xs
xsm
sm
md
lg

สื่อรับใช้-สื่อขายตัว อันตรายพอกัน !?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สิ่งที่น่าจับตาก็คือการรุกคืบเข้ามาของบรรดา “สื่อขายตัว” สื่อรับใช้การเมือง ซึ่งทั้งสองประเภทถือว่าน่ากลัวและอันตรายไม่แพ้กัน

ในโอกาสวันนักข่าวเวียนมาถึงอีกครั้งในวันนี้( 5 มีนาคม) อดไม่ได้ที่จะต้องรำพึงรำพัน วิพากษ์วิจารณ์ และตั้งความหวังกับสื่อและองค์กรสื่อมวลชนที่ก่อตั้งขึ้นมามากมายจะช่วยกันคัดท้ายสังคมให้เดินไปข้างหน้าอย่างไร

ก่อนอื่นต้องยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าอาชีพสื่อมวลชนก็เหมือนอาชีพอื่นๆที่มีทั้งคนดีและคนชั่วปะปนกันไป แต่เป็นเพราะคนดีมีมากกว่าคนไม่ดี วิชาชีพสื่อมวลชนจึงได้พัฒนาแตกหน่อออกไปสารพัดตามยุคสมัย

มีทั้งสื่อที่พัฒนามาจากยุคอดีต เช่นสื่อสิ่งพิมพ์ ประเภทหนังสือพิมพ์ สื่อวิทยุ โทรทัศน์ แล้วมาเป็นทีวีวิทยุผ่านดาวเทียม ฯลฯ

และในปัจจุบันถือว่าเป็นยุคไซเบอร์ เครือข่ายอินเตอร์เน็ตก้าวไกลไร้พรหมแดน เป็นการสื่อสารล้ำยุค ยากจะก้าวตามทัน

แต่แทบทุกอย่างย่อมมีสองด้านเสมอ ในวงการสื่อก็ไม่ต่างกัน ยิ่งมีการพัฒนา เปลี่ยนแปลงมากเท่าใด ความผิดเพี้ยน การใช้สื่อเป็นเครื่องมือเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางใดทางหนึ่งย่อมมีเป็นของคู่กันเสมอ

ที่ผ่านมารับรู้กันแล้วว่ามีความพยายามใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ใช้สื่อโฆษณาชวนเชื่อนโยบายรัฐบาล สร้างภาพลักษณ์ส่วนตัวของผู้นำ รัฐมนตรี แลกเปลี่ยนผลประโยชน์ตอบแทน ทั้งในรูปส่วนตัวหรือแฝงมาในรูปของงบประมาณลงโฆษณาก้อนใหญ่

ในทางตรงกันข้ามหากสื่อใดก็ตามที่แข็งขืน หรือไม่ยอมลู่ตามลมก็จะถูกกลไกอำนาจรัฐคุกคามต่างๆนานา เช่นในยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่มีการข่มขู่สื่อมวลชน และคอลัมนิสต์ ใช้หน่วยงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ป.ป.ง.) และใช้กรมสรรพากรเข้ามาตรวจสอบ เล่นงานทางภาษี เป็นต้น

ส่วนองค์กรวิชาชีพสื่อในชื่อเรียกที่หลากหลาย แต่เพื่อให้เข้าใจง่าย สังคมก็จะเรียกรวมๆกันว่าสมาคมนักข่าว ซึ่งในองค์กรเหล่านี้ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีความพยายามเข้ามาแทรกแซงในทุกทางทั้งทางตรงทางอ้อม ทางตรงก็คือส่งคนเข้ามาเป็นกรรมการเข้ามาบริหาร หรือทางอ้อมให้การช่วยเหลือทางด้านงบประมาณสนับสนุน รวมไปถึงการใช้ความสัมพันธ์สนิทสนมส่วนตัวขอร้องให้เสนอข่าวนั้น ไม่ให้เล่นข่าวนี้ เป็นต้น

การแทรกแซงดังกล่าวจะมากันเป็นทอดๆ เริ่มจากแทรกแซงโดยกลุ่มทุน กลุ่มอำนาจการเมือง เข้าไปซื้อหุ้นเพิ่มทุน จากนั้นก็ขยายมาสู่สมาคมนักข่าว โดยล่าสุดทราบมาว่ามีสื่อบางกลุ่มพยายามส่งคนเข้ามาเป็นกรรมการสมาคมเป็นจำนวนมาก มีเจตนเหมือนจงใจเข้ามาครอบงำ กำหนดทิศทางขององค์กรสื่อในอนาคต

อีกด้านหนึ่งเมื่อพิจารณาจากความเคลื่อนไหวของทางฝั่งรัฐบาลปัจจุบันที่ดูเหมือนมีเจตนาดี ในการเข้ามาปฏิรูป ปรับปรุงกฎหมายให้ทันกับยุคสมัย ล่าสุดผลักดันให้สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมจำนวน 3 ฉบับ หลังจากค้างคา คาราคาซังกันมานานหลายปี

สาระสำคัญของร่างกฎหมายก็คือจะมีคณะกรรมการ หน่วยงานเข้ามาวางกฎ กติกาควบคุมดูแลคลื่นวิทยุ โทรทัศน์ ทุกประเภททั้งที่เป็นอยู่และจะเกิดขึ้นในอนาคต

อย่างไรก็ดีสิ่งที่ไม่อาจมองข้ามไปได้ก็คือ สื่ออินเตอร์เน็ต และในความเป็นจริงดูเหมือนรัฐบาลยัง “ดูเบา” กับสื่อประเภทนี้ ทั้งที่ควบคุมยาก และเริ่มมีอิทธิพลมากขึ้นทุกที เพราะตามข้อมูลที่มีการสำรวจตัวเลขออกมาล่าสุดพบว่ามีคนไทยเล่นอินเตอร์เน็ตไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน และส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ เป็นอนาคตของชาติ

ที่ผ่านมาขบวนการบ่อนทำลายความมั่นคง จาบจ้วงสถาบันเบื้องสูงล้วนแพร่หลายในสื่อประเภทนี้ ซึ่งนับวันยิ่งอันตราย หากไม่มีวิธีการจัดการที่ดีพอ

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของหน่วยงานรัฐที่พยายามทิ้งน้ำหนักเข้ามากำกับดูแล ส่วนใหญ่จะมุ่งไปที่สื่อหลัก โดยเฉพาะสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ เน้นไปยังกลุ่มรากหญ้า เติบโตมาด้วยระบบอุปถัมภ์ แต่สื่อ “ไซเบอร์” ยุคใหม่ถือว่าน่าเป็นห่วง หากก้าวตามไม่ทัน

อย่างไรก็ดีสิ่งที่น่าจับตาก็คือการรุกคืบเข้ามาของบรรดา “สื่อขายตัว” สื่อรับใช้การเมือง ซึ่งทั้งสองประเภทถือว่าน่ากลัวและอันตรายไม่แพ้กัน

แต่ตราบใดถ้าคนในวงการวิชาชีพเดียวกันมีความกล้าลุกขึ้นมาปกป้องศักดิ์ศรีของตัวเอง เลิกยึดคติ “แมลงวันไม่ตอมแมลงวัน” เพราะถ้าแมลงวันมันเน่าช่วยไม่ได้ที่จะช่วยกันตอม ช่วยกันเปิดโปง !!

มติชนรายสัปดาห์ ฉบับที่นำเรื่องการล้มสถาบันกษัตริย์เนปาลมาขึ้นปกและพาดหัวว่า “กรณีศึกษา” และฉบับที่นำเรื่องปฎิญญาฟินแลนด์ มาเขียนให้เป็นเรื่องตลกในช่วงที่สังคมกำลังวิพากษ์วิจารณ์ถึงเรื่องดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น