xs
xsm
sm
md
lg

โปรดฟัง “โจรสั่นกระดิ่ง”สัญญานเตรียมปล้น รธน.

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวการเมือง


แม้จะแค่เริ่มต้น ทว่ากลับฝุ่นตลบไปด้วยปรากฏการณ์ความขัดแย้งที่ขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ สำหรับความพยายามผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของบรรดาเหล่าพรรคการเมือง-นักการเมืองทั้งมวลหมู่ ผ่านกลไกที่ตั้งขึ้นเพื่อหวังสร้างความชอบธรรมให้กระบวนการนี้
ไร้แรงต้าน และสำเร็จแบบม้วนเดียวจบ

กลไกที่ว่าคือ คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ

จึงคาดการณ์ว่า ที่จะ”จบ”ไม่ใช่การแก้รัฐธรรมนูญ แต่จะเป็นบรรดาคนที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการเดินหน้าเรื่องนี้เสียมากกว่า หากคิดจะรวบรัดแก้ไขรธน.โดยไม่ฟังเสียงประชาชนเจ้าของประเทศ

บัดนี้ความขัดแย้งทางความคิด และการเคลื่อนไหวในเรื่องแก้ไขรธน. พบว่าก่อตัวขึ้นแล้ว 3 ระดับ

1.คณะกรรมการที่เป็นตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆ เห็นขัดแย้งกันอย่างรุนแรง

2.ความขัดแย้งในพรรคการเมืองเอง

3.สถานการณ์ขมึงเกลียวที่รอวันปะทุเป็นความขัดแย้งระดับชาติ อันมีต้นเหตุมาจากการแก้รัฐธรรมนูญ

ทีมข่าวการเมืองASTVผู้จัดการ ขอขยายความให้เห็นภาพดังนี้

ความขัดแย้งภายในคณะกรรมการ-อนุกรรมการ เช่นความอึดอัดใจของเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ที่ไปนั่งทำงานเป็นคณะอนุกรรมการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญปฏิรูปการเมืองและศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ อันเป็นอนุกรรมการที่สำคัญที่สุดในคณะกรรมการชุดใหญ่ เพราะจะทำหน้าที่ร่อนตะแกรงแนวคิดและข้อเสนอเพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อประชุมไปได้แค่ 1-2 ครั้ง ก็มีข่าวว่าเจิมศักดิ์เริ่มเห็นว่า

ขืนอยู่ไปอาจกลายเป็นเครื่องมือให้นักการเมืองหลายกลุ่มทำการชำเรารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจนมีข่าวว่าร่ำๆจะลาออก

หรืออาการไม่พอใจของคณะกรรมการฯจากซีกพรรคการเมืองหลายพรรคทั้งภูมิใจไทย เพื่อไทย ที่เรียกร้องให้ประชาธิปัตย์เลิก

“แทงกั๊ก” ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้แล้ว ทั้งที่ตอนนี้ทุกพรรคก็เสนอแนวคิดในเรื่องนี้ออกมาหมดแล้ว เหลือแต่ประชาธิปัตย์ ที่แม้จะมีส.ส.ของพรรคอยู่ในกรรมการชุดใหญ่ 8 คน

แต่ก็ไม่เคยพูดให้ชัดว่า จะแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราไหน จะเอาอย่างไร หากคณะกรรมการสรุปผลเสร็จแล้วจะเห็นด้วยหรือไม่

เหมือนกับจะเริ่มสงสัยว่านายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะจะหลอกใช้กรรมการชุดนี้ เพื่อซื้อเวลาไปเรื่อย ทำให้การประชุมกรรมการชุดใหญ่ เริ่มไม่ลงรอยกัน

ส่วนความขัดแย้งในพรรคการเมืองจากเรื่องแก้รธน.ก็เห็นชัดแล้วในกรณีของพรรคประชาธิปัตย์เมื่อประธานส.ส.ของพรรคคือชุมพล กาญจนะ ออกแถลงการณ์อ้างว่าส.ส.ประชาธิปัตย์เกือบทั้งหมดไม่พอใจและอึดอัดใจ การทำงานของ 8 ส.ส.พรรคที่ไปนั่งเป็นกรรมการแก้ไข รธน.

โดยให้เหตุผลว่า ที่ส่งชื่อไปก็เพื่อไปเป็นคนรับฟัง และรวบรวมความเห็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มารายงานให้ที่ประชุมพรรคทราบ และให้ ส.ส.ของพรรคทุกคนได้แสดงความเห็น เพื่อให้แนวคิดในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคไปในทางเดียวกัน แต่กรรมการทั้ง 8 คนกลับพิจารณาว่า จะแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราไหนบ้าง และไปนั่งอยู่ในอนุกรรมการจึงถือว่าทำเกินอำนาจหน้าที่ที่พรรคส่งไปทำงาน จึงจะเรียกทั้ง 8 คนเช่นชำนิ ศักดิ์เศรษฐ์-ถวิล ไพรสนฑ์ มาเข้าห้องเย็น

เรื่องนี้เราเชื่อได้ว่า มีหมากซ้อนหมากอยู่ในประชาธิปัตย์หลายหน้า เหมือนกับจะเป็นการแก้เกมกันเองภายในพรรคเมื่อหลายพรรคการเมืองกำลังไม่พอใจที่ประชาธิปัตย์แทงกั๊กไม่ยอมแบะท่าผ่านกรรมการทั้ง 8 คนที่ควรต้องพูดให้ชัดว่าเป็นความเห็นของพรรค ไม่ใช่ความเห็นส่วนตัวว่าจะแก้ รธน.มาตราไหน

และที่ผ่านมาจะพบว่า กรรมการจากปชป.ก็ไม่เคยแสดงท่าทีในนามพรรคเหมือนกับพรรคอื่นในที่ประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ในเรื่องจุดยืนการแก้ไข รธน.แต่พรรคกลับจะเรียกทั้ง 8 คนไปวางกรอบการทำงานใหม่เหมือนกับ

จะตีสองหน้า เรื่องแก้ไข รธน.เอาไว้เผื่อสถานการณ์ฉุกเฉินจริงๆ

เช่นหากคณะกรรมการชุดใหญ่สรุปผลให้แก้ไขรธน.มาตรไหน ก็จะได้บอกว่าประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ เพราะได้เคยเรียกกรรมการ 8 คนมาสั่งให้ทบทวนการทำงานแล้ว

หากเกมแก้ไข รธน.จะมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่จะเดินหน้าหรือสะดุดลง ก็ขอให้เชื่อเถอะว่าประชาธิปัตย์นี่แหละจะเป็น “ตัวแปร”สำคัญ!

ขณะที่ความขัดแย้งระดับชาติที่กำลังรอก่อตัวจากการพัฒนาของความขมึงเกลียวของคนในสังคม ก็คือ กรณีที่เริ่มมีเสียงทั้งสนับสนุน และต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งที่ยังไม่ได้เริ่มต้นเป็นแค่การศึกษา แต่ยามนี้ผู้คนเวลาสนทนาการเมืองก็ต้องหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาหารือ

การสนทนาการเมืองอันเป็นสิ่งที่ดี แต่มันจะพัฒนาความรุนแรงขึ้นของฝ่ายเห็นด้วยกับไม่เห็นด้วย จนกลายเป็นความขัดแย้งของคนในชาติ

ฝ่ายหนุนอาจให้เหตุผลว่า เบื่อหน่ายปัญหาการแบ่งสี แบ่งค่ายเป็นสองฝักสองฝ่ายคือเอา-ไม่เอาทักษิณแล้วก็มา ชุมนุมบนท้องถนน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการลงทุน การจราจร และเห็นว่าหากจะแก้รธน.หรือนิรโทษกรรมแล้วทุกอย่างดีขึ้น กลับไปเหมือนเดิมก็ไม่เห็นเป็นไร ก็ต้องยอมๆกันไปบ้างเพื่อให้เลิกทะเลาะกัน

อีกฝ่ายไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่าหากมีการแก้ไข รธน.หรือนิรโทษกรรม ทำให้นักการเมืองได้ใจ แถมเชื่อได้ว่าเป้าหมายการแก้ไข รธน..ก็คือเพื่อให้นักการเมืองมีอำนาจมากขึ้น ลดพลังการตรวจสอบ และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนในรัฐธรรมนูญเพื่อดึงอำนาจกลับไปอยู่ในมือของนักการเมืองเหมือนเช่นในอดีต แล้วก็จะเกิดปัญหาแบบเดิมๆ เช่นการทุจริตคอรัปชั่น การเหลิงอำนาจ การแทรกแซงและซื้อองค์กรอิสระ ซึ่งซีกนี้ก็ประกาศพร้อมออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านการแก้รธน.หากพบการเล่นตุกติก

เพราะพฤติกรรมหลายอย่างมันเริ่มฟ้อง ว่าการแก้ไข รธน.ครั้งนี้นักการเมืองจากทุกพรรคจะเอาแน่นอน และต้องรีบทำให้สำเร็จ เห็นได้จากอนุกรรมการแต่ละชุดประชุมกันไปแค่นัดหรือสองนัด ก็ได้กรอบการเตรียมเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ

จนผู้คนอดสงสัยไม่ได้ว่าพวกนักการเมืองไปตกลงกันไว้ล่วงหน้าก่อนหรือเปล่า มันถึงได้สรุปกันง่ายๆ

โดยเฉพาะที่รีบด่วนผิดปกติ ก็คือมาตรา 237 ที่อนุกรรมการฯสรุปออกมาเบื้องต้นว่า ให้คงไว้แค่การลงโทษและตัดสิทธิ์การเมืองห้าปีของผู้กระทำผิดโดยตรง ใครไม่เกี่ยวข้องก็ไม่สมควรต้องได้รับโทษด้วย อีกทั้งไม่ให้มีการยุบพรรคการเมือง

มาตรานี้ เราเห็นว่าเป็นสิ่งสำคัญ ที่ประชาชนต้องพิจารณาว่าจะเอาอย่างไร โดยฝ่ายที่เสนอให้แก้ไขก็ยกเหตุผลที่ดูเหมือนจะพยายามให้นักการเมืองได้ประโยชน์มากที่สุด

เช่นการอ้างว่ามาตรา 237 เปรียบได้กับยาพิษที่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนตามมาตรา 65 ที่อนุญาตให้ประชาชนจัดตั้งพรรคการเมืองได้ ประชาชนจึงเป็นเจ้าของพรรคการเมือง และผลของมาตรานี้ทำให้พรรคการเมืองปรับเปลี่ยนรูปแบบโดยการส่งนอมินีไปเป็นกรรมการบริหารพรรค และพยายามอ้างว่ามาตรา 237 ถูกร่างมา เพราะมองพรรคการเมืองและนักการเมืองในแง่ร้ายและมีอคติ

ส่วนฝ่ายที่เสนอให้คงมาตรา 237 ไว้ทั้งหมดก็เพราะเห็นว่าเป็นหลักประกันในการพัฒนาสถาบันการเมือง และพัฒนาระบบประชาธิปไตย ถ้าไม่มีการกระทำเกี่ยวกับการทุจริตการเลือกตั้ง มาตรา 237 ก็เหมือนไม่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญ มาตรานี้จะเป็นยาแรงเมื่อมีการทุจริตการเลือกตั้ง และมันจะไม่ออกฤทธิ์ถ้าไม่มีการทำผิดเกิดขึ้น

ส่วนเรื่องนิรโทษกรรมการเมืองอดีตกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบ 220 คน ก็เริ่มมีการแก้ผ้าล่อนจ้อนให้เห็นหลายต่อหลายครั้งแล้วว่า จะผลักดันให้เป็นข้อสรุปของคณะกรรมการชุดใหญ่ให้ได้โดยมีกรรมการจากซีกเพื่อไทยเป็นตัวตั้งตัวตี ด้วยการใช้ถ้อยคำว่า

“เยียวยาการเมือง”เพื่อหลบกระแสต้านเรื่องนิรโทษกรรม

และอ้างเหตุผลว่า หากทำแล้วจะช่วยผ่อนคลายความขัดแย้งของคนในสังคม ลดการเผชิญหน้าของการเมืองสองขั้ว จึงควรต้องทำให้ได้และต้องถือเป็นเรื่องเร่งด่วนเพื่อให้ทั้ง 220 คนได้รับความเป็นธรรมจากสองมาตรฐาน

อันนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่มากที่สุด กับความพยายามนิรโทษกรรม ที่คาดว่ามีความพยายามหาช่องทางกันอยู่ว่าจะทำในลักษณะไหนเพื่อให้ออกมาแบบเนียนๆมากที่สุด

เราต้องขอบอกพี่น้องประชาชนทั้งหลายว่า ต้องเงี่ยหูฟังความคืบหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบเกาะติด เพราะพฤติกรรมมันเห็นชัดแล้วว่า

มีความพยายามของนักการเมืองบางคนที่มีพฤติกรรมจะใช้รัฐธรรมนูญไปช่วยโจรการเมืองทั้งหลายให้ออกมาจากคุกคดีการเมืองและคดีอาญา

อันไม่แตกต่างอะไรไปจากการสมรู้ร่วมคิดกันวางแผนทำให้ชาติบ้านเมืองเสียหายและทำลายระบบนิติรัฐ กลุ่มพวกที่มีความคิดจะฟอกผิดช่วยเหลือพรรคพวก-นายใหญ่-นายทุนการเมือง ก็คือ

โจรดีๆ นี่เอง

เพียงแต่วิธีการที่จะทำให้สำเร็จต้องทำในที่สาธารณะคือในห้องประชุมคณะกรรมการฯและในห้องประชุมรัฐสภา มันจึงทำให้ประชาชนอย่างพวกเราได้ยินเสียงโจรสั่นกระดิ่งให้รู้ล่วงหน้าตลอดเวลา

ดังนั้นประชาชนทุกคนต้องติดตามการแก้ไข รธน.ครั้งนี้อย่างใกล้ชิด

ห้ามหลับใหล หรือคิดว่าธุระไม่ใช่

มิฉะนั้นพวกนักการเมืองเหล่านี้ จะปีนรั้วเข้าบ้านมาปล้นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่ผ่านการลงประชามติเอาไปปู้ยี่ปู้ยำ เพื่อตอบสนองผลประโยชน์ให้กับ

ตัวเองและพวกพ้อง

แบบนี้เราขอบอกว่า จะไม่ยอมให้ไอ้พวกหน้าไหนมันทำเช่นนี้ เราไม่ได้ปฏิเสธการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะก็รู้ดีว่าทุกสิ่งในโลกไม่มีอะไรสมบูรณ์ที่สุด ดีที่สุด ทุกอย่างย่อมมีข้อบกพร่อง มีจุดอ่อน เฉกเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่ก็ต้องมีข้อบกพร่องบ้าง

เพียงแต่ขอให้ความพยายามแก้ไข รธน.ทำโดยยึดหลักส่วนรวมได้ประโยชน์มากที่สุด ไม่ใช่เพื่อตัวนักการเมืองไม่กี่คนแล้วทำให้เกิดประชาธิปไตยของคนไม่กี่กลุ่มไม่ใช่ของคนไทยทั้งชาติ จนระบบพังทลาย

การดำรงอยู่ของกฎหมายและความยุติธรรมใช้ได้กับแค่คนที่ไม่มีอำนาจ ไม่มีเงิน ไม่มีพรรคพวกในรัฐสภา

แบบนี้เราคงยอมไม่ได้ และคงอาจถึงเวลาต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้โจรเลิกสั่นกระดิ่งได้แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น