ถึงเวลาต้องสังคายนาจัดการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ มีการรับฟังความเห็นจากสังคมทุกฝ่ายเพื่อกำจัดขบวนการทุจริตเหล่านี้ให้สิ้นไป หรือเหลือเป็นเชื่อชั่วให้น้อยที่สุด อย่างน้อยน่าจะต้องมีข้อสรุปออกมาให้ได้ว่าจะหาทางป้องกันแบบไหน
กรณีเปิดโปงปลากระป๋องเน่า หรือล่าสุดมีเรื่องผิดปกติเรื่องแจกจ่ายนมด้อยคุณภาพ หรือก่อนหน้านั้นไม่นานนักก็มีข่าวเรื่องปุ๋ยปลอมปน ไม่ได้มาตรฐาน ปรากฏการณ์เหล่านี้หากมองในอีกแง่มุมหนึ่งทำให้สังคมเกิดความตื่นตัวหันมาตรวจสอบอย่างจริงจัง
ถึงเวลาต้องสังคายนา ล้างบางขบวนการทุจริตที่หากิน สูบเลือดสูบเนื้อในหน่วยงานรัฐบาล ทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นอย่างขนานใหญ่กันเสียที
เพราะหากไม่เร่งแก้ไข ก็จะส่งผลกระทบ เป็นตัวฉุดรั้งการพัฒนาประเทศทุกด้านในระยะยาว
สาเหตุที่ต้องแยกโฟกัสชี้ให้เห็นถึงเรื่องทุจริตดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่ามีการกระทำอย่างเป็นขบวนการ ต่อเนื่องกันมาอย่างยาวนาน และนับวันจะเกาะกินซึมลึกลงไปเรื่อยๆ หากไม่เอาจริงเอาจังก็ยิ่งยากจะแก้ไข
ตัวอย่างปลากระป๋องเน่าเสีย นำไปแจกจ่ายให้กับชาวบ้านผู้ประสบภัย ที่เกิดขึ้นในหน่วยงานของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จนรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบต้องสังเวยเก้าอี้ไปอย่างน่าเศร้า แต่อย่างไรก็ดีการตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลภายใน ทำท่าว่าจะเงียบหายไปกับสายลม
ถัดมายังมีเรื่องนมที่แจกให้กับเด็กนักเรียนชั้นประถมที่ด้อยคุณภาพ เกิดการเน่าเสีย ก็ยิ่งสร้างความหดหู่ในใจมากขึ้นไปอีก
หรือก่อนหน้านั้นไม่นานก่อนหรือในฤดูทำนา ทำไร่ทุกปีก็มักมีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการปลอมปนปุ๋ยที่นำไปจำหน่ายให้กับเกษตรกร ซ้ำเติมความทุกข์ยาก
เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำซาก วนเวียนอยู่ชั่วนาตาปี ซึ่งพอเป็นข่าวคราวครั้งใดก็มักมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หูตาเหลือกเข้ามาตรวจสอบกันครั้งหนึ่ง แต่พอเวลาผ่านไปเรื่องราวจะเงียบหาย เป็นแบบนี้มาตลอด
ดังนั้นถึงเวลาต้องสังคายนาจัดการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ มีการรับฟังความเห็นจากสังคมทุกฝ่ายเพื่อกำจัดขบวนการทุจริตเหล่านี้ให้สิ้นไป หรือเหลือเป็นเชื่อชั่วให้น้อยที่สุด อย่างน้อยน่าจะต้องมีข้อสรุปออกมาให้ได้ว่าจะหาทางป้องกันแบบไหน
หลายคนเคยเสนอว่าจะต้องขึ้นทะเบียนตรวจสอบบริษัทที่จัดซื้อจัดจ้างกับหน่วยงานของรัฐ รวมทั้งมีการตรวจสอบคุณภาพ ฐานะทางการเงิน ให้มีที่มาที่ไปอย่างชัดเจน
เพราะที่ผ่านมาหลายครั้งพอเกิดเรื่องเกิดราวและสืบสาวกลับไปจะพบว่าเป็นเพียงบริษัทที่ตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจ มีลักษณะเป็นห้องแถว และได้ปิดกิจการหนีไปแล้วก็มี ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะเกี่ยวข้องกับนักการเมือง ทั้งในระดับส่วนกลางและท้องถิ่นแทบทั้งสิ้น ลักษณะการจัดซื้อก็มักมาในรูปแบบวิธีพิเศษหรือไม่ก็เป็นแบบเร่งด่วนเพื่อเอื้อประโยชน์กันโดยตรง
หรือบางครั้งยังมีนักการเมืองผู้มีอำนาจในฐานะรัฐมนตรีมหาดไทยบางยุคยังใช้บ้านพักเป็นสถานที่ประชุมผู้ว่าราชการจังหวัด และมีการนำพ่อค้าเข้าไปด้วยเพื่อให้ผู้ว่าฯเหล่านั้นสั่งซื้อสินค้าโดยตรงก็มี
กรณีนมโรงเรียนก็เช่นเดียวกัน ส่วนใหญ่ใช้วิธีให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้จัดซื้อ ซึ่งลองคิดดูก็แล้วกันว่า หากมี อบต.ทั่วประเทศจำนวนกว่า 3 พันองค์กรแล้วมีการรั่วไหล เกิดการทุจริตแห่งละไม่กี่แสนหรือแค่หลักล้านบาท แต่เมื่อรวมๆกันแล้วก็มีจำนวนหลายพันล้านบาท
อีกด้านหนึ่งเพื่อเป็นการแก้ปัญหา จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้หน่วยงานนั้นเป็นผู้จัดซื้อจัดหาเอง เพื่อตอบสนองความต้องการที่แท้จริง หากสินค้าหรือสิ่งของที่ซื้อมาไม่ได้คุณภาพก็จะมีการร้องเรียนตรวจสอบกันเอง ซึ่งเคยมีตัวอย่างให้เห็นมาแล้ว
แต่ทุกมาตรการจะต้องมีการระดมความเห็นเพื่อให้ได้ข้อสรุปอย่างจริงจัง เพราะถ้าเปรียบขบวนการทุจริต เป็นพวกที่ “ล้าหลัง” เหมือนมดปลวกที่กัดกินทำลายบ้านเรือนลงไปเรื่อยๆ ซึ่งวันหนึ่งจะต้องพังทลายในที่สุด และประเทศชาติก็ไม่ต่างกัน
และยิ่งรัฐบาลในยุคของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ประกาศอย่างชัดเจนแล้วว่าจะไม่ยอมอดทนกับปัญหาทุจริตคอรัปชั่นก็ต้องลงมาจัดการโดยเร็ว ปล่อยขบวนการเหล่านี้ “กัดแทะ” ต่อไปอีกไม่ได้แล้ว เพราะนี่คือขบวนการทำลายชาติ ทำลายผู้ด้อยโอกาส และยังทำลายอนาคตของชาติอย่างแท้จริง และเลือดเย็นที่สุด
หากยังนิ่งเฉยหรือแก้ปัญหาแบบไฟไหม้ฟางตามกระแส ก็ถือว่าเป็นความโชคร้ายซ้ำซากของบ้านเมืองต่อไปก็แล้วกัน !!