คณะกรรมการรวบรวมและประมวลเหตุไม่สงบจากการชุมนุมทางการเมือง รายงานตัวเลขคนบาดเจ็บ-ตาย จากเหตุ “แดงถ่อย” ป่วนกรุง เมื่อวันที่ 13 เม.ย.เจ็บพุ่ง 176 ราย ตาย 2 ขณะที่ ครม.ทุ่มงบช่วย 1.5 ล้านบาท พร้อมตั้ง 5 คณะอนุกรรมการรวบรวมข้อมูล ขีดเส้นปิดฉากสิ้นเดือน พ.ค.นี้ ก่อนแถลงชี้แจงผลให้ประชาชนทราบทางทีวีหอยสีม่วง
วันนี้ (28 เม.ย.) นายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม.ว่า ที่ประชุม ครม.มีการรวบรวมและประมวลเหตุการณ์ความไม่สงบจากการชุมนุมทางการเมือง เมื่อวันที่ 13 เม.ย.และเหตุที่เกี่ยวเนื่องคณะกรรมการรวบรวมและประมวลเหตุการณ์ความไม่สงบจากการชุมนุมทางการเมือง (คปช.) โดยมีการดำเนินการสรุปว่า จากรายงานการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้รายงานให้ทราบว่า จากการประชุม ครม.วันที่ 17 เม.ย.ได้มอบหมายให้ทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ความไม่สงบ เมื่อวันที่ 8-14 เม.ย.โดยให้ใช้หลักเกณฑ์การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ และงบประมาณเช่นเดียวกับเหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อวันที่ 7 ต.ค.51 และเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่อง โดยกระทรวงพัฒนาสังคมฯได้ตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหายและให้บริการรับแจ้งเรื่องขอรับการช่วยเหลือจากประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง โดยได้นำบัญชีข้อมูลผู้ได้รับความเสียหายจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุขมาใช้ดำเนินการ มียอดผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตทั้งสิ้น จำนวน 135 ราย ปัจจุบันมีผู้ยื่นขอรับการช่วยเหลือ จำนวน 62 ราย ตรวจสอบรายชื่อผู้มีรายชื่อซ้ำซ้อนจำนวน 21 คงเหลือ 41 รายที่อยู่นอกบัญชีรายชื่อของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ดังนั้น รวมผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตทั้งสิ้น 176 ราย และทางกระทรวงพัฒนาสังคมฯได้ให้การช่วยเหลือไปแล้ว 17 ราย ประกอบด้วยผู้เสียชีวิตจำนวน 2 ราย (ย่านนางเลิ้ง) และผู้บาดเจ็บจำนวน 15 ราย เงินที่ให้ความช่วยเหลือทั้งสิ้น 1 ล้าน 5 แสนบาท
นายศุภชัย กล่าวด้วยว่า การกำหนดกรอบระยะเวลาเหตุการณ์ในการรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริง และประมวลเหตุการณ์ความไม่สงบ และแนวทางการดำเนินงานของคปช. โดยมีการรวบรวมข้อมูลตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.-24 เม.ย.2552 (วันที่มีการประกาศยกเลิก พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน) โดยรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไป อีกทั้งผลกระทบในทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้น ซึ่ง คปช.จะทำหน้าที่เฉพาะการรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเพื่อรายงานต่อสาธารณะชนรับทราบโดยจะไม่มีการนำข้อมูลมาสรุปในรายงาย หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดจากกลุ่ม บุคคลใดเป็นผู้กระทำความผิด ซึ่งเป็นหน้าที่ของหน่วยงานรับผิดชอบตามกฎหมายที่จำดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
นายศุภชัย กล่าวว่า ทั้งนี้ คปช.จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 พ.ค.นี้ โดยจะรายงานให้ครม.ทราบเป็นระยะๆ โดยมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมด้านต่างๆ เพื่อช่วยปฏิบัติงานในการดำเนินการ ดังนี้ 1.คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็น ข้อเท็จจริง และการศึกษาวิเคราะห์ประมวลข้อมูลเหตุการณ์ความไม่สงบจากการชุมนุมทางการเมือง เมื่อวันที่ 13 เม.ย. และเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่อง โดยมี นายกิตติ ลิ้มชัยกิจ รองปลัดสำนักนายกฯเป็นประธาน และเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการประชาชน (สปน.) เป็นเลขานุการ 2.คณะอนุกรรมการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เหตุการณ์ความไม่สงบจากการชุมนุมทางการเมือง เมื่อวันที่ 13 เม.ย.และเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่อง โดยมีอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์เป็นประธาน และผู้อำนวยการสำนักพัฒนานโยบายและแผนการประชาสัมพันธ์เป็นเลขานุการ 3.คณะอนุกรรมการรวบรวมและประมวลข้อมูลจากส่วนราชการ ทหาร ตำรวจ ข้าราชการพลเรือน กรณีเหตุการณ์ความไม่สงบจากการชุมนุมทางการเมือง เมื่อวันที่ 13 เม.ย.และเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่อง โดยมี นายวิบูลย์ทัด สุทันธนกิตติ์ ผู้ตรวจการสำนักนายกฯ เป็นประธาน และมีผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศฯ สปน.เป็นเลขานุการ 4.คณะอนุกรรมการรวบรวมและประมวลข้อมูลจากสื่อมวลชนกรณีเหตุการณ์ความไม่สงบจากการชุมนุมทางการเมือง เมื่อวันที่ 13 เม.ย.และเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่อง
โดยมี นางปราณี สริวัฒน์ ผู้ตรวจการสำนักนายกฯ เป็นประธาน และผู้อำนวยการกองกลางสปน.เป็นเลขานุการ และ 5.คณะอนุกรรมการการรวบรวมและประมวลผลกระทบทางการด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยวกรณีเหตุการณ์ความไม่สงบจากการชุมนุมทางการเมือง เมื่อวันที่ 13 เม.ย.และเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่อง โดยมี นายนที เปรมรัศมี ปลัด สปน. เป็นประธาน และมีผู้อำนวยการสำนักตรวจการ สปน.เป็นเลขานุการ
อย่างไรก็ตาม ทาง คปช.มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลและมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและให้ข้อมูลเพิ่มเติม โดยทาง คปช.จะประชาสัมพันธ์ข้อเท็จจริงผ่านทางสื่อวิทยุ โทรทัศน์ เป็นระยะ โดยจะเชิญประธานคณะอนุกรรมการ หรือผู้แทนให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อทุกครั้งที่มีการรายงานให้ ครม.ทราบ ซึ่งมีอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เป็นประธาน และรับไปพิจารณาจัดทำแผนการประชาสัมพันธ์ต่อไป