ที่ประชุม ส.ว.-วิปวุฒิฯ เตรียมเปิดให้ ส.ว.เสนอตัวเข้าคัดเลือกกรรมการแก้ปัญหาการเมือง ถึงเที่ยงวันพรุ่งนี้ หลัง 7 รายชื่อ ส.ว.ที่เสนอไปถูกประท้วงล่มไป ก่อนลงมติในวันที่ 1 พ.ค.พร้อมเตรียมเสนอตัดชื่อถ้อยคำ “แก้ไขรัฐธรรมนูญ” ในชื่อกรรมการ ชี้อาจทำให้เข้าใจได้ว่าตั้งธงหวังแก้รัฐธรรมนูญ ขณะที่วงในที่ประชุมเสียงแตกทั้งเหตุด้วยไม่เห็นด้วยต้องเสนอแก้รัฐธรรมนูญให้ชัด
วันนี้ (29 เม.ย.) ที่อาคารรัฐสภา 2 เมื่อเวลา 13.30 น.มีการประชุมร่วมกันระหว่าง ส.ว.และคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) โดยมีนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ประธานวิปวุฒิสภา เป็นประธานการประชุมเพื่อเลือกตัวแทน ส.ว. 7 คน และเสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คน ไปเป็นคณะกรรมการแก้ไขปัญหาทางการเมืองเพื่อความปรองดองและสมานฉันท์และแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังจากที่นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา สั่งยกเลิกรายชื่อ 7 ส.ว.ที่วิปวุฒิฯ เสนอไปยังประธานรัฐสภา เมื่อวันที่ 28 เมษายน เนื่องจากโดนทักท้วงจาก ส.ว.บางส่วนว่า การเสนอชื่อ ส.ว.ควรผ่านที่ประชุมวุฒิสภารับรอง ทั้งนี้ ไม่เปิดให้สื่อมวลชนเข้าฟัง โดยใช้เวลา 2 ชั่วโมงครึ่ง
นายนิคมเปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีมติให้ ส.ว.ที่ต้องการเป็นตัวแทนของวุฒิสภาเป็นคณะกรรมการฯให้สมัครที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ภายในเวลา 12.00 น.วันที่ 30 เม.ย. นอกจากนี้ ส.ว.สามารถเสนอรายชื่อผู้ทรงวุฒิ 2 คน โดยจะต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าตัวภายในวันเดียวกัน จากนั้นจะมีการลงคะแนนในการประชุมวุฒิสภาวันที่ 1 พ.ค.ในช่วงเช้า โดยบัตรลงคะแนน ส.ว.1 คนลงคะแนนเลือกตัวแทนได้ 7 คน และเลือกผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คน หากคะแนนเท่ากันก็จะจับฉลาก เมื่อได้ตัวแทนแล้วก็ส่งรายชื่อไปยังประธานรัฐสภา พร้อมแนบความเห็นว่า ให้ตัดคำว่า “แก้ไขรัฐธรรมนูญ” ออกจากชื่อคณะกรรมการชุดดังกล่าว เพื่อไม่ให้สังคมรู้สึกว่ามีการตั้งธงแก้ไขรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการชุดดังกล่าวจะพิจารณาเองว่าจะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่
รายงานข่าวจากที่ประชุมแจ้งว่า ส.ว.มีการเสนอความเห็นหลากหลาย เช่น พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ ส.ว.สุราษฎร์ธานี 1 ใน 7 ผู้ได้รับการเสนอชื่อในครั้งแรก เสนอว่าควรลงมติในที่ประชุมวุฒิสภาว่าวุฒิสภาเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 หรือไม่ ถ้าไม่เห็นด้วย วุฒิสภาก็ไม่ต้องส่ง ส.ว.เข้าไปร่วมในคณะกรรมการชุดดังกล่าว ส่วนนายประสงค์ นุรักษ์ ส.ว.สรรหา เสนอว่า ส.ว.ไม่ควรเข้าไปร่วมในตอนนี้ เพราะเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการประชามติจากประชาชนก็ควรให้ประชาชนทำประชามติก่อน ถ้าประชาชนเห็นด้วยว่าต้องแก้ วุฒิสภาค่อยเข้าไปมีส่วนร่วม
ส่วนนายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี หนึ่งในผู้ได้รับการเสนอชื่อในครั้งแรกชี้แจงว่า ตนไปร่วมประชุมวิป 3 ฝ่าย วิปทุกฝ่ายก็เห็นว่าประเทศมีวิกฤตจริง และเห็นพ้องว่าควรถอยคนละสองสามก้าว จึงให้มีกรรมการชุดนี้ โดยกรรมการชุดนี้ไม่ใช่จะมาดูเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการพิจารณาหาทางแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง และพิจารณาเรื่องรัฐธรรมนูญด้วย ซึ่งนายกฯก็ได้เปิดทางแล้วโดยระบุว่า ให้พรรคร่วมรัฐบาลรวมประเด็นรัฐธรรมนูญส่งมาภายใน 2 สัปดาห์ โดยเฉพาะกลุ่ม 40 ส.ว.ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมองว่าควรใช้รัฐธรรมนูญไปก่อน ทั้งนี้ ในช่วงเช้านายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ได้นัดหารือและร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับประธานคณะกรรมาธิการสามัญทุกคณะ โดยได้มีการพูดคุยทำความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวด้วยทำให้ลดความตึงเครียดในการประชุมวิปวุฒิสภาได้