xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.ลุ้นวิบากกรรม กกต.สั่งสอบยุบพรรครอบสอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุทธิพล ทวีชัยการ
ที่ประชุม กกต.มีมติสอบยุบพรรค ปชป.รอบสอง “สุทธิพล” แจงเหตุข้อร้องเรียนใหม่ อ้างดึงผู้ถูกเพิกถอนสิทธิหนุนตั้งรัฐบาล เข้าข่ายขัด รธน.ชี้ตัวละคร-เป้าหมายต่างจากที่เพื่อไทย เคยยื่นจึงต้องให้อนุฯตรวจสอบ ด้านอนุฯสอบ “บุญจง” แจกเงินเตรียมขอขยายเวลาสอบต่อ


วันนี้ (10 มี.ค.) นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต.แถลงว่าที่ประชุม กกต.ได้พิจารณาคำร้องของ นายพิชา วิจิตรศิลป ประธานชมรมกฎหมายภิวัฒน์และเครือข่าย ที่ขอให้ กกต.ตรวจสอบการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากบุคคลที่ถูกเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง ว่า เป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการที่ไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและกระทำการ ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และ พ.ร.บ.พรรคการเมือง มาตรา 94 จึงเป็นเหตุให้ยุบพรรคหรือไม่ ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าบุคคลที่ถูกเพิกถอนสิทธิ ที่ นายพิชา อ้างถึงนั้น มีนอกเหนือจากบุคคลที่ นายสุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล ส.ส.พรรคเพื่อไทย และนายโลมิรันดร์ บุตรจันทร์ ร้องเรียน และ กกต.ได้เคยมีมติไปเมื่อวันที่ 19 ก.พ.ที่ผ่านมา

ดังนั้น เพื่อให้เกิดความรอบคอบ จึงมีมติมอบหนังสือของ นายพิชา ให้อนุกรรมการ ที่เคยสอบสวนเรื่องดังกล่าว ไปตรวจสอบว่ามีข้อเท็จจริงเพิ่มเติมแตกต่างจากที่ นายสุรพงษ์ และ นายโลมิรันดร์ เคยร้องหรือไม่

การตรวจสอบเรื่องดังกล่าวเพราะกรณีของ นายพิชา มีการเสนอตัวละครที่เข้าไปร่วมสนุบสนุนการจัดตั้งรัฐบาล แตกต่างจากที่ นายสุรพงษ์ และ นายโลมิรันดร์ เสนอ คือ มีการอ้างถึงนายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายบรรหาร ศิลปอาชา รวมทั้งที่ นายสุรพงษ์ เคยร้องนั้นเป็นการมุ่งเอาผิดตัวบุคคล คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แต่กรณีของ นายพิชา เป็นการร้องเพื่อให้มีการยุบพรรคประชาธิปัตย์ จึงถือว่าข้อเท็จจริงมีความแตกต่างกัน ดังนั้น เพื่อให้เกิดความรอบคอบ และไม่ถูกกล่าวหาว่าเมื่อมีข้อเท็จจริงที่ต่างกัน เหตุใดจึงไม่พิจารณา จึงมอบให้อนุกรรมการไปพิจารณา คาดว่า อนุกรรมการจะใช้เวลาในการตรวจสอบไม่นาน”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในคำร้องของ นายพิชา มีการยื่นมาถึง กกต.ก่อนที่ กกต.จะวินิจฉัยกรณีของ นายเนวิน ชิดชอบ เข้าไปร่วมจัดตั้งรัฐบาลไม่กี่วัน จึงไม่ได้มีการรวมสำนวนเข้าพิจารณา โดยคำร้อง ระบุว่า การจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ได้ร่วมกับบุคคลที่ไม่ได้เป็น ส.ส.และเป็นบุคคลที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ได้แก่ กลุ่มของ นายเนวิน ชิดชอบ นายบรรหาร และกลุ่มบุคคลอื่นๆ จึงถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.พรรคการเมือง เพราะ 1.การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ส.ที่อยู่ในสังกัดของบุคคลเหล่านี้ไม่ได้เป็นไปโดยอิสระ แต่อยู่ภายใต้อาณัติมอบหมายและความผูกมัดจากบุคคลเหล่านั้น จึงขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 และ 126

2.กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลเป็นการเข้าสู่อำนาจ ที่ปกติการตัดสินใจจะต้องกระทำโดยกรรมการบริหารพรรค กรณีบุคคลที่ถูกเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง เป็นผู้ตกลงเงื่อนไขในการเข้าร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ เท่ากับเป็นการกระทำเสมือนเป็นตัวแทนกรรมการบริหารพรรค ขัดต่อกฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 97 และการตอบข้อหารือของ กกต.ตามหนังสือ กกต.ที่ ลต.(กกต.) 0601/16288 ลงวันที่ 20 พ.ย.50

3.เมื่อพรรคประชาธิปัตย์รู้อยู่แล้วว่าการตั้งรัฐบาลเป็นเรื่องของ ส.ส.แต่กลับไปตกลงกับบุคคลอื่น ทั้งที่รู้ว่าการกระทำดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย จึงถือว่าเป็นการกระทำให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการที่มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและกระทำการ เป็นปฎิปักษ์ต่อการปกครองในระบอประชาธิปไตย ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และ พ.ร.บ.พรรคการเมืองมาตรา 94 จึงมีเหตุที่ต้องยุบพรรค

นายสุทธิพล ยังกล่าวถึงความคืบหน้าในการพิจารณาสำนวนคำร้อง นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงมหาดไทย แจกเบี้ยสงเคราะห์ผู้ยากไร้ ของกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ให้ชาวบ้านรายละ 500 บาท พร้อมกับแนบนามบัตรแนะนำตัว ว่า ขณะนี้อนุกรรมการฯได้สอบพยานไปแล้ว 6 ปาก เหลืออีก 8 ปาก และจะครบกำหนดเวลาการสอบสวนในวันที่ 13 มีนาคม ซึ่งคาดว่า ยังไม่แล้วเสร็จ จึงจะทำเรื่องขออนุญาต กกต.ขยายระยะเวลาการสอบสวน
กำลังโหลดความคิดเห็น