xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : “กบข.” (ส่อ) ทุจริต เพื่อใคร?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมาชิกเครือข่าย กบข.ฯ ชุมนุมที่หน้าทำเนียบฯ เรียกร้องให้ยกเลิก กบข.(17 มี.ค.)
อมรรัตน์ ล้อถิรธร........รายงาน

ทำเอา ขรก.กว่า 1 ล้านคน ระส่ำและตื่นตระหนกไปตามๆ กัน เมื่อจู่ๆ ผู้บริหาร “กบข.” นำเงินกองทุนไปลงทุนเจ๊งหลายหมื่นล้านไม่พอ ยังจะให้สมาชิก กบข.แบกรับผลขาดทุนนั้น โดยอ้างว่า แค่ขาดทุนกำไร (เท่านั้นเอง) แต่ต้นทุนยังอยู่ครบ แถมโบ้ยเหตุที่ขาดทุน เพราะพิษวิกฤต ศก.โลก หาได้เกิดจากผู้บริหารกองทุนทุจริตหรือทำผิด กม.ไม่ แต่ใครจะเชื่อ ในเมื่อหลักทรัพย์บางตัวที่ กบข.นำเงินไปลงทุนซื้อหุ้นไว้จนขาดทุนนั้น เขารู้กันทั่วว่าไร้อนาคตและมีประวัติฉาวแค่ไหน แล้วทำไม กบข.ต้องไปอุ้มหลักทรัพย์แบบนั้น ถ้าแบบนี้ไม่เรียกว่าทุจริต จะให้เรียกว่า “รวมหัว” กับคนใกล้ชิด “ทักษิณ” หรืออย่างไร?

คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ

ปัญหาเกี่ยวกับเงินกองทุน กบข.หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ส่อเค้าว่าจะร้อนระอุขึ้นมาตั้งแต่กลางสัปดาห์ที่แล้ว เมื่อนายธาริต เพ็งดิษฐ์ เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) ออกมาเผย (11 มี.ค.) ว่า ได้รับการร้องเรียนจากข้าราชการใน จ.พระนครศรีอยุธยา ขอให้ตรวจสอบการบริหารกองทุน กบข.หลังพบว่าเงินลงทุนหรือเงินสะสมในกองทุนของข้าราชการขาดทุนรายละ 1-2 หมื่นบาท เนื่องจาก กบข.ขาดทุนจากการลงทุนในสินทรัพย์ช่วงกลางปี 2551 ประมาณ 74,000 ล้านบาท จากสินทรัพย์รวมของ กบข. 376,000 ล้านบาท

กระทั่งเมื่อวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา กระแสความไม่พอใจต่อการบริหารงานของ กบข.ก็ถึงจุดระเบิด เพราะนอกจากสมาชิก กบข.หลายร้อยคนจะมาชุมนุมเรียกร้องที่ทำเนียบรัฐบาลแล้ว สมาชิก กบข.บางคนยังทนไม่ได้ ต้องขึ้นศาลปกครองฟ้องทั้งคณะกรรมการบริหาร กบข.และรัฐมนตรีคลังเพื่อให้รับผิดชอบกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นด้วย

โดยในส่วนของสมาชิก กบข.ที่ชุมนุมที่ทำเนียบนั้น นายไพฑูรย์ พิมพ์ทอง รองประธานเครือข่ายสมาชิก กบข.แห่งประเทศไทย เผยกับวิทยุ ASTV ผู้จัดการว่า จริงๆ แล้ว สมาชิกเครือข่าย กบข.รวมตัวเคลื่อนไหวในพื้นที่ จ.ขอนแก่น ตั้งแต่เมื่อวันที่ 13 ส.ค.2551 แล้ว เพราะเห็นว่านโยบายและการดำเนินงานของ กบข.ไม่เป็นธรรมหลายกรณี เช่น สูตรการคำนวณบำนาญข้าราชการที่จะได้รับเมื่อพ้นสภาพการเป็นข้าราชการของ กบข.นั้น ยังไม่เหมาะสม เพราะเมื่อคำนวณแล้ว จะได้รับผลตอบแทนน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิก กบข.จึงต้องการให้มีการแก้ไขสูตรการคำนวณใหม่ นอกจากนี้ ขอให้สมาชิก กบข.สามารถลาออกได้เมื่อต้องการ ไม่ใช่ต้องรอให้เกษียณหรือพ้นจากการเป็นข้าราชการก่อน รวมทั้งขอให้ กบข.มีความโปร่งใส-ตรวจสอบได้ และรับผิดชอบต่อการบริหารงานหากมีการขาดทุนจริง ฯลฯ

นายไพฑูรย์ บอกอีกว่า นอกจากข้อเรียกร้องดังกล่าวแล้ว ทางเครือข่ายสมาชิก กบข.ได้เพิ่มข้อเรียกร้องเมื่อวันที่ 25 พ.ย.2551 โดยขอให้สมาชิกสามารถนำเงินจากกองทุน กบข.ไปลงทุนในสหกรณ์ได้ รวมทั้งเรียกร้องให้คณะกรรมการ กบข.รับผิดชอบต่อการบริหารที่ผิดพลาดด้วยการลาออก กระทั่งเริ่มมีเค้าลางว่า ข้อเรียกร้องต่างๆ ที่ทางเครือข่ายสมาชิก กบข. พยายามผลักดันมาตั้งแต่แรกจะได้รับการแก้ไข เพราะ ส.ส.ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคพลังประชาชนเดิม เตรียมเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.กบข.เข้าสภา แต่ก็มาเกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง (การเมืองเปลี่ยนขั้ว พรรคประชาธิปัตย์ได้จัดตั้งรัฐบาล) ขึ้นเสียก่อน เรื่องดังกล่าวจึงหยุดชะงักไป

และเมื่อเวลาผ่านมาจนถึงขณะนี้ ยังไม่มีวี่แววว่าข้อเรียกร้องของเครือข่ายสมาชิก กบข.จะได้รับการแก้ไข จึงต้องออกมารวมตัวชุมนุมยื่นข้อเรียกร้องใหม่ที่ทำเนียบ เมื่อวันที่ 17 มี.ค.ซึ่งนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีคลัง ขอเวลาสะสางปัญหาประมาณ 1 เดือน

“เราก็เรียกร้อง 3 ข้อในวันที่ 17 มี.ค.คือ 1.ให้ยกเลิก กบข.2.ให้คืนเงินสะสม เงินประเดิม เงินชดเชย เงินสมทบ และผลประโยชน์อื่นๆ ให้แก่สมาชิกโดยเร็ว 3.ให้เลขาธิการ กบข.และคณะกรรมการบริหาร กบข.ร่วมกันรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้แก่สมาชิกโดยไม่มีเงื่อนไข หากไม่เป็นตามข้อเรียกร้อง สมาชิก กบข.ทั่วประเทศจะงดส่งเงินสะสมเข้ากองทุนตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป และให้สมาชิก กบข.ทุกจังหวัดแจ้งความดำเนินคดีกับคณะกรรมการบริหารของ กบข.นี่คือ คำเรียกร้องในวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา เราก็ต้องการจะพบนายกฯ พบกระทรวงการคลัง และไปที่รัฐสภา ทั้ง 3 จุดนั้นก็รับ ท่านกรณ์ (จาติกวณิช รมว.คลัง) ก็รับปากที่ประชุม ว่า จะประสานทุกเรื่องทุกราวตั้งแต่ที่สมาชิก กบข.เรียกร้องมาจนถึง ณ ปัจจุบันนี้ และปมเงื่อนของ ป.ป.ท.กับคณะกรรมการ กบข.นั้น จะประสานทุกอย่างให้เสร็จสิ้น ขอเวลา 1 เดือน พวกเราก็เลยพอใจ เราก็ถอยกลับ เสร็จแล้วเราไปที่รัฐสภา ทางรัฐสภาโดยท่านตวง อันทะไชย (ส.ว.สรรหา) พร้อมด้วย คุณรสนา (ส.ว.สรรหา) และ ส.ว.หลายท่าน ก็รับปากว่าจะติดตามเรื่องนี้ จะกัดไม่ปล่อย พร้อมทั้งจะตั้งกระทู้ถามถึงเหตุการณ์เกี่ยวกับเรื่อง กบข.”

รองประธานเครือข่ายสมาชิก กบข.แห่งประเทศไทย ยังเตือนด้วยว่า หากหลังสงกรานต์ รัฐบาลยังไม่สามารถให้ความกระจ่างในข้อเรียกร้องที่ได้ยื่นไป ทางเครือข่ายสมาชิก กบข.จะมารวมตัวกันใหม่เพื่อทวงคำตอบ โดยคราวนี้จะมาเป็นเรือนแสนเรือนล้าน!

ส่วนกรณีที่มีสมาชิก กบข.ยื่นฟ้องขอความเป็นธรรมต่อศาลปกครองนั้น ถือว่าไม่ใช่สมาชิกธรรมดา แต่มีสถานภาพเป็นถึงอัยการ นั่นคือ นายประวิทย์ สิทธิถาวร อัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 5 สำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งฟ้องกราวรูดตั้งแต่กองทุน กบข.-คณะกรรมการ กบข.-นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการ กบข.และ นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีคลัง ทั้งนี้ นายประวิทย์ เผยกับวิทยุ ASTVผู้จัดการ ถึงสาเหตุที่ต้องพึ่งศาลปกครองว่า นอกจากพฤติกรรมของผู้บริหาร กบข.จะชัดเจนว่าผิดกฎหมายแล้ว กบข.ยังโกงเงินสะสมของตนในฐานะสมาชิก กบข.เป็นเงินกว่า 130,000 บาท

“เขาทำผิดกฎหมายในประเด็นเรื่องการจัดตั้ง กบข.เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่นะในแง่ข้อกฎหมาย ตามมาตรา 5 ของ พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญปี พ.ศ.2539 เขาระบุไว้เลยว่า เหตุที่ตั้ง กบข.ขึ้นมาเพื่อเป็นหลักประกันให้กับมวลสมาชิก เมื่อออกจากราชการจะได้มีเงินใช้ การหาประโยชน์เนี่ยเป็นเรื่องรอง 2.เป็นแหล่งออมเงินของสมาชิกของข้าราชการ แต่ปรากฏว่า ทาง กบข.เขาไม่สนใจ เขาเอาเงินไปถลุงลงทุนมากมายมหาศาล ซึ่งผิดหลักการของการจัดตั้ง ขัดเจตนารมณ์ของกฎหมายชัดเจนมากเลย”

“ยกตัวอย่างเช่น บริษัท ยานภัณฑ์เนี่ย ที่ กบข.เขาไปซื้อหุ้นไว้ตั้งหลายล้านหุ้น ยานภัณฑ์นี่ตอนหลังนี่ราคาหุ้นจะเหลือ 0 แล้ว ขาดทุนมาก ขาดทุนตั้ง 90% กว่า และทาง กบข.รู้ว่าหุ้น(บ.ยานภัณฑ์) ก.ล.ต.กำลังสอบสวนเรื่องปั่นหุ้น และสุดท้ายข้อสรุปของการสอบสวนก็ปั่นจริง เขาก็เลยลงโทษปรับเป็นเงินไปในช่วงนั้น ผมก็บอกว่า อ้าว! แล้วทำไม กบข.ไม่ขายเททิ้งไปล่ะ เหตุผลก็เพราะว่าในเมื่อผู้บริหารของยานภัณฑ์มันทุจริต คุณไปลงทุนได้ยังไง แสดงว่าคุณไม่ได้สนใจความเสียหายของสมาชิกเลย ในคำฟ้องผมจะบอกอย่างนี้ และเหตุที่ผมต้องไปฟ้อง ก็เพราะ 1.เห็นว่าผิดหลักกฎหมายในเรื่องเจตนาการจัดตั้ง และ 2.เขาโกงเอาเงินผมไป อย่างปี 2551 ผมมีเงินส่งเข้า กบข.ไป 67,000 บาท เขาก็เอาเงินส่วนนี้ไปชดใช้ในการขาดทุนหลายล้านของเขา นอกจากนี้เขาก็เอาเงินขาดทุนของเขาประมาณ 69,000 ไปดึงเอาออกมาจากเงินของผมปี 2550 ซึ่งมีประมาณ 5 แสนกว่า เขาก็เอา 69,000 เนี่ยไปลบ สรุปแล้วเขาไปดึงเงินปี 2550 จำนวน 69,000 และเอาปี 2551 ไป 67,000 ทั้งหมดประมาณ 130,000”


เป็นที่น่าสังเกตว่า บริษัท ยานภัณฑ์ ที่ ก.ล.ต.สอบพบว่าปั่นหุ้น และ กบข.นำเงินไปลงทุนจนขาดทุนนั้น เป็นบริษัทของนายวิชัย ทองแตง อดีตทนายความประจำตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ส่วนกรณีที่ นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการ กบข.ชี้แจงว่า การขาดทุนของ กบข.จากการลงทุนในปี 2551 ที่ทำให้ผลตอบแทนลงทุนติดลบร้อยละ 5.12 เกิดจากวิกฤตเศรฐกิจการเงินโลก รวมทั้งอ้างว่า ผลตอบแทนโดยรวมนับแต่จัดตั้ง กบข.มาตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปัจจุบันยังเป็นบวก ส่วนผลตอบแทนที่ลดลงในปีที่ผ่านมา จะไม่กระทบต่อเงินต้นของสมาชิกส่วนใหญ่ของ กบข. เป็นเสมือน “การขาดทุนกำไร” นั้น นายประวิทย์ ในฐานะสมาชิก กบข.สวนกลับว่า ผู้บริหาร กบข.จะมาอ้างว่าแค่ขาดทุนกำไรไม่ได้ เพราะเมื่อใดก็ตามที่ได้กำไรมา กำไรนั้นก็จะรวมเข้ากับเงินต้นกลายเป็นทุน ดังนั้นขาดทุนก็คือขาดทุน อย่ามาอ้างคำพูดที่สวยหรู เพื่ออำพรางการทุจริตของ กบข.

“คำว่าขาดทุนเนี่ย ไม่ว่าขาดทุนกำไรหรือขาดทุน เป็นการสร้างคำพูดแบบหรูๆ คำว่าขาดทุนก็คือขาดทุน อย่างของผม อย่างนี้จะขาดทุนกำไรมั้ยล่ะ อย่างผมมีเงินสะสมที่ได้หรือพูดง่ายๆ ว่า เงินกำไรที่อยู่ (เป็นสมาชิก กบข.) มา 10 ปีเนี่ย ได้มา 570,000 เป็นเงินกำไรที่สะสมมา 10 ปี และการที่เขาไปเอาเงินจากกองทุน ดึงออกมาจนกระทั่งจาก 570,000 เหลือ 500,000 เนี่ย อย่างนี้มันก็คือขาดทุนน่ะ ไอ้กำไรนี่ก็ มันเป็นเงินของเราไปแล้วน่ะ สมมติคุณขายของได้กำไรมา มันก็กลายเป็นทุนของเรา ไม่ใช่เป็นกำไรอีกแล้ว สรุปแล้วขาดทุนก็คือขาดทุนน่ะ เป็นการสร้างคำพูดให้มันสวยหรู แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วคือเอาเงินของชาวบ้านเขาไปทั้งที่ตัวเองบริหารงานโดยทุจริต เหตุที่ทุจริตเพราะเอาเงินไปลงทุนโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายของสมาชิก ไม่คำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมาย”

“และไปลงทุนโดยที่ ทุกวันนี้ไม่พยายามบอกนะว่า ขาดทุนจากหุ้นไหน ถามก็บอก โอ๊ย! ไม่มีปัญหาหรอก เดี๋ยวปีนี้ก็ได้ทุนคืน ได้กำไรขึ้น ไม่พยายามบอก ปกปิดความจริง บ.ยานภัณฑ์นั่นคือ case study หรือตัวอย่างที่ผมยกให้ศาลมองเห็นว่า ดูสิเนี่ย แม้แต่กรณีศึกษาเนี่ย มันชัดเลย แล้วคุณวิสิฐ (ตันติสุนทร) ที่เป็นเลขาฯ กบข.ก็ยอมรับว่า เราจำเป็นต้องลงทุนในหุ้นที่มีความเสี่ยง เพราะจะได้เอาชนะเงินเฟ้อได้ ผมบอกว่า การที่พูดอย่างนี้ เท่ากับยอมรับว่า กบข.ทำผิดกฎหมาย เพราะ กบข.บอกว่าให้ลงทุนในหุ้นที่มีความมั่นคงสูงสุดตามมาตรา 70 หมายถึงมีความเสี่ยงน้อยที่สุด ไม่ใช่เสี่ยงชนิดว่า โอ้โห! จาก 100% เหลือ 10% อย่าง(บริษัท)ยานภัณฑ์เนี่ยมันใช้ไม่ได้”


นายประวิทย์ ยังชี้ด้วยว่า ที่ผ่านมา กบข.นำเงินหลายแสนล้านไปถลุงอะไรบ้าง ลงทุนอะไรบ้าง ก็ไม่มีใครรู้ เพราะไม่เคยแจ้งให้สมาชิกทราบ ตนในฐานะสมาชิกก็ไม่ได้สนใจ เพราะคิดว่าแต่ละปีได้ผลตอบแทนแค่นิดหน่อย ก็ช่างหัวมัน แต่นี่ กบข.เล่นถลุงเงินเป็นหมื่นๆ ล้าน แถมจะเอาผลขาดทุนมาใส่ให้สมาชิก 1.2 ล้านคน เป็นเรื่องไม่มีเหตุผล ไม่ถูกต้อง ดังนั้นตนจึงต้องฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้สั่งให้การบริหารงานและการลงทุนของ กบข.ในปี 2551 เป็นสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขอให้คืนเงินตน 1.3 แสนบาทพร้อมดอกเบี้ย พร้อมกันนี้ ขอให้ศาลสั่งให้รัฐมนตรีคลังตั้งกรรมการสอบสวนการลงทุนของ กบข.ในปี 2551 รวมทั้งสั่งให้รัฐมนตรีคลังลดขนาดการลงทุนในต่างประเทศของ กบข. เพราะการกำหนดให้ กบข.ลงทุนในต่างประเทศได้มากถึง 25% หรือเกือบแสนล้านบาท รวมทั้งลงทุนในบริษัทห้างร้านได้ถึง 35% นั้น ถือว่ามากเกินไป

นายประวิทย์ ยังฝากถึงเพื่อนสมาชิก กบข.รายอื่นด้วยว่า หากประสงค์จะร่วมเป็นผู้ฟ้องคดีกับตน ก็ยินดี เพราะขณะนี้ตนฟ้องต่อศาลปกครองในฐานะสมาชิกคนหนึ่ง จึงไม่แน่ใจว่า หากตนชนะคดี สมาชิก กบข.คนอื่นที่ไม่ได้ร่วมฟ้องด้วย จะได้รับเงินคืนจาก กบข.เหมือนตนหรือไม่ หรือจะได้รับเฉพาะสมาชิกที่ฟ้องคดีเท่านั้น

นายประวิทย์ สมาชิก กบข.ที่เป็นถึงอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 5 ยังทิ้งท้ายด้วยว่า ตนรู้สึกผิดหวังที่ไม่มีผู้แทนสมาชิกอย่างอัยการสูงสุด, สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน, ผู้พิพากษา หรือตำรวจ ลุกขึ้นมาฟ้อง กบข.ให้เป็นตัวอย่าง ทุกคนต่างเงียบกันหมดเหมือน “น้ำท่วมปาก” ซึ่งอาจเป็นเพราะผู้แทนข้าราชการเหล่านั้นต่างนั่งเป็นกรรมการใน กบข.นั่นเอง แต่สำหรับตน ตนไม่สน “พร้อมจะชนทุกอย่างที่ขวางหน้า” ถ้าคิดว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง แม้ตนจะยังต้องอยู่ในชีวิตราชการอีก 2 ปีถึงจะเกษียณก็ตาม!!
สมาชิก กบข.ต่างรู้สึกผิดหวังและเซ็งการบริหารของ กบข.


ตัวแทนเครือข่ายสมาชิก กบข.ฯ ยื่นข้อเรียกร้องต่อนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง(17 มี.ค.)
รมว.คลังประชุมหารือกับตัวแทนสมาชิก กบข.เพื่อหาทางแก้ปัญหา(17 มี.ค.)
รมว.คลัง กล่าวชี้แจง พร้อมขอเวลา 1 เดือนในการสางปัญหา
กำลังโหลดความคิดเห็น