กกต.ผุดแนวคิดออกระเบียบยาแรง จับพวก ส.ส.-ส.ว.โกงเลือกตั้ง พบหากมีความผิดตามมาตรา 53(1) และ (2) เข้าข่ายกระทำการจัดให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้ ถือเป็นความผิดเห็นควรส่งเรื่อง ปปง.ตรวจสอบที่มาของเส้นทางการเงิน
เมื่อวันที่ 13 พ.ค.ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต.แถลงภายหลังการประชุม กกต.ว่า ที่ประชุม กกต.พิจารณากำหนดแนวทางหลักเกณฑ์การพิจารณาลักษณะความผิดที่สำนักงาน กกต.สมควรพิจารณาส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) พิจารณาต่อ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.มาตรา 53 ที่ห้ามผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่ตนเอง หรือผู้สมัครอื่น หรือพรรคการเมืองใด หรือให้งดเว้นการลงคะแนน ให้แก่ผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองใด ในความผิดตาม (1) คือ จัดทำให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้ ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด อันอาจคำนวณเป็นไปได้ แก่ผู้ใด หรือ(2) คือ ให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม แก่ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัด สถาบันการศึกษา สถานสงเคราะห์ หรือสถาบันอื่นใด ให้ถือว่า เป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และให้กกต.มีอำนาจดำเนินการส่งเรื่องให้ปปง.ดำเนินการ ซึ่งที่ประชุมกกต.เห็นควรให้คณะกรรมการปรับปรุงระเบียบสืบสวนสอบนำเรื่องดังกล่าวไปปรับปรุงไว้ในระเบียบ และทำความเห็นเสนอ กกต.เพื่อพิจารณาต่อไป
นายสุทธิพล กล่าวอีกว่า เบื้องต้นคณะกรรมการได้เสนอความเห็นกรณีดังกล่าวให้ กกต.6 ข้อ ได้แก่ 1.กรณีที่มีการจัดทำให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อที่จะให้เงินหรือทรัพย์สิน ซึ่งสามารถตรวจยึดเงินหรือทรัพย์สินได้เป็นมูลค่าหรือราคามาก 2.กรณีมีหลักฐานชัดเจนว่ามีการให้เงินหรือทรัพย์สินแก่ผู้ใดหรือแก่ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัด สถาบันการศึกษา สถานสงเคราะห์ หรือสถาบันอื่นใดเพื่อจูงใจผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งให้ลงคะแนนเลือกตั้งแก่ผู้สมัครใด 3.กรณีที่มีพยานหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าน่าจะมีการกระทำความผิดอันกว้างขวาง และมีเบาะแสที่สามารถสืบสวนขยายผลไปถึงต้นตอ หรือเครือข่ายการกระทำความผิดได้ 4.กรณีที่มีการเสนอให้ สัญญาว่าจะให้เงิน หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้เงินโดยมีเงินอยู่ในบัญชีธนาคาร ซึ่งได้แยกออกมาหรือกำหนดจำนวนได้ชัดเจนแล้ว หรือมีการโอนหรือการเบิกจ่ายเงินดังกล่าว 5.กรณีกกต.เห็นสมควรส่งเรื่องให้ ปปง.และ 6.กรณีที่กกต.มีคำวินิจฉัยให้มีการเลือกตั้งใหม่ หรือเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งตามข้อ 1-5 ภายหลังการประกาศผลเลือกตั้ง ซึ่งจะต้องยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย ซึ่งเห็นควรส่งเรื่องให้ ปปง.ดำเนินการโดยไม่ต้องรอคำสั่งศาล