“สดศรี” ลั่นยินดีให้แจ๊คผู้ฆ่ายักษ์ตรวจสอบ หลัง “เรืองไกร” ยื่น ป.ป.ช.สอบ พ้อ กกต.ถูกร้องเรียนมาก ทั้งที่ใช้ดุลพินิจอย่างสุจริตโดยชอบตามกฎหมาย ขู่เตรียมตั้งงบฟ้องกลับด้วยเช่นกัน ระบุ พร้อมทำประชามติหากรัฐมีงบประมาณเพียงพอทำได้ทันที ชี้ ต้องนึกถึงประโยชน์ของชาติเป็นหลัก เตรียมพิจารณาคุณสมบัติ “นพดล พลซื่อ” เป็นกรรมการบริหารพรรคหรือไม่ 29 เม.ย.นี้
วันนี้ (27 เม.ย.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง นางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง กล่าวถึงกรณีที่ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ยื่นเรื่องถึงประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อขอให้ตรวจสอบตนเองและ นายสมชัย จึงประเสริฐ กกต.ที่ลงมติเรื่องที่มาของนายเรืองไกร นั้น ว่า ถือเป็นสิทธิ์ที่ นายเรืองไกร สามารถยื่นให้ตรวจสอบ กกต.ได้ แต่ กกต.ก็มีอำนาจที่จะวินิจฉัย เพราะหากเทียบกับศาล ว่า ให้ลงโทษคนนั้นแล้ว ศาลฎีกาบอกว่าไม่ผิดแล้วศาลชั้นต้นก็คงถูกฟ้องหมดหรือไม่ อีกทั้งการวินิจฉัยของ กกต.ที่ผ่านมาก็พิจารณาโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ที่ให้ กกต.ใช้ดุลพินิจอย่างสุจริต ซึ่ง กกต.ทุกคนก็มีความเห็นแตกต่างกัน เพราะข้อกฎหมายบางส่วนก็ไม่ได้ข้อยุติ ดังนั้น นายเรืองไกร ก็ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่า การวินิจฉัยของ กกต.ใช้ดุลพินิจอย่างไรไม่ชอบด้วยกฎหมาย
“ที่ผ่านมา กกต.ถูกฟ้องมาก เรื่องนี้ไม่น่าจะเป็นปัญหา กกต.ยินดีให้ตรวจสอบ ซึ่ง กกต.จะตั้งงบประมาณเพื่อฟ้องกลับผู้ที่มีการกระทำในลักษณะกลั่นแกล้ง กกต.และ กกต.ในฐานะเป็นผู้ถูกฟ้องก็มีสิทธิจะฟ้องกลับได้เหมือนกัน โดย กกต.จะตั้งงบประมาณเพื่อจะฟ้องกลับผู้ที่ใช้ช่องทางกฎหมายกลั่นแกล้งกกต. โดยอาจจะยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.ให้ตรวจสอบ ส.ว.บางคนด้วย เพราะถ้า กกต.ทำงานและแตะต้องใครไม่ได้ หรือเป็นบุคคลที่แตะต้องไม่ได้ กกต.ก็คงทำงานอะไรไม่ได้ในการใช้ดุลพินิจ” นางสดศรี กล่าว
นางสดศรี ยังกล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลมีแนวคิดที่จะทำประชามติ เพื่อสอบถามเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญและนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง ว่า เรื่องนี้โดยข้อกฎหมายแล้วสามารถทำได้ อีกทั้ง กกต.ก็เคยจัดทำประชามติเพื่อรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 มาแล้ว ซึ่งแนวคิดดังกล่าวของรัฐบาลที่จะแก้รัฐธรรมนูญนั้นก็เข้าตามหลักเกณฑ์ที่สามารถจะทำประชามติได้ ซึ่งการกำหนดหัวข้อจะต้องให้เข้าหลักเกณฑ์ เช่น รัฐบาลอยากที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็จะต้องถามว่าจะแก้รัฐธรรมนูญ หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญเท่านั้น ไม่ใช่ถามว่าควรแก้มาตรานี้หรือไม่ไม่ได้ ส่วนในเรื่องของการนิรโทษกรรมคดีการเมืองให้คืนสิทธิเลือกตั้งแก่นักการเมืองนั้น ก็สามารถทำได้ หากมีคำถามให้เลือกว่าจะนิรโทษกรรมหรือไม่นิรโทษกรรม อย่างไรก็ตามในการทำประชามตินั้นจะต้องเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อประเทศชาติ ซึ่งก็ต้องดูว่าการที่จะสอบถามเรื่องที่เกี่ยวกับการนิรโทษกรรมคดีการเมืองจะถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัวของนักการเมืองหรือไม่ หากเห็นว่าเรื่องดังกล่าวมีผลกระทบต่อส่วนได้และส่วนเสียของประเทศชาติหรือมีส่วนที่สมควรจะแก้ไขกฎหมายในส่วนใดก็คงสามารถทำประชามติได้
นางสดศรี กล่าวว่า สำหรับเรื่องกฎหมายประชามตินั้น ยังอยู่ในขั้นตอนของรัฐสภา หากรัฐบาลยังต้องการสอบถามประชามติในส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือนิรโทษกรรมคดีการเมืองนั้นก็ต้องให้สภาเร่งผ่านสามวาระรวด ดังนั้น จึงต้องเร่งให้สภาเร่งกฎหมายดังกล่าวออกมาก่อนจึงจะจัดทำประชามติได้ และหากรัฐบาลมีงบประมาณเพียงพอก็สามารถดำเนินการได้ทันที
ส่วนกรณีที่ นายนพดล พลซื่อ อดีต ส.ส.ร้อยเอ็ด เขต 3 พรรคเพื่อแผ่นดิน ในฐานะรองเลขาธิการพรรคเพื่อแผ่นดินซึ่งถูกศาลฎีกาเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง (ใบแดง) และอาจมีผลให้พรรคถูกยุบพรรคตามมาตรา 237 ของรัฐธรรมนูญนั้น นางสดศรี กล่าวว่า คาดว่า ในวันที่ 29 เม.ย.นี้จะเข้าที่ประชุม กกต.เพื่อพิจารณาสถานภาพความเป็นกรรมการบริหารพรรคเพื่อแผ่นดินของนายนพดลก่อนว่าจะมีผลให้พรรคเพื่อแผ่นดินต้องถูกยุบหรือไม่ จากนั้นกกต.ต้องดูข้อกฎหมายมาตรา 237 และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่าการกระทำผิดของ นายนพดล มีผลต่อการยุบพรรคหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่มีการแก้ไขมาตราดังกล่าว