ประชุมงบวุฒิสภากว่า 10 ชม.ผ่านฉลุย “ส.ว.” รุมซักงบประมาณกลางปี ด้าน “กรณ์” เชื่อสภาพการเงินที่มีอยู่สามารถพยุงเศรษฐกิจได้ ด้าน “กอร์ปศักดิ์” ยันรัฐบาลให้ความสำคัญส่งออก ยาหอมเตรียมงบ 2 หมื่นล้านให้ “กองทุนพอเพียง” เพื่อรองรับแรงงานกลับคืนสู่ชุมชน
วานนี้ (23 ก.พ.) รายงานการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมกลางปีแจ้งว่า ได้มี ส.ว.ผลัดเปลี่ยนกันอภิปรายนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะงบกระตุ้นเศรษฐกิจที่เกรงว่าอาจจะไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง ซึ่งการอภิปรายดังกล่าวไม่ได้เป็นการอภิปรายรายมาตรา แต่เป็นการอภิปรายภาพรวมของร่าง พ.ร.บ. ทำให้ยากต่อการควบคุมการอภิปราย เนื่องจากมีความยืดเยื้อ แต่ประธานในที่ประชุมก็ปล่อยให้เป็นไปตามที่ผู้อภิปรายต้องการ
โดยนางกอบกุล พันธุ์เจริญวรกุล ส.ว.สรรหา ได้ตั้งข้อสังเกตถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลว่า ขณะนี้รัฐบาลยังไม่มีมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาว ถ้าหากวิกฤติเศรษฐกิจลากยาวไปอีก 2-3 ปี แล้วรัฐบาลจะทำอย่างไร มีเม็ดเงินเผื่อไว้หรือไม่ เพราะประชาชนคงไม่เห็นด้วยกับการกู้เงินอย่างมโหฬาร เพราะมีแต่จะสร้างหนี้เพิ่มให้คนไทย อีกทั้งเกรงว่าการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินนั้นจะเป็นการปล่อยสินเชื่อแบบลอยตัว ซึ่งจะก่อหนี้เสียมากกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างแท้จริง และในไตรมาสต่อไป รัฐบาลได้จัดวางงบประมาณไว้สำหรับแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจหรือไม่ เพราะเงินคงคลังที่เหลืออยู่นั้น รัฐบาลคงไม่สามารถแจกเงิน 2 พันบาทได้
จากนั้น นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ได้รายงานตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ได้รับการรายงานจากสภาพัฒน์ ว่ามีตัวเลขทางเศรษฐกิจหดตัวลงสูงสุดในรอบ 10 ปี ดังนั้นจึงต้องมีมาตรการออกมาระงับการหดตัวในระยะสั้น และจำเป็นต้องกำหนดนโยบายที่มีความชัดเจนในการกอบกู้ และกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาว โดยขีดความสามารถในการแข่งขันของเรา เมื่อดูอัตราการปรับลดลงจะเห็นได้ชัดว่า ส่วนที่ได้ผลต่อเศรษฐกิจมากที่สุดคือ การส่งออก แต่กลับมีการปรับลงตัวลดลงจากเดือน ธ.ค.ที่มีสัดส่วนของจีดีพีเพิ่มขึ้นเพียง 0.3 % อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังระมัดระวังในเรื่องความสำคัญต่อวินัยการคลังอย่างมาก
“ผมเชื่อว่าสภาพการเงินที่เป็นอยู่ จะสามารถพยุง และแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ระดับหนึ่ง โดยจะไม่สร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการเงินต่อประเทศมากเกินไป เพราะขณะนี้หนี้สาธารณะเราอยู่ที่ 42 % และได้กำหนดไม่ให้หนี้สาธารณะเกิน 50% ถ้าเทียบหนี้สาธารณะเกือบทุกประเทศ ก็ถือว่าประเทศเราเป็นบวก และเรายังมีความมั่นใจในเสถียรภาพการเงิน การคลัง แต่ยังกังวลว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจว่าจะส่งผลต่อระดับการว่าจ้าง ซึ่งนั่นจะส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวเพิ่มขึ้น” รมว.คลัง กล่าว
ส่วนสถานการณ์เศรษฐกิจตอนนี้นั้น รมว.คลัง กล่าวว่า ถือว่าเรายังสามารถเลี้ยงไว้ไม่ให้เครื่องดับได้ และเราไม่ได้มีความตั้งใจที่จะใช้เงินกู้ และเงินภาษีสวนสภาพความเป็นจริง เพราะเราเชื่อว่า หากถ้าเศรษฐกิจลากยากต่อไปเกินสิ้นปีนี้ เราก็จะสามารถบริหารปริมาณหนี้สาธารณะให้อยู่ในขั้นบริหารจัดการได้อีกหลายปี หรือถ้าสิ้นปีนี้เศรษฐกิจฟื้น ตัวรัฐบาลก็สามารถเลี้ยงเครื่องประเทศต่อไปได้
ด้าน นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมฉบับนี้ เป็นเพียงมาตรการหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และจะเป็นสิ่งรองรับการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในอนาคตเพื่อการลงทุนในระยะกลาง และระยะยาว ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมาก และจากการคาดการณ์ของรัฐบาลมองว่า วิกฤตเศรษฐกิจในอนาคต จะเป็นวิกฤติของการว่างงานที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยในพ.ศ.2552 จะมีจำนวน 2.4 แสนคน และใน พ.ศ.2553 จะมีจำนวน 2.6 แสนคน รวมทั้งสิ้นกว่า 5 แสนคน
“ดังนั้น งบประมาณในการฝึกอบรมแรงงานตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ จึงเป็นการรองรับเพื่อให้บุคคลที่ว่างงานมีขีดความสามารถ และมีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น เพื่อนำไปบรรจุในตำแหน่งงานที่ว่างกว่า 1.2 แสนตำแหน่ง โดยรัฐบาลคาดว่าการฝึกอบรมนี้จะสามารถทำให้ผู้ที่ว่างงาน สามารถเข้าสู่ตำแหน่งงานที่ว่างอยู่ 7 แสนคน เพื่อนำไปสู่การจ้างงานที่ยั่งยืน” นายกอร์ปศักดิ์ กล่าว
รองนายกฯ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้รัฐบาลยังได้มีการเตรียมงบประมาณไว้ 2 หมื่นล้านบาท ในกองทุน “ชุมชนพอเพียง” เพื่อรองรับแรงงานที่จะกลับไปสู่ชุมชน เช่น บุคคลที่ต้องการทำงานในธุรการของโรงเรียนของภาครัฐ ซึ่งรัฐบาลได้มีการเตรียมเงินไว้แล้ว 1.2 หมื่นล้านบาท ให้กระทรวงศึกษาธิการ สำหรับการจ้างบุคคลากรมาทำหน้าที่ธุรการแทนข้าราชการครูที่จากเดิมทำหน้าที่ในส่วนดังกล่าวอยู่นั้น แนวทางนี้จะทำให้ข้าราชการครูมีสมาธิในการสอนมากขึ้น โดยไม่ต้องกังวลกับงานธุรการในโรงเรียน
“ขณะเดียวกัน กรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า รัฐบาลไม่ให้ความสำคัญกับการส่งออกนั้น คงไม่ใช่ เพราะเราต้องยอมรับว่าสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ คู่ค้าของประเทศไทยไม่มีกำลังซื้อ หรือหากมีก็เป็นจำนวนที่ลดลงกว่าครึ่งหนึ่ง ซึ่งรัฐบาลได้มีแนวทางเกี่ยวกับการหาเงินแนวทางใหม่ โดยตอนนี้นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา และประเทศจีน มีการนำเม็ดเงินลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจจำนวนมาก ทำให้คาดว่าจะมีการสั่งสินค้าเข้ามามากขึ้น ซึ่งประเทศไทยจะใช้โอกาสนี้ในการกระตุ้นภาคการส่งออก” รองนายกฯ กล่าว
ส่วนมาตรการให้การช่วยเหลือ 2,000 บาท นั้น นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวยอมรับว่า ยังไม่มีความทั่วถึง เพราะแรงงานนอกระบบยังไม่ได้รับเงินช่วยเหลือในส่วนนี้ แต่บุคคลที่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลในมาตรการนี้ เป็นบุคคลที่อยู่ในระบบประกันสังคม ผู้สูงอายุ และเจ้าหน้าที่อาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งเป็นบุคคลที่รัฐบาลสามารถระบุตัวตนได้ ดังนั้นรัฐบาลคิดว่าเมื่อมีการผ่านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะทำให้ผู้ประกอบการนำแรงงานเข้ามาสู่ระบบมากขึ้น และรัฐบาลจะสามารถช่วยเหลือได้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น
รายงานข่าวแจ้งว่า หลังสมาชิกได้อภิปรายแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องได้ลุกขึ้นชี้แจง ตอบข้อสังเกต และข้อซักถาม ซึ่งใช้เวลารวมกว่า 10 ชั่วโมง ในที่สุดที่ประชุมวุฒิสภาได้ลงมติให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2552 ด้วยคะแนน 89 ต่อ 17 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง พร้อมเห็นชอบข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ