xs
xsm
sm
md
lg

บัญญัติผวาสร้างพยานเท็จหลังDSIสอบเงินบริจาค258ล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มาร์ค ขอดูข้อมูลในการซักฟอกของฝ่ายค้าน ถ้ามีน้ำหนักก็พร้อมปรับ ครม. เตรียมถกประธานสภาฯ สะดวกที่จะถูกอภิปราย 25-27มี.ค. ขณะที่ บัญญัติ ชี้แค่เรื่องเก่า หวังแค่ดีสเครดิต อภิสิทธิ์ กดดันให้ยุบสภาก่อนกำหนด มั่นใจนายกฯและรัฐมนตรีทุกคนชี้แจงได้ แต่ยอมรับห่วงมีมือดีสร้างพยานเท็จปมเงินบริจาค 258 ล้านบาท หวังผลให้ ปชป.ถูกยุบ หลังดีเอสไอ ไปตรวจสอบเรื่องราวของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ด้าน ประชา โวอีก เป็ดเหลิม กำข้อมูลเด็ดโค้นรัฐบาล

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการยื่นญัตติอภิปราย ไม่ไว้วางใจ ของพรรคฝ่ายค้านโดยไม่ยอมเปิดตัวผู้อภิปรายอ้างว่ากลัวถูกลอบบี้ว่า คงไม่มีใครไปล็อบบนี้ เพราะตนประกาศตั้งแต่ต้นแล้วว่ายอมรับการตรวจสอบ อยากให้เขาทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ตนเป็นฝ่ายค้านมาก่อนรู้ดีว่าเป็นหน้าที่ที่สำคัญที่ต้องทำ
ตอนผมเป็นฝ่ายค้านก็เรียกร้องมาตลอด เมื่อมาเป็นรัฐบาลเราก็ต้องยืนยันจุดนี้ที่พร้อมจะถูกอภิปราย ผมสะดวกจริงๆ วันที่ 25-27 มี.ค. แต่ต้องอยู่ที่ท่านประธานสภาฯ ส่วนจะเปิดให้ยาวเลยหรือไม่ก็แล้วแต่จะตกลง แต่ที่ทราบ 2วัน ของผมโดน 1 วันเต็มๆ
ส่วนหากข้อมูลในการอภิปรายมีความชัดเจนเพียงพอจะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะไม่ยกมือให้รัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าต้องเห็นข้อมูลก่อนว่าหนักแค่ไหน การอภิปรายหลายครั้งส่งผลในทางการเมือง มีการเปลี่ยนแปลงบ้าง หรืออาจไม่เปลี่ยนแปลงรัฐบาล ก็เปลี่ยนในรัฐบาล ต้องขอฟังข้อมูลก่อน ถ้ามีน้ำหนักเป็นประโยชน์ในการชี้ให้รัฐบาลปรับเปลี่ยนแล้วมันบริหารดีขึ้นก็ควรจะทำ แต่หากว่าไม่ได้ส่งให้ให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลง หรือเปลี่ยนแล้วไม่ดีขึ้นก็ควรจะเดินหน้าต่อ
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะไม่มีการบังคับว่าต้องโหวตไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่มีหรอก ที่ผ่านมาทุกพรรคการเมืองจะดูข้อสันนิษฐานว่ามันไม่มีปัญหาอะไร แต่พอฟังข้อมูลเสร็จก็ต้องไปประชุมพรรคกัน ครั้งนี้ก็คงเหมือนกัน
นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี 5 คนของพรรคฝ่ายค้านว่า เป็นญัตติที่สุดๆ ใน 2 เรื่อง คือ เป็นการเอาเรื่องที่เก่ามากมาเป็นญัตติอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น การนำเรื่องหลีกเลี่ยงข้าราชการทหารของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นเรื่องเมื่อ 20 ปีมาแล้ว และเป็นญัตติที่ให้เวลารัฐบาลน้อยที่สุดคือ 2 เดือนเท่านั้น ซึ่งปกติจะให้เวลารัฐบาลทำงานอย่างน้อย 5-6 เดือน
อีกทั้งเมื่อดูเนื้อหาสาระของญัตติแล้วจะเห็นว่าไม่ค่อยมีอะไร และน่าจะไม่ใช่ความมุ่งหมายของการเปิดญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลด้วยซ้ำ เพราะตามหลักแล้วต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดิน แต่หลายเรื่องยังไกลจากตรงนี้ ฉะนั้นดูแล้วเป็นประเด็นที่มุ่งมาสู่ตัวนายกรัฐมนตรีในลักษณะ เพื่อทำลายเครดิตความน่าเชื่อถือของนายกรัฐมนตรีให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ โดยมีเป้าหมายให้รัฐบาลทำงานไม่ได้และมีการยุบสภาก่อนกำหนด แต่ตนคิดว่า อาจจะเป็นเป้าหมายที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น เพราะถ้ารัฐบาลบริหารได้อยู่บริหารบ้านเมือง ตามสมควร ตนเชื่อว่าแก้ปัญหาได้
มันไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น ยิ่งมาประกอบกับยุทธศาสตร์ 3 ยุทธศาสตร์ คือ ใช้กลุ่มคนเสื้อแดงชุมนุม ทำกิจกรรมไปเรื่อยๆ ต่อต้านประท้วง อภิปรายไม่ไว้วางใจ ในสภา และกลุ่มคนเสื้อแดงชุมนุมเพื่อขยายผล ฉะนั้นถ้าดูเช่นนี้แล้วมันไม่มีทางวิเคราะห์เป็นอย่างอื่นเลย นอกจากมุ่งทำลายเครดิตนายกรัฐมนตรี เพื่อให้รัฐบาลอ่อนแอ ทำงานไม่ได้ และบอกว่ารัฐบาลไม่มีฝีมือ ซึ่งอันนี้จะสอดคล้องกับสิ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ประกาศบ่อยครั้งว่าพรรคประชาธิปัตย์ แก้ปัญหาประเทศไม่ได้ เพราะไม่ได้เป็นพรรคที่ตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา ผมคิดว่าทั้งหมดมุ่งไปสู่ยุทธศาสตร์นั้น
ส่วนที่มีการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธ์ รมช.คลัง ในฐานะอดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์นั้น นายบัญญัติ กล่าวว่า คงเป็นเรื่อง เงินบริจาค 258 ล้านบาท ที่มีการออกมาพูดกัน ซึ่งความจริงแล้วพวกตนได้ชี้แจง มาหลายครั้งว่าเป็นการเอา 2 เรื่องมาปนกัน คือ เอาเรื่องที่บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไปว่าจ้าง บริษัทแมสไซอะฯประชาสัมพันธ์ภาพพจน์ ซึ่งที่ตนพูดเช่นนี้บริษัทได้ออกมาแถลงชัดเจนว่าเป็นการประชาสัมพันธ์ของบริษัทโดยตรง ไม่เกี่ยวกับการบริจาคให้พรรค และใครทำให้เกิดความสับสน หรือ บริษัทเสียหาย ก็จะฟ้องร้อง จากนั้นเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่อง 258 ล้านบาทหายไป เหลือ 23 ล้านบาท ซึ่งเป็นยอดวงเงินที่พรรคประชาธิปัตย์จ้างบริษัทแมสไซอะฯ ทำแผ่นป้ายโฆษณาทั้งใหญ่ และ เล็กจากงบของ กกต. แต่มีการนำ 2 เรื่องนี้มาปนกัน
และวันดีคืนดีไปเห็นว่ารายงานที่ส่งไปยัง กกต.ลงชื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งความจริงเรื่องนี้เกิดขึ้นในยุคที่ผมเป็นหัวหน้าพรรค แต่เมื่อแพ้เลือกตั้งจึงลาออก และ นายอภิสิทธิ์เข้ามาพอดีก็มาลงนามในรายงานที่ทำไว้เสร็จเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตามไม่รู้สึกหนักใจ เพราะ กกต.ได้ออกมาให้ข่าวว่า ไปตรวจสอบหมดแล้ว ไม่ปรากฎว่าบริษัทนี้ได้บริจาคเงินให้กับพรรคประชาธิปัตย์ ดังนั้นจึงเชื่อว่านายประดิษฐ์ชี้แจงได้อยู่แล้ว ทั้งนี้ในการอภิปรายหากมีการพาดพิงมาถึงผม ก็คงต้องขอใช้สิทธิ์พาดพิงชี้แจง
ส่วนที่มองกันว่าการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่องดังกล่าวหวังผลถึงการยุบพรรค นายบัญญัติ กล่าวว่า เรื่องการยุบพรรคไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะมีขั้นมีตอนทางกฎหมาย แต่ที่กังวลหรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ไปตรวจสอบเรื่องราวของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ดังกล่าว แล้วเกิดมีนักเลงดี ไปซื้อพยานเพียง 1-2 คนว่าให้ช่วยเบิกความพาดพิงถึงพรรคประชาธิปัตย์ หากเป็นอย่างนี้สังคมอาจจะตื่นเต้นกันได้ เพราะฟังดูน่าเชื่อถือ แต่สำหรับคนที่เกี่ยวข้องกับการทำคดีความจะทราบว่าเพียงลำพังพยานปากหนึ่งปากใด ไม่เพียงพอแก่การที่จะทำให้ทุกอย่างสรุปตามนั้น จึงไม่ค่อยวิตกกังวล และเชื่อว่าจะไม่มีการหักหลังกัน
ครั้งนี้เขาคงอภิปรายกันสนุก เพราะมีพนักงานสอบสวนอยู่หลายคน แต่ไม่น่าจะมีอะไรมากกว่าที่คุณสุนัย จุลพงศธรนำมาอ่านในสภา และที่คนเสื้อแดง เอามาอ่านหลายครั้ง หรือถ้ามากไปกว่านั้นอาจจะมีการเตี๊ยมพยานเพิ่มเติมไปอีก 1-2 คน ไปให้การเพิ่มเติมที่ดีเอสไอในภายหลัง ซึ่งเราก็ไม่อาจทราบได้ เพราะไม่ได้แทรกแซงการทำงานของเขา แต่ผมคิดว่ามันหักล้างได้ เพราะอะไรที่ไม่มีอยู่จริง มาทำให้มีอยู่จริง ก็เป็นภาวะชั่วคราว เราไม่ได้ปรามาสฝีมือร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง แต่ผมมั่นใจในความสุจริตคนของพรรค ส่วนเขาเองก็มีสิทธิจินตนาการ เพราะคนเป็นพนักงานสอบสวนก็มีหน้าที่จินตนาการ”นายบัญญัติ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะรับรองรัฐมนตรีพรรคอื่นด้วยหรือไม่ นายบัญญัติ กล่าวว่า ยังเชื่อว่ารัฐมนตรีเกือบทุกคนในวันนี้คงยังไม่มีอะไรผิดพลาด เพราะระยะเวลาที่เข้ามาบริหารสั้นมาก และช่วงหลังคิดว่าคนที่มาทำหน้าที่บริหารบ้านเมือง ทราบว่าเป็นการทำงานภายใต้การเอาแพ้เอาชนะระหว่างกัน การจ้องจับผิดมีอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นการจะทำอะไรจะต้องดูว่ามีอำนาจตามกฎหมายหรือไม่ และช่วงเวลาแค่นี้ ตนคิดว่าฝ่ายค้านใจร้อน แต่อย่างที่ตั้งข้อสังเกตอาจจะต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่กำหนดเอาไว้แล้วว่าควรต้องทำ เพราะถ้าไม่เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ คงต้องรออีก 1 ปี เนื่องจากสมัยประชุมหน้าอภิปรายไม่ได้แล้ว
นายประชา ประสพดี ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ฝ่ายค้านจะได้ข้อสรุปทีมงานอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีรายบุคคล ในวันอังคารที่ 17 มี.ค.นี้ เบื้องต้นคาดว่าจะมี ส.ส.ของพรรค อภิปรายนายกรัฐมนตรี นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ และ นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง มากที่สุด
นายประชา อ้างว่าข้อมูลที่นำมาอภิปรายไม่ใช่ข้อมูลเก่าเช่นที่พรรคประชาธิปัตย์กล่าวหา แต่เป็นข้อมูลใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดินทั้งหมด โดย ข้อมูลเด็ดที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธาน ส.ส.พรรคเพื่อไทย เป็นผู้นำอภิปราย เชื่อว่าจะทำให้รัฐบาลไม่ผ่านกระแสสังคม แม้ว่าจะชนะโหวตในสภาก็ตาม
ส่วนกรณี นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกส่วนตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ท้าทายให้ ร.ต.อ.เฉลิม ใช้ตำแหน่ง ส.ส.เป็นเดิมพัน หากไม่สามารถล้มรัฐบาลได้ นายประชา กล่าวว่า ตนเห็นว่า เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ และเป็นการใช้สิทธิส่วนบุคคล
กำลังโหลดความคิดเห็น