“มาร์ค” ยันไม่เคยดีใจออกนอกหน้าที่ต้องกู้เงินต่างชาติ ย้อนเจ็บ ยุค “ทนง” นั่งคลัง “แม้ว” นั่งรองนายกฯ เคยแสดงความดีใจออกนอกหน้ากลางสภา รับคำท้าขึ้นภาษีสรรพสามิตแอลกอฮอล์ ยันเงินบริจาคพรรคถูกต้อง ตอกหน้า “เหลิม” ไม่มีประเด็นที่ตั้งข้อสงสัย ในการทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินต่อไป
วันนี้ (19 มี.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ตอบข้ออภิปรายของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธาน ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่มีการระบุว่านายกฯ พูดทำนองว่าดีใจที่กู้เงินจากญี่ปุ่นได้ว่า ตนไม่เคยแสดงความดีอกดีใจอะไรในเรื่องของการจะกู้ยืมเงิน แต่ว่าเงินกู้ญี่ปุ่นที่ทางฝ่ายญี่ปุ่นแจ้งตนมาเองว่าเขาพร้อมให้การสนับสนุนก็เป็นโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ซึ่งตนเห็นว่าเป็นโครงการที่ดีและสมควรสนับสนุนต่อไป และที่ผ่านมาที่รัฐบาลดำเนินการในโครงการนี้ก็พบความเป็นจริงว่ายังไม่เรียบร้อยในแหล่งเงินทุน เขาแจ้งมาตนก็มาแจ้งให้กับประชาชนทราบ แต่ว่าก็ดำเนินการตามขั้นตอนของการเจรจาต่อไป
“ไม่ใช่ว่าดีอกดีใจว่ากู้เงินได้ อยากจะกราบเรียนว่า ตั้งแต่รัฐบาลเข้ามาในเรื่องของการจัดงบประมาณขาดดุลก็เป็นแนวทางต่อเนื่อง เรื่องความคิดที่จะกู้เงินต่างประเทศมาประคับประคองสถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงปีนี้ปีหน้า ก็เป็นเรื่องที่มีความต่อเนื่องมาจากรัฐบาลที่แล้วด้วยซ้ำ และกราบเรียนว่าที่จริงแล้วในความรู้สึกของผมไม่ได้มีความดีอกดีใจอะไร แต่เป็นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจไปตามความจำเป็น เพราะว่าพูดตามความเป็นจริงแล้ว เราต้องการเงินมาประคับประคองไม่ให้คนของเราตกงานครับ”
นายกฯ กล่าวอีกว่า แต่เมื่อเศรษฐกิจโลกการค้าหายไปร้อยละ 30-40 รายได้ของรัฐบาลและภาษีอากรก็ลดลงไปด้วย ทางเลือกก็มีคือขึ้นภาษี กู้เงินหรือขายทัรพย์สมบัติของชาติ ตนก็ตัดสินใจจากสามแนวทางว่า แนวทางที่ดีที่สุดคือกู้เงินมาใช้ลงทุนในโครงการที่เป็นประโยชน์
“ถ้าถามเรื่องความดีอกดีใจ ที่จริงผมเคยนั่งอยู่ตรงฝ่ายค้านแล้วเคยฟังรัฐบาลชุดก่อนประชาธิปัตย์เมื่อปี 2540 ตอนนั้นนายทนง พิทยะ เป็นคนมาเล่าให้สภาฟังด้วยความภูมิอกภูมิใจว่าสามารถให้ญี่ปุ่นเอาเงินไปสมทบให้ IMF มาให้เรากู้เงินได้ แล้วท่านรองนายกฯ ทักษิณ (ชินวัตร) ก็นั่งอยู่ตรงนี้ นั่นแหละครับ เป็นครั้งเดียวที่สภาเคยได้รับแจ้งว่ารัฐบาลมีความดีใจที่กู้เงินได้ เท่าที่ผมจำได้” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
ส่วนกรณีที่มีการท้าทายให้ขึ้นภาษีอากรนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนให้นโยบายกระทรวงการคลังไปแล้วว่าถ้ามีความจำเป็นต้องจัดเก็บเพิ่มขึ้น ตัวแรกที่จะดูคือเรื่องเบียร์และเหล้า ซึ่งเป็นแนวทางที่ได้หาเสียงเอาไว้
นายอภิสิทธิ์ยังอภิปรายชี้แจงกรณีเงินบริจาคพรรคจากทีพีไอว่า เหตุการณ์ทั้งหมดที่ท่านกล่าวถึงตามคำอภิปรายของท่าน คือ 84 วัน เป็นช่วง ประมาณปลายปี 2547 ต่อเนื่องมาจากถึงการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 ก.พ.2548 ซึ่งตนมีความรับผิดชอบในฐานะรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่เป็นหัวหน้าพรรค คือ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน โดยมีนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ เป็นเลขาธิการพรรคฯ ท่านก็พร้อมที่จะชี้แจงเหตุการณ์ต่างและจะยืนยันว่าตนนั้นไม่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบในเรื่องของการจัดทำโครงการและเรื่องเงิน แต่ว่าการดำเนินการที่จะกล่าวหาปชป.ก็สามารถที่จะทำได้ตามกฎหมาย
“สิ่งที่ผมต้องกราบเรียนก่อนก็คือว่า ที่ท่านสมาชิกอภิปรายให้คนเข้าใจว่า หนึ่งผมไปสมรู้ร่วมคิด มีการพบปะที่โรงแรมนั้นกับบุคคลนี้รู้จักกับคนนั้นคนนี้ เช่น บริษัท ทีพีไอ ต้องกราบเรียนว่าผมไม่ได้เกี่ยวข้องเลย แล้วถ้าท่านคิดว่าผมเกี่ยวข้องก็คงจะต้องมาแสดงเอกสารหลักฐานข้อมูล ที่บอกว่าผมเข้าไปพบปะอย่างที่กล่าวหา ประการที่ 2 เมื่อผมมาเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ผมไม่เคยเข้าไปแทรกแซงกระบวนการสืบสวนสอบสวนขององค์กรใดๆ ทั้งสิ้น ดังนั้น เรื่องนี้ที่ท่านอภิปรายโดยพูดถึงคดีพิเศษ ซึ่งผมเข้าใจว่าเป็นเรื่องของบริษัทก็ดำเนินต่อไป และผมฟังบางครั้งคนเข้าใจผิดได้ว่า เมื่อคืนนี้ผมไปทำอะไรเพราะว่าเกรงกลัว ทั้งที่ผมนอนหลับสบายดีอยู่ที่บ้านและวันนี้ก็พร้อมมาชี้แจง” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายกฯ กล่าวอีกว่า ในช่วงที่ตนเป็นรองนายกฯ เป็นช่วงที่เกิดขึ้นปลายปี 47 ต่อเนื่องปี 48 และหลังจากการเลือกตั้งนายบัญญติได้ลาออกและเปิดให้เลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่และผู้บริหารชุดใหม่ ตนก็เข้ามาทำหน้าที่ตั้งแต่เดือน เม.ย. โดยหน้าที่มีสองส่วนคือ ถ้าท่านบอกว่ามีการบริจาคเข้ามาสู่พรรคก็ต้องแจ้งให้ กกต.ทราบ ซึ่งอันนี้ไม่ได้แจ้งเป็นรายปีเพราะเมื่อมีเงินบริจาคเข้ามาเขาจะมีการกำหนดให้มีการแจ้งเป็นระยะ ดังนั้นแทบจะทุกสัปดาห์หรือทุกเดือนต้องมีการเซ็นแจ้งเงินบริจาคไปยัง กกต. ตนก็ทำสมบูรณ์ตั้งแต่เป็นหัวหน้าพรรค
ส่วนที่ 2 คือ เมื่อตนเข้ามาบังเอิญเป็นช่วงที่จะมีการรับรองงบดุลของปี 47 ซึ่งต้องเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ของพรรคด้วย กระบวนการคือเมื่อตนเข้ามาต้องให้เจ้าหน้าที่รวบรวมเอกสารหลักฐานทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการเงินของพรรคและให้มีผู้สอบบัญชีเข้ามาสอบ ซึ่งก็เข้ามาดูว่างบดุลเป็นไปตามเอกสารหลักฐานหรือไม่ เขาก็ต้องรับรอง จากนั้นก็เสนอมาให้นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เหรัญญิกพรรคขณะนั้น ท่านก็ตรวจสอบว่าถูกต้องตามเอกสารที่มีอยู่ และได้ลงนามพร้อมเสนอมาที่ตน และเมื่อเห็นว่าผ่านกระบวนการตรวจสอบมาแล้วตนก็ลงนามในงบดุล
นายอภิสิทธิ์กล่าวอีกว่า ส่วนปัญหาในเรื่องของปี 48 ซึ่งตนไปรับรองในปี 49 ก็มีประเด็นในการใช้จ่ายในการเลือกตั้งในช่วงต้นปี ตรงนี้อยากจะเรียนว่านอกจากงบดุลแล้วเรื่องค่าใช้จ่ายการเลือกตั้งก็ต้องมีการแสดงในส่วนของพรรค ซึ่งมีการแสดงไปและ กกต.ก็ได้ตรวจสอบ และในการตรวจสอบของ กกต.ก็มีการซักถามในประเด็นที่มีความสงสัยว่าถูกต้องหรือไม่ ซึ่ง กกต.ก็มีหนังสือมาถึง ปชป.ตั้งข้อสังเกตบางประเด็นต่ำไม่มีประเด็นที่ ร.ต.อ.เฉลิม อภิปรายเลย
“ดังนั้น ตรงนี้ผมได้ทำหน้าที่หัวหน้าพรรคในการรายงานเงินบริจาคต่างๆ และในการรับรองงบดุลอย่างถูกต้องสมบูรณ์แล้ว จึงไม่มีประเด็นอะไรที่ตั้งข้อสงสัยในการทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินต่อไป” นายอภิสิทธิ์ กล่าว