xs
xsm
sm
md
lg

“ส.ว.” แฉอุตฯ ขึ้นบัญชี 13 สมุนไพรเอื้อพ่อค้าสารเคมี เตรียมยื่นกระทู้ รมต.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ส.ว.โวยประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมวิปริต ขึ้นบัญชีพืชสมุนไพรไทย 13 ชนิดเป็นวัตถุอันตราย หลังศาลปกครองกลางสั่งทุเลาการบังคับ แฉเอื้อประโยชน์กลุ่มธุรกิจสารเคมีโดยเฉพาะ เตรียมยื่นกระทู้ถาม รมต.

วันนี้ (13 มี.ค.) ที่รัฐสภา นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหาพร้อมด้วยพ.ญ.พรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ และนางนิลวรรณ เพชระบูรณิน สมาชิกวุฒิสภาสรรหา แถลงข่าวร่วมกันโดยนายประสาร กล่าวว่า หลังจากศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับ 6) พ.ศ.2552 ลงวันที่ 29 มกราคม 52 ให้ยกเลิกรายชื่อวัตถุอัตรายซัลเฟอร์ และรายชื่อวัตถุอันตรายเฉพาะบัญชี ข.ในความรับผิดชอบของกรมวิชาการเกษตรคือผลิตภัณฑ์จากชิ้นส่วนพืชสมุนไพรจำนวน 13 รายการนั้น มีหลักฐานสำคัญที่ชี้ว่าสำนักงานอัยการสูงสุดได้ตอบข้อหารือของกรมโรงานอุตสาหกรรมลงวันที่ 22 มกราคม 2552 ระบุว่า “หากกระทรวงอุตสาหกรรมจะออกประกาศยกเลิกการกำหนดให้ Sulfer Cas Number 7704-43-9 เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ก็จะทำให้การกระทำดังกล่าวไม่มีความผิดทางอาญาอีกต่อไป จึงขอตั้งข้อสังเกตว่าเป็นความจงใจที่ต้องการหยิบสารซัลเฟอร์ ซึ่งเป็นสารที่ใช้ในการกำจัดศัตรูพืชและฆ่าแมลงออกจากตะกร้าวัตถุอันตรายด้วย ซึ่งอาจทำให้ค่าปรับเกือบหมื่นล้านบาทสูญเสียไปทันที ทั้งนี้ หากกระทรวงอุตสาหกรรมจะอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองก็เท่ากับเป็นการท้าทายเครือข่ายเกษตรกรรมธรรมชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นายประสารกล่าวอีกว่า จากข้อเท็จจริงพบว่าในปี 2551 กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินคดีในข้อหา “ความผิดฐานสำแดงเท็จหลีกเลี่ยงภาษีอากร” ต่อผู้ประกอบการจำนวน 6 รายการ รวมมูลค่าสารซัลเฟอร์ 1,200 ล้านบาท และยังมีคดีที่กรมศุลกากรตรวจค้นจับกุมแจ้งความดำเนินคดีอีก 21 รายการ มูลค่า 1,267 ล้านบาท รวม 27 รายการมีมูลค่า 2,467 ล้านบาท โดยผู้ประกอบการดังกล่าวต้องถูกปรับตามกฎหมายภาษีศุลกากรเป็น 4 เท่าของมูลค่าสิ่งของเป็นเงินเกือบหมื่นล้านบาท ซึ่งตนและเพื่อน ส.ว.จะยื่นกระทู้ถามรัฐมนตรีในประเด็นนี้ด้วย

ด้าน พญ.พรพันธ์ กล่าวเสริมว่า การที่กระทรวงอุตสาหกรรมฉวยโอกาสใส่ชื่อวัตถุอันตรายที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมวิชาการเกษตร 9 รายการ ซึ่งรวมสาร Diazinon, Difethialone ซึ่งมีผลต่อร่างกายในด้านพิษเฉียบพลัน กล้ามเนื้อบีบตัวอย่างรุ่นแรง แจะอาจถึงแก่ชีวิตถ้าปนเปื้อนในน้ำจะเป็นอัตรายต่อสัตว์น้ำที่เป็นอาหารของมนุษย์ และองค์การอนามัยโลกจัดอยู่ในสารที่มีอันตรายมากหากสัมผัสเป็นจำนวนมากจะถึงแก่ชีวิต และเป็นสารที่ก่อมะเร็งด้วย และวัตถุอัตรายในความรับผิดชอบของกรมโรงานอุตสาหกรรม จำนวน 5 รายการ ซึ่งรวม Chloropicrin และ Sulfur ซึ่งมีผลต่อทางเดินหายใจ ถ้าปนเปื้อนอาหารจะทำให้ท้องเดินอย่างรุนแรง และป็นสารก่อมะเร็ง รวมถึงอัตถุอันตรายในความรับผิดชอบของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ จำนวน 8 รายการ ซึ่งรวมถึง Cobalt-60 ซึ่งเป็นสารกัมมันตภาพรังสี ที่ปล่อยรังสีแกมมาซึ่งจะทำให้ร่างการถูกทำลาย เม็ดเลือดขาวให้มีจำนวนลดลง ถ้าสัมผัสผิวหนังจะเกิดการไหม้เกรียมมีลักษณะเช่นเดียวกับคนไข้โรคมะเร็งที่ได้รับการฉายรังสี ผลของรังสีจะทำให้ดีเอ็นเอเปลี่ยนแปลงเป็นโรคมะเร็งได้ จึงเป็นเรื่องที่หาเหตุผลมาอธิบายทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้ว่าเหตุใดสารเหล่านี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจึงพ่วงเข้ามาต่อท้าย ให้ยกเลิกการเป็นวัตถุอันตรายที่ต้องอยู่ในความควบคุม ซึ่งจะทำให้สามารถนำไปใช้ได้อย่างอิสระ ในชุมชนทั้งที่เป็นภัยร้ายแรงต่อสุขภาพประชาชน แต่จะเป็นผลดีอยู่ฝ่ายเดียวคือเฉพาะผู้ค้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น