“สุรพงษ์” โวยทหารลงพื้นที่ชี้แจงเหตุการณ์สลายการชุมนุมชาวบ้าน จวก “อภิสิทธิ์” เลิกเล่นละครตบตาชาวบ้าน ให้ตั้งกรรมการสอบแต่กลับใช้คนลงพื้นที่ ตั้งแง่แก้รัฐธรรมนูญต้องทำประชามติถามประชาชนก่อนอยากแก้มาตราใด ชี้รัฐบาลพูดกันไปเองไม่มีใครรู้เรื่องด้วย เตรียมเดินหน้าฟ้อง “ป.ป.ช.-กรรมการสิทธิฯ-ยูเอ็น” กล่าวหารัฐทำรุนแรงกับม็อบหางแดง
วันนี้ (4 พ.ค.) ที่พรรคเพื่อไทย นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองในส่วนของพรรคเพื่อไทยว่า คณะกรรมการของพรรคเพื่อไทยได้หารือกันแล้วรู้สึกไม่สบายใจต่อกรณีที่รัฐบาลและหน่วยงานความมั่นคงจัดให้กอ.รมน.หรือทหารลงไปชี้แจงข้อเท็จจริงกับประชาชนในต่างจังหวัด เช่น ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งหากทหารรู้ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมดแล้ว พวกตนในฐานะคณะกรรมการที่มีการแต่งตั้งขึ้นมานั้นจะไปตรวจสอบหาขอเท็จจริงกันทำไม
นายสุรพงษ์กล่าวอีกว่า ขอเรียกร้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีว่า ให้สั่งการรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงให้เลิกพฤติกรรมดังกล่าว คณะกรรมการจะได้ทำงานเพื่อนำข้อเท็จจริงมานำเสนอต่อประชาชน เพราะหากทหารรู้ทุกเรื่องก็แสดงว่าทหารเป็นคนที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ดังนั้น รัฐบาลต้องเลิกแสดงละคร ไม่อย่างนั้นบ้านเมืองจะหาความสงบสุขไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ตนจะนำข้อมูลทั้งหมดนี้ไปพูดในการประชุมนัดแรกของคณะกรรมการในวันที่ 7 พ.ค.ที่สภาด้วย รวมทั้งจะมีการหารือกับนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎรว่าจะเอาอย่างไรกันแน่ เพราะไม่อยากให้เล่นละครตบตาประชาชน
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ กลุ่มคนเสื้อแดง รวมทั้ง ส.ส.พรรคเพื่อไทยบางคนพยายามให้ข้อมูลกับชาวบ้านว่า การสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อวันที่ 13-14 เม.ย.ที่ผ่านมา ทหารได้ใช้อาวุธยิงคนเสื้อแดงบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก โดยมีการนำศพไปซ่อนไว้ ซึ่งทำให้ฝ่ายความมั่นคงต้องออกไปชี้แจงเพื่อป้องกันการเข้าใจผิดดังกล่าว
ด้าน นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ส.ส.กทม.แถลงถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า วันนี้มีแต่ความเห็นของประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี และส.ส.ว่าสมควรที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และภาคประชาชนบางส่วนที่ออกมาแสดงความเห็น แต่กลับไม่มีข้อสรุปใดๆ ออกมาให้เห็นเลย จึงอยากให้รัฐบาลหรือสภาทำประชามติเพื่อสอบถามประชาชนว่าจะแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าแก้จะแก้ประเด็นไหนบ้าง และควรเอารัฐธรรมนูญฉบับไหนเป็นตัวตั้ง คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมือง และศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีการตั้งขึ้นนั้นจะได้สามารถทำงานได้ และเป็นการทำงานแบบครั้งเดียวจบ
“การถามความเห็นคนไทยทั้งประเทศนั้นทำให้สามารถหาข้อยุติได้และไม่เกิดความขัดแย้งกัน ส่วนเรื่องระยะเวลานั้นก็ถามประชามติไปเลยว่า ภายในกี่วัน 30 หรือ 45 วัน เมื่อลงประชามติเสร็จแล้วการนำมาดำเนินงานจะง่าย และทิศทางก็จะชัดเจน แต่วันนี้กลับยังไม่มีใครถามประชาชนเลยว่าอยากจะให้แก้รัฐธรรมนูญหรือไม่” นายวิชาญ กล่าว
ขณะที่ นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงว่าคณะกรรมการรวบรวมข้อเท็จจริงเหตุการณ์การสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 13 เม.ย. ที่มี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธาน ส.ส.พรรคเพื่อไทย เป็นประธานนั้น ขณะนี้ได้รวบรวมข้อมูลหลักฐานต่างๆ เสร็จสิ้นแล้ว ดังนั้น ในช่วงบ่ายของวันที่ 6 พ.ค.พรรคเพื่อไทยจะเดินทางไปร้องโทษกล่าวทุกข์ต่อนายกรัฐมนตรีและครม.รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อ ป.ป.ช. ส่วนช่วงเช้าวันที่ 7 พ.ค.จะยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และวันที่ 8 พ.ค.จะยื่นหนังสือต่อองค์การสหประชาชาติ ซึ่งมีทั้งฉบับภาษาไทย และภาษาอังกฤษ รวมทั้งหลักฐานเป็นภาพนิ่งและซีดี เนื่องจากพบว่ามีการใช้อาวุธและอำนาจเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ขัดต่อหลักมนุษยธรรม กฎหมาย และรัฐธรรมนูญ
เมื่อผู้สื่อข่าวถามท้วงติงว่า วันที่ 8 พ.ค.เป็นวันหยุดจะยื่นหนังสือต่อองค์การสหประชาชาติได้หรือ นายพร้อมพงศ์กล่าวว่า ได้มีการนัดหมายไว้แล้ว แต่หากวันที่ 8 พ.ค.องค์การสหประชาชาติหยุดทำงาน พรรคก็จะเปลี่ยนไปยื่นในช่วงบ่ายของวันที่ 7 พ.ค.แทน