xs
xsm
sm
md
lg

“อักขราทร” แนะปฏิรูปการเมือง ยึดแนวพระพุทธเจ้า ดูเหตุของปัญหา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อักขราทร จุฬารัตน์ ประธานศาลปกครองสูงสุด
ประธานศาลปกครองสูงสุด แนะรัฐปฏิรูปการการเมือง ยึดหลักคำสอนพระพุทธเจ้าย้อนดูเหตุของปัญหาก่อน ส่วนการจะแก้กฎหมายหมิ่นเบื้องสูง เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องศึกษาปัญหาและแก้ให้ตรงจุด ด้านหัวหน้าคณะผู้แทนกรรมาธิการยุโรป ชี้ ไม่มีประเทศไหนยึดหลักนิติรัฐในการบริหารบ้านเมืองโดยสมบูรณ์ แต่ที่สำคัญต้องเคารพหลักสิทธิมนุษยชน

วันนี้ (9 มี.ค.) ที่สำนักงานศาลปกครอง แจ้งวัฒนะ สำนักงานศาลปกครอง และสำนักงานคณะผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรปประจำประเทศไทย ร่วมกันจัดประชุมวิชาการหัวข้อ “หลักนิติรัฐ และระบอบประชาธิปไตย : ประสบการณ์ของไทย และสหภาพยุโรป” เนื่องในโอกาสครบรอบ 8 ปี ศาลปกครองไทย และครบรอบ 30 ปี ความสัมพันธ์ไทยและสหภาพยุโรป โดย นาย เดวิด ลิปแมน (Mr.David Lipman ) หัวหน้าคณะผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรป ทูตานุทูต ผู้แทนหน่วยงานต่างประเทศในประเทศไทย ตุลาการศาลปกครอง ข้าราชการสำนักงานศาลปกครอง ผู้บริหารหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชน นักวิชาการ นักกฎหมาย ประมาณ 300 คนร่วมฟังการประชุม

ทั้งนี้ นายอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวว่า การจัดประชุมครั้งนี้เพื่อต้องการให้เกิดองค์ความรู้ ความเข้าใจ ในหลักกฎหมายมหาชน และหลักนิติรัฐ หรือ Rule of law และคำว่า ประชาธิปไตย ว่า เป็นอย่างไร ซึ่งสังคมไทย ได้รับอิทธิพลและแนวคิด ทฤษฎีทางกฎหมายมาจากยุโรป ขณะที่ในส่วนของศาลนั้น นอกจากปฏิบัติหน้าที่ยุติคดีความด้วยการใช้หลักกฎหมายมาตีความเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแล้ว ศาลยังจะสร้างเสริมความรู้ให้เกิดในสังคมไทยด้วย เพราะหากตุลาการ และราชการขาดความรู้ความเข้าใจในหลักกฎหมาย การที่จะหวังให้เกิดความเป็นธรรมเมื่อประชาชนเรียกร้องสิทธิ รวมทั้งการบริหาราชการแผ่นดินตามหลักธรรมาภิบาล ก็คงเป็นไปได้ยาก โดยการเสริมสร้างองค์ความรู้ อาจจะไม่ทำให้เกิดผลในการพัฒนาในวันนี้ แต่ความรู้จะส่งต่อถึงคนรุ่นหลังที่จะเข้าใจและปฏิบัติตมหลักการได้อย่างถูกต้องต่อไป

ด้าน นายเดวิด หัวหน้าคณะผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรป ตอบคำถามเกี่ยวกับความสมบูรณ์ในหลักนิติรัฐในประเทศไทยและยุโรป ว่า คงไม่มีประเทศใดที่จะมีความสมบูรณ์แบบในเรื่องของ Rule of law แต่หลักสำคัญที่จะต้องคำนึงถึงคือ การเคารพในหลักสิทธิมนุษยชน

เมื่อถามว่า จากสถานการณ์บ้านเมืองประเทศไทยที่ผ่านมา มองว่า ได้ว่ามีการละเมิดหลักการสิทธิมนุษยชน หรือไม่ นายเดวิด กล่าวว่า ไม่ว่าจะประเทศใด ก็มีปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนอยู่ ดังนั้นจะต้องสร้างหลักประกันและเคารพกันในเรื่องหลักสิทธิมนุษยชน

ทั้งนี้ นายเดวิด ยังกล่าวถึงการแก้ปัญหา ผู้อพยพโรฮิงยาด้วยว่า ขณะนี้ทราบว่าทางการไทย พยายามจะแก้ปัญหา โดยได้ประสานความร่วมมือกับต่างประเทศ ก็เชื่อว่าจะเกิดผลสำเร็จ

ขณะที่ในการประชุมดังกล่าว นาย Michael Groepper ตุลาการศาลปกครองแห่งสหพันธ์ ประเทศเยอรมนี กล่าวบรรยายเรื่องบทบาทตุลาการในการปกครองระบอบประชาธิปไตยของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี” ตอนหนึ่ง ว่า ผู้พิพากษา ตุลาการ ถือเป็นที่พึ่งของประชาชน จำเป็นต้องพิจารณาทุกคดีด้วยความเป็นธรรม ที่ประเทศเราประชาชนสามารถฟ้องร้องเจ้าชายได้ เราให้สิทธิเต็มที่ และก็พร้อมที่จะให้ความเป็นธรรมกับประชาชนในทุกๆ เรื่อง

ภายหลังการเปิดงาน นายอักขราทร กล่าวถึงการปฏิรูปการเมือง ที่ขณะนี้มีแนวคิดให้สถาบันพระปกเกล้า โดย นายสุจิต บุญบงการ เป็นผู้ริเริ่ม ว่า เคยพูดไปแล้วว่าการปฏิรูปการเมืองเพื่อแก้ปัญหานั้น รู้หรือไม่ว่าปัญหาคืออะไร อยู่ที่ใด แล้วการจะปฏิรูป คือ การแก้เพียงรัฐธรรมนูญเท่านั้นหรือ คงไม่ใช่แต่จะต้องทำมากกว่านั้น โดยการแก้ปัญหา ก็ต้องดูว่าควรแก้โดยวิธีไหน ด้วยใคร อย่างไร ซึ่งยังจะต้องใช้เวลาคิดกันอีกเยอะ

“ไม่ใช่ว่าผมไม่เห็นด้วยกับการจะปฏิรูปการเมือง แต่คำว่าปฏิรูปนั้น เป็นเรื่องใหญ่ มีภาพกว้างซึ่งเวลานี้เรายังไม่รู้ว่าเป็นอะไร ดังนั้น ก่อนอื่นจะต้องศึกษาเสียก่อนว่าปัญหาเกิดจากอะไร ซึ่งเวลานี้แม้บ้านเมืองจะมีปัญหา แต่การใช้คำว่าปฏิรูป โดยที่ยังไม่รู้ว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไร เราก็ไม่สามารถแก้ปัญหา ซึ่งเหมือนหลักสอนของพระพุทธเจ้า ที่เราต้องย้อนไปดูเหตุของปัญหาเสียก่อน” นายอักขราทร กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีที่หลายฝ่ายรณรงค์เรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เนื่องจากเห็นว่า มีการนำบังคับใช้อย่างไม่เป็นธรรม นายอักขราทร กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องมีการศึกษาอย่างละเอียดว่า ปัญหาอยู่ที่เนื้อหาของกฎหมาย หรือการบังคับใช้ของรัฐ แล้วแก้ไขปรับปรุงตรงนั้น แต่ขณะนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์จนมั่วไปหมด ทำให้เป็นปัญหาทางการเมือง จนไม่มีหลักวิชาการ หลักกฎหมาย ลืมไปว่า โดยเฉพาะที่มาและการบังคับใช้กฎหมายของแต่ละประเทศที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นประมุขมีความแตกต่างกัน

นายอักขราทร ยังกล่าวถึงบทบาทของตุลาการภิวัฒน์ที่มีส่วนในการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองที่ผ่านมา ว่า การปฏิบัติหน้าที่ของตุลาการ คือ การยุติคดี ซึ่งตุลาการได้ใช้หลักกฎหมาย ตีความเพื่อพิจารณาพิพากษาคดี เพียงแต่คดีที่เกิดขึ้นไปเกี่ยวข้องกับมีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และข้าราชการ ตกเป็นจำเลยเท่านั้น ซึ่งการตัดสินคดีไม่ว่าจะเป็นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ศาลปกครอง ก็เป็นการตัดสินคดีโดยใช้หลักกฎหมาย แม้แต่ศาลรัฐธรรมนูญ ก็เป็นการตัดสินคดีที่พิจารณาถึงความชอบด้วยกฎหมายของรัฐธรรมนูญ
กำลังโหลดความคิดเห็น