xs
xsm
sm
md
lg

10 ผู้นำอาเซียนแถลงการณ์เร่งฟื้นฟูตลาดอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


10 ผู้นำอาเซียนถกความร่วมมือร่วมกัน ก่อนออกแถลงการณ์ว่าด้วยวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลก ย้ำเร่งดำเนินนโยบายเชิงรุก พร้อมฟื้นฟูความเชื่อมั่นของตลาด-เสถียรภาพทางการเงิน หวังให้เกิดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในภูมิภาค พร้อมหนุนประชุมอาเซียน+3 หารือ “จีน-ญี่ปุ่น-เกาหลี” เพิ่มทุนสำรองพหุภาคีมาตรการเชียงใหม่จาก 8 หมื่นล้านเป็น 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

วันนี้ (1 มี.ค.) ที่โรงแรมดุสิตธานี หัวหิน อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนหรืออาเซียนซัมมิทครั้งที่ 14 มีการออกแถลงการณ์ว่าด้วยวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลก โดยแถลงการณ์ระบุว่า

แถลงการณ์ว่าด้วยวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลก ประมุขและผู้นำรัฐบาลของประเทศสมาชิกอาเซียนได้มาประชุมกันที่ชะอำ-หัวหิน ในวันที่ 1 มีนาคม 2009 เพื่อหารือเกี่ยวกับวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลก

ผู้นำเห็นว่า แม้ในขณะนี้ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของอาเซียนยังมีความแข็งแกร่งอันเป็นผลมาจากการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญ นับตั้งแต่เมื่อครั้งที่อาเซียนประสบกับวิกฤตทางการเงินในเอเชียเมื่อปี พ.ศ.2540-2541 อย่างไรก็ดี ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยอย่างรุนแรง ควบคู่ไปกับการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในตลาดการเงินได้ส่งผลกระทบด้านลบต่อการค้าและการลงทุนภายในภูมิภาค พัฒนาการดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะเพิ่มความเสี่ยงให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคลดลง

ภายใต้ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลกในขณะนี้ ผู้นำเห็นพ้องถึงความจำเป็นที่จะต้องดำเนินนโยบายเชิงรุกและเด็ดขาดในการฟื้นฟูความเชื่อมั่นของตลาด และความมั่นใจในเสถียรภาพทางการเงิน เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในภูมิภาค ผู้นำยินดีกับการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่ขยายตัวของประเทศสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศ ซึ่งรวมถึงการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนปรน การปล่อยสินเชื่อเพื่อการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งแก่กลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อเป็นการกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ ทั้งนี้ เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ผู้นำได้ย้ำถึงความสำคัญของการประสานนโยบายเศรษฐกิจและการดำเนินการร่วมกัน ซึ่งจะสามารถส่งเสริมซึ่งกันและกันในระดับภูมิภาค

ยืนยันความตั้งใจที่จะร่วมมือในการเพิ่มการไหลเวียนอย่างเสรีของสินค้า บริการ และการลงทุน รวมทั้งอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายของนักธุรกิจ ผู้ประกอบการ ผู้มีความสามารถเฉพาะทาง แรงงาน และการไหลเวียนของทุนให้เสรีมากยิ่งขึ้น ผู้นำตกลงที่จะต่อต้านนโยบายการปกป้องการค้าและจะละเว้นการกำหนดมาตรการกีดกันทางการค้าใหม่ๆ พร้อมทั้งยืนยันความยึดมั่นที่จะดำเนินมาตรการที่ได้กำหนดไว้ภายใต้แผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเพื่อก่อให้เกิดการขยายโอกาสทางธุรกิจในภูมิภาค นอกจากนี้ยังเห็นพ้องที่จะสนับสนุนความพยายามที่จะให้การเจรจาเพื่อการพัฒนารอบโดฮาบรรลุผล

ชื่นชมรัฐมนตรีคลังอาเซียน+3 ต่อผลการประชุมรัฐมนตรีคลังอาเซียน+3 สมัยพิเศษ ที่ภูเก็ต เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งจัดขึ้นเพื่อรับมือกับวิกฤตการเงินโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้นำยินดีกับข้อตกลงของรัฐมนตรีคลังอาเซียน+3 ที่ให้เพิ่มขนาดของกองทุนสำรองพหุภาคีภายใต้มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ (Chiang Mai Initiative Multilateralisation- CMIM) จาก 8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และพัฒนากลไกการตรวจสอบติดตามที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเน้นย้ำความสำคัญและความเร่งด่วนที่จะจัดตั้งกองทุนสำรองพหุภาคีภายใต้มาตรการริเริ่มเชียงใหม่และสั่งการให้รัฐมนตรีด้านการเงินอาเซียนทำงานร่วมกับรัฐมนตรีคลังของประเทศ+3 (จีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี) เพื่อหาข้อสรุปในประเด็นที่ยังคงค้างอยู่ เพื่อที่จะสามารถดำเนินการกองทุนดังกล่าวได้ทันที

ตระหนักว่าขอบเขตของความร่วมมือในภูมิภาคจำเป็นต้องมีการขยายเพื่อระดมเงินออมสำหรับการลงทุนในสาขาที่มีประสิทธิผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ผู้นำยินดีกับแผนงานการพัฒนามาตรการริเริ่มเพื่อพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชียฉบับใหม่และรับทราบถึงการเจรจาที่ดำเนินอยู่เพื่อส่งเสริมการระดมทุนเพื่อสนับสนุนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน

รับทราบความพยายามที่จะส่งเสริมความความร่วมมือด้านการเงินในเวทีต่างๆ ที่อาเซียนมีบทบาทนำ ซึ่งรวมถึง อาเซียน+1 อาเซียน+3 และการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (EAS) ผู้นำตกลงว่ามีความจำเป็นที่จะต้องมีการปรึกษาหารือกันอย่างใกล้ชิดระหว่างองค์กรต่างๆ ในภูมิภาค ซึ่งนำโดยอาเซียน เพื่อปกป้องภูมิภาคจากวิกฤตการเงินและเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

เรียกร้องให้มีการดำเนินการที่มีการประสานงานกันมากยิ่งขึ้นของประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา เพื่อฟื้นฟูเสถียรภาพทางการเงินและเพื่อให้ตลาดการเงินดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องต่อไป เพื่อสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

เรียกร้องให้มีการปฏิรูปอย่างเร่งด่วนและจริงจังของระบบการเงินระหว่างประเทศเพื่อนำไปสู่ระบบการเงินที่ครอบคลุม เท่าเทียม และรอบด้านมากยิ่งขึ้น โดยคำนึงถึงผลประโยชน์และข้อเรียกร้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งของประเทศเศรษฐกิจใหม่และประเทศกำลังพัฒนา ผู้นำย้ำถึงความสำคัญของการเพิ่มความเข้มแข็งของกรอบการเงินและระเบียบที่มีอยู่ในปัจจุบัน

ปรารถนาที่จะทำงานร่วมกับมิตรประเทศอื่นๆ เพื่อนำเสนอทัศนะข้างต้น ในที่ประชุมสุดยอดที่กรุงลอนดอน ในเดือนเมษายน 2552 ในการนี้ ผู้นำได้ขอให้รัฐมนตรีคลังอาเซียนจัดเตรียมประเด็นเพิ่มเติมสำหรับประธานอาเซียนและอินโดนีเซียในฐานะสมาชิก G20 เพื่อแจ้งต่อที่ประชุมสุดยอดที่กรุงลอนดอน

ออก ณ วันที่ 1 มีนาคม 2552 ที่ชะอำ หัวหิน, ประเทศไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น