“กลุ่มกรีนพีซ” โผล่ประชุมอาเซียนซัมมิต ชะอำ ยื่นหนังสือถึง “อภิสิทธิ์” พร้อมผู้นำ 10 ประเทศ ร้องให้ความสำคัญสิ่งแวดล้อม พร้อมจี้ดันอนุสัญญา “ยูเอ็นเอฟซีซีซี” ให้สำเร็จ หวังลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดโลกร้อน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศในช่วงเช้าก่อนพิธีการเปิดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 14 หรืออาเซียนซัมมิตได้มีการวางกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจตามจุดต่างๆ ตั้งแต่เส้นทางเข้าสู่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ไปจนถึงโรงแรมดุสิตธานี หัวหิน อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี สถานที่จัดการประชุม ได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมนักกิจกรรมกรีนพีซ ประมาณ 20 คน ยื่นหนังสือลงนาม นายวอน เฮอร์นันเดช ผู้อำนวยการบริหารกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีประเทศไทย พร้อมสำเนาถึง รมว.ต่างประเทศ, รมว.สิ่งแวดล้อม, รมว.พาณิชย์ ของแต่ละประเทศในกลุ่มอาเซียน
โดยหนังสือระบุว่า ทางกลุ่มกรีนพีซได้เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกอาเซียนใช้มาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยให้ความสำคัญและสนับสนุนการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Invesments) ซึ่งจะช่วยจัดวางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บนแนวทางการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ที่มีการปล่อยคาร์บอนต่ำ แทนการคงไว้ซึ่งการลงทุนที่นำไปสู่การเพิ่มปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และนำไปสู่ความไม่มั่นคงระดับโลก อีกทั้งยังเรียกร้องให้สมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ทั้งในระดับรัฐและในระดับภูมิภาค ร่วมมือกันผลักดันการเจรจาอนุสัญญาแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ณ กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดรนมาร์กในเดือน ธ.ค.นี้ให้ประสบผลสำเร็จ
หนังสือยังระบุถึงการพิจารณาปฏิญญาสิงคโปร์ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศพลังงานและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีการรับรอง ณ การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 3 ในวันที่ 21 พ.ย.50 และปฏิญญาปักกิ่ง ซึ่งรับรอง ณ การประชุมเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 7 (ASEM7) ที่กรุงปักกิ่ง ระหว่างวันที่ 24-25 ต.ค.51 โดยเรียกร้องร่วมกันในประเด็นต่างๆ 1.ควรมีพันธะทางกฎหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับประเทศอุตสาหกรรมอย่างน้อย 3 ใน 4 ส่วน และจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการปล่อยเพื่อให้เกิดเงินทุนที่พอเพียงเพื่อสนับสนุนพลังงานสะอาด 2.กลไกด้านเงินทุนในการยุติการทำลายป่าไม้เชิงสุทธิ และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวข้องในประเทศกำลังพัฒนาภายในปี 2563
3.แผนปฏิบัติการเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับประเทศกำลังพัฒนาภายใต้จิตวิญญาณของการสร้างเสริมความเข้มแข็ง โดยการมีส่วนร่วมจากประเทศภาคีสมาชิกอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) อย่างไรก็ตามทางกลุ่มขอเรียกร้องให้ประเทศผู้นำสมาชิกอาเซียนได้ลงมือปฏิบัติเพื่อหาทางป้องกันเนื่องจากถือได้ว่าคุกคามที่ร้ายที่สุดในภูมิภาคและโลกกำลังเผชิญในปัจจุบัน