โฆษก ปชป.ลุ้น พ.ร.ก.3 ฉบับผ่านสภา ยันสร้างความปรองดองกลับคืน เร่งทำงานพาชาติพ้นวิกฤต เชื่อจะช่วยกระตุ้นจีดีพีเป็นบวกครั้งแรก หลังผ่านวิกฤตการเมือง ด้าน ส.ส.กทม.จี้แบงก์ชาติดูเงินบาทอย่าแข็งมากเพื่อช่วยผู้ส่งออก
วันนี้ (15 พ.ค.) ที่รัฐสภา นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า พรรคขอยืนยันในฐานะที่เป็นแกนนำรัฐบาลว่า มีความตั้งใจทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วนของสังคมและเป็นเอกภาพ เพื่อสร้างความปรองดองชาติกับคืนมา และภารกิจในการทำให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจโดย นโนบายหลักคือการลงทุนกับภาครัฐ เพื่อสร้างความมั่นใจกับนักลงทุน ผ่านแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 โดยการพิจารณา พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับในที่ประชุมร่วมรัฐสภา 18 พ.ค.ที่จะมีความสำคัญมาก โดยรัฐบาลได้วางบรรทัดฐานการวางเงินนอกงบประมาณ และเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลบรรจุรายละเอียดในแผนการใช้เงิน นอกงบประมาณให้สภาได้พิจารณาก่อนที่จะมีการเบิกใช้
นพ.บุรณัชย์ กล่าวว่า ทุกโครงการที่นายกฯ ยืนยันให้บรรจุรายละเอียดการพิจารณาใน พ.ร.ก.จะต้องประกอบด้วย 3 ข้อ คือ 1.เป็นโครงการที่เกิดการจ้างงานทุกพื้นที่ คาดว่า จะสามารถจ้างงานใหม่ในช่วงผลักดันโครงการได้ 1.6-2 ล้านตำแหน่ง 2.จะต้องเป็นโครงการที่ต้องมีการกระจายตัวลงทุกพื้นที่อย่างทั่วถึง และเป็นธรรมด้วยมาตรฐานเดียว และต้องเป็นโครงการที่มีความพร้อมทำงานได้ทันที ภายในปีปฏิทิน 2552 นี้ และ 3.ทุกโครงการจะต้องมีความสามารถในการแข่งขัน ยื่นยันว่า โครงการทั้งหมดเป็นการก่อภาระเงินกู้ เพื่อการลงทุนและจ้างงานเท่าที่จำเป็นในปีนี้เท่านั้น
โดยมีเป้าหมายว่า หากโครงการไทยเข้มแข็ง 2555 สัมฤทธิผล จะทำสามารถทำให้ผลผลิตมวลรวมประชาชาติในไตรมาส 3 และ 4 ขึ้นมาเป็นบวกได้ครั้งแรก นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการทางการเมือง และพรรคได้พูดถึงนโยบายที่ควรทำควบคู่กับนโยบายไทยเข้มแข็ง 5 เรื่อง คือ 1.นโยบายส่งเสริมศักยภาพการส่งออก ซึ่งในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมามีอัตราสูงขึ้น ร้อยละ 33 ถือเป็นเรื่องที่ดี 2.ควรนำสภาพคล่องส่วนเกินที่อยู่ในภาคเอกชนนำมาใช้ในภาคธุรกิจที่จำเป็นที่ต้องใช้สินเชื่อด้วยการให้ภาคการเงิน การธนาคารมีบทบาทในการปล่อยเงิน ให้สภาพคล่องเข้าสู่ระบบ 3.ต้องอาศัยภาคเอกชนในการร่วมมือ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม และภาคการท่องเที่ยว ต้องให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุน
นพ.บุรณัชย์ กล่าวว่า 4.การทำงานของพรรคร่วมจะต้องรักษาความยั่งยืนของโครงการในการรักษาราคาสินค้า เพื่อให้ประโยชน์ตกอยู่กับเกษตรกรอย่างแท้จริง ไม่ใช่เฉพาะเรื่องข้าวโพด ดังนั้น การใช้ทุกวิถีทางแทรกแซงการจำนำไปสู่การประกัน การซื้อขายล่วงหน้า ที่จะส่งผลให้เกิดการแตกต่างในการทำงานที่มีการทำความเข้าใจของนายกฯไปแล้ว และ 5.การสร้างความมั่นใจขชองนักลงทุนต่างประเทศ โดยนายกฯเริ่มกลับมาโลด์โชว์อีกครั้งที่ประเทศฮ่องกง โดยแผนปฏิบัติการ 2555 จะมีส่วนสำคัญทำให้เกิดความมั่นใจต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย ขณะเดียวกัน การประชุมอาเซียนบวกคู่เจรจาที่ต้องเลื่อนออกไปแต่ก็ยังอยู่ในกรอบเวลา โดยพรรคยังมีความมั่นใจว่าหลังเหตุการณ์สงบแล้ว ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสาธารณสุขอาเซียนได้เรียบร้อย สอดรับทันต่อเหตุการณ์ไข้หวัดใหญ่ อย่างน้อยทำให้เห็นความว่าไทยมีความพร้อม และศักยภาพในการเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมระดับภูมิภาค ซึ่งนอกจากนี้ จะมีการประชุม นางฮิลลารี คลินตัน รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ ที่อาจจะมีการประชุมเดือน ก.ค.หรือเลื่อนไปประชุมพร้อมกันในเดือน ต.ค.ซึ่งจะมีการประชุมผู้นำทางธุรกิจ 100 คนในอาเซียน หรือเอเชียอิงค์ 100 เป็นจุดสำคัญที่ฟื้นคืนความเชื่อมั่นที่ระดับโลกมีต่อประเทศไทยได้อีกครั้ง
นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ส.ส.กทม.และรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แถลงเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้ามาดูแลค่าเงินบาท ไม่ให้แข็งค่าอย่างรุนแรง เนื่องจากการแข็งค่าของค่าเงินจะกระทบกับภาคการส่งออก ทำให้ไทยแข่งขันกับประเทศคู่แข่งไม่ได้ เนื่องจากราคาสินค้าจะแพงกว่า โดยวานนี้ตนเห็นการให้สัมภาษณ์ของผู้บริหารของธปท.คนหนึ่ง ที่พูดราวกับว่าค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าตามค่าเงินของประเทศอื่นในทวีปเดียวกัน ทั้งที่ไม่เป็นความจริง เนื่องจากค่าเงินหยวนของจีน และค่าเงินเปโซของฟิลิปปินส์อ่อนค่าลง สวนทางกับค่าเงินบาทไทยที่แข็งค่าขึ้น จึงรู้สึกเป็นห่วงท่าทีของธปท.ว่าอาจไม่เห็นเรื่องดังกล่าวเป็นปัญหา และไม่ยอมเข้ามาแก้ไข จนกระทบกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล
“ธปท.มีอิสระในการกำกับดูแลค่าเงินบาท ซึ่งเป็นนโยบายทางการเงิน ขณะที่รัฐบาลมีอำนาจในการกำกับดูแลนโยบายทางการคลัง หากนายกรัฐมนตรี หรือ รมว.คลัง ออกมาส่งสัญญาณ อาจจะเห็นว่าเป็นการแทรกแซง ส่วนตัวจึงอยากให้ตำแหน่ง ส.ส.ที่เป็นตัวแทนของประชาชน จึงอยากให้ ธปท.เข้าไปใส่ใจเรื่องค่าเงินบาทด้วย”