xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : “ตร.-อัยการ-ส.ส.เพื่อไทย”...ใครปล่อยปละ “ทักษิณ”?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคำพิพากษาจำคุก 2 ปีในคดีซื้อที่รัชดาฯ
อมรรัตน์ ล้อถิรธร.....รายงาน

กรณีที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยหลายคนแห่ไปพบ “พ.ต.ท.ทักษิณ” ที่ฮ่องกง ในช่วง 5-6 วันมานี้ ถูกหลายคนตั้งคำถามว่า เหมาะสมหรือไม่ และถือว่ามีความผิดหรือไม่ ที่ ส.ส.เหล่านี้ร่วมกันปกปิดแหล่งกบดานของนักโทษหนีคดีผู้นี้ ทั้งที่รู้ว่าเจ้าหน้าที่กำลังต้องการตัวมาชดใช้กรรมในคุก เพื่อความกระจ่างในแง่ กม.เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว รวมถึงท่าทีและการทำงานของ “อัยการ”และ “ตำรวจ”ที่ไม่เพียง “อืดเป็นเรือเกลือ” แต่ยังเกี่ยงกันไป-โบ้ยกันไป ว่า การตามตัวนักโทษชายทักษิณกลับมาเข้าคุกนั้น ใครต้องเป็นคนต้นเรื่องกันแน่

คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ

นับแต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หนีคดีซื้อที่รัชดาฯ (10 ส.ค.2551) กระทั่งหนีคำพิพากษาที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญาในคดีดังกล่าว (21 ต.ค.2551) จวบจนปัจจุบัน ส.ส.พรรคเพื่อไทย หรือพรรคพลังประชาชนเดิม ต่างเดินทางไปเยี่ยมเยียน ขอคำปรึกษา หรืออาจจะถึงขั้นรับคำสั่ง รับเงินสนับสนุนจากนายใหญ่เป็นระยะๆ โดยหาได้ตระหนักว่า ตนอยู่ในฐานะผู้แทนของประชาชน ควรหรือไม่ที่จะไปติดต่อคบค้าสมาคมหรือสมคบกับนักโทษหนีคดีผู้นี้

ล่าสุด ระหว่างวันที่ 18-21 ก.พ.ที่ผ่านมา ส.ส.พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช.ต่างพร้อมใจกันเดินทางไปหานายใหญ่ทักษิณอีกครั้ง โดยมีนายพายัพ ชินวัตร และ นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องชายและน้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นโต้โผนำทีมพาไปพบที่ฮ่องกง ทั้งนี้ แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทย แจ้งว่า ผู้ที่เดินทางไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้แก่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.สัดส่วน, นายประชา ประสพดี ส.ส.สมุทรปราการ, นายสุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่, นายศักดา คงเพชร ส.ส.ร้อยเอ็ด, นายสุชาติ ลายน้ำเงิน ส.ส.ลพบุรี ฯลฯ ส่วนแกนนำ นปช.ที่เดินทางไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้แก่ นายจักรภพ เพ็ญแข เป็นต้น

หลังมีข่าวว่า ส.ส.พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช.แห่เดินทางไปพบนายใหญ่ทักษิณที่ฮ่องกง ปรากฏว่า นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ได้ออกมายอมรับว่า ข่าวดังกล่าวเป็นเรื่องจริง พร้อมยืนยันว่า เหตุที่ ส.ส.ต้องเดินทางไป เพราะมีความรักใคร่ชอบพอกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้เป็นการไปหาทุนก่อนการชุมนุมของกลุ่ม นปช.และคนเสื้อแดง(ในวันที่ 24 ก.พ.) แต่อย่างใด!?!

ด้าน นายสุชาติ ลายน้ำเงิน ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ยอมรับ (21 ก.พ.) ว่า ตนและ ส.ส.ของพรรคจำนวนหนึ่งได้เข้าพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ฮ่องกงจริง และว่า นอกจากได้ถามสารทุกข์สุกดิบแล้ว พ.ต.ท.ทักษิณ ได้สั่งกำชับให้บรรดา ส.ส.ที่เข้าพบ ทำหน้าที่ดูแลประชาชนให้ดี รวมทั้งต้องปกป้องระบอบประชาธิปไตยของประเทศเอาไว้ให้ได้ พร้อมเชื่อว่า สักวันหนึ่งคุณธรรมจะต้องกลับคืนมา นายสุชาติ ยังยืนยันด้วยว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้พูดถึงการตั้งหัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนใหม่ และไม่ได้พูดถึงการชุมนุมของคนเสื้อแดงในวันที่ 24 ก.พ.แต่อย่างใด

เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ ส.ส.พรรคเพื่อไทย จะยอมรับว่า ได้เดินทางไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ฮ่องกงจริง แต่กลับปฏิเสธที่จะเผยที่อยู่ของ พ.ต.ท.ทักษิณ โดยอ้างว่า เพื่อความปลอดภัย เนื่องจากเกรงว่าอาจมีการลอบสังหาร พ.ต.ท.ทักษิณ

อย่างไรก็ตาม คำอ้างของ ส.ส.พรรคเพื่อไทย คงไม่สามารถทำให้ทุกคนเชื่อได้ เพราะเหตุผลที่กลัว พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกลอบสังหารนั้น อาจดูเลื่อนลอยเกินไป แท้จริงแล้ว การไม่ยอมเปิดเผยที่อยู่ของ พ.ต.ท.ทักษิณ น่าจะเป็นเพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ กลัวถูกจับมารับโทษในประเทศไทยมากกว่า

ด้าน นายบุญยอด สุขถิ่นไทย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ บอก (22 ก.พ.) ว่า จะปรึกษากับฝ่ายกฎหมายของพรรค ว่าการที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ซึ่งอยู่ในฐานะข้าราชการการเมือง แต่กลับไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเป็นนักโทษหนีคดีที่ทางการไทยต้องการตัว แต่ ส.ส.เหล่านั้นกลับปกปิดแหล่งกบดานของนักโทษ จะถือว่ามีความผิดหรือไม่ หรือจะนำไปสู่การถูกถอดถอนได้หรือไม่

ส่วนท่าทีของทางอัยการและตำรวจต่อการนำตัว พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมารับโทษตามคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ หลังเวลาผ่านมากว่า 4 เดือนแล้วนั้น นายศิริศักดิ์ ติยะพรรณ อธิบดีอัยการฝ่ายต่างประเทศ บอก (23 ก.พ.) ว่า ขณะนี้ขั้นตอนอยู่ที่ตำรวจ เพราะศาลฎีกาฯ ได้ออกหมายจับส่งไปทางตำรวจ และว่า อัยการก็จะมีหนังสือประสานไปยังตำรวจเช่นกัน เพื่อให้ตำรวจติดตามข้อมูลว่า พ.ต.ท.ทักษิณ พักอาศัยอยู่ที่ไหนแน่ หากได้ที่อยู่ที่แน่นอน อัยการก็จะประสานไปยังประเทศนั้นๆ ตามกระบวนการของกฎหมาย ส่วนกรณีที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยเดินทางไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ไม่แจ้งที่อยู่ของ พ.ต.ท.ทักษิณให้เจ้าหน้าที่รัฐทราบ จะถือเป็นความผิดหรือไม่นั้น นายศิริศักดิ์ ตอบแบบเลี่ยงๆ ว่า ผู้เกี่ยวข้องต้องดูเรื่องนี้ด้วย แต่สำหรับอัยการ ขอย้ำว่า ต้องได้ข้อมูลที่ยืนยันได้เป็นเรื่องเป็นราว อัยการจึงจะสามารถดำเนินการได้

เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้อัยการ จะยืนยันว่า ขณะนี้เป็นหน้าที่ของตำรวจที่ต้องหาที่อยู่ของ พ.ต.ท.ทักษิณ และประสานส่งข้อมูลให้อัยการก่อน อัยการจึงจะดำเนินการต่อไป แต่ทางตำรวจได้ออกมาโบ้ยตั้งแต่ก่อนหน้านี้ว่า เป็นหน้าที่ของอัยการที่จะต้องประสานมายังตำรวจก่อน

โดย พล.ต.ท.วัชรพล ประสานราชกิจ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ออกมาอ้างเหตุที่ยังไม่สามารถติดตามจับกุม พ.ต.ท.ทักษิณกลับมารับโทษได้ แม้จะทราบว่า ล่าสุด(20 ก.พ.)พ.ต.ท.ทักษิณพำนักอยู่ในฮ่องกง ว่า เนื่องจากต้องรอขั้นตอนให้อธิบดีอัยการฝ่ายคดีต่างประเทศเป็นผู้เสนอมา ทางตำรวจจึงจะประสานให้ตำรวจฮ่องกงเข้าจับกุมได้ทันที

นอกจากโบ้ยให้อัยการแล้ว พล.ต.ท.วัชรพล ยังโบ้ยให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลด้วย โดยบอกว่า ยังมีอีกช่องทางในการติดตามตัว พ.ต.ท.ทักษิณ โดยให้รัฐบาลประสานไปยังทางการฮ่องกง เมื่อรู้จุดสถานที่ที่ พ.ต.ท.ทักษิณพำนักอยู่ ก็ขอควบคุมตัวชั่วคราว แต่เนื่องจาก ส.ส.พรรคเพื่อไทยที่เดินทางไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่มี ส.ส.คนใดยอมให้ข้อมูล ทำให้ไม่ทราบที่อยู่ที่ชัดเจน

โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังระบุอุปสรรคในการติดตามตัว พ.ต.ท.ทักษิณด้วยว่า พ.ต.ท.ทักษิณมีการเคลื่อนไหวรวดเร็ว เดินทางไปยังที่ต่างๆ โดยไม่กำหนดจุดล่วงหน้า ทำให้การจับกุมตัวทำได้ยาก

ขณะที่สถานการณ์ดูสับสนว่า การติดตามตัว พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมารับโทษในประเทศไทย เป็นหน้าที่ของหน่วยงานใดก่อน-หลัง ระหว่างตำรวจกับอัยการ รวมทั้งกรณี ส.ส.พรรคเพื่อไทย เดินทางไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ แถมปกปิดแหล่งกบดานของนักโทษหนีคดีผู้นี้ด้วยนั้น จะถือเป็นความผิดหรือไม่ ลองไปฟังมุมมองของผู้คร่ำหวอดด้านกฎหมายเพื่อความกระจ่างในเรื่องนี้

ดร.คณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด บอกว่า ถ้าพูดกันตรงๆ การที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยเดินทางไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเป็นนักโทษหนีคดี ก็ถือเป็นเสรีภาพของบุคคลที่จะเดินทางไปพบใครก็ได้ แม้บุคคลนั้นจะเป็นนักโทษที่อยู่ระหว่างหลบซ่อนตัวอยู่ก็ตาม ส่วนกรณีที่ตำรวจและอัยการดูเหมือนเกี่ยงความรับผิดชอบต่อการนำตัว พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมารับโทษนั้น ดร.คณิต ตั้งข้อสังเกตว่า ปัญหาของบ้านเรา ก็คือ หน่วยงานที่เป็นเจ้าพนักงานมีหลายหน่วยงาน และไม่ค่อยจะร่วมมือกันทำงาน แต่ชอบเกี่ยงกัน โยนกันไปโยนกันไป

“ผมว่าในบ้านเรามันก็เถียงกันอย่างนี้ล่ะ โยนกันไปโยนกันมา ภาระหน้าที่ของใคร ภาระหน้าที่ตามกฎหมายแล้วเป็นหน้าที่ของสังคม ของอัยการของเขานะ (ถาม-ตำรวจไม่เกี่ยวแล้วเหรอ?) ตำรวจธรรมดาแล้วเนี่ย เขามีหน้าที่ช่วยเหลือ คือ งานในด้านของการดำเนินคดีเนี่ย จริงๆ มันต้องร่วมกันทำงาน ไม่ใช่ว่าเกี่ยงกันทำงาน ขณะนี้กระบวนการยุติธรรมเรา จะเห็นว่า เจ้าพนักงานมันหลายฝ่ายเหลือเกิน เช่น เดิม พนักงานในทางคดีก็จะมี 2 ส่วน ส่วนหนึ่งก็คือ ตำรวจกับอัยการ เดี๋ยวนี้มีอะไรต่ออะไรเยอะแยะ ดีเอสไอเอย ป.ป.ช.ก็เหมือนกัน ป.ป.ท.(สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ) เข้ามาอีก 4-5 หน่วย ต่อไปผมไม่ทราบว่าจะมีอะไรอีก เพราะฉะนั้นปัญหาของเราก็คือ หน่วยงานที่เป็นเจ้าพนักงานเนี่ย จะทำงานร่วมกันยังไง ตรงนี้มันเป็นปัญหาบ้านเมืองเรา”

ด้านนายสุรพงษ์ ชัยนาม อดีตเอกอัครราชทูตไทยหลายประเทศ มองกรณีที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เดินทางไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ แล้วไม่แจ้งที่อยู่ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ให้ทางการทราบว่า ส่วนตัวแล้วคิดว่า แม้ไม่มีกฎหมายห้าม ส.ส.ทำเช่นนี้ แต่โดยมารยาทแล้ว ถือเป็นเรื่องไม่สมควร

“ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยไปหาคุณทักษิณ ผมคิดว่าโดยมารยาทแล้ว ในแง่ของมารยาทแล้ว มันสมควรหรือไม่ โดยสถานะของคุณทักษิณ โดนคำพิพากษา ต้องคำพิพากษาไปแล้ว อันนี้มันเป็นการสมควรหรือไม่ที่เขาจะทำ แต่ผมคิดว่ามันคงไม่มีกฎหมายที่ไหนที่จะห้าม ที่จะไปพบ แต่มันอยู่ที่จิตสำนึกของนักการเมืองแต่ละคน ในแง่นี้ก็คือนักการเมืองของพรรคเพื่อไทย (ถาม-รู้สึกยังไงที่สำนักงานอัยการสูงสุดและสำนักงานตำรวจแห่งชาติยังไม่มีความคืบหน้าในการนำตัวคุณทักษิณกลับมาดำเนินคดี?) ก็เป็นหน่วยงานของรัฐนี่ และหน่วยงานนี้ขึ้นกับใครล่ะ ก็ขึ้นกับรัฐบาลไม่ใช่เหรอ ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องมีการดำเนินการอย่างไร สั่งการอย่างไร กำชับอย่างไรให้มีการดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจังอย่างไร ตอนนี้คนส่วนใหญ่ก็ตั้งข้อสังเกต เอ๊ะ! แล้วทำไมเรื่องมันไม่เดิน มันมีการใส่เกียร์ว่างกันหรือเปล่า”

ขณะที่ รศ.ดร.อุดม รัฐอมฤต อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน และรองอธิการบดีฝ่ายบริหารท่าพระจันทร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า หากมองในเชิงกฎหมายแล้ว คงไม่สามารถเอาผิด ส.ส.ที่เดินทางไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่อยู่ในฐานะนักโทษหนีคดีได้ เพราะไม่ใช่หน้าที่ของ ส.ส.ที่ต้องแจ้งให้ทางการทราบ แต่เป็นหน้าที่ของตำรวจและอัยการ รวมทั้งฝ่ายบ้านเมืองมากกว่า ว่าจะปฏิบัติการอย่างไรให้เป็นไปตามคำสั่งศาลเพื่อให้ได้ตัว พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมารับโทษ อย่างไรก็ตาม อ.อุดม ยอมรับว่า กรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเรื่องที่พูดยาก เพราะส่วนหนึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับการเมือง เสื้อเหลือง-เสื้อแดง ซึ่งผู้มีอำนาจหน้าที่หรือฝ่ายบริหารอาจไม่อยากแตะเรื่องนี้ เพราะเกรงจะเป็นการเติมเชื้อไฟให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่พอใจ

“ผมมองว่า คนที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาล มันก็มีเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติอยู่แล้ว ถ้าอัยการจะต้องขอความร่วมมือจากตำรวจเนี่ย มันก็ทำได้ เพราะลำพังอัยการก็ไม่มีกลไกอะไรหรอก เพราะเขาเป็นฝ่ายกฎหมาย เพียงแต่พอเราบอกว่าตำรวจคือใคร ตำรวจก็คือเจ้าหน้าที่บ้านเมืองประจำน่ะ ก็คือต้องอาศัยผู้บังคับบัญชาระดับสูงเป็นคนสั่ง ก็คือถ้าตำรวจอยู่ภายใต้นายกฯ หรืออยู่ภายใต้รัฐมนตรีที่ดูแล ผมว่าเขาก็ต้องเป็นคนสั่งว่าคุณไปตามจับเขามา ขอให้ร่วมมือกับอัยการในการจับตัวผู้ที่ศาลมีคำสั่งลงโทษแล้วมาให้ได้ ก็แค่นั้น ผมนึกไม่ออกว่า ทุกวันนี้ที่เราพูดกัน ก็พูดกันไป ทำไมยอมให้ทำอย่างนั้นยอมให้ทำอย่างนี้ ผมว่าเจ้าหน้าที่บ้านเมืองต้องเป็นคนดูแลในเรื่องพวกนี้ก่อน แต่พูดไปมันก็เหมือนกับเรารู้น่ะว่า พอทำอย่างนี้ปุ๊บ มันเหมือนไปโหมอีกฝ่ายหนึ่ง ใช่มั้ย อันนี้ก็ต้องพูดกันตามตรง เช่น ถ้าบอกว่าจะต้องตามจับคุณทักษิณให้ได้ มันก็จะเป็นปัญหาใช่มั้ย อีกฝ่ายหนึ่งก็จะบอกว่า เฮ้ย! มันเอาแล้ว เราก็จะต้องเตรียมแผนอะไรต่างๆ มันกลายเป็นเรื่องพรรค์อย่างนี้ไปหมด แต่ผมว่าเจ้าหน้าที่ต้องมี position ในเรื่องนี้ชัดเจน ซึ่งฝ่ายการเมืองเขารู้ ผมว่านะ ฝ่ายการเมืองถ้าเขาจะบอกว่า เขาต้องเอาตัวคุณทักษิณมาเนี่ย เขาต้องทำยังไง ผมว่าเขารู้อยู่แล้วล่ะ แต่ถามว่าทำไมเขาไม่ทำ อันนี้ต้องไปถามเขา”

ด้าน ดร.ทิวา เงินยวง ส.ส.กทม.และคณะทำงานด้านกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ พูดถึงกรณีที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยเดินทางไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ และปกปิดที่อยู่ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเป็นนักโทษหนีคดีว่า แม้ในทางกฎหมายจะไม่มีอะไรห้าม ถือเป็นสิทธิเสรีภาพที่จะแจ้งหรือไม่แจ้งให้ทางการทราบก็ได้ แต่หากมองในแง่คุณธรรมจริยธรรม และในฐานะที่ ส.ส.เป็นพลเมืองคนหนึ่งแล้ว ก็ควรจะแจ้งให้ตำรวจทราบ เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นบุคคลที่ทางการกำลังต้องการตัว เนื่องจากอยู่ภายใต้หมายของศาลให้ลงโทษจำคุก

ส่วนกรณีที่ตำรวจและอัยการต่างโยนความรับผิดชอบในการตามตัว พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมารับโทษ จะทำให้ตำรวจและอัยการถูกมองว่าละเว้นหรือละเลยการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่นั้น ดร.ทิวา บอกว่า ถ้าพิจารณาจากขั้นตอนแล้ว อัยการน่าจะยังไม่เข้าข่ายละเว้น แต่ตำรวจอาจเข้าข่ายได้ ถ้ามีผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ

“ทางตำรวจเนี่ย ณ วันนี้เนี่ย เริ่มจะตั้งข้อสังเกตได้แล้วว่า ขณะที่คนอื่นยังรู้ว่าคุณทักษิณอยู่ที่ไหน เช่น ส.ส.พรรคเพื่อไทย แต่ถามว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจวันนี้เนี่ย ยังไม่ส่งเรื่องให้อัยการเป็นระยะเวลาประมาณครึ่งปีแล้ว ถ้าจำไม่ผิดตั้งแต่เดือน ก.ค.เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องรวบรวมสำนวนและเอาหมายศาลส่งให้อัยการ รองอธิบดีอัยการก็ให้สัมภาษณ์มาแล้วว่า ทางอัยการเตรียมเอกสารพร้อมที่จะดำเนินการเรื่องนี้ แต่ทำไมทางตำรวจยังไม่ทำ ซึ่งตรงนี้ ถ้ามีคนไปร้องทุกข์กล่าวโทษ เจ้าพนักงานตำรวจ ก็อาจจะมีการดำเนินคดีได้ อันนี้มีหน้าที่ ส่วนอัยการนั้นมีหน้าที่ แต่เขาจะทำหน้าที่ได้ต่อเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจส่งเรื่องมา เพราะฉะนั้น ณ วันนี้ อย่างกรณีเจ้าพนักงานอัยการเนี่ย ยังไม่ละเว้น แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ตำรวจ ใช่ ซึ่งอีกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็คือ กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเป็นหน่วยงานสุดท้ายใช่มั้ย 3 หน่วยงานนี้ต้องประสานกัน แต่มันมีต้นเรื่องก็คือ เจ้าพนักงานตำรวจ เพราะฉะนั้นต้องตั้งคำถามว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการเรื่องนี้ไปถึงไหน แล้วต้องตอบคำถามประชาชนได้ว่า กำลังดำเนินการตามปกติหรือไม่ปกติ หรือเก็บเรื่อง ดึงเรื่อง”

เมื่อถามว่า กรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ และ คุณหญิงพจมาน ไปจดทะเบียนหย่ากันที่สถานกงสุลไทยในฮ่องกงก่อนหน้านี้ จะถือว่าการที่กงสุลไทยยอมจดทะเบียนหย่าให้ และไม่แจ้งให้ทางการไทยทราบว่าพบตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งอยู่ระหว่างหลบหนีโทษจำคุก จะถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ดร.ทิวา บอกว่า ประเด็นนี้น่าสนใจ เพราะตนจำได้ว่า ตำแหน่ง “กงสุล” นั้น ถือว่ามีสถานภาพเป็นเหมือนกับ “ทูต” ที่อยู่ในแต่ละเมืองแต่ละรัฐ ดังนั้นกงสุลน่าจะถือว่าเป็น “เจ้าพนักงาน” จึงควรมีหน้าที่ที่จะต้องแจ้งให้ทางการไทยหรือตำรวจไทยทราบเมื่อพบตัว พ.ต.ท.ทักษิณ แต่กงสุลไทยในฮ่องกงกลับไม่มีการดำเนินการเรื่องนี้แต่อย่างใด!!
สุชาติ ลายน้ำเงิน ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ยอมรับ ตนและ ส.ส.ของพรรคจำนวนหนึ่งได้เข้าพบ พ.ต.ท.ทักษิณที่ฮ่องกงจริง
พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ยืนยัน เหตุที่ ส.ส.ของพรรคไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ใช่ไปขอทุนมาใช้ในการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงวันที่ 24 ก.พ.
ศิริศักดิ์ ติยะพรรณ อธิบดีอัยการฝ่ายต่างประเทศ ชี้ การจะนำ พ.ต.ท.ทักษิณกลับมารับโทษ ขณะนี้ขั้นตอนยังอยู่ที่ตำรวจ
พล.ต.ท.วัชรพล ประสานราชกิจ โฆษก ตร.อ้างว่า การติดตามตัว พ.ต.ท.ทักษิณกลับมารับโทษ ต้องรอให้อัยการเสนอมายังตำรวจก่อน
ฟันกราวรูดแก๊งอุดรเถื่อน ขวัญชัย-อุทัย-ผู้การฯ-ผู้ว่าฯ
ASTVผู้จัดการรายวัน-ป.ป.ช.เชือดอาญา ขวัญชัย -อุทัย บงการทำร้ายกลุ่มพันธมิตรฯที่ชุมนุมโดยสงบ ผู้การฯ อุดรธานี เจอวินัยร้ายแรง ผู้ว่าฯโดนด้วย ส่วนบรรยากาศพิธีรดน้ำศพ ครูอารมณ์ มีชัย หญิงแกร่งผู้อุทิศตนเพื่อปกป้อง ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ คลาคล่ำไปด้วยกลุ่มพันธมิตรฯกว่า 5 พันคน ที่หลั่งไหลไปร่วมไว้อาลัย โดยมีนายกรัฐมนตรี แกนนำพันธมิตรฯ บุคคลผู้มีชื่อเสียงในหลายวงการ เข้าร่วมไว้อาลัย ด้านสลน.ชงมติ คกก.อิสระสอบเหตุการณ์ 7 ตุลาฯ ยุติสอบข้อเท็จจริง อ้างเหตุไม่ได้รับความร่วมมือจากบุคคลที่เกี่ยวข้อง รายงานครม.เป็นวาระเพื่อทราบ ขณะที่ ครม.มอบสาทิตย์ ดูผลสอบ 7 ตุลาทมิฬ ก่อนเปิดเผยสู่สาธารณะ ป.ป.ช.เผยสัปดาห์หน้าสรุปสำนวนแจ้งข้อกล่าวหาได้
กำลังโหลดความคิดเห็น