ฝ่ายค้าน อัด “มาร์ค” ส่งเอสเอ็มเอส หวังอ้อนประชาชนเข้าข่ายรับผลประโยชน์เกิน 3 พัน ชี้ ละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล พร้อมโชว์หลักฐานอีเมล์นัดหารือกับ 3 บริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ ผ่านคนใกล้ชิด และ “กรณ์” ด้าน “อภิสิทธิ์” แจงเจตนาเพื่อสมานฉันท์ ยันไม่มีประโยชน์ทับซ้อน ย้ำเอกชนยินดีให้ความร่วมมือ ขณะที่ “กรณ์” ช่วยแจงยินดีให้ ป.ป.ช.สอบเพื่อเป็นบรรทัดฐาน
วันนี้ (19 มี.ค.) ที่รัฐสภา นายสุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย อภิปรายนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในข้อหามีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยมิชอบ กรณีที่มีการส่งข้อความเอสเอ็มเอสไปยังประชาชนหลังจากที่ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ว่า ภายหลังที่นายอภิสิทธิ์ได้รับเลือกจากสภาให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ แต่ยังไม่ได้มีการโปรดเกล้าฯ มีคนใกล้ชิดนายกฯ คือ จิรายุ ตุลยานนท์ นักวิชาการคณะทำงานผู้นำฝ่ายค้าน และ นายกรณ์ จติกวณิช ได้เรียกผู้บริหารของบริษัทโทรศัพท์มือถือ 3 แห่ง คือ เอไอเอส ดีแทค และทรูมูฟ ซึ่งมีเบอร์ผู้รับบริการประมาณ 53 ล้านเลขหมาย มาหารือที่โรงแรมโฟร์ซีซั่น เพื่อขอให้ส่งข้อความสั้นในนามของนายอภิสิทธิ์
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า แม้จะมีการทักท้วงจากบริษัทประกอบการโทรศัพท์มือถือว่าการส่งข้อความสั้นว่าการส่งข้อความไปยังเลขหมายที่ไม่ได้แจ้งความประสงค์จะรับข้อความสั้น จะถือว่าผิดกฎหมายตามระเบียบของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ในเรื่องการนำข้อมูลไปหาประโยชน์ แต่ไม่ได้รับความสนใจและขอให้ดำเนินการต่อไป และข้อความดังกล่าวมีระบุอีกว่าให้ส่งรหัสไปรษณีย์กลับมาในอัตราค่าบริการ 3 บาทต่อครั้ง โดยผู้ประกอบการระบุว่าการส่งเอสเอ็มเอสจะต้องใช้ค่าใช้จ่ายเลขหมายละ 1 บาท แต่นายอภิสิทธิ์ ก็ไม่ได้จ่ายค่าบริการดังกล่าวให้แก่บริษัท ทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากอัตราภาษีสรรพสามิต จึงต่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ นอกจากนี้หากคิดค่าบริการก็ต้องเป็นเงินจำนวนมากกว่า 3 พันบาทแน่นอน การที่นายอภิสิทธิ์ไม่ได้จ่ายในส่วนนี้ก็เท่ากับได้รับประโยชน์เกินมูลค่า 3 พันบาท
นอกจากนี้ ยังเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอย่างรุนแรง รวมทั้งในความเป็นจริงเอไอเอส และดีแทค ไม่สามารถให้บริการส่งข้อความเสียงได้ มีเพียงทรูมูฟบริษัทเดียวเท่านั้นที่ทำได้ ดังนั้น คนที่ใช้เครือข่ายเอไอเอสและดีแทคส่งข้อความกลับมา ทั้ง 2 บริษัทต้องนำข้อมูลคือหมายเลขโทรศัพท์ส่งไปยังทรูมูฟเพื่อให้ส่งข้อความเสียงกลับมา อันเป็นการนำข้อมูลของลูกค้าทั้ง 2 บริษัทไปให้กับทรูมูฟ ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนอย่างรุนแรง นอกจากนี้ยังมีเรื่องผลประโยชน์ในค่าส่งเอสเอ็มเอสกลับมาในอัตราค่าบริการ 3 บาทต่อครั้ง ก็ไม่ทราบว่าไปอยู่ไหน หรือจะกลายเป็นค่าตอบแทนให้กับนายกฯซึ่งก็จะมีความผิดในการรับของกำนัลมูลค่าเกินกว่า 3 พันบาท
นายอภิสิทธิ์ ชี้แจงว่า สาเหตุที่มีแนวคิดการส่งเอสเอ็มเอส เพราะบ้านเมืองขณะนั้นอยู่ในภาวะความแตกแยกสูง จึงหาวิธีที่จะสื่อสารกับประชาชนโดยตรง โดยให้หลักการว่าจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย และคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน และเรื่องสำคัญกำชับว่าหากจะขอความร่วมมือจะต้องไม่มีเรื่องผลประโยชน์เรื่องการเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง ส่วนเรื่องการละเมิดสิทธิ์ส่วนบุคคลนั้น เราไม่ได้คิดขนาดนั้น เพราะเมื่อเวลาไปงานที่ไหน ก็มีเอสเอ็มเอสต้อนรับ ถ้าพูดถึงการละเมิดสิทธิ์มนุษยชน ต้องถามกลุ่มคนที่เอาเบอร์โทรศัพท์ตนไปประกาศตามสถานีวิทยุเพื่อให้ส่งข้อความหยาบคายเข้ามา ถือว่าละเมิดสิทธิ์มนุษยชนมากกว่าอีก
ด้าน นายกรณ์ กล่าวว่า นายจิรายุเป็นใกล้ชิดของตนและนายกฯ เพราะช่วยทำงานมาหลายปี และมีการหารือที่โรงแรมโฟร์ซีซั่นจริง แต่ไม่เข้าใจว่าเหตุใดผู้อภิปรายจึงพยายามทำให้เป็นความลับ ทั้งๆ ที่การพูดคุยก็ทำโดยเปิดเผยและไม่เคยปฏิเสธว่ามีการพูดคุยกัน ยืนยันว่าตนไม่เคยใช้อำนาจหน้าที่บีบบังคับบริษัทเอกชน เพราะในช่วงที่เจรจาตนเป็นเพียงส.ส.คนหนึ่ง ไม่ใช่รมว.คลัง เพราะนอกจาก 3 บริษัทนี้ยังมีบริษัท ฮัทชิสัน ที่ กสท ถือหุ้นใหญ่และประธานกสท คือ รองปลัดกระทรวงการคลัง หากตนใช้อำนาจหน้าที่บีบบังคับจริง บริษัทแรกที่จะให้ความร่วมมือ คือ ฮัทชิสัน แต่สุดท้ายบริษัทนี้ก็ไม่มาร่วมโครงการ ซึ่งก็ไม่มีปัญหาอะไร และได้ตำแหน่ง รมว.คลัง ก็ไม่ได้เพราะดำเนินการเรื่องนี้ แต่เป็นเพราะตนเป็น รมว.คลังเงา มาตั้งแต่แรก
นายกรณ์ กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องการนำข้อมูลของเอไอเอเอส และดีแทคไปให้บริษัท ทรูมูฟ เพื่อให้ส่งข้อความเสียงนั้น เป็นเรื่องของบริษัทเอกชนตกลงกันเอง เพราะทรูมีประสิทธิภาพในการส่งข้อความเสียงมากกว่า และข้อมูลดังกล่าวเป็นเพียงหมายเลขโทรศัพท์ไม่สามารถดูได้ว่าเป็นเจ้าของ
นายกรณ์ กล่าวว่า การส่งเอสเอ็มเอสไปจำนวน 17 ล้านเลขหมาย แต่มีประชาชนตอบกลับมา 3.4 แสนเลขหมาย ซึ่งรายได้ที่คิดค่าบริการครั้งละ 3 บาทนั้นก็เป็นเรื่องของบริษัทที่จะได้รับและทำรายการการเสียภาษี ส่วนค่าใช้จ่ายในการส่งข้อความของนายกฯนั้น รัฐบาลไม่ได้จ่ายค่าบริการ เพราะเป็นการขอความร่วมมือกับบริษัทเอกชน ซึ่งยินดีร่วมสร้างความสมานฉันท์ ส่วนเรื่องภาษีนั้น กระทรวงการคลังก็ไม่ได้ละเว้น โดยในรายการการเสียภาษีเดือนม.ค. 52 ก็มีรายการผลประกอบการจากการส่งข้อความด้วย และตนก็ไม่เคยมีส่วนร่วมทำทุจริตด้วยการแก้สัมปทานเอื้อประโยชน์ให้เจ้าของบริษัทมือถือแต่อย่างใด ตนยินดีที่ฝ่ายค้านส่งเรื่องนี้ให้ป.ป.ช.ตัดสิน เพื่อให้เกิดความชัดเจน จะได้กำหนดกติกาในการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายมือถือเพื่อบริการสาธารณะได้