อมรรัตน์ ล้อถิรธร..........รายงาน
หลังสร้างความเกลียดชังให้วงการตำรวจด้วยวาทะที่ว่า “ผู้ชุมนุม (7 ต.ค.) ขาขาด เพราะระเบิดปิงปองของตัวเอง” ล่าสุด “พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน” พยายามจะดิ้นให้หลุดจากภาพ “ตำรวจทรราช” ด้วยการลุกขึ้นมาฟ้องศาลอาญาให้ดำเนินคดี “9 ป.ป.ช.” หลัง ป.ป.ช.ไม่หยุดไต่สวนเหตุการณ์สลายการชุมนุม 7 ต.ค.ที่ตนตกเป็น 1 ใน 3 ตร.ชั้นผู้ใหญ่ที่ ป.ป.ช.จ้องสอบอยู่ ...คงไม่ดีแน่ หากจะฟังความจาก ตร.ผู้นี้ด้านเดียว ต้องฟังความจริงอีกด้านจากปาก ป.ป.ช.ด้วย รวมทั้งพิจารณาข้อเท็จจริงจาก “ผลสอบของ คกก.สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ” ประกอบกัน แล้วจะชัดแจ้งว่า ตร.ที่มือเปื้อนเลือด 7 ต.ค.คือ “ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์” หรือเป็น “ทรราช” กันแน่
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ
ผ่านไป 3 เดือนแล้ว สำหรับผลงานอัปยศของ ครม.นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และตำรวจในยุคนั้นที่ใช้ระเบิดแก๊สน้ำตาอานุภาพร้ายแรง ทำร้ายผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ทั้งที่หน้ารัฐสภา-หน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาล และลานพระบรมรูปทรงม้าเมื่อวันที่ 7 ต.ค.2551 จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเกือบ 500 ราย ขณะที่เหยื่อแก๊สน้ำตายังฝันร้ายกับเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ผู้สั่งการ และผู้เกี่ยวข้องยังลอยนวล ยังไม่ได้รับโทษทัณฑ์จากการกระทำของตนเอง
ถามว่า ใครบ้างที่ต้องรับผิดชอบกับความสูญเสียทั้งในแง่ชีวิต และความพิกลพิการของประชาชนที่ใช้สิทธิชุมนุมโดยสงบเพื่อต่อต้านรัฐบาลที่พวกเขาเห็นว่าไม่มีความชอบธรรมที่จะบริหารประเทศอีกต่อไป คำตอบได้ระบุไว้ชัดเจนแล้วในรายงานผลสรุปการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีสลายการชุมนุม 7 ต.ค.ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่ส่งต่อให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.เพื่อพิจารณาและดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้ รายงานผลการตรวจสอบดังกล่าวมีความหนา 117 หน้า มีผู้เข้าให้ถ้อยคำ 91 คน จาก 7 กลุ่ม ประกอบด้วย ฝ่ายการเมือง, สื่อมวลชน, ผู้ชุมนุมและประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บ, แกนนำและการ์ดพันธมิตรฯ, เจ้าหน้าที่ตำรวจ, เจ้าหน้าที่การแพทย์, ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชและนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งผลสรุป ชี้ว่า นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ และ ครม.ที่ร่วมประชุมเมื่อคืนวันที่ 6 ต.ค.รวมทั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและตำรวจอีกกว่า 20 นาย มีความผิดฐานฆ่า และพยายามฆ่าผู้อื่น โดยในส่วนของ นายสมชาย นั้น ผลสอบระบุว่า มีความผิดในฐานะผู้สั่งการให้มีการสลายการชุมนุมในวันที่ 7 ต.ค.
ขณะที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกฯ มีความผิดในฐานะที่ได้รับมอบหมายจาก นายสมชาย ให้รับผิดชอบในการสลายการชุมนุมและสั่งสลายการชุมนุม โดยผลสอบระบุตอนหนึ่งว่า นอกจาก นายสมชาย จะสั่งการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติโดยตรงแล้ว เมื่อ พล.อ.ชวลิต ไปเป็นประธานประชุมที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล พล.อ.ชวลิต ก็ได้สั่งการและแจ้งที่ประชุมด้วยว่า ครม.มีมติว่า พรุ่งนี้ (7 ต.ค.) จะต้องไปประชุมเพื่อแถลงนโยบายที่รัฐสภาให้ได้ และสั่งการให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในเวลา 05.00 น. จึงเชื่อว่า นายกฯ ได้สั่งการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติรับผิดชอบดำเนินการผลักดันประชาชนผู้ร่วมชุมนุมที่ปิดล้อมรัฐสภาออกไป เพื่อให้ประชุมแถลงนโยบายได้ แต่เมื่อมีการสลายการชุมนุมโดยใช้ระเบิดแก๊สน้ำตาจากประเทศจีน จนเป็นเหตุให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บและบาดเจ็บสาหัสจำนวนมากในช่วงเช้าแล้ว นายสมชาย ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลก็หาได้สั่งห้ามใช้ระเบิดแก๊สน้ำตาสลายฝูงชนไม่ ยังคงปล่อยให้มีการยิงแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมอีก เพื่อเปิดทางให้ ส.ส.-ส.ว.ออกจากรัฐสภา นอกจากนั้น ยังปล่อยให้ตำรวจยิงและขว้างแก๊สน้ำตาใส่ประชาชนที่กำลังจะเดินทางเข้าไปช่วยประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตที่หน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาลและลานพระบรมรูปทรงม้าด้วย
สำหรับรัฐมนตรีที่ร่วมประชุม ครม.เมื่อคืนวันที่ 6 ต.ค.(เช่น พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ, พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ฯลฯ) ก็ถือว่ามีความผิดที่มิได้คัดค้านการใช้กำลังและระเบิดแก๊สน้ำตาเข้าสลายการชุมนุม จึงต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นในการสลายการชุมนุม ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและละเมิดต่อกฎหมาย จนประชาชนได้รับบาดเจ็บ บาดเจ็บสาหัส และมีผู้เสียชีวิต ถือว่าเข้าข่ายความผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้บุคคลอื่นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส, ฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157, 295, 297, 288, 289, 84
ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าข่ายผิดฐานสลายการชุมนุมเมื่อ 7 ต.ค.ครอบคลุมตั้งแต่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และนายตำรวจอีกกว่า 20 นาย เช่น พล.ต.อ.ปานศิริ ประภาวัตร รอง ผบ.ตร., พล.ต.อ.วิโรจน์ พหลเวชช์ รอง ผบ.ตร., พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ รอง ผบ.ตร., พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.), พล.ต.ต.วิบูลย์ บางท่าไม้ รอง ผบช.น., พล.ต.ต.ลิขิต กลิ่นอวล รอง ผบช.น., พล.ต.ต.เอกรัตน์ มีปรีชา รอง ผบช.น., พล.ต.ต.จักรทิพย์ ชัยจินดา รอง ผบช.น., พล.ต.ต.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผู้บังคับการตำรวจปฏิบัติการพิเศษ, พ.ต.อ.ลือชัย สุดยอด รองผู้บังคับการตำรวจปฏิบัติการพิเศษ (นอกจากได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ช่วยผู้กำกับดูแลสถานการณ์แล้ว ยังเป็นผู้ขว้างระเบิดแก๊สน้ำตาเข้าใส่ประชาชนเป็นจำนวนมาก), พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.น.(นอกจากต้องร่วมรับผิดชอบแล้ว ยังให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในลักษณะบิดเบือนข้อเท็จจริงด้วย โดยอ้างว่า ผู้ชุมนุมที่ขาขาด เกิดจากระเบิดปิงปองของตัวเอง แถมยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ไม่มีอาวุธ มีแค่โล่และกระบองเท่านั้น) และตำรวจที่เกี่ยวข้องอีกหลายนาย โดยตำรวจเหล่านี้ ผลสรุปของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ชี้ว่า อาจเข้าข่ายความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157, 295, 288, 289, 83
สำหรับความผิดของเจ้าหน้าที่ตำรวจนี้ ผลสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ระบุตอนหนึ่งว่า ทั้งๆ ที่เป็นที่ประจักษ์ว่า ระเบิดแก๊สน้ำตามีอานุภาพรุนแรงเพียงใดจากการสลายการชุมนุมในช่วงเช้า แต่ปรากฏว่า ยังมีการยิงและขว้างระเบิดแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมอีกในหลายช่วงเวลา โดยเฉพาะช่วงเย็นและพลบค่ำเป็นต้นไปทั้งที่บริเวณรัฐสภา ลานพระบรมรูปทรงม้า และหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาล จนเป็นเหตุให้มีประชาชนได้รับบาดเจ็บและบาดเจ็บสาหัส 471 ราย และเสียชีวิต 2 ราย
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ชี้ด้วยว่า ตำรวจไม่เพียงระดมยิงและขว้างระเบิดแก๊สน้ำตาที่มีอานุภาพร้ายแรงใส่ประชาชนที่ปราศจากอาวุธร้ายแรงโดยตรง แต่ยังยิงและขว้างในระยะใกล้โดยไม่ปฏิบัติตามหลักสากล นอกจากนี้ ตำรวจใน บช.น.ยังลอบยิงระเบิดแก๊สน้ำตาออกมาใส่ผู้ชุมนุมที่เดินผ่านถนนศรีอยุธยาหน้า บช.น.และลานพระบรมรูปทรงม้าจนเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมากและเสียชีวิต ไม่เท่านั้น ตำรวจยังได้ระดมยิงรถพยาบาลและเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้บาดเจ็บด้วย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ เห็นว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นการปฏิบัติการที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นการใช้ความรุนแรงต่อเพื่อนมนุษย์โดยไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ ซึ่งต้องได้รับความคุ้มครองตาม รธน.และขัดต่อหลักการประพฤติปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ จึงส่งผลสอบให้ ป.ป.ช.เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้ ไม่เพียง ป.ป.ช.จะต้องรับไม้ต่อจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ในการไต่สวนและชี้มูลความผิดผู้เกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธร้ายแรงสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อ 7 ต.ค. แต่ก่อนหน้านี้ ป.ป.ช.ยังได้รับเรื่องร้องเรียนจากกลุ่มพันธมิตรฯ ให้ไต่สวนเพื่อเอาผิดกับผู้ที่สั่งการและใช้อาวุธสลายการชุมนุมดังกล่าวด้วย โดยในชั้นต้น ป.ป.ช.พุ่งเป้าไปที่ตำรวจที่น่าจะเกี่ยวข้องว่ามี 3 นายด้วยกัน คือ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.), พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) และ พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.)
แม้ขณะนี้ข้อเท็จจริงต่างๆ ยังอยู่ระหว่างการไต่สวนของอนุกรรมการไต่สวนของ ป.ป.ช.ที่มีนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.เป็นประธาน โดยยังไม่มีการสรุปว่า ตำรวจทั้ง 3 นายมีความผิดหรือไม่ อย่างไร แต่ตำรวจบางนายกลับเกิดอาการหนาวๆ ร้อนๆ อยู่ไม่เป็นสุข ออกมาพูดแขวะ ป.ป.ช.อยู่เป็นระยะๆ ทำนองว่าไม่มีสิทธิไต่สวนข้อเท็จจริงเหตุการณ์ 7 ต.ค.ไม่มีสิทธิเรียกตนเองที่เป็นถึงตำรวจไปสอบสวน
ล่าสุด พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล 1 ใน 3 ตำรวจที่จะต้องถูก ป.ป.ช.เรียกสอบแน่ในอนาคต เกิดอดรนทนไม่ได้ ลุกขึ้นมาส่งทนายไปฟ้องศาลอาญาให้ดำเนินคดีกรรมการ ป.ป.ช.ทั้ง 9 คนเมื่อวานนี้ (7 ม.ค.) โดยกล่าวหาว่า ป.ป.ช.ทั้ง 9 เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157
ทั้งนี้ คำฟ้องของ พล.ต.ต.อำนวย อ้างว่า การที่ ป.ป.ช.ตั้งอนุกรรมการขึ้นมาไต่สวนตน รวมทั้ง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว กรณีสลายการชุมนุม 7 ต.ค.แต่ระหว่างไต่สวน ได้มีนายสิทธิพร โพธิโสดา ไปยื่นฟ้องต่อศาลอาญาเมื่อวันที่ 28 ต.ค.ให้ดำเนินคดีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกฯ ในขณะนั้น รวมทั้ง พล.ต.อ.พัชรวาท, พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, พล.ต.ท.สุชาติ และตน ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุม เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ซึ่งศาลได้รับฟ้องและนัดไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ในวันที่ 2 มี.ค.(13.30 น.) โดย พล.ต.ต.อำนวย อ้างว่า การฟ้องดังกล่าวเป็นประเด็นเดียวกันกับที่ ป.ป.ช.ตั้งอนุกรรมการขึ้นมาไต่สวน ดังนั้น เมื่อศาลรับฟ้องแล้ว ป.ป.ช.จะต้องหยุดไต่สวนกรณีนี้ทันที โดยเป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 86 แต่เมื่อ ป.ป.ช.ทั้ง 9 ไม่ยุติการไต่สวน ย่อมมีความผิดตามมาตรา 157 จึงขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยทั้ง 9
หากฟังคำฟ้องของ พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน แล้ว หลายคนอาจสงสัยว่า ป.ป.ช.ทำผิดกฎหมาย ป.ป.ช.เสียเอง และเข้าข่ายผิดกฎหมายอาญามาตรา 157 ตามที่ตำรวจผู้นี้กล่าวหาไว้หรือไม่ เพื่อความเป็นธรรม ต้องไปฟังคำชี้แจงจากปาก ป.ป.ช.เอง
ดร.วิชา มหาคุณ 1 ในกรรมการ ป.ป.ช.และประธานอนุกรรมการไต่สวนกรณีสลายการชุมนุม 7 ต.ค.ให้สัมภาษณ์วิทยุผู้จัดการวันนี้ (8 ม.ค.) ถึงกรณีที่ พล.ต.ต.อำนวย ฟ้องดำเนินคดี 9 ป.ป.ช.ต่อศาลอาญา โดยอ้างว่า ป.ป.ช.ต้องยุติการไต่สวนกรณี 7 ต.ค.เนื่องจากมีผู้ฟ้องศาลในประเด็นเดียวกันและศาลรับฟ้องแล้วว่า นอกจาก พล.ต.ต.อำนวย จะฟ้องผิดศาล คือ หากจะดำเนินการกับ ป.ป.ช.ต้องฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งตำรวจไม่สามารถฟ้องศาลฎีกาฯ ได้โดยตรง แต่ต้องดำเนินการตาม รธน.มาตรา 249 โดยผ่าน ส.ส.หรือ ส.ว.1 ใน 5 ของสองสภาแล้ว พล.ต.ต.อำนวย ยังน่าจะทราบข้อกฎหมายดีอยู่แล้วว่า ป.ป.ช.ไม่ได้ทำอะไรผิด และไม่จำเป็นต้องยุติการไต่สวน เพราะกฎหมาย ป.ป.ช.มาตรา 86 ที่ พล.ต.ต.อำนวย นำมาอ้างเพื่อให้ ป.ป.ช.ยุติการไต่สวนนั้น จะต้องเป็นกรณีที่ผู้ร้องให้ ป.ป.ช.ไต่สวนและผู้ที่ฟ้องต่อศาลอาญา เป็นบุคคลคนเดียวกัน แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ก็คือ กลุ่มพันธมิตรฯ เป็นผู้ร้องต่อ ป.ป.ช.ให้ไต่สวนกรณี 7 ต.ค.แต่พันธมิตรฯ ไม่ได้ฟ้องต่อศาล ผู้ที่ไปฟ้องต่อศาล คือ บุคคลอื่นซึ่งเป็นทนายความคนหนึ่งที่ได้รับบาดเจ็บจากแก๊สน้ำตาเมื่อวันที่ 7 ต.ค.ซึ่ง ป.ป.ช.ก็เคยชี้แจงเรื่องนี้ให้ พล.ต.ต.อำนวยทราบแล้ว แต่ พล.ต.ต.อำนวย ก็ยังไม่วายข่มขู่ว่าถ้า ป.ป.ช.ไม่หยุด จะฟ้องศาลให้ดำเนินคดี
“ประเด็นที่คนมาร้อง ป.ป.ช.เนี่ย ว่า ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติก็ดี ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลก็ดี หรือรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลที่ชื่ออำนวยก็ดีเนี่ย ทำผิดกรณีที่ใช้กำลัง คือพันธมิตรฯ เป็นคนมาร้องว่าเนี่ยเขา (ตำรวจ) มายิงพันธมิตรฯ ที่ล้อมสภาไว้ แต่ผู้ที่ไปฟ้องศาลอาญาเนี่ย ฟ้องคุณอำนวยเหมือนกัน และฟ้องพัชรวาท เหมือนกัน ฟ้องคุณจงรักด้วย และฟ้องคุณสุชาติด้วย และฟ้องคุณสมชายด้วย ไม่ใช่พันธมิตรฯ ฟ้อง เป็นทนายผู้หนึ่งซึ่งบังเอิญเขาบอกว่าไปสังเกตการณ์เดินเตร็ดเตร่แถวนั้น แล้วโดนแก๊สน้ำตา เขาก็เลยปวดแสบปวดร้อน ก็เลยฟ้องว่าพวกกลุ่มพวกนี้ (สมชาย วงศ์สวัสดิ์ และตำรวจ) กระทำผิดโดยมิชอบ มันคนละเรื่องเดียวกัน”
“(ถาม-แสดงว่า คุณอำนวยพยายามทำให้สาธารณชนเข้าใจไขว้เขว ว่า เมื่อตำรวจถูกร้องทั้งต่อ ป.ป.ช.และศาล ทาง ป.ป.ช.ต้องหยุดไต่สวน คุณอำนวยเข้าใจว่าอย่างนั้น?) ใช่ เป็นการใช้กฎหมายในการพยายามที่จะทำลายความน่าเชื่อถือและพยายามที่จะทำให้เห็นว่า ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจหรือหมดอำนาจในการทำงาน เราถึงบอกว่าคนละเรื่องกันไง และเราก็ชี้แจงเรื่องนี้ไปแล้ว ก็บอกทางคุณอำนวยที่ข่มขู่เรามาด้วยนะ บอกว่า ถ้าไม่หยุด จะฟ้องมาตรา 157 ต่อศาล (ถาม-เขาขู่มาที่เราโดยตรงหรือว่า?) ขู่มาด้วย บอกให้หยุดเดี๋ยวนี้นะ (หัวเราะ) ถ้าไม่หยุดจะโดน เราอยากจะหยุดเต็มแก่นะ แต่มันหยุดไม่ได้ ขืนหยุดเราก็โดนแน่ ใครจะเล่นงาน ก็พันธมิตรฯ นะสิที่มาร้องเราเนี่ย ใช่เปล่า? มันคนละเรื่องเดียวกันน่ะ”
ดร.วิชา ในฐานะประธานอนุกรรมการไต่สวนกรณีสลายการชุมนุม 7 ต.ค.เผยด้วยว่า ในการไต่สวนของ ป.ป.ช.จะนำผลสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมาพิจารณาประกอบด้วย ซึ่งที่ผ่านมาได้เชิญทั้งกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ และสมาชิกวุฒิสภามาไต่สวนแล้ว แต่ยังไม่ถึงเวลาที่จะเรียก 3 นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่อย่าง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร., พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผบช.น.และ พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.น.มาไต่สวน ดร.วิชา ยังยอมรับด้วยว่า การไต่สวนคดี 7 ต.ค.ถือว่าน่ารำคาญที่สุด เพราะขนาด ป.ป.ช.สอบไปเรื่อยๆ ไม่ได้เร่งรัดเรื่องนี้แต่อย่างใด ยังถูกตำรวจโวยวายขนาดนี้
“มันเป็นขั้นที่เราไต่สวน แสวงหาข้อเท็จจริง เขาก็บอกว่าทำไมถึงรีบร้อนนัก ทำไมคดีมันเร็วจัง เราก็สอบของเราไปเรื่อยๆ ทีกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ สอบเสร็จแล้ว ทำไมไม่ไปบ่นล่ะว่าทำไมสิทธิมนุษยชนฯ เร็วจัง เร็วยิ่งกว่าเราตั้งหลายเท่า เราก็สอบของเราไปเรื่อยๆ (ถาม-น่าจะอีกนานมั้ยกว่าจะต้องเรียก 3 คนนี้ (พัชรวาท-สุชาติ-อำนวย) มาสอบ?) คงพูดไม่ได้หรอก ขืนไปพูดเข้าเดี๋ยวก็จะหาว่าเราไปเร่งรัดอีกน่ะ นี่เขาโวยวายนะบอกว่า ทำไมถึงเร่งรัดจัง ทำไมคดีที่ฟ้องร้องตำรวจ ทำไม ป.ป.ช.ถึงได้เร่งรัดนัก แสดงถึงความผิดปกติ จ้องจะเล่นงานตำรวจอย่างเดียว ...(ถาม-สมมติว่า ป.ป.ช.ชี้มูลว่าตำรวจเหล่านี้ผิด แล้วยังไง ป.ป.ช.ต้องส่งให้อัยการเพื่อส่งให้ศาลเหรอ?) มันแล้วแต่ว่าเป็นเรื่องอะไร เราอย่าไปพูดเลย พูดแค่นี้เนี่ยเขายังโวยวาย เขายังจะเล่นงานเราตลอดเลย อยู่ไม่สุขเลย น่ารำคาญที่สุดเลย ผมทำคดีนี้เนี่ยรำคาญที่สุด (ถาม-อยากฝากอะไรถึงคุณอำนวยมั้ย?) ไม่ฝากหรอก ท่านก็อายุปูนนี้แล้ว ท่านเก่งฮะ ต้องยอมรับว่าท่านเป็นคนเก่งจริงๆ ที่ทำให้เราต้องวุ่นวายได้ (ถาม-มีแต่คุณอำนวยใช่มั้ยที่ขู่ คนอื่นไม่?) คนอื่นไม่ได้ทำอะไร อย่างท่านพัชรวาทก็เป็นสุภาพบุรุษ ท่านก็นิ่งๆ ของท่าน”
ถึงจะโดนตำรวจบางนายข่มขู่อย่างไร กรรมการ ป.ป.ช.อย่าง ดร.วิชาก็ไม่หนักใจที่จะเดินหน้าไต่สวนและแสวงหาข้อเท็จจริงเหตุการณ์สลายการชุมนุม 7 ต.ค.ต่อไป โดยยืนยันว่า เมื่อคดีนี้มาถึงมือตนแล้ว มันต้องจบ ไม่จบไม่ได้!!