xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” ฟิต ถึงชะอำเร่งถก 4 ชาติ แถลงผล 6 โมงเย็นนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“อภิสิทธิ์” เบิกบานบึ่งรถถึงชะอำ เร่งถกทวิภาคีกับผู้นำพม่า กัมพูชา มาเลเซีย ตามด้วย รมช.ต่างประเทศอังกฤษ ก่อนเปิดแถลงผลหกโมงเย็นนี้ จับตาผลหารือ “ฮุนเซน”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 14.00 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาด้วยรถยนต์ประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ยี่ห้อบีเอ็มดับเบิลยู ซีรีส์ 7 เลขทะเบียน ศฮ 9201 กรุงเทพมหานคร ส่งตรงถึงด้านหน้าโรงแรงดุสิตธานี หัวหิน อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็นสถานที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 14 หรืออาเซียนซัมมิต

โดยนายอภิสิทธิ์ลงจากรถด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส พร้อมทักทายผู้สื่อข่าวสั้นๆ ว่า “การเดินทางเรียบร้อยดี ไม่มีปัญหาอะไร” จากนั้นนายอภิสิทธิ์เดินทางขึ้นไปประชุมทวิภาคีกับผู้นำประเทศอาเซียน ทั้งสมเด็จฯ ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา พล.อ.เต็งเส่ง นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศสหภาพพม่า และนายอับดุลเราะห์ อาหมัด บาดาวี นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศมาเลเซีย นอกจากนี้ยังเข้าหารือกับ รมช.ต่างประเทศจากสหราชอาณาจักร เพื่อพูดคุยถึงการเตรียมความพร้อมก่อนการประชุมกลุ่มประเทศ G20 ด้วย ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการแถลงผลการประชุมทวิภาคีกับกัมพูชา พม่า และมาเลเซีย ในเวลา 18.00 น.วันเดียวกันนี้

ทั้งนี้ นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงถึงประเด็นที่นายกรัฐมนตรีจะนำมากล่าวสุนทรพจน์ในการเปิดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 14 ในเวลา 14.30 น.ของวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ โดยนายกฯ จะเริ่มจากการทบทวนประวัติศาสตร์ความเป็นมาของอาเซียน ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนมาถึงปัจจุบัน นอกจากนี้จะพูดถึงอุปสรรคที่อาเซียนพบ และจุดแข็งรวมถึงความท้าทายใหม่ ๆของอาเซียนในอนาคต โดยใช้เวลาในการพูดประมาณ 15 นาที และในการประชุมอาเซียนครั้งนี้จะมีการพูดถึงความร่วมมือ 3 ด้าน ทั้งด้านมั่นคง การค้า และสังคมวัฒนธรรม โดยในเรื่องของเศรษฐกิจจะเน้นให้เป็นตลาดเดียวกันเพื่อดึงดูดการลงทุน โดยเอาประชาชนเป็นฐานสำคัญ อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือของอาเซียนวันนี้ยังมีคู่สนทนาที่เป็นเพื่อนอาเซียนเข้ามาร่วมด้วยเพื่อขยายความร่วมมือ โดยจะเน้นไปถึงประเด็นการนำกฎบัตรอาเซียนมาบังคับใช้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ขณะที่การกล่าวปิดประชุมอาเซียนซัมมิต ในวันที่ 1 มีนาคม นายกรัฐมนตรีจะนำผลการหารือของที่ประชุมอาเซียนมารายงานให้สาธารณะ โดยนายกรัฐมนตรีจะกระตุ้นให้ประเทศอาเซียนทั้ง 10 หันมาร่วมมือกันเพื่อฟันผ่าวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน

นายอภิสิทธิ์ ให้สัมภาษณ์ถึงการหารือทวิภาคีกับสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาในวันนี้ซึ่งมีข่าวว่าจะหารือถึงเรื่องการถอนกำลังทหารออกจากบริเวณพื้นที่ปราสาทพระวิหาร ว่า คงมีการพูดคุยถึงการแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยใช้กระบวนการที่มีอยู่แล้ว ซึ่งไม่คิดว่าจะมีการลงลึกถึงรายละเอียดของประเด็นที่มีการเจรจาอยู่ นอกจากนี้คงจะได้รับทราบร่วมกันถึงการทำงานของคณะกรรมการชายแดน และรับทราบว่ามีปัญหาและอุปสรรคอะไรบ้าง รวมถึงส่งสัญญาณให้เดินหน้าในการแก้ไขปัญหาร่วมกันต่อ

ส่วนประเด็นปัญหาการพัฒนาผลประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชานั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เราต้องการให้เดินหน้าต่อ แต่มีรายละเอียดทางเทคนิคที่ยังมีความแตกต่างกันอยู่ ถ้ามีโอกาสก็จะหยิบยกขึ้นมาหารือเพราะเป็นผลประโยชน์ร่วมกัน

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ทางสหรัฐอเมริกาออกมาเรียกร้องให้อาเซียนเข้าไปมีบทบาทในการแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชนและปัญหาอื่นๆ ของพม่า นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้( 28 ก.พ.) ภาคประชาสังคมอาเซียนจะได้มีโอกาสนำเสนอข้อคิดเห็นต่อผู้นำทั้ง 10 ประเทศ และในส่วนของไทยตั้งใจว่าจะผลักดันเรื่องกลไกสิทธิมนุษยชนให้ได้ภายในปีนี้ ซึ่งเราก็ทราบว่ามีความละเอียดอ่อนอยู่พอสมควร เราต้องการให้กลไกนี้ปฏิบัติได้และมีความน่าเชื่อถือ

"เราพยายามที่จะเชิญทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมด้วย และความจริงแล้วทุกปัญหาที่มีผลกระทบต่ออาเซียน เราก็จะมีการพูดคุยกัน แต่แนวคิดหรือวิธีการของเรากับสหรัฐอเมริกาหรือประเทศทางตะวันตกคงเหมือนกันไม่ได้ เพราะมีความแตกต่างกันในเชิงความสัมพันธ์" นายกรัฐมนตรีกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการปรับกระบวนการความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับพม่าใหม่หรือไม่นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทุกครั้งที่มีการประชุมอาเซียนก็จะมีการรับทราบถึงความคืบหน้าต่างๆ ในพม่าอยู่แล้ว ซึ่งคิดว่าแนวทางที่ผ่านมาก็เป็นแนวทางที่ต้องทำต่อ แม้ว่าอาจจะปรับในรายละเอียดบ้าง เช่น อาจจะปรับเรื่องของวิธีการในการที่จะทำให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกันดีขึ้น หรือช่วยกันผลักดันการเป็นประชาคมร่วมในเรื่องความมั่นคงกับการเมือง แต่ต้องไม่ลืมว่าในวันที่พม่าประสบปัญหาพายุนาร์กีส ถ้าประเทศไทยหรืออาเซียนไม่ใช้แนวทางที่เราดำเนินการมา ทั้งโลกจะไม่สามารถมีใครไปเชื่อมโยงช่วยเหลือคนพม่าได้เลย

ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าไทยยังคงนโยบายที่ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในของพม่าใช่หรือไม่นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เราไม่เข้าไปแทรกแซงกิจการภายใน เพราะต้องเคารพอธิปไตยของแต่ละประเทศ แต่ปัญหาใดที่กระทบกับคนในอาเซียนและการทำงานของอาเซียน เราต้องพูดคุยกัน ผู้สื่อข่าวถามว่า ไทยจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการเมืองของพม่าได้มากกว่านี้หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คิดว่าการปฏิรูปของแต่ละประเทศก็เป็นเรื่องของเขา แต่เราก็ต้องถ่ายทอดความรู้สึกและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภายนอกเข้าไปด้วย

นายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า ในการประชุมครั้งนี้จะได้หยิบยกปัญหาชาวโรฮิงญาขึ้นมาพูด เพราะขณะนี้ส่วนใหญ่ก็ดูเหมือนจะเห็นพ้องกันว่าการแก้ปัญหาต้องทำในกรอบของภูมิภาคมากกว่าจะเป็นเรื่องของประเทศใดประเทศหนึ่ง

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่มีข่าวว่าภาคเอกชนระบุว่าไทยมีความพร้อมน้อยมากในเรื่องประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ความจริงเรื่องของความพร้อมก็ต้องช่วยกัน ซึ่งเมื่อเทียบกับอีกหลายๆ ประเทศในภูมิภาคก็ไม่ได้พร้อมน้อยกว่าคนอื่น เพียงแต่ขณะนี้กระบวนการของการรวมตัวอาจจะมีความล่าช้า แนวคิดหนึ่งที่อยากจะผลักดันคือทำอย่างไรให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นและตัวสำนักเลขาธิการเข้ามามีบทบาทมากขึ้น
ต่อข้อถามว่า จะขอให้อาเซียนแก้ปัญหาการกีดกันทางการค้าอย่างไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เราต้องยืนยันในส่วนของเราว่าจะไม่มีการถอยหลังการทำเรื่องการค้าเสรี คิดว่าถ้าเราเป็นตัวอย่างจะเป็นสัญญาณที่ส่งไปในภูมิภาคอื่นๆ ด้วย และเป็นจุดยืนที่เราจะไปใช้ในการประชุมG 20 ด้วย ทั้งนี้ ในการเดินทางไปร่วมประชุม G 20 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ คงจะย้ำเรื่องท่าทีที่ต้องรักษาเรื่องการค้าการลงทุนและเงินทุนที่หมุนเวียน ไม่ให้ประเทศที่พัฒนาแล้วหมกมุ่นอยู่กับการแก้ปัญหาระบบสถาบันการเงิน แล้วปล่อยให้เศรษฐกิจโลกถดถอยมากจนกระทั่งเกิดปัญหาสังคมในหลายพื้นที่


กำลังโหลดความคิดเห็น