รองนายกฯ ด้านความมั่นคง ยินดีรับพิจารณาคำร้องค้านพันธมิตรฯ เปลี่ยนตัว “อำนวย” คดีล้อมรัฐสภา ด้าน “สาทิตย์” ปฏิเสธใช้อำนาจแทรกแซงสำนักปลัดฯ ถอนฟ้องยึดทำเนียบ ชี้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนไป ไม่หวั่นข้อครหาเกี๊ยะเซียะกลุ่มพันธมิตรฯ ยืดอกพร้อมรับฟังข้อวิพากษ์ “สนธิ”
วันนี้ (3 มี.ค.) นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีแกนนำพันธมิตรฯ ร้องให้เปลี่ยนตัว พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.น.พนักงานสอบสวนในคดีปิดล้อมสภา ว่า ยังไม่เห็นเรื่องนี้ แต่ทุกอย่างต้องดำเนินการไปตามกฎ กติกา หากร้องมาชอบด้วยเหตุผลก็ปฏิบัติตาม หากไม่ชอบก็ไม่ทำ ทั้งนี้ยืนยันว่าจะไม่มีการเปลี่ยนรูปคดีเพื่อช่วยใคร เพราะทุกอย่างต้องทำตามหน้าที่ ใครละเว้นการปฏิบัติหน้าที่จะเสียหาย
เมื่อถามว่า เหตุผลที่แกนนำพันธมิตรฯ อ้างคือ พล.ต.ต.อำนวย อาจมีอดติในการทำคดี นายสุเทพ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นเรื่องที่ร้องเรียน ส่วนกรณีที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ถอนฟ้องคดีที่พันธมิตรฯ บุกเข้ามายึดทำเนียบรัฐบาลนั้น ตนไม่ทราบ เพราะไม่ใช่คนสั่งให้สำนักปลัดถอนฟ้อง ต้องไปถามเขาเอง และตนไม่ได้กำกับดูแล สลน.จึงไม่ทราบเรื่องการถอนฟ้อง
ด้าน นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะดูแลสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสำนักปลัดถอนแจ้งความดำเนินคดีอาญากับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่บุกยึดทำเนียบรัฐบาลว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นที่เกิดขึ้นกับผลเฉพาะหน้า แต่เมื่อสำนักปลัดฯ เห็นว่าข้อเท็จจริงเปลี่ยนไป ขณะนี้เป็นการแจ้งความดำเนินคดี กรณีเข้ามาใช้พื้นที่ครอบครองทำเนียบรัฐบาล และเกิดผลกระทบกับสำนักปลัดฯ จึงต้องฟ้องร้องเพื่อให้ออกจากพื้นที่ แต่เมื่อข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปจึงต้องมีการถอนแจ้งความ ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้เข้าไปแทรกแซงข้าราชการประจำจนเกิดการถอนฟ้อง เพราะบางเรื่องทางสำนักปลัดฯ ยังยืนยันที่จะดำเนินการต่อ โดยเฉพาะเรื่องทรัพย์สินเสียหาย ซึ่งรัฐบาลไม่ได้ไปสำรวจหรือติดตามว่ามีกี่คดี ที่เกี่ยวกับความเสียหายของทรัพย์สิน เพราะเป็นเรื่องของรัฐบาลชุดที่แล้ว ทั้งนี้กระบวนการยุติธรรมจะต้องติดตามหาข้อเท็จจริง
เมื่อถามว่ามีการตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลเกี๊ยะเซียะให้กับกลุ่มพันธมิตรฯ นายสาทิตย์ กล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้สนใจว่าจะเป็นการช่วยเหลือพันธมิตรฯ หรือไม่ เพราะปัญหาการเมืองก็ต้องว่ากันไป ไม่เกี่ยวกับกรณีที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล เพราะนายสนธิเป็นประชาชนคนหนึ่ง มีสิทธิแสดงความคิดเห็นได้เหมือนกับประชาชนทั่วไป ดังนั้น รัฐบาลมีหน้าที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกฝ่าย แต่จะต้องจัดลำดับความสำคัญก่อนหลัง