xs
xsm
sm
md
lg

ครม.สั่งรื้อโครงสร้าง สตช.เพิ่ม 4 หน่วยงาน ยันเอื้อการสั่งการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ศุภชัย” แถลงภายหลังการประชุม ครม.เผยเห็นชอบรื้อโครงสร้าง สตช.เพิ่ม 4 หน่วยงาน เกลี่ยกำลังพลเดิม ชี้ไม่เพิ่ม หรือลดตำแหน่งลงจากเดิม ยันเป็นประโยชน์ เชื่อเอื้อต่อการมอบอำนาจ สั่งการ ไม่กระจุกอยู่ในส่วนกลาง ทำให้การสั่งการคล่องตัว

วันนี้ (21 เม.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบการปรับโครงสร้างส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และอนุมัติร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) แบ่งส่วนราชการ และร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการตามที่ สตช.เสนอ ซึ่งรายละเอียดของโครงสร้างแบ่งออกเป็น 6 ส่วน ได้แก่ 1.ส่วนบัญชาการ ได้แก่ สำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (สง.ผบ.ตร.) 2.ส่วนป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม ประกอบด้วย หน่วยงานระดับกองบัญชาการ 11 หน่วยงาน ได้แก่ กองบัญชาการ ตำรวจนครบาล (บช.น.) ตำรวจภูธรภาค 1-9 และศูนย์ปฏิบัติการตำรวจชายแดนภาคใต้ (ศชต.) 3.ส่วนสนับสนุนการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม ประกอบด้วย หน่วยงานระดับกองบัญชาการ 7 หน่วยงาน ได้แก่ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด กองบัญชาการตำรวจสันติบาล สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ และสำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 4.ส่วนการศึกษา ประกอบด้วยกองบัญชาการศึกษา และโรงเรียนนายร้อยตำรวจ 5.ส่วนบริการ ได้แก่ โรงพยาบาลตำรวจ และ 6.ส่วนปฏิบัติการเฉพาะทาง มีหน้าที่รับผิดชอบในการถวายความปลอดภัย และปฏิบัติงานตามพระราชประสงค์ของพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท และพระบรมวงศานุวงศ์ จำนวน 1 หน่วยงาน คือ สำนักงานนายตำรวจราชสำนักประจำ

“สรุปแล้ว สตช.มีหน่วยงานระดับกองบัญชาการ หรือเทียบเท่า รวม 30 หน่วยงาน แบ่งเป็นหน่วยงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน 26 หน่วย และหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นใหม่ 4 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ, สำนักงานส่งกำลังบำรุง, สำนักงานกำลังพล และ สำนักงานงบประมาณและการเงิน” นายศุภชัย กล่าว

รองโฆษกฯ กล่าวอีกว่า สำหรับเหตุผลในการปรับโครงสร้างครั้งนี้ เพื่อให้เหมาะสมกับภารกิจ ยุทธศาสตร์ สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันและแนวโน้มสถานการณ์ในอนาคต ด้วยความโปร่งใสอีกทั้งเป็นการจัดโครงสร้างส่วนราชการ เพื่อให้เอื้อต่อการมอบอำนาจและการกระจายอำนาจ ลดการควบคุมจากส่วนกลาง และเพิ่มอิสระแก่หน่วยงาน เพื่อให้สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีเอกภาพ นอกจากนี้ ยังเป็นการกำหนดอำนาจหน้าที่และขอบเขตความรับผิดชอบของส่วนราชการให้มีความชัดเจนไม่ซ้ำซ้อน และจัดหน่วยงานที่ภารกิจสอดคล้อง สัมพันธ์กันมาอยู่ในกองบัญชาการเดียวกัน เพื่อประโยชน์ในการบูรณาการยุทธศาสตร์การบริหารจัดการในด้านต่างๆ ของ สตช.ในภาพรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รองโฆษกฯ กล่าวถึงเหตุผลอีกว่า เป็นการกำหนดขนาดส่วนราชการให้กะทัดรัด คล่องตัว และเอื้ออำนวยต่อประสิทธิภาพในการบริหารงานให้เกิดประสิทธิผลโดยคำนึงถึง การจัดสายการบังคับบัญชาที่เหมาะสม จัดกลุ่มงานที่มีลักษณะเฉพาะด้าน ซึ่งมีคุณภาพสูงมากและมีปริมาณงานพอสมควร ให้รองรับได้ตามความจำเป็น และนอกจากนี้ ยังจัดโครงสร้างให้มีความสัมพันธ์กันระหว่างหน่วยงาน เพื่อให้สามารถบูรณาการทำงาน ประหยัดทรัพยากร มีความรวดเร็วในการติดต่อประสานงานและการตัดสินใจ

“มีการจัดกลุ่มงานและแบ่งงานภายในหน่วยงานต่างๆ เพื่อความสะดวกในการประสานการปฏิบัติ การควบคุม การพัฒนาบุคลากร การหมุนเวียน ถ่ายเทกำลังคน และการปฏิบัติงานทดแทนกันได้ ทั้งนี้ การปรับปรุงโครงสร้างส่วนราชการดังกล่าว จะใช้กรอบกำลังของสตช.เท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยการปรับเกลี่ยตำแหน่ง -อัตราให้เหมาะสมและจะไม่มีการเพิ่มตำแหน่ง-อัตราในภาพรวมแต่อย่างใด” นายศุภชัย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น