xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : เร่งเอาผิด “21 พันธมิตรฯ” แต่ “ตร.(เลว)-เสื้อแดง(ชั่ว)” กลับลอยนวล!?!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 ตร.คิดหรือว่า การลุกขึ้นมาดำเนินคดี 21 พันธมิตรฯ ฐานปิดล้อมรัฐสภา 7 ต.ค.จะช่วยสร้างความชอบธรรมให้ ตร.สามารถใช้ระเบิดแก๊สน้ำตาฆ่าและทำร้ายพันธมิตรฯ ได้
อมรรัตน์ ล้อถิรธร.....รายงาน

“รบ.อภิสิทธิ์” ประกาศตั้งแต่วันแรกว่า จะบังคับใช้ กม.อย่างเสมอภาค แต่ภาพที่ปรากฏ ก็คือ “ตร.” ทำหน้าที่ราวกับ “เลือกข้าง-เลือกสี” สังเกตได้จากคดีที่ “พันธมิตรฯ” ถูกกล่าวหา ทาง ตร.จะเร่งความเร็วในการดำเนินคดี แต่ถ้าเป็นคดีที่พันธมิตรฯ ถูกกระทำ เช่น ถูกมือมืดยิงระเบิดเอ็ม 79 เข้าใส่ คดีกลับไปไม่ถึงไหน นี่ยังไม่รวมคดีที่พันธมิตรฯ-ประชาชน-ทหาร ถูก “กลุ่มเสื้อแดง” รุมยำทำร้ายร่างกาย และคดีที่ นปช.บุกก่อจลาจลบ้านประธานองคมนตรี ซึ่งคดีอืดเกินบรรยาย ไม่เพียงพันธมิตรฯ จะถูกเลือกปฏิบัติ แต่พันธมิตรฯ กำลังตกเป็นเหยื่อซ้ำสองของ ตร.ด้วย ที่พยายามปัดความผิด (ฐานฆ่า ปชช.) ให้พ้นตัว ด้วยการเล่นงานพันธมิตรฯ ฐานปิดล้อมรัฐสภาเมื่อ 7 ต.ค.

 คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ 

ก่อนที่ตำรวจจะออกหมายเรียก 21 พันธมิตรฯ ให้มารับทราบข้อกล่าวหากรณีชุมนุมปิดล้อมรัฐสภาเมื่อวันที่ 7 ต.ค.2551 ในวันที่ 2-5 มี.ค.นี้ ผู้ที่ติดตามข่าวน่าจะเห็นถึงการทำงานแบบมีพิรุธของตำรวจ รวมทั้งพฤติกรรมที่เหมือนกระเหี้ยนกระหือรือที่จะเร่งรัดดำเนินคดีที่เกี่ยวกับพันธมิตรฯ ให้เสร็จสิ้นอย่างรวดเร็ว

เริ่มจากเมื่อวันที่ 13 ม.ค.ที่ผ่านมา พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.ท.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้เรียกประชุมพนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบคดีที่เกี่ยวเนื่องกับกลุ่มพันธมิตรฯ โดย พล.ต.อ.จงรัก เผยหลังประชุม ว่า ได้เร่งรัดคดีที่กลุ่มพันธมิตรฯ บุกยึดทำเนียบรัฐบาล สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมือง โดยบอกว่า คดีบุกยึดสนามบินทั้ง 2 แห่งนั้น อยู่ระหว่างสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน โดยสอบพยานบุคคลไปแล้วกว่า 300 ปาก อีกไม่นานจะสามารถออกหมายจับผู้เกี่ยวข้องได้

สำหรับคดีบุกยึดทำเนียบนั้น (คืบหน้าไปอย่างมาก) โดย พล.ต.อ.จงรัก บอกว่า พนักงานสอบสวนสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว และได้ส่งสำนวนการสอบให้พนักงานอัยการพิจารณาแล้วตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ส่วนคดียิงระเบิดเอ็ม 79 เข้าใส่กลุ่มพันธมิตรฯ นั้น (กลับไม่มีความคืบหน้า) โดย พล.ต.อ.จงรัก บอกว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนและพนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างทำคดี

เป็นที่น่าสังเกตว่า การประชุมเร่งรัดคดีในวันนั้น ไม่มีการพูดถึงการดำเนินคดีพันธมิตรฯ กรณีชุมนุมที่หน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 7 ต.ค.แต่อย่างใด!!

แต่จู่ๆ เมื่อวันที่ 25 ก.พ.กลับมีข่าวว่า ตำรวจ (พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล) เตรียมเสนอออกหมายจับแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย 21 คน ฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง กักขังหน่วงเหนี่ยวผู้อื่น กรณีชุมนุมปิดล้อมรัฐสภาเมื่อวันที่ 7 ต.ค.2551


แต่เมื่อถูกแกนนำพันธมิตรฯ และทนายของพันธมิตรฯ ออกมาขู่ว่า จะร้องคัดค้านการออกหมายจับของตำรวจแน่ เพราะถือว่าเป็นการออกหมายจับโดยไม่ชอบ กระทำการข้ามขั้นตอน แทนที่จะออกหมายเรียกก่อน ปรากฏว่า ตำรวจออกอาการหัวหด รีบออกมากลับลำทันที โดยเปลี่ยนจากการออกหมายจับเป็นหมายเรียกแทน

การออกหมายเรียก 21 พันธมิตรฯ ให้มารับทราบข้อกล่าวหา กรณีชุมนุมหน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 7 ต.ค.ไม่เพียงเป็นหมายเรียกที่เร่งรัดให้ 21 พันธมิตรฯ เข้าพบในระยะเวลาที่กระชั้นชิดเกินกว่าที่ใครจะตั้งตัวได้ทัน แต่ยังส่อว่า พันธมิตรฯ จะไม่ได้รับความเป็นธรรมจากตำรวจ หรือพนักงานสอบสวนในคดีนี้ด้วย เพราะตำรวจที่ลุกขึ้นมากล่าวโทษ 21 พันธมิตรฯ ในคดีนี้ก็คือ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ปัจจุบันเป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4) ส่วนตำรวจที่รับผิดชอบการสอบสวนคดีนี้ ก็คือ พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งเป็นที่ทราบดีว่า ตำรวจทั้ง 2 นายนี้ คือ ตำรวจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้ระเบิดแก๊สน้ำตาจากจีนสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 7 ต.ค.จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก โดย ป.ป.ช.ใกล้จะชี้มูลความผิดตำรวจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว ซึ่งมีอยู่เกือบ 30 นาย

คงไม่ต้องไล่ชื่อนายตำรวจที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สรุปว่า ต้องรับผิดชอบกับเหตุการณ์ใช้ระเบิดแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ต.ค.ว่ามีใครบ้าง แค่ยกตัวอย่างชื่อนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องเพื่อไม่ให้ลืมกันก็พอ ได้แก่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.), พล.ต.อ.ปานศิริ ประภาวัตร รอง ผบ.ตร., พล.ต.อ.วิโรจน์ พหลเวชช์ รอง ผบ.ตร., พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ รอง ผบ.ตร., พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผบช.น.(ในขณะนั้น), พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.น., พล.ต.ต.วิบูลย์ บางท่าไม้ รอง ผบช.น., พล.ต.ต.ลิขิต กลิ่นอวล รอง ผบช.น., พล.ต.ต.เอกรัตน์ มีปรีชา รอง ผบช.น., พล.ต.ต.จักรทิพย์ ชัยจินดา รอง ผบช.น., พล.ต.ต.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผู้บังคับการตำรวจปฏิบัติการพิเศษ, พ.ต.อ.ลือชัย สุดยอด รองผู้บังคับการตำรวจปฏิบัติการพิเศษ (ตำรวจนายนี้เป็นผู้ขว้างระเบิดแก๊สน้ำตาเข้าใส่ประชาชนจำนวนมาก) ฯลฯ

นายสุวัตร์ อภัยภักดิ์
ทนายพันธมิตรฯ ชี้ให้เห็นถึงความไม่ชอบธรรมของตำรวจที่พยายามดำเนินคดี 21 พันธมิตรฯ ว่า นอกจากตำรวจที่เป็นผู้กล่าวหาพันธมิตรฯ อย่าง พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว จะมีส่วนได้ส่วนเสีย เพราะอยู่ในข่ายที่จะถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดกรณีใช้ระเบิดแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุม 7 ต.ค.แล้ว ผู้รับผิดชอบคดีนี้อย่าง พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน ก็อยู่ในข่ายถูก ป.ป.ช.ชี้มูลเช่นกัน แถมยังมีอคติต่อพันธมิตรฯ ด้วย ดังนั้น ตนจะทำเรื่องคัดค้านให้เปลี่ยนตัวพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีนี้แน่นอน

“พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว คุณอำนวย (พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน) เหล่านี้เนี่ย ล้วนแล้วแต่เป็นตำรวจที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ 7 ต.ค. 7 ต.ค.ที่พันธมิตรฯ บอกว่า ตำรวจฆ่าประชาชน พวกนี้เนี่ยถูกร้องไปที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ว่าปฏิบัติหน้าที่หรืองดเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ขณะนี้อนุกรรมการ ป.ป.ช.ทำการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว สำนวนนั้นกำลังเสนอให้ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ ซึ่งถ้า ป.ป.ช.ชุดใหญ่ชี้มูลมาแล้วเนี่ย คนพวกนี้ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที ดังนั้น จะเห็นได้ว่า พนักงานสอบสวนชุดนี้เป็นปฏิปักษ์ หรืออยู่ฝั่งตรงข้ามกับพันธมิตรฯ คุณไปตั้งคนที่เป็นปฏิปักษ์มาเป็นพนักงานสอบสวนให้เขา แล้วถามว่า เขาจะได้รับความเป็นธรรมมั้ย? คุณเอาคนที่โกรธกัน คนที่ไม่รักกัน คนเป็นคู่กรณีกันมาเป็นพนักงานสอบสวน มันจะได้รับความเป็นธรรมมั้ย ซึ่งในหลักการอย่างนี้เนี่ย คนเหล่านี้ที่จริงเมื่อตัวเองได้รับมอบหมายและรู้ว่าตัวเองอยู่ฝั่งตรงข้าม ตัวเองมีส่วนได้เสีย ควรที่จะสละหรือลาออกจากตำแหน่งนั้น คือ ไม่รับงานชิ้นนั้น อย่างผู้พิพากษา เขาก็มีระเบียบ ผู้พิพากษาท่านใดรู้ข้อเท็จจริงในคดีใด เขาไม่ให้พิจารณาคดีนั้นนะ ผู้พิพากษาท่านใดเป็นญาติกับโจทก์หรือจำเลยในคดีใด เขาก็จะไม่ให้เป็นผู้พิจารณาคดีนั้น เพราะหลักความยุติธรรม เขาต้องการให้คนกลางไง”

ทั้งนี้ ทนายพันธมิตรฯ ได้ยื่นหนังสือต่อ พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.น.ในฐานะผู้รับผิดชอบคดีนี้ เพื่อขอเลื่อนการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาจากวันที่ 2-3 มี.ค.ไปเป็นวันที่ 30 มี.ค.แทน เนื่องจากตำรวจออกหมายเรียกกระชั้นชิด พันธมิตรฯ หลายคนยังไม่ได้รับหมายเรียก ขณะที่พันธมิตรฯ บางคนก็ติดภารกิจที่นัดหมายไว้ล่วงหน้าแล้ว

ด้าน พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.น.บอกว่า จะนำหนังสือขอเลื่อนการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาของ 21 พันธมิตรฯ เสนอให้ พล.ต.ท.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา ผู้ช่วย ผบ.ตร.พิจารณาต่อไป พล.ต.ต.อำนวย ยังพูดถึงกรณีที่ 21 พันธมิตรฯ จะร้องให้เปลี่ยนตัวพนักงานสอบสวนในคดีนี้ด้วย โดยยืนยันว่า ตนเป็นตำรวจมากว่า 30 ปี ไม่เคยถูกกล่าวหาว่าไม่เป็นกลาง ไม่เป็นธรรม หากใครคิดแบบนั้น ขอให้คิดใหม่

ลองไปฟังความรู้สึกของแกนนำพันธมิตรฯ บางคนที่ถูกตำรวจออกหมายเรียกกรณีชุมนุมที่หน้ารัฐสภาวันที่ 7 ต.ค.กันบ้างว่า จะรู้สึกอย่างไรกับการที่ต้องถูกตำรวจเหล่านี้ใช้ระเบิดแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมจนต้องหนีตายไปตามๆ กัน และแม้จะมีชีวิตรอดมาได้ ก็ยังไม่วายถูกตำรวจเหล่านี้ลุกขึ้นมาคาดโทษฐานชุมนุมที่หน้ารัฐสภาอีก

นายศิริชัย ไม้งาม แกนนำพันธมิตรฯ รุ่น 2 ซึ่งเป็น 1 ใน 21 พันธมิตรฯ ที่ถูกตำรวจออกหมายเรียก ยืนยันว่า การชุมนุมที่หน้ารัฐสภาของพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 7 ต.ค.เป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ส่วนความรุนแรงที่เกิดขึ้นในวันนั้น เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ตำรวจก็พยายามแก้เกี้ยวด้วยการลุกขึ้นมาดำเนินคดีพันธมิตรฯ ทั้งๆ ที่ตำรวจกำลังจะถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด

“ผมคิดว่าคนที่ออกหมายเรียกก็เป็นคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์วันที่ 7 ต.ค. เหมือนกับว่าการชี้ของ ป.ป.ช.ที่ชี้ว่า เป็นเหมือนผู้ต้องหาที่จะต้องลงโทษทางวินัยในการออกจากราชการ ก็เลยอาจจะมีสถานการณ์ตรงนี้ในการที่จะดำเนินคดีกับพันธมิตรฯ เพื่อเป็นการแก้เกี้ยว ทั้งๆ ที่เหตุการณ์มันเกิดขึ้นเนี่ย ตร.มีอำนาจหน้าที่ ทำไมถึงไม่ออกหมายเรียกตั้งแต่ช่วงที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น แต่สุดท้ายผมก็ยืนยันว่า การชุมนุมของพันธมิตรฯ นั้น เป็นการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งเป็นการชุมนุมภายใต้ รธน.โดยการชุมนุมอย่างสงบ ปราศจากอาวุธ และไม่เน้นเรื่องความรุนแรง การกระทำมาจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็มีอีกหลายคดีที่ผมคิดว่า ทำให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจเลือกปฏิบัติ เช่น กรณีของ นปก.บุกบ้านป๋าเปรม รุนแรงกว่าเยอะ เห็นภาพชัดในการใช้ความรุนแรง คดียังไม่ไปถึงไหนเลย”

“(ถาม-แล้วคิดว่าเราจะได้รับความเป็นธรรมแค่ไหน ในเมื่อพนักงานสอบสวนเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย?) เขาเป็นเพียงแค่กระบวนการต้นน้ำ ผมคิดว่ากระบวนการสุดท้าย คือ ศาล และการต่อสู้ของพันธมิตรฯ ชัดเจน ไม่ได้ทำเพื่อให้คนพันธมิตรฯ เข้าไปสู่อำนาจรัฐ แต่เป็นการต่อสู้เพราะอยากจะเห็นบ้านเมืองได้รอดพ้นจากนักการเมืองที่เข้าสู่อำนาจ และมีการโกงกินดังที่พันธมิตรฯ ได้ต่อสู้ ผมคิดว่านั่นคือความชัดเจนมากที่สุด ก็ขอบคุณพี่น้องพันธมิตรฯ ที่เอาใจช่วย ผมเชื่อว่า ธรรมย่อมชนะอธรรม และสิ่งที่เราได้ทำนั้น ทำเพื่อบ้านเมืองอย่างแท้จริง ตำรวจก็เป็นกระบวนการต้นน้ำ คุณจะให้ความไม่เป็นธรรมอะไร ก็ต้องไปพิสูจน์ในชั้นศาล และผมเชื่อว่าพันธมิตรฯ ทุกคนพร้อมที่จะพิสูจน์”


ด้านนางมาลีรัตน์ แก้วก่า แกนนำพันธมิตรฯ รุ่น 2 ซึ่งเป็น 1 ใน 21 พันธมิตรฯ ที่ถูกตำรวจออกหมายเรียกเช่นกัน บอกว่า ส่วนตัวแล้วไม่คิดมาก่อนว่าจะถูกออกหมายเรียกกรณีไปร่วมชุมนุมที่หน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 7 ต.ค.เพราะขณะนั้นยังไม่ได้เป็นแกนนำรุ่น 2 นางมาลีรัตน์ ยังชี้ด้วยว่า ตำรวจพลาดตั้งแต่ตอนที่จะออกหมายจับ 21 พันธมิตรฯ เพราะเมื่อถูกหลายฝ่ายออกมาโวย ว่า การออกหมายจับไม่ชอบ ตำรวจก็แก้เกี้ยวด้วยการออกหมายเรียกแทน ซึ่งการออกหมายเรียกก็เป็นการแก้เกี้ยวของตำรวจอีกเช่นกันที่ต้องการหาความชอบธรรมให้กับการใช้ระเบิดแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ต.ค.

นางมาลีรัตน์ ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ขณะนี้พันธมิตรฯ กำลังตกเป็นเหยื่อซ้ำสองของตำรวจ ทั้งที่การชุมนุมของพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 7 ต.ค.นอกจากจะไม่ได้ก่อความรุนแรงแล้ว ยังอยู่ในความสงบและให้เกียรติรัฐสภา เพราะเห็นว่าเป็นเขตพระราชฐาน

“วันนี้เรามีความรู้สึกว่า เหมือนกับตกเป็นเหยื่อของพนักงานสอบสวน คือ พยายามที่จะปัดความผิดตัวเอง ซึ่งอันนี้มันพิสูจน์ไม่ยากหรอก โดยเฉพาะพี่คิดว่า ทุกคนที่อยู่บนเวทีวันนั้น พี่เองตอนแรกอยู่ตรงจุดที่เขายิงระเบิดแก๊สเข้ามา แต่ด้วยความที่เราพูดเสร็จ พี่ปฐมพงษ์ (พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์) ใครต่อใครที่อยู่ตรงนั้น ก็คือ ให้พวกเราอยู่ในความสงบ เพราะเป็นเขตพระราชฐาน อะไรบ้างควรไม่ควร เราก็เตือนกัน และห้ามแตะต้องเลยนะคะ ฟุตปาธยังไม่ให้ขึ้นไปอยู่เลย เพราะฉะนั้นอันนี้ทุกสิ่งที่พวกเรากระทำ เรารู้ว่าเรามีขอบเขตของเราว่าเราอยู่ตรงไหน การชุมนุมที่เราทำเนี่ยไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหาย ถามว่า รัฐบาลแถลงนโยบายได้มั้ย คุณก็แถลงนโยบายได้ ใช่มั้ย จนมีผลออกมา ถ้าบอกว่าขัดขวาง ถ้าเราเอาจริงเนี่ย เราก็ไปปิดหมดแหละ แต่อันนี้เราก็แค่ทำให้เขาลำบากเท่านั้นเอง ไม่ได้ไปอะไรมากมาย และตอนที่พี่ออกมาแล้ว ตอนที่มีคนที่จะขอออกมา (จากรัฐสภา) มีเจ้าหน้าที่จะขอออกมา ตอนนั้นพี่ก็ไม่ได้อยู่ตรงนั้นแล้ว และเห็นผู้ที่ดำเนินการบนเวทีมีความพยายามอย่างสูงในการที่จะให้ออกมาเป็นลำดับ คือเจ้าหน้าที่ออกมาก่อน เผื่อตรวจไม่ยากนัก การที่ทำไมไม่ให้ ส.ส.ออกมาก่อน เพราะเราต้องดูแลเรื่องความปลอดภัยด้วย เราไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เหมือนกับที่เราเห็นเหตุการณ์ที่เสื้อแดงไปทำ คุณให้ ส.ส.ออกมา แต่คุณไปทุบรถเขา ไปทำร้ายเขาจนบาดเจ็บ อันนี้มันเปรียบเทียบกันชัดอยู่แล้ว ใครผิดใครถูก”

นางมาลีรัตน์ ยังชี้ด้วยว่า การเลือกปฏิบัติของตำรวจที่พยายามเร่งรัดคดีที่เกี่ยวกับพันธมิตรฯ แต่กลับปล่อยปละคดีที่กลุ่มเสื้อแดงเป็นผู้กระทำ เท่ากับตอกย้ำว่า แม้ซากเดนระบอบทักษิณจะถูกทำลายไปแล้วส่วนหนึ่ง แต่คนที่สืบทอดความคิดของระบอบทักษิณยังคงแทรกซึมอยู่ในอำนาจรัฐขณะนี้

“ลึกๆ เราก็รู้สึกว่า แม้ซากเดนระบอบทักษิณโดนทำลายไปส่วนหนึ่ง แต่มันยังอยู่ในอำนาจรัฐ ยังซึมอยู่ในอำนาจรัฐ ไม่ได้หมายถึงตัวคนใดคนหนึ่ง แต่หมายถึงคนที่เหมือนกับสืบทอดความคิด มันยังมีอยู่ ไม่ใช่ไม่มี และความอยุติธรรมทั้งปวงที่ทำเนี่ย มันประจักษ์แจ้ง ถ้าไปถามสื่อทั่วโลกเขาคงจะงงๆ เหมือนกันนะว่า ไอ้คนที่โดนกระทำเจียนตาย รอดมาได้ก็บุญแล้วน่ะ พี่เนี่ยถือว่าโชคดีมากๆ พี่ยังบอกว่าพี่แคล้วคลาดหลายรอบ ไม่ว่าจะรอบอุดรฯ ไม่ว่าจะเป็นรอบมหาสารคาม สกลนครเนี่ยโดนเอง คนอื่นไม่โดน โดนเจ้าของบ้าน แต่โดนนิดๆ แค่หัวโน เขายิงหนังสะติ๊กเข้ามาและโดนพี่พอดี พี่เดินหันหลังอยู่ ก็โดนตรงกกหู เราก็ถือว่าเรื่องเล็ก ไม่ได้คิดว่าจะไปเอาความใคร เพราะเอาละ ในเมื่อคุณไม่เข้าใจก็ว่าไป แต่วันนี้เราลองดูสิ เขา(กลุ่มเสื้อแดง)ประกาศว่าเขาจะไปดาวกระจายจะไปตรงนั้นตรงนี้ จังหวัดนั้นจังหวัดนี้ ถามว่าเสื้อเหลืองเราไปกวนเขามั้ย ไม่เคย แต่เราจะทำอะไร เขาจะต้องไปป่วนอยู่ทั่ว แล้วก็กล่าวหาว่าเราไปสร้างความแตกแยก”

“อย่างพิษณุโลกน่ะชัดเลย (กลุ่มเสื้อแดง) รุมกระทืบคนกลางเมือง ในขณะเดียวกัน เวลาเขาไปชุมนุม เราไม่เห็นไปยุ่งเลย เขามาชุมนุมหน้าทำเนียบ เราก็อยู่ของเรา เราไม่เห็นจะต้องไปก่อกวนอะไรกันเลย ก็ชัดๆ อยู่แล้วว่า การเลือกปฏิบัติตรงนี้ เจ้าหน้าที่เองเนี่ย พี่เองพยายามเข้าใจนะ พยายามเห็นใจตำรวจ เอาละ! ไม่อยากเห็นบ้านเมืองมันบอบช้ำ เอาละ ผ่อนปรนนะ เสื้อแดงมาชุมนุมเนี่ย ผ่อนให้เต็มที่ แต่ในทำนองกลับกัน เราย้อนกลับไปดูสิ่งที่เราถูกกระทำมาตลอด ตั้งแต่วันแรกเลย วันแรก 25 พ.ค.ย้อนกลับไปไม่ใช่แค่ 25 พ.ค.ด้วยซ้ำ เอาตั้งแต่มีเสวนาการเมืองที่ธรรมศาสตร์ พวกพี่ๆ น้องๆ เราออกมา โดนเขา (กลุ่มเสื้อแดง) ทำร้าย ถามว่า จับคนร้ายได้หรือยัง คนร้ายที่ทำร้ายพี่ๆ น้องๆ เรา วงจรปิดก็มี อะไรก็มีเยอะแยะอยู่ตรงโน้นตรงนี้ที่อ้างกัน ถามว่าจับได้มั้ย มีความพยายามทำมั้ย หาตัวคนผิดน่ะ ต่อหน้าตำรวจด้วย”


เมื่อถามว่า คาดหวังหรือไม่ว่า ตำรวจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้ระเบิดแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 7 ต.ค.(ที่อยู่ระหว่าง ป.ป.ช.ใกล้จะชี้มูลความผิด) จะได้รับผลกรรมที่ตัวเองก่อไว้ นางมาลีรัตน์ บอกว่า ถ้าตำรวจไม่ได้รับผลกรรมใดใดจากการกระทำที่โหดร้ายแบบนั้น สังคมคงหวังพึ่งอะไรไม่ได้ ต้องพึ่งตัวเอง ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นอาจเกิดกลียุคหรือนำไปสู่ยุคมิคสัญญีได้ เพราะแม้พันธมิตรฯ จะพยายามยึดมั่นในความสงบ สันติ และอหิงสามาตลอด แต่เมื่อถูกกระทำอย่างเหี้ยมโหด โดยที่กฎหมายหรือเจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถให้ความเป็นธรรมใดๆ พันธมิตรฯ บางส่วนก็อาจทนไม่ไหว ลุกขึ้นมาทำอะไรที่ไม่สันติ อหิงสา ก็เป็นได้?
ตร.ทั้งยิงและขว้างระเบิดแก๊สน้ำตาจากจีนที่มีสารระเบิดอาร์ดีเอ็กซ์ใส่ผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ที่หน้ารัฐสภา(7 ต.ค.51)
โฉมหน้า พ.ต.อ.ลือชัย สุดยอด รองผู้บังคับการตำรวจปฏิบัติการพิเศษ ผู้ขว้างระเบิดแก๊สน้ำตาเข้าใส่พันธมิตรฯ จำนวนมาก(7 ต.ค.)
พันธมิตรฯ ถูก ตร.ทำร้ายด้วยระเบิดแก๊สน้ำตาไม่พอ ต้องมาถูก ตร.ดำเนินคดีฐานปิดล้อมรัฐสภา(อย่างสงบ)อีก
ขนาดแพทย์ผู้ผ่าพิสูจน์ศพน้องโบว์ ยืนยันว่า เธอเสียชีวิตเพราะระเบิดแก๊สน้ำตาจากจีนที่ ตร.ใช้ แต่ ตร.ก็ยังเสียงแข็งและพูดให้สาธารณชนเข้าใจว่า เธออาจพกระเบิดมาเองมากกว่า
กระสุนระเบิดแก๊สน้ำตาและชิ้นเนื้อของผู้ร่วมชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ
พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น.ผู้ที่ลุกขึ้นมากล่าวโทษ 21 พันธมิตรฯ ปิดล้อมรัฐสภา ทั้งที่ตนเองมีส่วนได้เสียกรณีใช้แก๊สน้ำตาสลายผู้ชุมนุม 7 ต.ค.
พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.น และผู้รับผิดชอบคดี 21 พันธมิตรฯ ปิดล้อมรัฐสภา ก็อยู่ในข่ายถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดกรณีใช้แก๊สน้ำตาสลายการชุมนุม 7 ต.ค.
โฉมหน้าแกนนำ นปก.ที่นำม็อบก่อจลาจลหน้าบ้าน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ บัดนี้ ผ่านไปปีครึ่งแล้ว คดียังไปไม่ถึงไหน ผิดกับคดีพันธมิตรฯ เดินหน้าอย่างรวดเร็วทันใจ
กำลังโหลดความคิดเห็น