมือง

แทนที่จะช่วยกันคิด หาหนทางเยียวยา ฟื้นฟู กอบกู้ประเทศชาติกลับคืนมา แต่คนการเมืองกำลังทำอะไรกันอยู่ และแสดงตัวแสดงตนมีพฤติกรรมให้เป็นที่พึ่งหวังได้มากน้อยแค่ไหน?

ที่ร่วมกันตั้งคณะกรรมการหลายชุด โอ้อวดสวยหรูว่าเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ สร้างความสมานฉันท์ ลบรอยแตกร้าว ยุติความแตกแยกในสังคม แต่ข้อเท็จจริงทั้งหมดได้กลายเป็นเวทีของการยื้อการขัดขวางความเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดี

การ“ปิดห้อง”พูดคุยเจรจา ที่เห็นได้ชัดว่าเป็นการ ดึงบ้านเมืองกลับไปสู่จุดเดิม การเมืองเก่า ที่กลุ่มคนเสื้อเหลืองได้ออกมาต่อสู้เรียกร้อง ให้ปัดกวาดชะล้างมาหลายปี

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ รื้อโครงสร้างของประเทศ มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นการเปิดช่อง ให้เอื้อต่อคนพันธุ์การเมืองโฉดกลับคืนมาสู่อำนาจ แสวงหาและกอบโกยผลประโยชน์

ยังมีอีกปมสำคัญที่กลายเป็นจุดแตกหัก ที่ทำให้การตัดสินใจที่จะเคลื่อนตัวเพื่อทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ด้วยตัวของตัวเอง ในการตั้งพรรคการเมือ ด้วยเพราะหวังกับใครไม่ได้อีกแล้ว คือประเด็นการปรับ ครม.

ภาพรวมของความเคลื่อนไหว ก็เห็นได้ชัดว่า นี่คือรูปแบบการเมืองที่เป็นตัวถ่วงของการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยไทย การจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีไม่ได้ยึดหลักผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ

แต่ปัจจัยพิจารณาคือเรื่องจำนวนเสียง ปริมาณ โควตา และการซื้อขายแลกเปลี่ยนตำแหน่งด้วย “ตัวเงิน” ที่เป็นปัจจัยบ่อนทำลายประชาธิปไตย

จากกรณีปัญหาในพรรคภูมิใจไทย ที่มีมติพรรคปรับนายชาติชาย พุคยาภรณ์ ออกจากตำแหน่งรมช.เกษตรฯ ไล่ออกเพื่อเอานักการเมืองที่ไว้ใจ เป็นผู้รับใช้ของแกนนำตัวจริงในพรรคมาสวมตำแหน่งแทน

หากพิจารณาจากการเข้าสู่ตำแหน่งของนายชาติชาย ที่อดีตเคยใกล้ชิดนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ในพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา แต่มาอาศัยเสียงของพรรคภูมิใจไทย ได้นั่งเก้าอี้ นายชาติชายน่าจะรู้ดีว่า ต้อง“ทุ่ม”ลงไปเท่าไหร่?

ต้องใช้อะไรบางอย่างแลก เพื่อให้ได้เก้าอี้แห่งเกียรติยศ

นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น กรณีนายทุนพรรคการเมือง มีอยู่ในทุกๆแก๊งการเมือง แม้แต่พรรคประชาธิปัตย์ ที่กำลังกระเพื่อมแรงภายในเวลานี้ หากยังจำได้ ช่วงการตั้งรัฐบาล แต่งตั้งรัฐมนตรี เสียงต่อต้านการเข้ามาของตัวแทนกลุ่มทุน

กรณีของนายวีระชัย วีระเมธีกุล รมต.ประจำสำนักนายกฯ ที่นายนิพิฏฐ์ อินทร สมบัติ ส.ส.พัทลุง ของพรรคนี้เคยโวยวายออกมาให้คนนอกได้รู้ คือเรื่องของ “กลุ่มทุน” ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างปฏิเสธไม่ได้

รวมทั้งเวลานี้ที่ส่งเสียงทวงตำแหน่ง นอกจากกลุ่มส.ส.ที่ถึงด้วยวัยและคุณสมบัติ ที่เคยอกหัก ยังมีบางส่วนที่รอลุ้นเก้าอี้ เพราะคือพี่ใหญ่ดูแลทุกข์สุขของเพื่อนส.ส. หว่านพืชลงทุนก็หวังผล

แม้แต่ในพรรคชาติไทยพัฒนา ที่มีเงาของหลงจู๊อยู่หลังฉาก แม้ภายนอกจะดูเหมือนว่า จัดสรรตำแหน่งกันง่ายดาย นอกจากโควตาสำหรับลูกจริง ส.ส.ลูกรัก และอดีตข้าราชการที่เคยเป็นมือไม้ เด้งรับกันมาก่อน

ไปถามกันได้ ประเภทชื่อโผล่พรวดติดโผครม. เก้าอี้ที่ได้ต้อง “อัดฉีด”ไปกี่มาก
น้อย ชนิดที่นักการเมืองอาวุโสบางรายที่เคยได้ลุ้นเก้าอี้ เพราะถึงเวลา เหมาะสมทั้งคุณวุฒิ วัยวุฒิในการเลื่อนขั้น

แต่เมื่อฟังเงื่อนไขแล้ว ต้องถอยกรูด เก็บสิ่งที่ต้องเสียไว้เลี้ยงดูตัวเองยามแก่ชรายังดีกว่า

เรื่องนี้ กมล จิระพันธ์วานิช สมพัฒน์ แก้วพิจิตร เกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร กระทั่งประภัตร โพธสุธน ทั้งว่าที่รัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรี และที่กำลังเป็นรัฐมนตรีอยู่ตอนนี้ รู้กันดี คำว่า“โหด”เป็นอย่างไร

แต่ที่เด่นชัดกว่าทุกพรรค ในเรื่องการลงทุนเพื่อการเมือง “จ่าย”เพื่อ “เก้าอี้” ต้องที่พรรคเพื่อแผ่นดิน

ตั้งแต่ยุครัฐบาลนอมินีจนกระทั่งรัฐบาลประชาธิปัตย์ คีย์แมนแกนนำตัวจริงของพรรคนี้ แม้จะติดโทษการเมือง หากจะไปเอาดีเรื่องการค้าการขาย ก็ต้องบอกว่า

เป็นยอดนักขาย ซูเปอร์เซลล์แมน!

กรณีของ น.พ.พฤฒิชัย ดำรงรัตน์ ทั้งตอนเข้ารับตำแหน่ง และมีกระแสข่าวถูกกดดันให้จากเก้าอี้รมช.คมนาคมตอนนี้ หมอ19บาท ทายาทบริษัทก่อสร้างยักษ์ กำแพงเพชรวิวัฒน์ก่อสร้าง มีที่มาและเสี่ยงต้องไปในเวลาอันสมควรนี้เพราะอะไร

ถ้ายังเจราจากันไม่ลงตัว ในเรื่องควักครั้งใหม่ ก็หมดเวลาแน่ๆ เพราะที่รอเสียบก็อู้ฟู่ไม่แพ้กัน สุรเดช ยะสวัสดิ์ ส.ส.สัดส่วน เจ้าของธุรกิจโรงแรมดัง ยืนรอคิวหย่อนก้นลงเก้าอี้ สักครั้งหนึ่งในชีวิต

แต่ที่ได้บทเรียนจากพรรคการเมืองนักขาย ประเภทไปแล้วไปเลยก็ ประสงค์ โฆษิตานนท์ อดีตรมช.มหาดไทย นักธุรกิจใหญ่

และ “มหาเศรษฐีเหมืองแร่” พิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรมช.คลัง ที่ ลองแล้วติด ไม่เข็ดกับการลงทุน เพียงแต่เปลี่ยนข้างย้ายขั้ว หนีพวกเขี้ยวๆไปอยู่ปีกฝ่ายค้าน

ข่าวว่ากำลังแนบแน่นกับ ศรีเมือง เจริญศิริ อดีต รมช.ศึกษาธิการ “สายตรงนายใหญ่”ตัวจริง

ได้รับมอบหมายจากเพื่อนใหม่ให้ช่วยอะไรบ้างไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ มีข่าวอีกทาง “นายใหญ่”มีกำลังสนับสนุนการอัดฉีดรายใหม่ ยามท่อน้ำเลี้ยงส่งทัพเสื้อแดง และไพร่พลเพื่อไทยติดขัด ถูกสกัดกั้น

“ทักษิณ”ได้อาศัย“ท่อสำรอง” ยืมมาเสริมในยามระทม

สรุปแล้วทั้งหมดนี้ คือตัวอย่างของการเมืองระบบคณิตศาสตร์ตัวเลข การลงทุน แย่งเก้าอี้ ชิงชามข้าว ที่ประชาชนคนไทยรับรู้และเอือมระอากันมานาน แต่วันนี้ก็ยังคงอยู่ และทำท่าจะกลับมาเฟื่องฟู ในแบบที่เรียกว่าการเมืองเก่า การเมืองน้ำเน่า

การเมืองไทยถึงจุดต้องเปลี่ยนแปลงเสียที!
กำลังโหลดความคิดเห็น