xs
xsm
sm
md
lg

เอกชน-นักวิชาการขานรับ การเมืองวุ่นกระทบลงทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน – ภาคเอกชน-นักวิชาการ หวั่นสถานการณ์การเมืองไม่นิ่ง-พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านล้ม ส่งผลต่อภาคการลงทุน-มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยสถาบันวิจัยนครหลวงไทย มั่นใจจีดีพีไตรมาส 1/52 ติดลบกว่า 7% ต่ำสุดแล้ว ก่อนจะขยายตัวเป็นบวกในไตรมาสสุดท้าย ขณะที่นักวิชาการนิด้า เผยปัจจัยลบเริ่มลดน้อย พร้อมแนะแบงก์ชาติเข้าแทรกแซงค่าเงินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
นายสุกิจ อุดมศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส สถาบันวิจัยนครหลวงไทย (SCRI) กล่าวในงานเสวนาเรื่อง “วิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจการเงิน” ว่า จากการประกาศตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในไตรมาส 1/52 ของสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สคช.) ที่ติดลบ 7.1% น่าจะเป็นจุดต่ำสุด ก่อนที่จะเริ่มขยับตัวดีขึ้น โดยคาดว่าในไตรมาส 2/52 จะติดลบ 6.8% และไตรมาสสุดท้ายจะสามารถขยายตัวได้ถึง 1.5% ผลจากได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและการเริ่มฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
ทั้งนี้ ในปี 52 ได้คาดการณ์จะมีอัตราการขยายตัวของจีดีพีติดลบประมาณ 4% แต่สิ่งที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดคือ สถานการณ์การเมืองในประเทศที่อาจส่งผลกระทบต่อการบริหารงานของรัฐบาล และความเชื่อมั่นของการลงทุนภาคเอกชน
“หากปัญหาการเมืองในประเทศไม่นิ่ง อาจส่งผลต่อเสถียรภาพรัฐบาล ซึ่งขณะนี้ถือเป็นประเด็นที่มีน้ำหนักค่อนข้างมากกต่อความเชื่อมั่นการลงทุนของภาคเอกชน เพราะการเมืองยังคงยืดเยื้อต่อไปจะส่งผลทำให้ไม่มีการลงทุนใหม่ๆ เกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจ เพราะการขับเคลื่อนจะต้องมาจากทั้งภาครัฐและเอกชน”
นายสุกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ จะส่งผลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจและภาคการเงินของโลกให้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ และอาจจะเป็นโอกาสสำคัญของประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะจีน ที่จะอาศัยความแข็งแกร่งทางการเมืองและการเงินในการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจในทุกด้านอย่างแท้จริง
“วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ บวกกับพฤติกรรมของประชาชนในสหรัฐฯ และยุโรป อาจจะลดการบริโภคลง จะทำให้ประเทศเอเชียที่เคยพึ่งพารายได้การส่งออกไปสหรัฐฯ เช่น ไทย คงต้องเตรียมความพร้อมในการหาตลาดใหม่เพิ่มขึ้นอีก” นายสุกิจกล่าว
โดยสถาบันวิจัยนครหลวงไทย ประเมินว่า ธุรกิจในภาคบริการ อาหารและเกษตร ในเอเชียจะเป็นธุรกิจที่มีบทบาทเพิ่มขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่อาจไม่ฟื้นตัวซึ่งประเทศไทยยังคงมีความได้เปรียบในธุรกิจดังกล่าว โดยเฉพาะภาคโรงแรง โรงพยาบาลและกิจการอาหารแปรรูป เนื่องจากมีความพร้อมในเรื่องทรัพยากร และบุคลากร แต่ขาดเพียงแค่การจัดการและกลยุทธ์ที่ถูกต้อง
จากประเด็นดังกล่าว ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการเพิ่มศักยภาพเพื่อรักษาอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจให้มีความยั่งยืนในระดับที่ไม่ต่ำกว่า 5% ด้วยการลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ และเน้นตลาดเอเชียมากขึ้น รวมถึงการพึ่งพาการบริโภคในประเทศมากขึ้น และจากพึ่งภาคอุตสาหกรรมมาเน้นภาคบริการ
ขณะเดียวกัน รัฐบาลควรหันมาดูแลราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เริ่มจะแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามราคาน้ำมันโลก เพราะอาจจะส่งผลทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น ดังนั้นรัฐบาลจะต้องควบคุมภาวะเงินเฟ้อเป็นไปในระดับเหมาะสม เพราะอาจจะส่งผลทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง

จี้ธปท.ดูแลค่าบาทให้เหมาะสม
ด้านนายเอกชัย  นิตยาเกษตรวัฒน์ คณบดีคณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจีดีพีไทยไตรมาส 1/52 ที่ติดลบกว่า 7% เป็นจุดที่เลวร้ายสุดของวิกฤตครั้งนี้หรือไม่ แต่มั่นใจว่าปัจจัยรุนแรงที่จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจเริ่มมีน้อยลงแล้ว รวมถึงเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทที่แข็งตัวขึ้นจนมาแตะ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในปัจจุบันถือว่าแข็งค่าเร็วเกินไปจนอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของภาคเอกชน ดังนั้นจึงอยากแนะนำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรหันมาดูแลค่าเงินบาทให้เป็นไปอย่างเหมาะสม โดยมองว่าค่าเงินบาทที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ส่วนเรื่องการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินจำนวน 4 แสนล้านบาทของรัฐบาลที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญนั้น หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าพ.ร.ก.ฉบับดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากปัจจุบันรัฐบาลเริ่มขาดสภาพคล่องทางการเงินดังนั้นจึงจำเป็นต้องอาศัยวงเงินกู้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
นายเอกชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการสำรวจสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันพบมีเม็ดเงินกระจุกตัวในแถบเอเชียมากขึ้น จากเดิมเม็ดเงินส่วนใหญ่จะอยู่ในสหรัฐฯ และยุโรป ดังนั้นประเทศไทยเองควรจะหามาตรการต่างๆ เพื่อดึงเม็ดเงินลงทุนดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับประเทศในภูมิภาคเอเชีย
โดยทางนิด้าได้มีกาสร้างแบบจำลองขึ้น หากประเทศในเอเชียร่วมมือกันกำหนดค่าเงินหยวนเป็นเงินสกุลหลักแทนดอลลาร์สหรัฐ จะสามารถช่วยสนับสนุนการค้าระหว่างกันมากขึ้น และเป็นการลดความเสียงจากอัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงลดต้นทุนการค้าระหว่างประเทศในภูมิภาคลงด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น