xs
xsm
sm
md
lg

ส่อไม่อุทธรณ์-ไฟเขียว “มาบตาพุด” เป็นเขตควบคุมมลพิษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การประท้วงของชาวบ้านมาบตาพุดต่อกรณีปัญหามลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นอยู่เนืองๆ
รัฐบาลส่อไม่อุทธรณ์ “มาบตาพุด” ให้ประกาศเขตควบคุมมลพิษ ตามคำตัดสินศาลปกครอง ด้านที่ปรึกษานายกฯ ลั่นต้องทำเรื่องให้จบโดยเร็วเพื่อประโยชน์ประชาชน พร้อมระบุผ่านขั้นตอนครบแล้ว ขณะกรรมการอีสเทิร์นซีบอร์ดโยน “มาร์ค” ชี้ขาดจันทน์นี้ ด้านสภาอุตสาหกรรม อ้างได้รับผลกระทบทางธุรกิจให้เอกชนฟ้องศาลปกครองบ้าง

วันที่ 13 มี.ค. นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวก่อนการประชุมคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก (อีสเทิร์นซีบอร์ด)ว่า ได้มอบหมายให้นายสาวิตต์ โพธิวิหค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธานในที่ประชุม เนื่องจากสามารถนำข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และข้อสรุปในวันนี้ เสนอให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีโดยตรงในการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในวันจันทร์ที่ 16 มี.ค.นี้

นายสาวิตต์ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมว่า ที่ประชุมรับทราบคำสั่งศาลปกครอง จ.ระยอง จากปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเข้าใจว่า คณะกรรมการฯชุดนี้มีอำนาจเพียงรับฟังปัญหาจากภาคเอกชนและจะนำข้อเสนอรายงานนายกรัฐมนตรีเท่านั้น อย่างไรก็ตามเท่าที่รับทราบการประกาศให้พื้นที่บริเวณมาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษได้ดำเนินมาในทุกขั้นตอนแล้ว แต่ยังมีมุมมองที่แสดงความเป็นห่วงจากภาคเอกชนและราชการทั้ง 2 ทาง เพราะภาคเอกชนก็ยังเป็นห่วงผลกระทบที่จะเกิดกับการลงทุนเป็นหลัก

ส่วนความเป็นไปได้ที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติจะยื่นอุทธรณ์หรือไม่นั้น ส่วนตัวเห็นว่า การแก้ไขปัญหาควรจะยึดหลักผลประโยชน์เพื่อประชาชน เนื่องจากหากปล่อยให้เรื่องบานปลายก็จะเกิดปัญหา จึงควรจะเร่งดำเนินการให้เรื่องจบโดยเร็ว เรื่องจะได้จบๆ

นายสาวิตต์ กล่าวว่า ปัญหาเช่นเดียวกันนี้อาจจะกระทบกับแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (เซาเทิร์นซีบอร์ด)เช่นเดียวกัน แม้ตอนนี้ยังไม่มีการบรรจุแผนเซาเทิร์นซีบอร์ด แต่เชื่อว่า การเชื่อมโยงอาจจะไปกระทบกับประชาชนในพื้นที่ภาคใต้หรือพื้นที่อื่นๆ เช่นกัน ดังนั้นประชาชนก็มีสิทธิที่จะไม่เห็นด้วย และประชาชนก็มีสิทธิแสดงออกเช่นกัน ตรงนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ

ด้า นนายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เรารับฟังความคิดเห็นวันนี้จากภาครัฐ แต่หากมีความเป็นไปได้ว่ารัฐโดยเฉพาะคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ไม่ยื่นอุทธรณ์ ภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบก็คงจะต้องยื่นฟ้องศาลปกครองเอง เหมือนกับภาคประชาชนที่ยื่นฟ้องศาลปกครอง จ.ระยองในเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่เราจะยื่นฟ้องในฐานะที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ทั้งภาคการลงทุน ภาคบริการ และภาคการท่องเที่ยว

“ส.อ.ท.เพียงให้ข้อมูลกับผู้ที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติม และผู้ที่ได้รับผลกระทบจริงๆ จะสามารถเข้าไปชี้แจงกับศาลปกครองได้ เพราะเราก็มีสิทธิที่จะขอยื่นรับความเป็นธรรมเช่นกัน เพราะเราก็หารือกับประชาชนในพื้นที่ 25 ลุ่มน้ำภาคตะวันออกเช่นกัน”

นายสันติกล่าวว่า มีผู้เสนอให้มีการออกโมเดลประเทศใหม่เพื่อให้การดำเนินการในส่วนของการลงทุนและสิ่งแวดลอมไม่กระทบกัน เพราะหากมีการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลภาคใต้ขึ้นมาจะได้ไม่มีปัญหาเกิดขึ้นอีก เช่น การวางแผนการควบคุมมลพิษระดับจังหวัดหรือท้องถิ่น โดยรัฐเป็นผู้จัดหางบประมาณและเครื่องมือ

รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านั้นนายสันติได้มอบหมายให้ทีมงานด้านกฎหมายของ ส.อ.ท.ศึกษาความเป็นไปได้ในการที่เอกชนในฐานะผู้ได้รับผลกระทบจะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองโดยตรงได้หรือไม่หากกรณีที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ไม่ดำเนินการยื่นอุทธรณ์ต่อกรณีการประกาศให้พื้นที่บริเวณมาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ

“หากไม่มีการยื่นอุทธรณ์เอกชนก็กำลังดูความเป็นไปได้ในการยื่นตรงเอง หรือหากทำไม่ได้จริงก็อาจนำไปสู่การยื่นฟ้องบอร์ดสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในฐานะที่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายและไม่ได้มีโอกาสเข้าไปชี้แจงข้อเท็จจริงต่อศาล” นายสันติกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น