xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.ตอกย้ำ “ไข่แม้ว” ร้องแก้ รธน.เพื่อกู้ซาก ทรท.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พรรคเพื่อไทย ขู่ ปชป.กลางเวทีสัมมนาเตือนให้ระวังถูกยุบพรรค โวยวายพรรคการเมืองถูกทำลายโดยการรัฐประหาร ผนึกพรรคเล็กจี้แก้ รธน.ปี 50 ด้าน “ชำนิ” ยันต้องเดินหน้าปฏิรูปการเมือง ตั้งแง่ฝ่ายค้านแก้ รธน.เพื่อช่วยเหลือพวกที่ถูกตัดสิทธิใช่หรือไม่

วันนี้ (9 มี.ค.) ในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กับกรมสรรพากร ว่าด้วยการโอนเงินบริจาคภาษีแก่พรรคการเมือง กกต.ได้จัดการอภิปรายในหัวข้อ “ทิศทางพรรคการเมืองไทยภายใต้กฎหมายฉบับปัจจุบัน” โดยมีผู้เข้าร่วมอภิปราย ประกอบด้วย นายชำนิ ศักดิ์เศรษฐ์ รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ นายวรรธวริทธิ์ ตันติภิรมย์ หัวหน้าพรรคชีวิตที่ดีกว่า นายพีระพันธ์ พาลุสุข ผู้แทนพรรคเพื่อไทย และ นายบุญเลิศ คชายุทธเดช ตัวแทนหนังสือพิมพ์มติชน โดยนายวรรธวริทธิ์กล่าวว่า กฎหมายปัจจุบันทำให้พรรคการเมืองทำงานยาก แทบทุกอย่างพรรคการเมืองไม่สามารถกำหนดเองได้ เพราะมีกำหนดไว้แล้วในกฎหมายพรรคการเมือง และถูกควบคุมโดย กกต. อีกทั้งพรรคการเมืองยังถูกยุบได้ง่ายทำให้ไม่เกิดความเจริญ จึงไม่ควรมีการยุบพรรคการเมือง นอกจากนี้การปฏิรูปการเมืองควรให้พรรคการเมืองเข้าไปมีส่วนร่วม ไม่ใช่เอาใครก็ไม่รู้มาร่าง

ด้าน นายพีระพันธ์ กล่าวว่า ในวันนี้ตนมาในฐานะตัวแทน และเห็นนายชำนิในวันนี้มาในฐานะรองเลขาธิการพรรคตนก็อยากเตือนว่าให้ท่านระวังมาตรา 237 ของรัฐธรรมนูญเรื่องการยุบพรรคให้ดี เพราะนายชำนิเองก็อาจจะโดนด้วย และตราบใดที่ยังไม่มีการแก้กฎหมายมาตราดังกล่าวตนจะไม่ยอมรับตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค

นายพีระพันธ์ กล่าวว่า พรรคการเมืองไทยได้ก่อร่างสร้างตัวแต่ก็ถูกทำลายโดยการรัฐประหาร พรรคการเมืองจะไม่มีวันเข้มแข็งตราบใดที่ยังมีเรื่องแบบนี้อยู่ การที่พรรคการเมืองจะเข้มแข็งต้องปล่อยให้มีการพัฒนาไปตามธรรมชาติ ไม่ใช่ทำได้ด้วยกฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่ทุกวันนี้พรรคการเมืองก็ถูกจำกัดด้วยระเบียบและกฎหมาย และคิดแค่ว่าออกกฎหมายแล้วพรรคการเมืองจะเข้มแข็ง

นายพีระพันธ์กล่าวต่อว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีอคติกับนักการเมือง ออกแบบการเลือกตั้งเพื่อทำลายพรรคการเมืองไม่ให้เข้มแข็ง ทำให้เกิดพรรคเล็กพรรคน้อย รัฐธรรมนูญปี 2540 สร้างพรรคการเมืองให้เข้มแข็ง แต่อาจจะเข้มแข็งมาจนเกินไป รธน.2550 จึงทำให้พรรคอ่อนแอ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกเพราะเราต้องแก้ไขส่วนที่เข้มแข็งเกินไปไม่ใช่มาทำให้อ่อนแอลง ดังนั้นหากจะปฏิรูปการเมืองต้องเอานักการเมืองไปร่วมกับนักวิชาการอย่าเอาคนนอกมา เพราะเขาไม่เข้าใจการเมือง

“การรวมตัวจัดตั้งพรรคการเมืองเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน หากศาลรัฐธรรมนูญเข้าใจหลักการก็จะไม่ตีความมาตรา 237 เช่นนี้ แต่ศาลฯ มีทัศนคติว่าการจัดตั้งพรรคการเมืองเป็นเอกสิทธิที่รัฐจะให้หรือไม่ก็ได้จึงตัดสินยุบพรรค เรื่องนี้เป็นเรื่องสิทธิพื้นฐานคุณจะมาพรากของเขาไปไม่ได้ อย่างในยุโรป การจะยุบพรรค จะมีน้อยมาก เช่นกรณีการใช้กำลังในการยึดอำนาจ หรือยึดทำเนียบ ยึดสนามบินอย่างนี้ต้องยุบพรรค”

นายพีระพันธ์กล่าวต่อว่า การยุบพรรคโดยบอกว่าเพราะกรรมการบริหารพรรคไม่ห้ามปรามการซื้อสิทธิขายเสียง เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะตามหลักการ พรรคต้องไม่ไปรับผิดชอบต่อการกระทำของสมาชิกพรรคแต่ละคน เว้นแต่จะมีมติให้เขาทำแบบนั้น และเราต้องดูว่าความผิดฐานซื้อเสียงถือว่าได้สัดส่วนสมควรแก่การถูกยุบพรรคหรือไม่ หากเป็นมติสั่งให้ซื้อเสียงกันทั้งพรรคอย่างนี้ค่อยยุบ

ขณะที่ นายชำนิกล่าวว่า ช่วงการเปลี่ยนผ่านของการเมืองไทยนั้นไม่รุนแรงเหมือนในต่างประเทศ แต่การเลือกตั้งกลับมีความรุนแรงและเป็นปัญหามากที่สุด และที่ผ่านมาแทบไม่มีพรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากในสภา แต่ที่เป็นข้างมากเช่นในปี 2544 นั้นก็เกิดจากการควบรวมพรรคต่างๆ หรืออย่างปี 2548 ที่ได้รับเลือกตั้งกว่า 300 เสียง ก็ไม่แน่ว่าหากไม่มีการควบรวมก่อนหน้านั้นพรรคไทยรักไทยในขณะนั้นจะได้เสียงข้างมากหรือไม่

นายชำนิกล่าวถึงการปฏิรูปการเมืองว่า ถึงวันนี้ต้องเดินหน้าในการปฏิรูปการเมือง และการเริ่มเต้องไม่เริ่มจากว่าจะการแก้รัฐธรรมนูญมาตราใดดี แต่ต้องเริ่มจากหลักการปฏิรูปการเมืองเสียก่อน และนานมาแล้วเวลาที่จะร่างรัฐธรมนูญเขาปฏิเสธไม่ให้นักการเมืองเข้าไปมีส่วนร่วม อย่างรัฐธรรมนูญ 40 มีหลายมาตราที่เราไม่เห็นด้วย แต่ทำได้เพียงลงมติว่ารับหรือไม่รับทั้งฉบับ ขณะที่ 50 เราไม่มีส่วนเลย ดังนั้นการปฏิรูปครั้งนี้จึงควรมีตัวแทนจากทุกภาคส่วน และต้องมีตัวแทนของนักการเมืองเข้าไปร่วมด้วย

ส่วนเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 237 นั้น มองว่าจะแก้รัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวบนพื้นฐานของอะไร แก้บนพื้นฐานที่ว่าเราถูกกระทบ มีคนจำนวนมากถูกตัดสิทธิ และต้องการให้คนเหล่านั้นกลับมาใช่หรือไม่ หากตั้งสมมุติฐานอย่างนี้ก็เท่ากับเราทำเพื่อแก้ปัญหาให้ใครบางคนที่อยากเข้ามาเท่านั้น

ขณะที่นายพีระพันธ์ได้ตอบโต้กรณีดังกล่าวว่า พรรคต้องการแก้มาตรา 237 แต่ไม่ได้บอกว่าจะแก้ให้พรรคไทยรักไทย หรือ อดีต กก.บห.พรรคทั้ง 111 ได้กลับมา แต่เพราะกฎหมายดังกล่าวไม่เป็นธรรม หากไม่แก้ในอนาคตก็จะมีพรรคที่ถูกยุบอีกหลายพรรค แต่พอเริ่มสังคมก็ตราหน้าพวกตนแล้ว นอกจากนี้ยังต้องมีการตีความตามมาตรา 68 ที่ระบุว่า “ได้มาซึ่งอำนาจในการบริหารประเทศโดยวิถีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญ” ให้ชัดเจน มากกว่านี้ เพราะมาตราดังกล่าวเกี่ยวกับการยุบพรรคเช่นกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงที่มีการอภิปรายโดยนายพีระพันธ์ถึงกรณีการไม่สมควรยุบพรรคการเมือง หรือแก้กฎหมายให้ผ่อนคลายลง รวมไปถึงเรื่องการให้พรรคการเมืองเข้าไปมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการเมือง ก็ได้รับการปรบมือชื่นชมจากพรรคการเมืองเล็กที่อยู่ในห้องประชุม เช่นเดียวกับเมื่อนายพีรพันธ์ กล่าวโจมตีพันธมิตรก็ได้รับการปรบมือชื่นชมเช่นกัน อย่างไรก็ตาม มีบางพรรคการเมืองเช่นพรรคเผ่าไทย เสนอว่าหากมีการทุจริตเลือกตั้งควรจะเพิ่มโทษเป็นการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งพรรคและบุคคลที่ทุจริตเลือกตั้งเป็น 25 ปี เพื่อให้พรรคเล็กที่ตั้งใจมีโอกาสได้ทำงาน
กำลังโหลดความคิดเห็น